16 มีนาคม 2556

คดีปราสาทพระวิหาร: ข้อคิดและแนวทางต่อสู้ทางกฎหมาย

.




PACIS TUTELA APUD JUDICEM - การส่งเสริมสันติภาพเป็นภาระหน้าที่ของผู้พิพากษา

เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๕๓ ราชอาณาจักรกัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก)ให้ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารที่ศาลมีคำพิพากษาไปแล้วในปี พ.ศ.๒๕๐๕ พร้อมกับมีคำขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศออกมาตรการฉุกเฉินจำนวน ๓ ประการ ได้แก่
ประการที่หนึ่ง ให้รัฐบาลไทยต้องถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่พิพาทรอบปราสาทพระวิหารทันที
ประการที่สอง  ห้ามรัฐบาลไทยเคลื่อนไหวทางการทหารที่มีผลกระทบต่อสิทธิของราชอาณาจักรกัมพูชา
ประการที่สาม  ห้ามสร้างความขัดแย้งชายแดนจนกว่าศาลโลกจะตีความคำพิพากษาเสร็จสมบูรณ์
ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ศาลโลกได้มีคำสั่งจำนวน ๗ ประการ โดยแยกเป็นคำสั่งมาตรการชั่วคราวจำนวน ๔ ประการ และคำสั่งทั่วไปจำนวน ๓ ประการ ได้แก่  

คำสั่งมาตรการชั่วคราว(provisional measures order) จำนวน ๔ ข้อ ประกอบด้วย
หนึ่ง  ให้ทั้งไทยและกัมพูชา ถอนกำลังทหารออกจากเขตปลอดทหารชั่วคราว (provisional demilitarized zone) ทันที ตามร่างแผนที่(sketch map)ที่ศาลโลกได้กำหนด รวมทั้งห้ามทั้งไทยและกัมพูชาวางกำลังทหารในเขตหรือดำเนินกิจกรรมทางอาวุธใดๆที่มุ่งหมายไปยังเขตดังกล่าว
สอง  ให้ไทยแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่ให้ขัดขวางกัมพูชาในการเข้าถึงปราสาทพระวิหารอย่างอิสระ(free access) รวมทั้งการส่งเสบียง (fresh supplies /ravitailler)ให้แก่เจ้าหน้าที่ที่มิใช่ทหารของฝ่ายกัมพูชาในปราสาทพระวิหาร
สาม  ให้ทั้งไทยและกัมพูชาร่วมมือกันตามกรอบของอาเซียน และต้องอนุญาตให้คณะผู้สังเกตการณ์จากอาเซียนสามารถเข้าไปยังเขตปลอดทหารชั่วคราวดังกล่าวได้ และ
สี่  ให้ทั้งไทยและกัมพูชาละเว้นจากกิจกรรมใดๆที่จะทำให้สถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างกันเลวร้ายหรือรุนแรงมากขึ้น หรือทำให้ปัญหาข้อพิพาทมีความยากลำบากยิ่งขึ้นในการที่จะแก้ไข

คำสั่งทั่วไป จำนวน ๓ ข้อ  ประกอบด้วย
หนึ่ง สั่งไม่จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ (ศาลโลกรับคดีนี้ไว้พิจารณา)
สอง  ให้ทั้งไทยและกัมพูชาต้องรายงานให้ศาลโลกทราบถึงการปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวที่ศาลโลกสั่งทั้งสี่ประการ  และ
สาม  สั่งว่าศาลโลกยังคงสามารถพิจารณาประเด็นใดๆที่มีสาระเกี่ยวข้องกับมาตรการชั่วคราวต่อไปได้ จนกว่าศาลโลกจะมีคำพิพากษากรณีที่ทางกัมพูชาร้องขอให้ศาลโลกตีความตามคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ.๒๕๐๕
โดยศาลโลกอาจเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขคำสั่งที่เกี่ยวกับมาตรการชั่วคราวที่ศาลโลกมีคำสั่งไว้ได้หากมีเหตุการณ์หรือข้อเท็จจริงใหม่ ที่ทั้งไทยและกัมพูชาหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอให้ศาลโลกพิจารณา 

ทั้งนี้  ทั้งไทยและกัมพูชาก็ได้ปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลโลกโดยเฉพาะการถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ที่ศาลโลกเรียกว่าเขตปลอดทหารชั่วคราว ซึ่งเป็นพื้นที่ตามที่ปรากฏในร่างแผนที่ที่ศาลโลกได้กำหนด  นั่นคือพื้นที่บริเวณโดยรอบตัวปราสาทพระวิหารและพื้นที่ใกล้เคียงบางส่วน  ซึ่งโดยพื้นที่ส่วนใหญ่ที่อยู่ในร่างแผนที่ที่ศาลโลกกำหนดให้ถอนทหารจะอยู่ในเขตแดนของไทยและพื้นที่ส่วนน้อยจะอยู่ในเขตแดนของกัมพูชา โดยการเจรจาและท่าทีที่เป็นมิตรต่อกันทั้งของกัมพูชาและไทยที่ผ่านมาก็ทำให้เห็นภาพความร่วมมือระหว่างสองประเทศดำเนินการไปด้วยดี   






เขาพระวิหาร -อาถรรพ์แห่งความขัดแย้ง




ในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๕๖ ศาลโลกได้กำหนดวันนัดพิจารณาคดีดังกล่าวในศาลที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์  ทางกัมพูชาก็จะมีการส่งทีมงานกฏหมายนำพยานหลักฐานเข้าสืบพิสูจน์เพื่อให้ศาลเห็นและมีคำสั่งหรือมีคำพิพากษาให้เป็นตามที่กัมพูชาร้องขอ และในขณะเดียวกันไทยเราก็จะส่งทีมงานกฏหมายนำพยานหลักฐานเข้าสืบพิสูจน์หักล้างคำร้องขอของกัมพูชาเพื่อให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องของกัมพูชาและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ทีมงานกฏหมายไทยจะนำสืบหักล้างอย่างไรให้ศาลโลกเห็นพ้องด้วยกับฝ่ายเราจนศาลมีคำสั่งยกคำร้องของกัมพูชาและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ผู้เขียนเห็นว่ามีข้อพิจารณา ๔ ประการที่ทีมกฏหมายของไทยควรจะต้องให้ความสำคัญ ประกอบด้วย

ประการแรก   ในปี พ.ศ.๒๕๐๕ การต่อสู้คดีปราสาทพระวิหาร ฝ่ายไทยได้โต้แย้งคัดค้านเขตอำนาจศาลโลก(Preliminary Objection)ด้วย แต่เมื่อศาลโลกได้มีคำพิพากษาให้ฝ่ายกัมพูชาชนะคดีดังกล่าวซึ่งได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหาแห่งคดีแล้ว  ขั้นตอนหลังจากศาลโลกมีคำพิพากษาแล้ว(Post Adjudicative Phrase)ไม่มีหน่วยงานที่จะทำหน้าที่บังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษา (Enforcement Unit)โดยตรงเหมือนศาลยุติธรรมภายในประเทศ แต่กฎบัตรสหประชาชาติ ข้อ ๙๔(๒) กำหนดให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ(UN Security Council) มีดุลพินิจ(Discretion) ในการที่จะออกคำแนะนำ(Recommendation) หรือมาตรการ (Measure) เพื่อให้คำพิพากษาศาลโลกมีผลใช้บังคับได้  เนื่องจากกฎบัตรสหประชาชาติ ข้อ ๙๔(๑) บัญญัติให้ รัฐที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติจะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา ซึ่งคดีนี้ศาลโลกเองก็ไม่ได้มีการออกคำบังคับเพื่อให้มีการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษา(Enforcement) แต่ประการใด แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยสมัยนั้นก็ได้มีหนังสือไปถึงเลขาธิการสหประชาชาติว่าไทยยอมรับที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าว ซึ่งผลที่เกิดขึ้นเท่ากับว่าฝ่ายไทยยอมรับเขตอำนาจศาลโลกแบบคำประกาศฝ่ายเดียวหรือเป็นการปฏิบัติตามคำพิพากษาฝ่ายเดียว (Single Compliance )ในเฉพาะคดีดังกล่าวเท่านั้น และไทยเราก็ได้ปฏิบัติครบถ้วนตามที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลโลกคดีดังกล่าวแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๕ ในฐานะสมาชิกที่ดีขององค์การสหประชาติ ซึ่งจนถึงขณะนี้ระยะเวลาก็ได้ล่วงเลยผ่านพ้นมาเป็นเวลากว่า ๕๐ ปีแล้ว
  
ประการที่สอง  ภายหลังจากศาลโลกมีคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารโดยใช้หลักกฏหมายปิดปาก (estoppel) ที่ศาลยกประเด็นว่าไทยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านแผนที่ระวางอัตรา ๑ :๒๐๐,๐๐๐ ที่ฝรั่งเศสจัดทำขึ้นในสมัยที่กัมพูชาเป็นประเทศอาณานิคมของฝรั่งเศส  มีผลเท่ากับว่าไทยยอมรับที่จะผูกพันตามแผนที่ดังกล่าวมาพิพากษาให้ไทยแพ้คดีแล้ว ไทยก็ได้ให้การยอมรับปฎิบัติจนครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลโลกทุกประการในฐานะของสมาชิกสหประชาชาติที่ดี   โดยยอมรับว่าเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา และรัฐบาลไทยในขณะนั้นก็ได้มีหนังสือเพื่อตั้งข้อสงวนสิทธิ์และดำเนินการล้อมรั้วลวดหนามรอบตัวปราสาทพระวิหารเพื่อกำหนดให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพื้นที่บริเวณภายนอกโดยรอบตัวปราสาทพระวิหารเป็นของไทย และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทางรัฐบาลกัมพูชาก็ไม่เคยมีการอุทธรณ์คำพิพากษา และไม่เคยโต้แย้งหรือท้วงติงว่าการกระทำดังกล่าวของไทยเป็นการละเมิดคำพิพากษาและเป็นการละเมิดอธิปไตยของกัมพูชาแต่ประการใด 


พระวิหาร - เรื่องกลุ่มใจสุดๆของรัฐมนตรีต่างประเทศ




การที่กัมพูชาไม่เคยอุทธรณ์คำพิพากษาคดี ปราสาทพระวิหารและไม่เคยโต้แย้งหรือคัดค้านการล้อมรั้วลวดหนามรอบตัวปราสาท พระวิหารเพื่อกำหนดให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพื้นที่บริเวณภายนอกโดยรอบตัว ปราสาทพระวิหารเป็นของไทย  เพราะฉะนั้น ผลทางกฏหมายก็เท่ากับว่าฝ่ายกัมพูชายอมรับมาตลอดแล้วว่าเฉพาะตัวปราสาทพระ วิหารเป็นของกัมพูชาและพื้นที่โดยรอบตัวปราสาทพระวิหารเป็นของไทยมาโดยตลอด  ดังนั้น  หากคำพิพากษาศาลโลกมีมาตรฐาน หลักกฎหมายปิดปากที่ศาลโลกเคยใช้ในคดีดังกล่าวเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ ก็(ควร)จะต้องถูกยกขึ้นมาอ้างอิงและใช้ในการวินิจฉัยคดีนี้ด้วยเช่นกัน 

ประการที่สาม  การแสดงให้เห็นว่ามีการยอมรับเขตอำนาจศาลโลก สามารถกระทำได้ ๒ แนวทางคือ แนวทางแรก  เป็นการยอมรับอำนาจเขตศาลแบบคำประกาศฝ่ายเดียว และแนวทางที่สอง เป็นการยอมรับเขตอำนาจศาลแบบทำความตกลงเป็นพิเศษ(Special Agreement) โดยรัฐที่เป็นคู่พิพาทยินยอมพร้อมใจหรือตกลงกันให้นำเสนอข้อพิพาทให้ศาลโลก พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด ปัจจุบันไทยไม่ได้เป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยศาลโลก เพราะความเป็นภาคีสมาชิกของไทยสิ้นสุดลงพร้อมกับคำพิพากษาศาลโลกที่ตัดสิน ให้ปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชาในปี พ.ศ.๒๕๐๕ แล้ว หลังจากนั้นต่อมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันไทยก็ยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกของ ศาลโลกอีก และไทยก็ไม่ได้มีการแสดงให้เห็นว่า มีการยอมรับเขตอำนาจศาลโลก ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับอำนาจเขตศาลแบบคำประกาศฝ่ายเดียว หรือเป็นการยอมรับเขตอำนาจศาลแบบทำความตกลงเป็นพิเศษ

ประการสุดท้าย การยื่นคำร้องของกัมพูชาครั้งนี้เพื่อให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระ วิหารที่เคยตัดสินไปแล้วในปี พ.ศ.๒๕๐๕ ดังกล่าวจะถือว่าเป็นการเสนอข้อพิพาทขึ้นใหม่ของกัมพูชา หรือเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษา ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเด็นหลักที่ฝ่ายกัมพูชามุ่งประสงค์ให้ศาลโลกวินิจฉัยตาม คำร้องคดีนี้นั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพื้นที่โดยรอบตัวปราสาทพระวิหาร ไม่ใช่ให้วินิจฉัยชี้ขาดตัวปราสาทพระวิหารโดยตรง ดังนั้นการยื่นคำร้องคดีดังกล่าวจึงไม่เป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาเนื่องจากคดี เดิมนั้นได้ล่วงพ้นระยะเวลามาเกินกว่าสิบปีแล้วและคดีดังกล่าวก็ได้ถึงที่ สุดไปแล้ว และไม่ใช่เป็นการเสนอข้อพิพาทขึ้นใหม่เนื่องจากการยื่นคำร้องของกัมพูชา ครั้งนี้เป็นเพียงการขอให้ศาลโลกอธิบายคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารที่เคยตัดสินไปแล้วในปี พ.ศ.๒๕๐๕ ดังกล่าวว่า จริงๆแล้วคำพิพากษาคดีดังกล่าวกินความรวมถึงพื้นที่อื่นๆ(ตามร่างแผนที่แนบท้ายคำร้องของกัมพูชา) ที่อยู่โดยรอบตัวปราสาทพระวิหารด้วยหรือไม่เท่านั้น  ซึ่งการยื่นคำร้องขอให้ศาลอธิบายคำพิพากษาตามหลักกฏหมายทั่วไปจะกระทำได้ก็ต่อ เมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่เข้าใจคำพิพากษาและไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไร เพื่อให้ถูกต้องตามคำพิพากษาได้ และการยื่นคำร้องขอให้อธิบายคำพิพากษากรณีที่มีคู่ความทั้งสองฝ่ายคู่ความทั้งสองฝ่ายจะต้องเป็นผู้ยื่นคำร้องร่วมกัน แต่คดีนี้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้ศาลอธิบายคำพิพากษา เนื่องจากคำพิพากษาในคดีดังกล่าวได้วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดีโดยชัดแจ้งแล้ว โดยทั้งไทยและกัมพูชาเข้าใจคำพิพากษาดีโดยไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์หรือโต้แย้งคัด ค้านคำพิพากษาคดีดังกล่าวและไทยก็ได้ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษาอย่าง ครบถ้วนแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๕ ซึ่งกัมพูชาก็ยอมรับมาโดยตลอดและไม่เคยโต้แย้งหรือคัดค้านการล้อมรั้วลวด หนามรอบตัวปราสาทพระวิหารเพื่อกำหนดให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา  ส่วนพื้นที่บริเวณภายนอกโดยรอบตัวปราสาทพระวิหารเป็นของไทย หากศาลโลกจะวินิจฉัยในเรื่องของพื้นที่ดังกล่าวอีกก็จะไม่เป็นการอธิบายคำ พิพากษาแต่จะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดก้าวล่วงเข้าไปในเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่อง เขตแดนโดยไม่มีกฏหมายที่จะให้อำนาจศาลโลกกระทำได้


พระราชวังสันติภาพ - สถานที่ตั้งของศาลโลก - คำตัดสินที่จะนำสู่สันติภาพ?





การวินิจฉัยชี้ขาดคดีนี้ของศาลโลกจะเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่า ศาลโลกจะเป็นศาลที่ส่งเสริมสันติภาพหรือส่งเสริมสงคราม ซึ่งคงไม่นานเกินรอก็จะได้รู้กัน แต่ใครก็ตามที่ร่วมสมคบคิดกันใช้อำนาจศาลโลกเพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการทำให้ไทยต้องเสียดินแดน พึงระลึกให้จงหนักว่าการกระทำใดๆก็ตามถ้ามีผลให้มีการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือมีผลให้ราชอาณาจักรหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรตกไปอยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐต่างประเทศ หรือทำให้เอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งเขตอำนาจรัฐเสื่อมเสียไป จะเป็นการละเมิดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๑ ที่บัญญัติว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้และอาจถูกดำเนินคดีอาญาในฐานความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๙  ที่บัญญัติว่า ผู้ใดกระทำการใดๆเพื่อให้ราชอาณาจักรหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรตกไปอยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐต่างประเทศ หรือเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิตได้ ซึ่งผู้เขียนและคนไทยทั้งประเทศมีหน้าที่ป้องกันประเทศ รักษาผลประโยชน์ของชาติ และปฏิบัติตามกฏหมาย ก็คงไม่อาจนิ่งเฉยอย่างแน่นอน

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนและคนไทยทั้งประเทศยังมีความหวังและมีความเชื่อมั่นว่าไม่ว่าศาลโลกจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร แต่ด้วยศักยภาพของรัฐบาลในขณะนี้คงจะจัดการกับเรื่องดังกล่าวให้ลุล่วงไปได้ด้วยดีโดยไม่มีการสูญเสียอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน ในขณะเดียวกันเราก็สามารถที่จะปฏิสัมพันธ์กับกัมพูชา มิตรประเทศอื่นๆและองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรีต่อไป





อุดมศักดิ์ โหมดม่วง


อ่าน ""พระวิหารพิพาท : ฤาจะสู้เพื่อแพ้?

.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มอเตอร์ หรือ สติกเกอร์

เมื่อตอนที่ Real Madrid ทีมดังในสเปนตัดสินใจขาย Claude Makelele ให้กับทีม Chelsea แล้วซื้อ David Beckham มาแทนที่ในช่วงกลางปี 2003 ปรา...