30 เมษายน 2556

“พระวิหาร 4.6” - “ทักษิณ 4.6” : ความบังเอิญที่เหลือเชื่อ(?)

.



ในช่วงระหว่างที่มีการให้ปากคำต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(ศาลโลก)กรณีพิพาทปราสาทพระวิหารเมื่อวันที่ 15-19 เมษายนที่ผ่านมา กล่าวได้ว่า ประเด็นที่มีความอ่อนไหวและกังวลมากที่สุดสำหรับฝ่ายไทยก็คือ พื้นที่รอบๆบริเวณปราสาทประมาณ 4.6 ตารางกิโลเมตรที่อาจจะต้องสูญเสียหรือตกเป็นของแก่กัมพูชาตามคำตัดสินของศาลโลก

ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรบริเวณปราสาทพระวิหารดังกล่าว ซึ่งทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชาต่างก็อ้างสิทธิอธิปไตยและความชอบธรรมเหนือพื้นที่บริเวณนี้  เกิดขึ้นเนื่อง มาจากรัฐบาลกัมพูชาเสนอให้รวมเอาทั้งตัวปราสาทและพื้นที่ทับซ้อนขึ้นเป็นมรดกโลกแต่ฝ่ายเดียวในปี 2548

แรกเริ่มเดิมที รัฐบาลพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรและรัฐบาลฮุนเซนเห็นพ้องต้องกันว่า จะเสนอปราสาทพระวิหารให้ขึ้นเป็นมรดกโลกร่วมกัน แต่ด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบได้ รัฐบาลไทยในขณะนั้นดูเหมือนจะใจดียินยอมให้กัมพูชายื่นปราสาทพระวิหารที่ครอบคลุมกินพื้นที่รอบบริเวณอีก 4.6 ตารางเมตรขึ้นเป็นมรดกโลกแต่ฝ่ายเดียวโดยไม่ได้คัดค้านใดๆ

ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่า ทำไมรัฐบาลไทยในขณะนั้นจึงเปลี่ยนท่าที? และทำไมจึงยินยอม(เสีย)แต่ฝ่ายเดียว?

การเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแต่ฝ่ายเดียวของกัมพูชาในปี 2548 ก่อนที่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตรจะถูกรัฐประหารในปี 2549 กลายเป็นจุดเริ่มต้นของวาทกรรม 4.6 ตารางกิโลเมตรที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้





พื้นที่ 4.6 ตร.กม. ที่มีค่ามหาศาลมากกว่าเพียงแค่เงิน 4.6 หมื่นล้านบาท


วาทกรรม 4.6 ตารางกิโลเมตรกลายเป็นเป้าหมายทางการเมืองที่อ่อนไหวและเร่าร้อนมากขึ้น เมื่อมีการกล่าวหาว่า นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีต่างประเทศในยุคสมัยนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช กำลังยกอธิปไตยใส่พาน ให้กัมพูชา และทำให้ประเทศไทยสุ่มเสี่ยงกับการสูญเสียดินแดงบริเวณนี้ได้  ภายหลังลงนามในแถลงการณ์ไทย-กัมพูชาเมื่อกลางปี 2551      

จนกระทั่งล่าสุด ศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้องนายนพดลในความผิดที่ลงนามในแถลงการณ์ ข้างต้นโดยไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา จนอาจทำให้ประเทศไทยมีโอกาสสูญเสียดินแดน 4.6 ตารางกิโลเมตร

ความขัดแย้งเหนือพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรดังกล่าว ร้อนแรงจนถึงขั้นนำไปสู่การเผชิญหน้าและการปะทะกันทางทหารระหว่างสองประเทศหลายต่อหลายครั้งในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา และนำไปสู่ผลกระทบด้านอื่นๆอย่างมีนัยยะสำคัญ

ส่วนหนึ่ง กลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะประกาศถอนตัวจากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลกและคณะกรรมการมรดกโลก องค์การยูเนสโกในปี 2554

และส่วนสำคัญยิ่งก็คือ กลายเป็นมูลเหตุหลักที่ทำให้รัฐบาลกัมพูชายื่นเรื่องฟ้องต่อศาลโลกเป็นคำรบสอง ณ ปัจจุบันนี้

ประเด็นเรื่องพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองทั้งในประเทศและระหว่างสองประเทศได้เป็นอย่างดี  และแน่นอนที่สุดว่า บุคคลที่ถูกกล่าวหาและโยงใยว่ามีส่วนเกี่ยวพันกับเรื่องนี้มากที่สุดก็คือคุณทักษิณ

มีการกล่าวหาว่า อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศคนนี้ อยู่เบื้องหลังชักใยปัญหาความยุ่งยากทั้งปวง และมีท่าทีสนับสนุนผลประโยชน์ของกัมพูชามากกว่าผลประโยชน์ของแผ่นดินแม่

กล่าวหาว่า รัฐบาลสมัคร สุนทรเวชเป็นรัฐบาลนอมินี จึงดำเนินการใดๆเพื่อประโยชน์ของคุณทักษิณเป็นสำคัญ  การลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาโดยคุณนพดล (ซึ่งเป็นคนสนิทของคุณทักษิณ) มีเงื่อนงำมีผลประโยชน์แอบแฝง   โดยเฉพาะสัมปทานน้ำมันและก๊าซที่รัฐบาลฮุนเซนของกัมพูชาเสนอให้ แลกกับท่าทีที่สนับสนุนกัมพูชาในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่ฝ่ายเดียว (ที่พ่วงเอาพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรเข้าไปด้วย)

กล่าวหาว่า คุณทักษิณมีพฤติกรรมที่ไม่รักชาติรักบ้านเกิดเมืองไทย และถือหางเข้าข้างศัตรูของประเทศ(?) เพราะพยายามสื่อพยายามบอกว่า  พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรเป็นของกัมพูชามาตั้งนานแล้ว

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น มีการกล่าวหาว่า ท่าทีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรต่อกรณีพิพาทปราสาทพระวิหารในศาลโลก สอดคล้องเป็นปี่เป็นขลุ่ยกับแนวคิดของของพี่ชาย ผู้มีอำนาจตัวจริงในพรรคเพื่อไทย

ในขณะเดียวกันประเด็นข้อถกเถียงที่ร้อนแรงที่สุดอีกประเด็นหนึ่งในการเมืองไทยในยุคสมัยรัฐบาลปัจจุบันก็คือ การนิรโทษกรรมทางการเมืองโดยมีคุณทักษิณเป็นเป้าหมายสำคัญแรกสุด





เงิน 4.6 หมื่นล้านบาท : ถูกปล้น ถูกยึด หรือถูกปรับชดเชย?



ภายใต้แผนการนิรโทษกรรมดังกล่าวนั้น  ว่ากันว่าความหวังความปรารถนาสุดสุดของคุณทักษิณก็คือ กลับประเทศไทยและได้เงินจำนวน 4.6 หมื่นล้านบาทคืน หลังจากถูกศาลแผนกคดีอาญาฯ พิพากษาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ให้ยึดและตกเป็นของแผ่นดินในข้อหาใช้อำนาจหน้าที่ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มบริษัทของตัวเอง

หากยังจำกันได้ ในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2554 วาทกรรม4.6 หมื่นล้านบาทกลายเป็นประเด็นของการต่อสู้และหาเสียงทางการเมืองที่ร้อนแรงและอ่อนไหวอย่างยิ่งควบ คู่กับวาทกรรม4.6 ตารางกิโลเมตรที่มีการเชื่อมโยงกับคุณทักษิณอย่างชัดเจนที่สุด

กลายเป็นอาวุธทางการเมืองที่ทิ่มแทงและหลอกหลอนคุณทักษิณอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีการต่อยอดเพื่อหวังผลทางการเมืองอย่างเต็มที่ และกำหนดเป็นทางเลือกเป็นขาวเป็นดำที่ชัดเจนที่สุดให้กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ณ เวลานั้น

มีการรณรงค์หาเสียงสร้างวาทกรรมเพื่อหวังผลทางการเมืองว่า ประชาชนจะเลือกพรรคการเมืองที่ยกดินแดน 4.6 ตารางกิโลเมตรให้กัมพูชา(?) หรือ  พรรคการเมืองที่ปกป้องอธิปไตยดินแดนส่วนนี้(?)   และคนไทยจะเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายคืนเงิน 4.6 หมื่นล้านบาทให้แก่คุณทักษิณ(?) หรือ  พรรคการเมืองที่ไม่มีนโยบายล้างความผิดเพื่อคืนเงินส่วนนี้ให้แก่อดีตนายกรัฐมนตรีคนนี้(?)

ต้องถือเป็นความบังเอิญอย่างยิ่งที่ตัวเลข   4.6เข้ามาเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับชีวิตของคุณทักษิณและการเมืองไทยอย่างเด่นชัดขนาดนี้ เรียกว่า มีเส้นบางๆที่แบ่งแยกระหว่าง ความบังเอิญ เจตนาและทฤษฏีสมคบคิดจนแยกไม่ออก

ภายใต้ทฤษฏีสมคบคิด (ที่ฝ่ายคุณทักษิณอาจให้น้ำหนักในเรื่อง เจตนา มากกว่า ความบังเอิญ”) นั้น ประเด็น4.6 หมื่นล้านบาทซึ่งเกิดขึ้น 19 เดือนภายหลังประเด็น4.6 ตารางกิโลเมตร”  มีความหมายว่า 4.6 หมื่นล้านบาทคือค่าความเสียหายหรือเงินชดเชยสำหรับความสูญเสีย4.6 ตารางกิโลเมตรที่ต้องมีคนรับผิดชอบ(?)

การสมคบคิดยินยอมให้ฝ่ายกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก(ที่เชื่อว่า)พ่วงเอาพื้นที่รอบๆอีก 4.6 ตารางกิโลเมตรเข้าไปด้วย อาจจะเป็นมูลเหตุที่ทำให้ถูกยึดทรัพยจำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท (อย่างน่าบังเอิญ บนฐานความเชื่อว่า เมื่อทำให้เสีย ก็ต้องเสียด้วย(?)”

ในขณะเดียวกัน โอกาสที่คุณทักษิณจะได้เงิน 4.6 หมื่นล้านบาทกลับคืนนั้นค่อนข้างน้อยมาก ดังนั้น บนความคิดที่ว่า ไหนๆจะเสีย ก็ต้องทำให้เสียด้วย”  จึงผลักดันสนับสนุนให้กัมพูชาได้ดินแดน 4. 6 ตารางกิโลเมตรนี้ไปเสียเลย โดยอาศัยยืมมือศาลโลก(?) ตามที่มีการกล่าวหากัน

ในท้ายที่สุด ถึงแม้ว่า ประเด็น 4.6จะไม่ได้มีอิทธิพลชี้ขาดผลการเลือกตั้งในทางที่เป็นผลเสีย หาย และพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างมีเสถียรภาพ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คุณทักษิณและรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะปลอดภัยจากเชื้อ 4.6ได้โดยเด็ดขาด ตราบเท่าที่ศาลโลกยังไม่ตัดสินเกี่ยวกับกรณีพิพาทพื้นที่รอบๆบริเวณปราสาทพระวิหาร

บางที ด้วยความเป็นประเด็นที่อ่อนไหวสามารถจุดติดได้ทุกเมื่อ เชื้อ 4.6อาจจะถูกสะกิดให้ลุกลามและหลอกหลอนคุณทักษิณและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อถึงวันเวลาที่ศาลโลกจะมีคำตัดสินออกมา

และหากคำตัดสินของศาลโลกเป็นคุณเป็นประโยชน์จนถึงขั้นทำให้ประเทศไทยต้องเสียดินแดน 4.6 ตารางกิโลเมตรแก่กัมพูชา  เมื่อนั้น เชื้อ 4.6อาจจะกลายเป็นจุดเปลี่ยน จุดต่ำ หรือจุดจบของคุณทักษิณและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรในอนาคตก็เป็นได้





.

15 เมษายน 2556

กรณีพิพาทพระวิหาร - ความบังเอิญหมายเลข 15

.


15 ตุลาคม 2503 เริ่มต้นกระบวนการพิจารณาร้องขอของฝ่ายกัมพูชาต่ออำนาจอธิปไตยของปราสาทพระวิหาร

15 มิถุนายน 2505  ศาลโลกตัดสินใ้ห้กัมพูชามีอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร


15 กรกฎาคม 2505 ฝ่ายไทยได้นำเสาธงไทยออกจากพื้นที่และถอนกำลังทหารและตำรวจออกจากปราสาท




 

15 มกราคม 2506 สมเด็จเจ้าสีหนุทำพิธีเฉลิมฉลองพร้อมทั้งปักธงชาติกัมพูชาเพื่อเป็นการยืนยันว่า ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา

15 เมษายน 2556 เวลา 15.00 น. ศาลโลกเริ่มต้นกระบวนการให้ปากคำในการพิจารณาข้อพิพาทเหนือพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหาร


15 ตุลาคม 2556  ทฤษฏีสมคบคิดจะมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น หากศาลโลกประกาศคำตัดสินในกรณีพิพาทครั้งที่ 2 นี้ (ตามความต้องการของฝ่ายกัมพูชา?) โดยฝ่ายกัมพูชาอาจจะวาดหวังว่า จะได้รับประกาศให้เป็นผู้ชนะอีกครั้งในวันที่ครบรอบ 1 ปีของการเสด็จสวรรณคตของสมเด็จเจ้าสีหนุ ผู้ริเริ่มนำเรื่องพระวิหารเข้าสู่กระบวนการของศาลโลก และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชาต้องพะวงอยู่กับเรื่องปราสาทพระวิหารไม่จบไม่สิ้นตลอดระยะเวลา 51 ปีที่ผ่านมา



.

6 เมษายน 2556

พระวิหารพิพาท: ฤาจะสู้เพื่อแพ้(?)

.


ตามกำหนดการแล้ว ทีมทนายของฝ่ายไทยจะเข้าให้ข้อมูลด้วยวาจาต่อองค์คณะผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) พร้อมตอบโต้ประเด็นที่ทางฝ่ายกัมพูชาเสนอให้มีการพิจารณาตี ความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารในประเด็นว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนบริเวณรอบๆในช่วงวันที่ 15-19 เมษายน ศกนี้

เพราะฉะนั้นแล้ว  ช่วงเวลาดังกล่าวย่อมมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อประวัติศาสตร์ชาติไทย  เพราะการต่อสู้ทางกฎหมายดังกล่าวจะเป็นฐานนำไปสู่การพิพากษาตัดสินของศาลโลกในช่วงปลายปีนี้

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลแพ้ชนะในครั้งนี้ก็คือทีมทนายและที่ปรึกษาทางกฎหมาย มีบทเรียนหลายๆประการที่เคยเกิดขึ้นในอดีตเมื่อห้าทศวรรษที่แล้วที่สามารถนำมาเทียบเคียงให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในปัจจุบันได้พึงพิจารณาและตระหนักถึงความสำคัญ

ในช่วงปี 2502-2505  ฝ่ายไทยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชเป็นหัวหน้าคณะทีมกฎหมาย ในหนังสือบันทึกความทรงจำเรื่อง ชีวลิขิตหม่อมเสนีย์เปิดเผยว่า ไม่ได้เต็มใจหรือมีความพร้อมที่จะทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่นี้ตั้งแต่แรก เนื่องจาก ขาดความชำนาญ ไม่เคยว่าความศาลโลก  และเกรงว่า จะต้องเสียชื่อในทางกฎหมาย ซึ่งได้รักษาด้วยดีตลอดมา  หากเกิดฝ่ายไทยพลาดพลั้งแพ้ขึ้นมา

แต่สุดท้ายเมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ หม่อมเสนีย์ก็จำยอมจำใจยอมรับในบทบาทการเป็นหัวหน้าคณะทนายฝ่ายไทย โดยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้แต่งตั้งทนายฝรั่งผู้เชี่ยวชาญ 3 คนร่วมทีมทางกฎหมายเพื่อช่วยเหลือหม่อมเสนีย์ในการต่อสู้คดี



หม่อมเสนีย์ในวันที่รับภาระกิจแห่งประวัติศาสตร์


เมื่อเทียบกับดร.วีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์คนปัจจุบันซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าทีมทนายความในวันนี้ จะเห็นถึงโปรไฟล์หรือประสบการณ์ที่แตกต่างจากหม่อมเสนีย์เมื่อ 50กว่าปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัดในหลายๆประการ 

ถึงแม้ว่าจะไม่เคยมีประวัติยิ่งใหญ่เคยเป็นถึงนายกรัฐมนตรี หรือมีบทบาทสำคัญในคณะเสรีไทยในการเจรจากับต่างประเทศ หรือเป็นสุดยอดทนายว่าความในประเทศเหมือนเช่นหม่อมเสนีย์  แต่ต้องถือว่า ดร.วีรชัยคนนี้มีประสบการณ์ในหน้าที่การงานโดยตรง มีความเชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศอย่างช่ำชอง  สำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายจากฝรั่งเศสซึ่งถือว่ามี มูลค่าเพิ่มในศาลโลกมากกว่าการสำเร็จการศึกษาจากอังกฤษของหม่อมเสนีย์   ดร.วีรชัยเคยผ่านตำแหน่งอธิบดีกรมสนธิ สัญญาและกฎหมายรวมทั้งเคยทำหน้าที่อยู่ในองค์คณะเพื่อระงับข้อพิพาทในองค์กรการค้าโลก(WTO) และคุ้นเคยกับการทำหน้าที่ในศาลโลกมาชั่วระยะเวลาหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น ดร.วีรชัยมีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องเขตแดนรวมทั้งคลุกคลีใกล้ชิดกับการทำงานด้านชายแดนไทย-กัมพูชามากว่า 10 ปี ซึ่งเป็นสิ่งที่หม่อมเสนีย์ไม่มี



หนึ่งเดียวแห่งความหวัง - ดร.วีรชัยกับภาระกิจครั้งสำคัญในปัจจุบัน


 สำหรับการเตรียมตัวเพื่อสู้คดีนั้น หม่อมเสนีย์(เคย)เปิดเผยว่า การรับเป็นทนายเกิดอุปสรรคตั้งแต่เริ่มต้น โดยผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ก่อ   ในขณะที่ดร.วีรชัยดูเหมือนว่าจะโชคดีกว่า เพราะสามารถทำหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่องถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ก็ตาม  มีเอกสารข้อมูลที่เพียบพร้อมกว่าเมื่อเทียบกับหม่อมเสนีย์ที่เรียกว่าเริ่มต้นจากศูนย์

ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือท่าทีของดร.วีรชัยที่แทบจะไม่เคยแสดงออกหรือเป็นที่รับรู้ว่าอึดอัดหรือกระอักกระอ่วนใจที่จะรับผิดชอบในภาระกิจนี้  เพราะฉะนั้นแล้ว คงไม่เป็นการกล่าวเกินเลยไปที่จะสรุปปักธงว่า หัวหน้าคณะฝ่ายไทยคนปัจจุบันเต็มใจ มีความพร้อมและประสบการณ์โดยตรง(ที่เกี่ยวกับกรณีพิพาท) มากกว่าหม่อมเสนีย์อย่างแน่นอน  เรียกว่า การเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้แบบไม่มีอะไรต้องเสีย หรือไม่เคยถูกมองว่ามีแรงจูงใจ(แอบแฝง)เหมือนเช่นกรณีของหม่อมเสนีย์ที่วาดหวังจะเป็นฮีโร่เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศ

ในช่วงปี 2502-2505 รัฐบาลได้พิจารณาแต่งตั้งผู้เชี่ยว ชาญชาวอังกฤษ เบลเยี่ยมและอเมริกันซึ่งไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ให้เข้าร่วมอยู่ในทีมเพื่อต่อสู้ทางกฎหมายกับฝ่ายกัมพูชา แต่เมื่อพิจารณาฝั่งของฝ่ายกัมพูชาแล้ว จะเห็นข้อแตกต่างและสะท้อนให้เห็นว่า กัมพูชาโดยสมเด็จพระสีหนุเข้าใจศาลโลกเป็นที่สุดบนสมมติฐานที่ว่า ศาลโลกเป็นศาลการเมือง บิดเบือนกฎหมายแล้วแต่สถานการณ์ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเรื่องไม่แปลก (แต่ฝ่ายไทยไม่ตระหนัก?) ว่าทำไม ฝ่ายกัมพูชาจึงต้องการและโชคดีได้ดีน แอชชิสัน (Dean Acheson) มาเป็นกุนซือใหญ่   


ดิน แอชชิสัน(ที่สองจากขวา) ในวันที่พบกับวินสตัน เชอร์ชิล ผู้นำอังกฤษ

ด้านหนึ่ง แอชชิสันมีพื้นฐานทางด้านกฎหมายอย่างแน่นอน แต่ที่ทำให้แอชชิสันแตกต่างจากบรรดาทนายหรือที่ปรึกษาทางกฏหมายคนอื่นๆทั้งหมดก็คือแบ๊คกราวด์ทางด้านระหว่างประเทศ กล่าวได้ว่า แอชชิสันเป็นผู้มีบทบาทและอิทธิพลที่สำคัญอย่างยิ่งในนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศในช่วงระหว่างปี1949-1953 ซึ่งเป็นช่วงที่สงครามเย็นก่อร่างเป็นรูปธรรมชัดเจน

ว่ากันว่า แอชชิสันคือผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯมากที่สุดกว่าทศวรรษ เป็นเจ้าของความคิดโครงการมาร์แชลล์ในการฟื้นฟูยุโรป และถูกเรียกขานว่าเป็น สถาปนิกของสิ่งที่เรียกว่า สงครามเย็น

หากยึดเอาความเชื่อของหม่อมเสนีย์ที่ว่า ศาลโลกเป็นศาลการเมือง บิดเบือนกฎหมายแล้วแต่สถานการณ์และ ปลายปากกาของคนที่เป็นผู้พิพากษา จะเขียนคำพิพากษาเป็นอย่างไรก็ได้ก็จะเห็นอิทธิพลและความสำคัญของแอชชิสันอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น  แอชชิสันคือความแตกต่างระหว่างทีมทนายฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชา ว่ากันว่า อิทธิพลบารมีของแอชชิสันมากถึงขนาดที่สามารถฟันธงได้ว่า แอชชิสันอยู่ฝ่ายไหน ฝ่ายนั้นมีโอกาสชนะสูง 

การพิจารณาเลือกดีน แอชชิสันของฝ่ายกัมพูชาจึงเป็นการตัดสินใจเลือกที่ชาญฉลาดที่สุดแล้ว

 จะเห็นได้ว่า ในการต่อสู้ทางกฎหมาย ณ ปีพ.ศ.ปัจจุบันนี้ จะไม่มีบุคคลระดับ ดีน แอชชิสันที่สามารถสร้างความแตกต่างอย่างมหาศาลระหว่างสองฝ่าย  ฝ่ายไทยทั้งในยุค 2505 และยุคปัจจุบันที่ดูเหมือนจะให้ความสำคัญเฉพาะมิติทางนิติศาสตร์เป็นหลักเพียงด้านเดียวจนละเลยความสำคัญในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะทางรัฐศาสตร์ ที่อาจจะเป็นปัจจัยชี้ขาดผลแพ้ชนะทางคดีก็ได้

เมื่อพิจารณาในรายละเอียด จะเห็นได้ว่า ที่ปรึกษากฎหมายต่างประเทศที่เป็นทนายของฝ่ายไทยทั้ง 3 คนนั้นล้วนแต่เป็นศาสตราจารย์ด้านกฏหมายระหว่างประเทศ   โดยกระทรวงการต่างประเทศ(อ้างว่า)พิจารณาจากคุณสมบัติและความสามารถที่โดดเด่นเป็นหลัก รวมถึงการยอมรับในระดับสากลด้วย  ที่น่าสนใจก็คือ ดูเหมือนว่าที่ปรึกษาทางกฎหมายทั้ง 3 ท่านที่ร่วมเป็นทนายให้แก่ฝ่ายไทยนั้น มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ทางด้านเขตทะเลเป็นหลัก  

ศาสตราจารย์เจมส์ ครอว์ฟอร์ด (James Crawford) ชาวออสเตรเลียน ที่กระทรวงการต่างประเทศเชื่อมั่นว่าเป็นคนเก่งเรื่องแผนที่และพรมแดนมากที่สุดคนหนึ่ง เคยเป็นทนายความให้มาเลเซียในศาลโลกชนะอินโดนิเซียกรณีพิพาทเหนืออธิปไตยเกาะ Sipandan และ Ligitan ในปี 2002 และล่าสุด เป็นทนายให้มาเลเซียแพ้สิงคโปร์ในกรณีพิพาทเกาะ Pulau Batu Puteh เมื่อปี 2551  

ศาสตราจารย์อแลง เเปลเล่ต์ (Alain Pellet) ชาวฝรั่งเศส มีประสบการณ์ในการเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายหรือทนายในศาลโลกกว่า 37 กรณี เรียกว่าเป็นขาประจำคนคุ้นเคยของศาลโลก  ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา สร้างชื่อและได้รับการยอมรับในความเก่งกาจในกรณีพิพาททางทะเลเป็นหลัก โดยเฉพาะเคยร่วมเป็นทนายให้อินโดนิเซียแพ้แก่มาเลเซียในกรณีพิพาทเหนือเกาะ Sipandan และ Ligitan และเป็นทนายให้สิงคโปร์ชนะมาเลเซียในกรณีเกาะ Pulau Batu Puteh ในทั้ง 2 กรณีนี้ จะเห็นได้ว่า ที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายทั้ง 2 คนนี้ต่างก็เคยเป็นทนายยืนกันคนละฝั่งมาก่อน

อีกคนหนึ่งคือ ศาสตราจารย์โดนัลด์ เอ็ม แม็คเรย์ชาวนิวซีแลนด์/แคนาดา มีประสบการณ์ล่าสุดในการเป็นทนายให้ฝ่ายสุรินัมในกรณีพิพาทน่านน้ำทะเลกับกายอาน่ารวมทั้งเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย
ให้แก่แคนาดาในกรณีพิพาททางทะเลกับสหรัฐฯ และระหว่างแคนาดากับฝรั่งเศส

เพราะฉะนั้นแล้ว การที่ฝ่ายไทยพิจารณาเลือกผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์เป็นทนายในกรณีพิพาททางด้านเขตทะเลเป็นหลัก ทั้งๆที่กรณีพิพาทปราสาทพระวิหารเป็นเรื่องพรมแดนทางบก อาจจะส่งผลกระทบทำให้ฝ่ายไทยเสียเปรียบก็เป็นได้ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศอาจจะมองข้ามมาตั้งแต่ต้นหรือไม่ได้คิดว่าจะเป็นข้อเสียเปรียบจนเกิดความเสียหายได้

ในขณะที่ทีมทนายต่างประเทศของฝ่ายกัมพูชาได้แก่ เซอร์แฟรงคลิน เบอร์มัน (Sir Franklin Berman) ชาวอังกฤษ  ศาสตราจารย์ฌอง-มาร์ก โซเริล (Jean-Marc Sorel) และร๊อดมัน บันดี้ (Rodman Bundy)  ซึ่งโดยโปรไฟล์แล้ว ดูเหมือนจะมีประสบการณ์ความชำนาญที่หลากหลายกว่าทีมฝ่ายไทย โดยเฉพาะประสบการณ์ที่เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างประเทศและข้อพิพาทเขตแดนระหว่างรัฐ

ความน่าสนใจอยู่ที่กรณีของร๊อดมัน บันดี้ที่เคยเป็นทนายร่วมทีมเดียวกันให้กับฝ่ายสิงคโปร์ร่วมกับศาสตราจารย์ อแลง เเปลเล่ต์ในข้อพิพาทกับมาเลเซีย และเคยเป็นทนายให้ฝ่ายยูเครนต่อสู้ทางกฎหมาย(แพ้ให้)กับฝ่ายโรมาเนียที่มีศาสตราจารย์อแลง เเปลเล่ต์เป็นทนายให้  ที่สำคัญระคนความแปลกก็คือ ณ ปัจจุบันนี้ ทั้งร๊อดมัน บันดี้และศาสตาจารย์อแลง เเปลเล่ต์เป็นทีมทนายร่วมอยู่ในฝ่ายเปรูต่อสู้ทางกฎหมายกับชิลี และต้องแยกอยู่คนละทีมคนละฝ่ายในกรณีพิพาทปราสาทพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชา


เจตนารมณ์ของบทความชิ้นนี้ ไม่ได้เพื่อ ตีตนไปก่อนไข้แต่เพื่อต้องการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของคณะทนายและที่ปรึกษาทางกฏหมายที่ดูเหมือนว่าสาธารณชนตลอดจนวงวิชาการและนักกฏหมายระหว่างประเทศจะมองข้ามไป 


คำแถลงของจอมพลสฤษดิ์หลังทราบผลคำตัดสินของศาลโลกในปี 2505



"ยิ่งลักษณ์"จะสร้างประวัติศาสตร์อย่างไรกับกรณีพระวิหาร?


ในปี 2505 เราเคยพลาดพลั้งมีบทเรียนมาแล้ว เพราะจอมพลสฤษดิ์เชื่อมั่นตามคำหวานของทีมที่ปรึกษาต่างประเทศว่าฝ่ายไทยจะเป็นฝ่ายชนะอย่างแน่นอน และตามคำรายงานของหม่อมเสนีย์ที่ยืนยันว่า ไทย(จะ) ชนะ 300 เปอร์เซนต์ โดยเอา หัวของเจ้ากรมแผนที่ เป็นประกันแต่ในปี 2556 ความมั่นใจของฝ่ายไทยดูเหมือนจะลดระดับลงไปอย่างเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน ด้านหนึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศเชื่อมั่นว่า  ถ้า(ศาล)ตัดสินให้เสมอก็แปลว่าไทยเราชนะ    ซึ่งก็คือความหมายของคำพูด "ไม่เจ๊าก็เจ๊ง ที่เคยสร้างความหวั่นวิตกกังวลใจให้กับคนไทยทั้งประเทศจนเกิดกระแสเข้าใจ(ผิด) และกล่าวหารัฐบาลว่ากำลัง สู้เพื่อแพ้  

ในขณะที่คณะทีมกฎหมายของกระทรวงการต่างประเทศค่อนข้างมั่นใจว่าผลลัพธ์(คำตัดสิน)จะกระทบด้านลบต่อไทยน้อยมาก แบบว่า ไม่มีอะไรจะได้ และ ไม่มีอะไรจะเสีย

ถึงที่สุดแล้ว วันเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์เจตนารมณ์และข้อเท็จจริงนี้




 ทฤษฏี "คอนโดมิเนียม" กับปัญหาปราสาทพระวิหาร


.

มอเตอร์ หรือ สติกเกอร์

เมื่อตอนที่ Real Madrid ทีมดังในสเปนตัดสินใจขาย Claude Makelele ให้กับทีม Chelsea แล้วซื้อ David Beckham มาแทนที่ในช่วงกลางปี 2003 ปรา...