ตามกำหนดการแล้ว ทีมทนายของฝ่ายไทยจะเข้าให้ข้อมูลด้วยวาจาต่อองค์คณะผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) พร้อมตอบโต้ประเด็นที่ทางฝ่ายกัมพูชาเสนอให้มีการพิจารณาตี ความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารในประเด็นว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนบริเวณรอบๆในช่วงวันที่ 15-19 เมษายน ศกนี้
เพราะฉะนั้นแล้ว ช่วงเวลาดังกล่าวย่อมมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อประวัติศาสตร์ชาติไทย เพราะการต่อสู้ทางกฎหมายดังกล่าวจะเป็นฐานนำไปสู่การพิพากษาตัดสินของศาลโลกในช่วงปลายปีนี้
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลแพ้ชนะในครั้งนี้ก็คือทีมทนายและที่ปรึกษาทางกฎหมาย มีบทเรียนหลายๆประการที่เคยเกิดขึ้นในอดีตเมื่อห้าทศวรรษที่แล้วที่สามารถนำมาเทียบเคียงให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในปัจจุบันได้พึงพิจารณาและตระหนักถึงความสำคัญ
ในช่วงปี 2502-2505 ฝ่ายไทยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชเป็นหัวหน้าคณะทีมกฎหมาย ในหนังสือบันทึกความทรงจำเรื่อง “ชีวลิขิต” หม่อมเสนีย์เปิดเผยว่า ไม่ได้เต็มใจหรือมีความพร้อมที่จะทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่นี้ตั้งแต่แรก เนื่องจาก “ขาดความชำนาญ ไม่เคยว่าความศาลโลก” และเกรงว่า “จะต้องเสียชื่อในทางกฎหมาย ซึ่งได้รักษาด้วยดีตลอดมา” หากเกิดฝ่ายไทยพลาดพลั้งแพ้ขึ้นมา
แต่สุดท้ายเมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ หม่อมเสนีย์ก็จำยอมจำใจยอมรับในบทบาทการเป็นหัวหน้าคณะทนายฝ่ายไทย โดยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้แต่งตั้งทนายฝรั่งผู้เชี่ยวชาญ 3 คนร่วมทีมทางกฎหมายเพื่อช่วยเหลือหม่อมเสนีย์ในการต่อสู้คดี
หม่อมเสนีย์ในวันที่รับภาระกิจแห่งประวัติศาสตร์ |
ถึงแม้ว่าจะไม่เคยมีประวัติยิ่งใหญ่เคยเป็นถึงนายกรัฐมนตรี หรือมีบทบาทสำคัญในคณะเสรีไทยในการเจรจากับต่างประเทศ หรือเป็นสุดยอดทนายว่าความในประเทศเหมือนเช่นหม่อมเสนีย์ แต่ต้องถือว่า ดร.วีรชัยคนนี้มีประสบการณ์ในหน้าที่การงานโดยตรง มีความเชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศอย่างช่ำชอง สำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายจากฝรั่งเศสซึ่งถือว่ามี “มูลค่าเพิ่ม” ในศาลโลกมากกว่าการสำเร็จการศึกษาจากอังกฤษของหม่อมเสนีย์ ดร.วีรชัยเคยผ่านตำแหน่งอธิบดีกรมสนธิ สัญญาและกฎหมายรวมทั้งเคยทำหน้าที่อยู่ในองค์คณะเพื่อระงับข้อพิพาทในองค์กรการค้าโลก(WTO) และคุ้นเคยกับการทำหน้าที่ในศาลโลกมาชั่วระยะเวลาหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น ดร.วีรชัยมีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องเขตแดนรวมทั้งคลุกคลีใกล้ชิดกับการทำงานด้านชายแดนไทย-กัมพูชามากว่า 10 ปี ซึ่งเป็นสิ่งที่หม่อมเสนีย์ไม่มี
หนึ่งเดียวแห่งความหวัง - ดร.วีรชัยกับภาระกิจครั้งสำคัญในปัจจุบัน |
สำหรับการเตรียมตัวเพื่อสู้คดีนั้น หม่อมเสนีย์(เคย)เปิดเผยว่า
การรับเป็นทนายเกิดอุปสรรคตั้งแต่เริ่มต้น
โดยผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ก่อ
ในขณะที่ดร.วีรชัยดูเหมือนว่าจะโชคดีกว่า
เพราะสามารถทำหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่องถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ก็ตาม มีเอกสารข้อมูลที่เพียบพร้อมกว่าเมื่อเทียบกับหม่อมเสนีย์ที่เรียกว่าเริ่มต้นจากศูนย์
ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือท่าทีของดร.วีรชัยที่แทบจะไม่เคยแสดงออกหรือเป็นที่รับรู้ว่าอึดอัดหรือกระอักกระอ่วนใจที่จะรับผิดชอบในภาระกิจนี้ เพราะฉะนั้นแล้ว คงไม่เป็นการกล่าวเกินเลยไปที่จะสรุปปักธงว่า หัวหน้าคณะฝ่ายไทยคนปัจจุบันเต็มใจ มีความพร้อมและประสบการณ์โดยตรง(ที่เกี่ยวกับกรณีพิพาท) มากกว่าหม่อมเสนีย์อย่างแน่นอน เรียกว่า การเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้แบบไม่มีอะไรต้องเสีย หรือไม่เคยถูกมองว่ามีแรงจูงใจ(แอบแฝง)เหมือนเช่นกรณีของหม่อมเสนีย์ที่วาดหวังจะเป็นฮีโร่เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศ
ในช่วงปี 2502-2505 รัฐบาลได้พิจารณาแต่งตั้งผู้เชี่ยว ชาญชาวอังกฤษ เบลเยี่ยมและอเมริกันซึ่งไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ให้เข้าร่วมอยู่ในทีมเพื่อต่อสู้ทางกฎหมายกับฝ่ายกัมพูชา แต่เมื่อพิจารณาฝั่งของฝ่ายกัมพูชาแล้ว จะเห็นข้อแตกต่างและสะท้อนให้เห็นว่า กัมพูชาโดยสมเด็จพระสีหนุเข้าใจศาลโลกเป็นที่สุดบนสมมติฐานที่ว่า “ศาลโลกเป็นศาลการเมือง บิดเบือนกฎหมายแล้วแต่สถานการณ์” ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเรื่องไม่แปลก (แต่ฝ่ายไทยไม่ตระหนัก?) ว่าทำไม ฝ่ายกัมพูชาจึงต้องการและโชคดีได้ดีน แอชชิสัน (Dean Acheson) มาเป็นกุนซือใหญ่
ดิน แอชชิสัน(ที่สองจากขวา) ในวันที่พบกับวินสตัน เชอร์ชิล ผู้นำอังกฤษ |
ด้านหนึ่ง
แอชชิสันมีพื้นฐานทางด้านกฎหมายอย่างแน่นอน
แต่ที่ทำให้แอชชิสันแตกต่างจากบรรดาทนายหรือที่ปรึกษาทางกฏหมายคนอื่นๆทั้งหมดก็คือแบ๊คกราวด์ทางด้านระหว่างประเทศ
กล่าวได้ว่า
แอชชิสันเป็นผู้มีบทบาทและอิทธิพลที่สำคัญอย่างยิ่งในนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯภายหลังสงครามโลกครั้งที่
2 เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศในช่วงระหว่างปี1949-1953 ซึ่งเป็นช่วงที่สงครามเย็นก่อร่างเป็นรูปธรรมชัดเจน
ว่ากันว่า แอชชิสันคือผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯมากที่สุดกว่าทศวรรษ เป็นเจ้าของความคิดโครงการมาร์แชลล์ในการฟื้นฟูยุโรป และถูกเรียกขานว่าเป็น “สถาปนิก” ของสิ่งที่เรียกว่า “สงครามเย็น”
หากยึดเอาความเชื่อของหม่อมเสนีย์ที่ว่า “ศาลโลกเป็นศาลการเมือง บิดเบือนกฎหมายแล้วแต่สถานการณ์” และ “ปลายปากกาของคนที่เป็นผู้พิพากษา จะเขียนคำพิพากษาเป็นอย่างไรก็ได้” ก็จะเห็นอิทธิพลและความสำคัญของแอชชิสันอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น แอชชิสันคือความแตกต่างระหว่างทีมทนายฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชา ว่ากันว่า อิทธิพลบารมีของแอชชิสันมากถึงขนาดที่สามารถฟันธงได้ว่า แอชชิสันอยู่ฝ่ายไหน ฝ่ายนั้นมีโอกาสชนะสูง
การพิจารณาเลือกดีน แอชชิสันของฝ่ายกัมพูชาจึงเป็นการตัดสินใจเลือกที่ชาญฉลาดที่สุดแล้ว
จะเห็นได้ว่า ในการต่อสู้ทางกฎหมาย ณ ปีพ.ศ.ปัจจุบันนี้ จะไม่มีบุคคลระดับ “ดีน แอชชิสัน” ที่สามารถสร้างความแตกต่างอย่างมหาศาลระหว่างสองฝ่าย ฝ่ายไทยทั้งในยุค 2505 และยุคปัจจุบันที่ดูเหมือนจะให้ความสำคัญเฉพาะมิติทางนิติศาสตร์เป็นหลักเพียงด้านเดียวจนละเลยความสำคัญในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะทางรัฐศาสตร์ ที่อาจจะเป็นปัจจัยชี้ขาดผลแพ้ชนะทางคดีก็ได้
เมื่อพิจารณาในรายละเอียด จะเห็นได้ว่า ที่ปรึกษากฎหมายต่างประเทศที่เป็นทนายของฝ่ายไทยทั้ง 3 คนนั้นล้วนแต่เป็นศาสตราจารย์ด้านกฏหมายระหว่างประเทศ โดยกระทรวงการต่างประเทศ(อ้างว่า)พิจารณาจากคุณสมบัติและความสามารถที่โดดเด่นเป็นหลัก รวมถึงการยอมรับในระดับสากลด้วย ที่น่าสนใจก็คือ ดูเหมือนว่าที่ปรึกษาทางกฎหมายทั้ง 3 ท่านที่ร่วมเป็นทนายให้แก่ฝ่ายไทยนั้น มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ทางด้านเขตทะเลเป็นหลัก
ศาสตราจารย์เจมส์ ครอว์ฟอร์ด (James Crawford) ชาวออสเตรเลียน ที่กระทรวงการต่างประเทศเชื่อมั่นว่าเป็นคนเก่งเรื่องแผนที่และพรมแดนมากที่สุดคนหนึ่ง เคยเป็นทนายความให้มาเลเซียในศาลโลกชนะอินโดนิเซียกรณีพิพาทเหนืออธิปไตยเกาะ Sipandan และ Ligitan ในปี 2002 และล่าสุด เป็นทนายให้มาเลเซียแพ้สิงคโปร์ในกรณีพิพาทเกาะ Pulau Batu Puteh เมื่อปี 2551
ศาสตราจารย์อแลง เเปลเล่ต์ (Alain Pellet) ชาวฝรั่งเศส มีประสบการณ์ในการเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายหรือทนายในศาลโลกกว่า 37 กรณี เรียกว่าเป็นขาประจำคนคุ้นเคยของศาลโลก ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา สร้างชื่อและได้รับการยอมรับในความเก่งกาจในกรณีพิพาททางทะเลเป็นหลัก โดยเฉพาะเคยร่วมเป็นทนายให้อินโดนิเซียแพ้แก่มาเลเซียในกรณีพิพาทเหนือเกาะ Sipandan และ Ligitan และเป็นทนายให้สิงคโปร์ชนะมาเลเซียในกรณีเกาะ Pulau Batu Puteh ในทั้ง 2 กรณีนี้ จะเห็นได้ว่า ที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายทั้ง 2 คนนี้ต่างก็เคยเป็นทนายยืนกันคนละฝั่งมาก่อน
อีกคนหนึ่งคือ ศาสตราจารย์โดนัลด์ เอ็ม แม็คเรย์ชาวนิวซีแลนด์/แคนาดา มีประสบการณ์ล่าสุดในการเป็นทนายให้ฝ่ายสุรินัมในกรณีพิพาทน่านน้ำทะเลกับกายอาน่ารวมทั้งเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย
ให้แก่แคนาดาในกรณีพิพาททางทะเลกับสหรัฐฯ
และระหว่างแคนาดากับฝรั่งเศส
เพราะฉะนั้นแล้ว การที่ฝ่ายไทยพิจารณาเลือกผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์เป็นทนายในกรณีพิพาททางด้านเขตทะเลเป็นหลัก ทั้งๆที่กรณีพิพาทปราสาทพระวิหารเป็นเรื่องพรมแดนทางบก อาจจะส่งผลกระทบทำให้ฝ่ายไทยเสียเปรียบก็เป็นได้ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศอาจจะมองข้ามมาตั้งแต่ต้นหรือไม่ได้คิดว่าจะเป็นข้อเสียเปรียบจนเกิดความเสียหายได้
ในขณะที่ทีมทนายต่างประเทศของฝ่ายกัมพูชาได้แก่ เซอร์แฟรงคลิน เบอร์มัน (Sir Franklin Berman) ชาวอังกฤษ ศาสตราจารย์ฌอง-มาร์ก โซเริล (Jean-Marc Sorel) และร๊อดมัน บันดี้ (Rodman Bundy) ซึ่งโดยโปรไฟล์แล้ว ดูเหมือนจะมีประสบการณ์ความชำนาญที่หลากหลายกว่าทีมฝ่ายไทย โดยเฉพาะประสบการณ์ที่เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างประเทศและข้อพิพาทเขตแดนระหว่างรัฐ
ความน่าสนใจอยู่ที่กรณีของร๊อดมัน บันดี้ที่เคยเป็นทนายร่วมทีมเดียวกันให้กับฝ่ายสิงคโปร์ร่วมกับศาสตราจารย์ อแลง เเปลเล่ต์ในข้อพิพาทกับมาเลเซีย และเคยเป็นทนายให้ฝ่ายยูเครนต่อสู้ทางกฎหมาย(แพ้ให้)กับฝ่ายโรมาเนียที่มีศาสตราจารย์อแลง เเปลเล่ต์เป็นทนายให้ ที่สำคัญระคนความแปลกก็คือ ณ ปัจจุบันนี้ ทั้งร๊อดมัน บันดี้และศาสตาจารย์อแลง เเปลเล่ต์เป็นทีมทนายร่วมอยู่ในฝ่ายเปรูต่อสู้ทางกฎหมายกับชิลี และต้องแยกอยู่คนละทีมคนละฝ่ายในกรณีพิพาทปราสาทพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชา
เจตนารมณ์ของบทความชิ้นนี้ ไม่ได้เพื่อ “ตีตนไปก่อนไข้” แต่เพื่อต้องการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของคณะทนายและที่ปรึกษาทางกฏหมายที่ดูเหมือนว่าสาธารณชนตลอดจนวงวิชาการและนักกฏหมายระหว่างประเทศจะมองข้ามไป
คำแถลงของจอมพลสฤษดิ์หลังทราบผลคำตัดสินของศาลโลกในปี 2505 |
"ยิ่งลักษณ์"จะสร้างประวัติศาสตร์อย่างไรกับกรณีพระวิหาร? |
ในปี 2505 เราเคยพลาดพลั้งมีบทเรียนมาแล้ว เพราะจอมพลสฤษดิ์เชื่อมั่นตามคำหวานของทีมที่ปรึกษาต่างประเทศว่าฝ่ายไทยจะเป็นฝ่ายชนะอย่างแน่นอน และตามคำรายงานของหม่อมเสนีย์ที่ยืนยันว่า ไทย(จะ) ชนะ 300 เปอร์เซนต์ โดยเอา “หัวของเจ้ากรมแผนที่” เป็นประกันแต่ในปี 2556 ความมั่นใจของฝ่ายไทยดูเหมือนจะลดระดับลงไปอย่างเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน ด้านหนึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศเชื่อมั่นว่า “ถ้า(ศาล)ตัดสินให้เสมอก็แปลว่าไทยเราชนะ” ซึ่งก็คือความหมายของคำพูด "ไม่เจ๊าก็เจ๊ง” ที่เคยสร้างความหวั่นวิตกกังวลใจให้กับคนไทยทั้งประเทศจนเกิดกระแสเข้าใจ(ผิด) และกล่าวหารัฐบาลว่ากำลัง “สู้เพื่อแพ้”
ในขณะที่คณะทีมกฎหมายของกระทรวงการต่างประเทศค่อนข้างมั่นใจว่าผลลัพธ์(คำตัดสิน)จะกระทบด้านลบต่อไทยน้อยมาก แบบว่า ไม่มีอะไรจะได้ และ ไม่มีอะไรจะเสีย
ถึงที่สุดแล้ว วันเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์เจตนารมณ์และข้อเท็จจริงนี้
ทฤษฏี "คอนโดมิเนียม" กับปัญหาปราสาทพระวิหาร
.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น