3 เมษายน 2560

เกณฑ์ทหาร - ความเปลี่ยนแปลงในยุโรป


เมื่อกำแพงเบอร์ลินพังทลายในปี 1989 พร้อมๆกับการสิ้นฤทธิ์ของภัยคอมมิวนิสต์ ทำให้การเกณฑ์ทหารของประเทศต่างๆในยุโรปกลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยและไม่จำเป็นอีกต่อไป หลายๆประเทศในยุโรปอย่างฝรั่งเศส อิตาลี เบลเยี่ยมและเนเธอร์แลนด์ เริ่มทยอยยกเลิกข้อบังคับการเกณฑ์ทหารตั้งแต่ยุคกลางทศวรรษที่ 1990 เรื่อยมาจนถึงสวีเดนในปี 2010 และเยอรมนีในปี 2011



ที่น่าสนใจมากๆก็คือบรรดากลุ่มประเทศที่ได้ชื่อว่าก้าวหน้าที่สุด เป็นประชาธิปไตยที่สุด และรักสงบที่สุดอย่างนอร์เวย์ ฟินแลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ ออสเตรียและเดนมาร์ค  ไม่น่าเชื่อว่า การเกณฑ์ทหารยังมีผลบังคับใช้อยู่ ไม่ได้ยกเลิกเหมือนประเทศอื่นๆ ทั้งๆที่ไม่มีประวัติและไม่มีนโยบายเคยคิดจะไปรบรุกรานใครๆเลย
เพราะนี่คือเรื่องของความมั่นคง  ไม่ใช่เรื่องของความล้าสมัยใดๆ

กรณีของนอร์เวย์ซึ่งเป็นสมาชิกของกองกำลังพันธ มิตรทางทหารอย่างนาโต มีหลักประกันอย่างดีว่าจะได้รับการช่วยเหลือจากอีก 27 ประเทศสมาชิกหาถูกรุกราน กลับสร้างประวัติศาสตร์ในปี 2013 กลายเป็นประแรกในกลุ่มยุโรปและในกลุ่มนาโต้ที่กำหนดบังคับให้ผู้หญิงทุกคนเมื่อถึงวัยตั้งแต่ 19-44 ปีต้องเข้าเกณฑ์ทหาร จากเดิมที่บังคับเฉพาะผู้ชายเท่านั้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2016 



ในโลกวันนี้มีเพียงแค่สี่ประเทศเท่านั้นที่กำหนดให้ทั้งชายทั้งหญิงต้องเกณฑ์ทหารเหมือนกันนั่นคือ อิสราเอล เกาหลีเหนือและโบลิเวีย สองประเทศแรกนั้นเป็นที่เข้าใจได้ เนื่องจากเงื่อนไขทางการเมืองระหว่างประเทศที่ต้องเผชิญภัยคุกคามอยู่ตลอดเวลา ส่วนกรณีของโบลิเวียนั้นส่วนสำคัญเนื่องมาจากปัญหาขนาดแคลนกำลังพล
แล้วทำไมนอร์เวย์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยทีสม บูรณ์พูนสุขที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก จากการประกาศจัดอันดับเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา   ผู้คนมีความสุขมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง อีกทั้งเงื่อนไขภายในประเทศก็สงบเรียบร้อยแทบจะไม่มีเหตุวุ่นวายใดๆ ไม่ต้องเผชิญกับภัยก่อการร้ายเหมือนประเทศยุโรปอื่นๆ และรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยก็ไม่เคยดำเนินนโยบายต่างประเทศในลักษณะเผชิญหน้าแสวงหาศัตรูเลย กลับทวนกระแสได้มากมายขนาดนี้    จนราวกับว่าทหารมีคุณค่ามากมายเหมือนกับภาคการเกษตรที่จะต้องคงรักษาตลอดไป




เหตุผลสำคัญหนึ่งไม่ใช่เพราะเชื้อยีนของบรรพบุรุษไวกิ้งที่เคยสร้างตำนานรุกรานยุโรปเมื่อหลายร้อยปีก่อน  แต่เป็นผลมาจากปรัชญาความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ   
ในสังคมนอร์เวย์ เป็นที่ยอมรับกันว่า ชายและหญิงเท่าเทียมกันทั้งในทางกฏหมายและทางปฏิบัติจนเป็นที่ประจักษ์แจ้ง 
ดังนั้น เมื่อรัฐทำให้สิทธิของหญิงเท่าเทียมกับชายอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ผู้หญิงก็ควรจะต้องมีหน้าที่ต่อประเทศชาติเหมือนเช่นผู้ชายด้วย 



อิทธิพลของปรัชญาความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชายมากถึงขั้นแผ่กระจายไปสู่ค่ายทหารด้วย   เพราะนอกจากผู้หญิงจะต้องเกณฑ์ทหารเหมือนผู้ชายแล้ว ยังต้องฝึกเหมือนๆกันโดยไม่มีการแยกหญิงแยกชาย  กินอยู่ร่วมกัน แม้กระทั่งต้องอาบน้ำและนอนโรงเรือนเดียวกันด้วยตลอดระยะเวลา 19 เดือน  
ว่ากันว่าเป็นกฏเกณฑ์ที่สาวๆนอร์เวย์ยอมรับและปฏิบัติตามอย่างเต็มใจ
เป็นการยืนยันว่า เมื่อได้สิทธิเท่าเทียมกันแล้ว ก็ควรจะต้องมีหน้าที่เหมือนๆกันด้วย
ความก้าวหน้าและความสำเร็จของประเทศนอร์เวย์น่าจะเป็นกรณีศึกษาให้แก่สังคมไทยได้เรียนรู้ไม่น้อยเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเกณฑ์ทหารในนอร์เวย์กลายเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับอย่างมาก ทั้งในมุมมองของวัยรุ่น(สาว)ที่มีอายุเข้าเกณฑ์คัดเลือกและในสายตาของพ่อแม่ผู้ปกครอง




ในขณะเดียวกัน สวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ดำเนินนโยบายเป็นกลางมาอย่างยาวนานและเคร่งครัด ไม่ข้องแวะกับสงคราม ไม่แสวงหาศัตรูหรือขัดแย้งใดๆ  ไม่ได้เป็นเป้าหมายของภัยคุกคามหรือภัยก่อการร้าย ก็เคยมีความคิดที่จะยกเลิกการเกณฑ์ทหารโดยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ
แต่ผลจากการลงประชามติเมื่อเดือนกันยายน 2013 ปรากฏว่า ชาวสวิสกว่า 73% โหวตสนับสนุนให้คงการเกณฑ์ทหารไว้ต่อไป เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลจึงไม่สามารถยกเลิกข้อบังคับการเกณฑ์ทหารได้ 
ยิ่งไปกว่านั้น มีแนวโน้มว่า สวิสเซอร์แลนด์กำลังจะเจริญรอยตามแนวทางของนอร์เวย์ โดยออกข้อบังคับให้ผู้หญิงต้องเข้าเกณฑ์ทหารด้วย เพราะในแต่ละปี สวิสเซอร์แลนด์ต้องการกำลังพลหน้าใหม่เข้ามารับการฝึกประมาณ 18,000 นาย
 โลกเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ
ในระดับภูมิภาคยุโรป ความเปลี่ยนแปลงต่างๆเริ่มเกิดขึ้น ภายหลังจากที่รัสเซียส่งกำลังทหารเข้าไปในยูเครนและผนวกยึดไครเมียในปี 2014 ทำให้หลายๆประเทศในยุโรปเริ่มตระหนักถึงภัยคุกคามจากรัสเซียมากยิ่งขึ้น หลังจากที่ว่างเว้นหายไปร่วมสองทศวรรษ 




สวีเดนกลายเป็นประเทศแรกที่ขยับโดยเพิ่งประกาศเป็นกฏหมายเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมากำหนดให้มีการเกณฑ์ทหารอีกครั้งหนึ่งหลังจากยกเลิกมาได้เพียง 7 ปีเท่านั้น โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นไป  และแนวโน้มที่บังคับเกณฑ์ทหารหญิงเหมือนนอร์เวย์ก็ไม่น่าจะไกลเกินเอื้อม เพราะสวีเดนเป็นสังคมที่ยึดถือความเท่าเทียมระหว่างหญิงและชายมากพอกับนอร์เวย์
เชื่อได้ว่า การเกณฑ์ทหารจะกลับมามีผลบังคับใช้ในยุโรปอีกหลายๆประเทศโดยเฉพาะฝรั่งเศสและเยอรมนี เพราะนโยบายที่ก้าวร้าวของรัสเซียจนถึงขั้นประเมินว่าเป็นภัยคุกคามอย่างแท้จริง บวกกับภัยคุกคามจากการก่อการร้ายที่นับวันจะเลวร้ายรับมือได้ยากยิ่งขึ้น  ทำให้เกิดความจำเป็นต้องเพิ่มกำลังพลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นี่คือกระแสหรือแนวโน้มที่เกิดขึ้นในยุโรป ณ เวลานี้ 

.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มอเตอร์ หรือ สติกเกอร์

เมื่อตอนที่ Real Madrid ทีมดังในสเปนตัดสินใจขาย Claude Makelele ให้กับทีม Chelsea แล้วซื้อ David Beckham มาแทนที่ในช่วงกลางปี 2003 ปรา...