22 กุมภาพันธ์ 2554

อำนาจคือยาชะลอโรคร้าย(?)

.



การทำงานของสารอะดรีนาลีนคือความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งในร่างกายของมนุษย์เรา  เป็นดัชนีสิ่งสะท้อนถึงอารมณ์ความรู้สึกในช่วงหนึ่งๆ ไม่ว่าจะดีใจเสียใจ โกรธ ตกใจ หึงหวง ขึ้งเครียดหรือตื่นเต้น

สารอะดรีนาลีนจะถูกหลั่งออกมากกว่าปกติ หากเกิดอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งมากเกินควร

เราได้เห็นมหัศจรรย์ของสารอะดรีนาลีนเป็นประจักษ์ได้ว่า ในยามที่กำลังหนีภัยไฟไหม้นั้น เราสามารถยกตุ่มยกของหนักได้อย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งๆที่ในช่วงเวลาปกติ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้และไม่มีใครทำได้  นั่นเป็นเพราะ ในช่วงที่กำลังตกใจหรือหวาดกลัวนั้น  ร่างกายขับสารอะดรีนาลีนออกมามากเกินปกติจนเกิดแปรเปลี่ยนกลายเป็นพลังช้างสาร

ภายใต้ความมหัศจรรย์ดังกล่าว นำไปสู่คำถามว่า สารอะดรีนาลีนเป็นคุณหรือเป็นโทษกับผู้นำกันแน่?

ด้านหนึ่ง สารอะดรีนาลีนมีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้นำแก่เร็วขึ้นโดยแสดงออกผ่านทางใบหน้าและเส้นผม(ที่ขาวหงอกขึ้น)  เพราะฐานะความรับผิดชอบที่มากกว่าคนทั่วไปและเกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ในสังคมหรือในประเทศ  จึงเป็นปกติที่ผู้นำมักจะมีความเครียดในระดับที่สูงมากกว่าคนทั่วๆไป 

วงจรการทำงานของสารอะดรีนาลีน ความเครียดและความแก่ในตัวผู้นำจึงชัดเจนมากกว่าคนปกติธรรมดาที่ไม่ต้องแบกรับความรับผิดชอบใดๆ

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เชื่อว่า สารอะดรีนาลีน(อาจะ)มีคุณประโยชน์มหาศาลในการยับยั้งโรคร้ายไม่ให้เติบโตหรือแผลงฤทธิ์ ตราบเท่าที่บุคคลนั้นๆยังคงฐานะเป็นผู้นำอยู่

กรณีของอดีตผู้นำตูนิเซียและอิยิปต์รวมทั้งผู้นำไทย คือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สะท้อนให้เห็นถึงสมมติฐานนี้


 
  ในช่วงที่ครองอำนาจ เบน อาลีแทบไม่
    ปรากฏอาการของคนป่วยโรคร้ายเลย


ตลอดช่วงระยะเวลามากกว่า 20 ปีที่เบน อาลีดำรงตำแหน่งผู้นำของตูนิเซียแทบจะไม่ปรากฏเป็นข่าวว่า เคยล้มป่วยหนักด้วยโรคร้ายจนน่าวิตก 

ส่วนในกรณีของฮอสนี่ มูบารัคนั้นการเจ็บไข้ได้ป่วยย่อมเป็นเรื่องปกติของคนวัยย่างเข้าเลขแปด และเมื่อช่วงต้นปีที่แล้ว เคยมีกระแสข่าวภายในอียิปต์ว่า ประเทศอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะปรากฏข่าวลือว่า มูบารัคเป็นมะเร็วถุงน้ำดี มะเร็งหลอดอาหารหรือมะเร็งตับอ่อนที่ใดที่หนึ่งที่ไม่มีการยืนยันชัดเจน  และได้รับการผ่าตัดในระหว่างการเยือนเยอรมนีในเดือนมีนาคม 

แต่ตลอดช่วงเวลาหนึ่งปีก่อนต้องสละอำนาจในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ภาพที่ปรากฏต่อสาธารณชนทั้งในอียิปต์และต่างประเทศ ก็ไม่ได้แสดงอาการหรือบ่งบอกอาการของคนป่วยเลย




EGYPTIAN PRESIDENT Hosni Mubarak with French Presi
ภาพของมูบารัคในระหว่างการเยือนปารีสเมื่อกลางปีที่
แล้วที่ไม่ได้บ่งบอกอาการของคนป่วยแต่อย่างใด



        
       อำนาจวาสนาทำให้ฮอสนี่ มูบารัค
      สง่างามไร้โรคา(?)

แต่เมื่อสูญเสียสูญสิ้นอำนาจกลายเป็นอดีตผู้นำของประเทศตามแรงกดดันของมหาชนได้ไม่นาน   ทั้งเบน อาลีและมูบารัคก็ล้มป่วยหนักเกือบในทันทีทันใดเป็นอาการป่วยหนักที่น่าวิตกเป็นอย่างยิ่ง

เช่นเดียวกับกรณีของคุณสมัคร สุนทรเวชที่ต้องเสียชีวิตเนื่องจากโรคมะเร็งไปอย่างน่าเสียดายสำหรับสังคมการเมืองไทย

แต่ข้อสงสัยก็คือ อาการหรือเชื้อมะเร็งจะกำเริบหรือไม่ หากคุณสมัครยังอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศต่อไป



                                      
                                               รอยยิ้มของคุณสมัครที่ปรากฏให้เห็นอยู่
                                               เสมอๆ ยามเมื่อมีแมวเหมียวอยู่เคียงข้าง


                            
                                   การพับนกคือการผ่อนคลายความเครียดที่
                                    คุณสมัครชื่นชอบเป็นพิเศษ

เพราะเราจะเห็นว่า พลันที่อดีตผู้นำขวัญใจคนกรุงเทพฯคนนี้สูญเสียอำนาจในฐานะผู้นำประเทศ เชื้อมะเร็งก็ลุกลามและกำเริบขึ้นมาอย่างทันทีทันใดจนยากเกินจะรักษาได้



                            
                                     ภาพช่วงสุดท้ายในชีวิตของอดีตผู้นำไทยคนนี้

สมมติฐานนี้ต้องรอให้ผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์กันต่อไปว่าสารอะดรีนาลีนและอำนาจมีความสัมพันธ์กันหรือไม่ อย่างไร

เพื่อพิสูจน์ว่า จริงๆแล้ว อำนาจคือยาที่ช่วยชะลอโรคร้ายที่ได้ผลอย่างยิ่ง(?)




.

15 กุมภาพันธ์ 2554

ผู้นำกับแมวเหมียว - หน้าเหมือนอย่างบังเอิญ

.


       เป็นความบังเอิญอย่างยิ่งที่ผู้นำชื่อดังระดับโลกอย่างเลนิน สตาลินและ
ฮิตเลอร์มีหน้าตาคล้ายแมวเหมียว
       พิจารณาดูแล้ว ไม่เชื่อก็อย่าเชื่อ!










.

11 กุมภาพันธ์ 2554

ทฤษฏี "คอนโดมิเนียม" กับปัญหาปราสาทพระวิหาร

.



           ปฏิเสธไม่ได้ว่า เชื้อรากเหง้าส่วนหนึ่งของปัญหาความความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชาในปัจจุบันนี้ เป็นผลมาจากคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลกเมื่อปี 2505 ที่ให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในเขต อธิปไตยของกัมพูชา




                        
                          คำตัดสินของศาลโลกยุติที่กรุงเฮกเท่านั้น แต่กลาย
                          เชื้อแห่งความขัดแย้งตลอด 5 ทศวรรษที่ผ่านมา
 
         ความชัดเจนที่สุดก็คือ กัมพูชาเป็นเจ้าของปราสาทพระวิหารโดยนิตินัย แต่ศาลโลกก็ทิ้งมรดกความคลุมเครือจากคำตัดสินดังกล่าว

        เป็นความคลุมเครือว่า การเป็นเจ้าของปราสาทพระวิหารนี้หมายถึงการเป็นเจ้าของพื้นที่บริเวณโดยรอบด้วยหรือไม่  โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่โดยรอบ 4.6 ตารางกิโลเมตรที่กลายเป็นหัวใจของความขัดแย้งในวันนี้

         ดูเหมือนว่า ฝ่ายกัมพูชาและผู้สนับสนุนจะยึดเอาทฤษฏี "คอนโดมิเนียม" เป็นหลักในการตีความ  นั่นคือโดยหลักการแล้ว การเป็นเจ้าของห้องชุดหนึ่งๆ ย่อมหมายถึงการเป็นเจ้าของ(ร่วม)ในที่ดินทังหมดที่เป็นที่     ตั้งของคอนโดฯด้วย  เพราะฉะนั้น   ภายใต้หลักการนี้ ผู้นำกัมพูชาจึง(อาจ)เชื่อว่า การเป็นเจ้าของปราสาทพระวิหารจึงครอบคลุมถึงสิทธิการเป็นเจ้าของพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งและพื้นที่บริเวณโดยรอบด้วย





         
            ปราสาทพระวิหารในฐานะอสังหาริมทรัพย์เช่นเดียวกับคอมโดมิเนียม?



            ในขณะที่ฝ่ายรัฐไทย มองว่าคำตัดสินของศาลโลกสอดคล้องกับหลักการ "ตึกเซ้ง" มากกว่า นั่นคือ     เป็นเจ้าของเฉพาะตัวตึกเท่านั้น แต่ไม่มีสิทธิหรือเป็นเจ้าของที่ดินด้วย เพราะฉะนั้น  โดยนัยยะนี้      กัมพูชาเป็นเจ้าของเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้น แต่ไม่ได้รวมถึงสิทธิการเป็นเจ้าของเขาพระวิหารเฉพาะพื้นที่บริเวณใต้และรอบๆปราสาท     

            เพราะต่างฝ่ายต่างยึดถือหลักการและมุมมองที่แตกต่างกันดังกล่าว ความขัดแย้งอันเนื่องมาจากและเกี่ยวข้องกับปัญหาปราสาทพระวิหารจึงยากจะหาข้อยุติ ได้ง่ายๆ เว้นเสียแต่บุคคลที่สามที่จะเป็นผู้ตัดสินว่า กรณีนี้ควรยึดเอาทฤษฏี "คอนโดมิเนียม"   หรือทฤษฏี "ตึกเซ้ง" มากกว่ากัน


 

                           
                                      ปัญหาความข้ดแย้งไทย-กัมพูชาที่ต้อง
                                    ใช้เวลาสมานเฉกเช่นระยะทางที่ต้อง
                                     เดินสู่ชั้นบนสุดของตัวปราสาท

          ได้แต่หวังว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถหาข้อยุติในปัญหาข้อพิพาทนี้ได้อย่างสนิทใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องในโอกาสครบ 50 ปีของคำตัดสินของศาลโลกในปี 2555 แทนที่จะเป็นการกลับสู่เวทีศาลโลก  อีกครั้งหนึ่งหลังจาก 5 ทศวรรษผ่านพ้นไป



.

9 กุมภาพันธ์ 2554

เอ็มโอ(ไม่)ยู กู่ไทยเขมร

.



ในช่วงเวลาครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา  อาจกล่าวได้ว่า พรมแดนด้านตะวันออกเฉียงใต้คือจุดที่สร้างปัญหาความยุ่งยากให้แก่ประเทศไทยมากที่สุด จากแนวรบด้านการทหารและภัยคอมมิวนิสต์สู่แนวรบด้านการทูตและการทหารที่ไม่เคยสงบปราศจากข้อขัดแย้ง  เป็นเหมือนเช่นภูเขาไฟที่รอการปะทุได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ในช่วงเวลาสองสามปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ทวิภาคระหว่างไทยและกัมพูชาได้ดิ่งลงสู่จุดต่ำสุดในรอบสองทศวรรษก็ว่าได้



ผู้นำกัมพูชาอาจจจะจินตนาการว่ารัฐไทยอ้าปาก
คิดงาบหรือกัดไม่ปล่อยรัฐเขมรตลอดเวลา


ทั้งๆที่มีการเซ็นเอ็มโอยูเป็นบันทึกความเข้าใจระหว่างกัน แต่การณ์กลับปรากฏว่า ทั้งสองชาติกลับไม่ค่อยเข้าใจกันเสียมากกว่า เป็นเอ็มโอ(ไม่)ยูที่สร้างผลเสียให้แต่ละฝ่าย


หรือว่า การตอบโต้ทางการทูตและทางทหารระหว่างกรุงเทพและพนมเปญเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะหากปล่อยให้รัฐบาลฮุนเซนดำเนินการเช่นนี้โดยไม่มีการตอบโต้ใดๆ ก็เท่ากับเปิดช่องให้ผู้นำกัมพูชา ได้คืบแล้วเอาศอก กระทำการอื่นๆ ได้อีกตามอำเภอใจในอนาคต 


อย่าลืมว่า ฮุนเซนในวัยสามสิบต้นๆ สร้างผลงานจากการเป็นผู้นำทางทหารในการโค่นล้มกองทัพเขมรแดง  และตำแหน่งทางการเมืองแรกสุดของผู้นำกัมพูชาผู้นิยมความรุนแรงคนนี้  นับตั้งแต่กองทัพเวียดนามสามารถโค่นล้มรัฐบาลเขมรแดงยึดครองกรุงพนมเปญได้ ก็คือรัฐมนตรีต่างประเทศในช่วงระหว่างปี 2522-2528 ที่มีบทบาทสำคัญในการเจรจาสันติภาพปารีส สี่ฝ่ายเพื่อยุติความขัดแย้งในกัมพูชา


และการที่ประกาศตัดขาดความเป็นพ่อลูกกับลูกสาวบุญธรรมที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศเมื่อสามปีก่อน ก็สะท้อนให้เห็นตัวตนที่แท้จริงอีกด้านหนึ่งของผู้นำสูงสุดกัมพูชาคนนี้


แน่นอนที่สุดว่า ไม่มีใครปรารถนาให้ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยและกัมพูชาพัฒนาเลวร้ายไปมากกว่านี้  ไม่มีใครปรารถนาให้เกิดการสู้รบทางทหารระหว่างสองชาตินี้


ในส่วนของรัฐบาลไทยเอง มีทางเลือกสามอาร์ที่สามารถนำไปประยุกต์ปรับใช้เป็นแนวนโยบายต่อไป
   

                                   
                        อย่างน้อยที่สุด ธงชาติของทั้งสองประเทศก็มี 3 สีเหมือนกัน



อาร์แรกคือ Remain โดยรัฐบาลไทยจะยังคงยึดมั่นหลักการและท่าทีเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และไม่ยินยอมประนีประนอมด้วยถึงแม้ว่าอาจจะเสี่ยงต่อผลกระทบทางการทูตและการค้าก็ตาม ถ้าหากว่าหลักนิติรัฐระหว่างประเทศถูกละเมิดจากประเทศอื่น รวมทั้งยืนหยัดให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ตระหนักดีว่า พฤติกรรมบางอย่างเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะยอมรับได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำรอยขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งนั่นหมายถึงว่า ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพและพนมเปญอาจจะยังคงสถานะเดิมเช่นนี้ต่อไป  โดยต่างฝ่ายต่างรอเวลาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศในอีกประเทศหนึ่ง เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในนโยบายต่างประเทศด้วย


ภาพบันทึกความไม่ปรารถนาของมนุษยชาติ


อาร์ที่สองคือ Repair โดยรัฐบาลไทยจะต้องสมานบาดแผล(ทางจิตวิทยา)และซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย(ทั้งทางกายภาพและทางสัญญลักษณ์) ไม่เพียงแต่เฉพาะที่เกิดจากความขัดแย้งครั้งล่าสุดนี้ เพื่อปรับความเข้าใจระหว่างกันและทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชากลับคืนสู่สภาพปกติ ตลอดจนทำให้คนของทั้งสองชาติมีทัศนคติที่ดีขึ้นระหว่างกัน  แต่อย่างไรก็ตาม ความเสียหายทางการทูตบางอย่างเป็นสิ่งที่ซ่อมแซมให้เหมือนเดิมได้ยาก และอาจจะถึงขั้นทำให้ปัญหาเลวร้ายลงไปอีกก็เป็นได้




หรือว่ามีแต่สิ่งศักดิ์สิทธิที่จะช่วยระงับ
ความขัดแย้งระหว่างไทยกับเขมรได้


อาร์ที่สามคือ Reset หากตระหนักดีว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชานี้ มีเชื้อมีมูลที่เรื้อรังจนยากจะเยียวยาตามวิธีการเดิมๆ ได้ ก็อาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเดินเครื่องใหม่ทั้งเรื่องความคิด ทัศนคติและแนวนโยบายที่อาจจะแตกต่างจากก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิง เป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์แบบใหม่ๆที่จะพัฒนาไปสู่การสมานฉันท์ (Reconciliation) และไมตรีฉันท์ (Rapprochement) เสียที  เพื่อทำให้ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน อบอุ่น จริงๆ



.

4 กุมภาพันธ์ 2554

ไคโรไครซิส วิกฤติอาหรับ

.



ไม่มีใครจะเชื่อว่า เพียงไฟจุดเดียวที่หนุ่มตูนิเซียวัยเบญเพศนามโมฮัมเหม็ด บัวซิซี่เผาตัวเองเพื่อแสดง ออกซึ่งความไม่พึงพอใจต่ออำนาจรัฐและประท้วงความเหลื่อมล้ำไม่ยุติธรรมในสังคมจะลุกโชนนำไปสู่กระแสของการเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงใน  กลุ่มประเทศอาหรับได้ใหญ่หลวงขนาดนี้  


                        
                         เพียงไฟจุดเดียวของโมฮัมเหม็ด บัวซิซี่ กลาย
                    เป็นไฟลามทุ่งไปทั่วโลกอาหรับ



กลายเป็นจุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สั่นสะเทือนภูมิภาคตะวันออกกลางมากที่สุดในรอบหลายๆ ทศวรรษ  ว่ากันว่า สั่นสะเทือนมากยิ่งกว่าการปฏิวัติประชาชนในอิหร่านเมื่อ  32 ปีก่อน และการโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซนในอิรัคเมื่อปี 2545


การจุดไฟเผาตัวเองของโมฮัมเหม็ด บัวซิซี่เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ได้จุดและโหมเชื้อแห่งความไม่พึงพอใจรัฐในหมู่ชาวตูนิเซียที่มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้วให้ระเบิดออกมา เกิดกระแสรวมตัวอย่างโกรธแค้นกลายเป็นการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ซึ่งโดยปกติแล้ว การรวมตัวประท้วงรัฐบาลเกิดขึ้นน้อยครั้งมากในสังคมตูนิเซีย  ถึงแม้ว่าจะเป็นประเทศที่ประชากรมีการศึกษามากที่สุดประเทศหนึ่งในโลกอาหรับ แต่ตูนิเซียก็ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการควบคุมกวดขันสิทธิเสรีภาพมาก 
ที่สุดประเทศหนึ่งเช่นกัน


เพียงแค่ระยะเวลาเพียง 3 สัปดาห์คนตูนิเซียก็สามาถโค่นล้มรัฐบาลเบน อาลีที่ปักหลักยึดครองอำนาจของประเทศมายาวนานกว่า 23 ปีได้อย่างง่ายดาย


โมฮัมเหม็ด บัวซิซี่ไม่เพียงแต่จุดประกายสร้างความหวังให้คนหนุ่มคนสาวที่เป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมเกือบทุกประเทศในตะวันออกกลางเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมว่า “Yes, we can”  เท่านั้น แต่มรดกอันล้ำค่าที่บัวซิซี่ฝากไว้คือยุทธวิธีการต่อสู้แบบใหม่สำหรับชาวมุสลิมที่ทรงอนุภาพอย่างไม่น่าเชื่อ นั่นคือการจุดไฟเผาตัวเอง และอาจจะกลายเป็นอาวุธทางการเมืองที่ได้รับการยอมรับแทนทีการระเบิดพลีชีพตัวเองมากขึ้น 


การจุดไฟเผาตัวเองได้กลายเป็นสัญลักษณ์ใหม่ในการเริ่มต้นการประท้วงโค่นล้มรัฐบาลหรือแสดงออกซึ่งความไม่พอใจต่ออำนาจรัฐในโลกอาหรับเหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นในเวียดนามใต้เมื่อเกือบ 50 ปีก่อน ถึงแม้ว่าจะขัดกับหลักศาสนาอิสลาม แต่ยุทธวิธีจุดไฟเผาตัวเองกลับแพร่ขยายไปอย่างรวดเร็วจากตูนิเซียสู่อียิปต์ อัลจิเรีย ซีเรียและซาอุดิอาระเบีย  เพราะผลกระทบทางจิตวิทยาอย่างมหาศาลมากกว่าการระเบิดพลีชีพหรือวิธีการอื่นๆ


ความสำเร็จในการโค่นล้มระบอบอัตตาธิปไตยในตูนิเซียได้กลายเป็นโดมิโนเอฟเฟ๊กท์ที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ก่อให้เกิดคลื่นมนุษย์คนหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่รวมพลังต่อต้านเพื่อโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการและระบอบอัตตาธิปไตยในหลายๆประเทศ กลายเป็นเหมือนไฟลามทุ่งที่สร้างความหวั่นไหวให้กับผู้นำในหลายๆประเทศ รวมทั้งพันเอกโมฮัมเหม็ด  กัดดาฟี่แห่งลิเบียที่อยู่ในตำแหน่งอย่างยืนยาวคงกระพันนานที่สุดในโลกอาหรับกว่า 40 ปี



ประธานาธิบดีฮอสนี่ มูบารัคจะรักษาอำนาจ
ได้นานอีกแค่ไหน

แต่วิกฤติการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ณ กรุงไคโร อียิปต์ในเวลานี้มีความหมายความสำคัญต่อภูมิภาคตะวันออกกลางมากที่สุด เพราะอียิปต์เป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค เป็นยักษ์ใหญ่มหาอำนาจทางทหารและการเมืองที่ทรงอิทธิพลในโลกอาหรับที่มีผลต่อสันติภาพกับอิสราเอล ในสายตาของโลกอาหรับแล้ว อียิปต์คือ มารดาแห่งโลก  คือ ตักสิลาที่เป็นทั้ง สมองและแหล่งกำเนิดอุดมการณ์ปรัชญาของโลกมุสลิมทั่วโลก ในรอบศตวรรษทีผ่านมา  กลุ่มที่เคลื่อนไหวการเมืองและสังคมเกือบทั้งหมด
ล้วนแต่เริ่มต้นหรือกำเนิดมาจากอียิปต์ทั้งสิ้น


ความรุนแรงที่เกิดจากการปะทะกันของสองฝ่าย



มวลชนรวมพลังที่ไคโร

ด้วยฐานะและความสำคัญของอียิปต์ดังกล่าว การเปลี่ยนแปลงใดๆทางการเมืองย่อมมีผลสั่นสะเทือนภูมิภาคทั้งหมดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประวัติศาสตร์สะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงหนึ่งว่า การเปลี่ยนแปลงใดๆ ในอียิปต์มักจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในประเทศอื่นๆในภูมิภาคเดียวกัน    และด้วยเหตุนี้เอง ความพยายามที่จะโค่นล้มประธานาธิบดีฮอสนี่  มูบารัคจากอำนาจจึงไม่ใช่เรื่องง่ายหรือได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายโดยเฉพาะจากภายนอกประเทศเหมือนเช่นกรณีของผู้นำตูนิเซีย


ฮอสนี่ มูบารัคเคยผ่านการถูกลอบสังหารมาแล้ว 6 ครั้ง
แต่ศึกการเมืองในครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก
 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า มูบารัคคือผู้สืบทอดอำนาจและอุดมการณ์โดยตรงของอันวาร์ ซาดัด อดีตผู้นำผู้หาญกล้าสร้างความสมานฉันท์กับอิสราเอลจนถูกลอบสังหาร มูบารัคเลือกที่จะเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นของสหรัฐฯ และเลือกที่จะเป็นพันธมิตรหนึ่งเดียวในโลกอาหรับของอิสราเอล เช่นเดียวกับบทบาทการเป็นตัวกลางของตูนิเซียและจอร์แดนในความพยายามที่จะไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ บทบาทที่ไม่เป็นศัตรูกับรัฐอิสราเอลดังกล่าว อาจจะเป็นปัจจัยหนุนเสริมทำให้ทั้งสามประเทศกลายเป็น
เป้าหมายหลักแรกๆของกลุ่มหัวรุนแรงที่ร่วมหัวกันโค่นล้มผู้นำประเทศ


ในวัย 82 ปี คนแก่อย่างมูบารัคอาจจะ
พร้อมที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อตัวเอง
หรือเพื่อประเทศ?


ในขณะเดียวกัน ผู้นำในตะวันออกกลางหลายๆประเทศอาจจะภาวนาและปรารถนาให้การเคลื่อนไหวเพื่อโค่นล้มมูบารัคไม่ประสบความสำเร็จ มิฉะนั้นแล้ว ผู้นำของประเทศเหล่านี้จะต้องเป็นเหยื่อเป็นเป้าหมายรายต่อไปตามทฤษฏีโดมิโนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  


จึงอาจจะเป็นไปได้ว่า มูบารัคจะได้รับการสนับสนุนจากผู้นำอิสราเอลและผู้นำประเทศอาหรับอื่นๆ (อย่างลับๆ) ให้สามารถประคองอยู่ในตำแหน่งต่อไป(อีกระยะหนึ่ง) ป้องกันไม่ให้ ประตูเขื่อน (คือมูบารัค) พังทลายในทันที เพราะอย่างน้อยที่สุด การดำรงอยู่ของมูบารัคคือหลักความปลอดภัยในตำแหน่งของผู้นำคนอื่นๆรวมทั้งมิตรภาพกับอิสราเอล 


การอยู่รอดของระบอบมูบารัคส่วนสำคัญหนึ่ง จึงขึ้นอยู่กับการต่อกรกันระหว่างปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน (โดยเฉพาะพลังมวลชน) เป็นสำคัญ

เช่นเดียวกับผู้นำในอิหร่านและซาอุดิอาระเบียที่ต้องหวั่นวิตกและเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงในอียิปต์มากเป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคในระดับเดียวกับอียิปต์แล้ว ทั้งสองประเทศก็มีเงื่อนไขภายในประเทศไม่แตกต่างจากประเทศอาหรับอื่นๆ นั่นคือเป็นเงื่อนไขที่สามารถจุดกระแสให้เกิดการประท้วงต่อต้านและโค่นล้มรัฐบาลได้


ในรอบ 12 ปีที่ผ่านมาก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ในตูนิเซีย  อิหร่านคือประเทศที่มีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ใหญ่และรุนแรงที่สุดในภูมิภาค ถึงแม้ว่า การประท้วงของพลังคนรุ่นใหม่ในปี 2542 และ 2552 (ในโอกาสครบรอบ 20 ปี และ 30 ปีของการปฏิวัตประชาชน ตามลำดับ)  จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่การเปลี่ยนแปลงในอียิปต์จะจุดประกายและสร้างพลังให้คนหนุ่มสาวซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่า จะสามารถโค่นล้มระบอบที่เป็นมรดกของโคไมนี่ได้


โลกกำลังจับตามองว่า โดมิโนเอฟเฟ๊กท์ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางในเวลานี้จะส่งผลสั่นสะเทือนต่อโลกอาหรับอย่างใหญ่หลวงเหมือนเช่นโดมิโนเอฟเฟ๊กท์ที่เคยเกิดขึ้นในยุโรปตะวันออกเมื่อปี 2532 จนนำไปสู่การสิ้นสุดของระบบคอมมิวนิสต์หรือไม่   แต่การเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่เกิดขึ้นในทันทีทันใดก็คือ ผู้นำในหลายๆ ประเทศโดยเฉพาะอียิปต์และเยเมนได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะไม่ยึดเอา ซีเรียโมเดลเป็นแบบอย่างนั่นคือ จะไม่ให้บุตรชายสืบทอดอำนาจต่อ


วีรบุรุษคนนี้ชื่อ โมฮัมเหม็ด บัวซิซี่ 

สำหรับชายหนุ่มธรรมดาคนหนึ่ง ถึงแม้ต้องสังเวยด้วยชีวิต  แต่ในวันนี้ โมฮัมเหม็ด บัวซิซี่ได้กลาย เป็นฮีโร่คนใหม่ของคนอาหรับและคนมุสลิมรุ่นใหม่ทั่วโลก เป็นวีรบุรุษผู้สร้างความหวังและจุดประกายให้โลกอาหรับอย่างไม่เคยมีมาก่อน  เป็นผู้เปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อของคนในโลกมุสลิมเพียงชั่วข้ามคืน เป็นความสำเร็จที่ยังไม่มีมุสลิมคนไหนทำได้มาก่อน แม้กระทั่งบิน ลาเดน



ถึงวันนี้ชีวิตจะหาไม่ แต่โมฮัมเหม็ด บัวซิซี่
ได้กลายเป็นฮีโร่คนใหม่ของ
คนอาหรับและคนมุสลิมรุ่นใหม่ทั่วโลก


ไม่ว่าประเทศไหนจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรและเมื่อไหร่  แต่วันที่ 17 ธันวาคม 2553  ได้กลายเป็นวันที่สำคัญที่สุดวันหนึ่งสำหรับโลกอาหรับและโลกมุสลิมไปแล้ว





.
 

1 กุมภาพันธ์ 2554

ยูเนสโกกับความขัดแย้งไทย-กัมพูชาและมาเลเซีย-อินโดนิเซีย

.




ในแผนที่ของภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีจุดสีแดงที่แสดงถึงความขัดแย้งอันร้อนแรงที่สุดใน
ปัจจุบันอยู่สองจุด นั่นคือความร้อนแรงในความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา และระหว่างมาเลเซียกับ
อินโดนิเซีย ที่ลุกลามเลวร้ายถึงขั้นนำไปสู่การเผชิญหน้าทางการทหารและความตึงเครียดทางการทูต

เป็นความบังเอิญอย่างยิ่ง ที่กรณีความขัดแย้งของคู่ประเทศดังกล่าวโดยเฉพาะในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา
มีลักษณะร่วมอย่างน้อยสามประการ คือ หนึ่ง เป็นความขัดแย้งในเรื่องการอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของ
สององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เข้ามามีบทบาทเกี่ยว
ข้อง และสามก่อให้เกิดกระแสชาตินิยมเกลียดชังอีกฝ่ายหนึ่งอย่างรุนแรง ส่งผลทำให้ความสัมพันธ์ทาง
การทูตระหว่างคู่ประเทศดังกล่าวเลวร้ายจนเรียกว่าถึงจุดต่ำสุดในรอบ(หลาย)ทศวรรษ


เดิมพันเขาพระวิหารกับความขัดแย้งระหว่างสองชาติ?



กรณีข้อพิพาทในเรื่องเขาพระวิหารระหว่างไทยและกัมพูชานั้น เป็นผลมาจากบาดแผลที่เรื้อรังตั้งแต่ปี
2505 ภายหลังจากที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก)ได้ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในเขต
อธิปไตยของกัมพูชา นั่นคือกัมพูชาเป็นเจ้าของปราสาทพระวิหารโดยนิตินัย นับเป็นชัยชนะเชิงสัญญ
ลักษณ์ (รวมทั้งชัยชนะทางการทูต) ครั้งแรกๆ ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ที่กัมพูชามีต่อประเทศไทย

เนื่องจากฝ่ายไทยไม่เคยยอมรับคำตัดสินดังกล่าวตั้งแต่ต้น บาดแผลที่เกิดขึ้นนี้จึงยากที่สมานให้สนิทได้
แม้ว่าเวลาจะผ่านล่วงมาแล้วกว่า 47 ปีก็ตาม และเป็นที่เข้าใจได้ว่า กรณีพิพาทเหนือปราสาทพระวิหาร
นั้นยุติเฉพาะที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ (ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของศาลโลก) เท่านั้น แต่หาได้นำมาซึ่ง
ความสมานฉันท์ระหว่างไทยและกัมพูชาอย่างยั่งยืนไม่

โดยข้อเท็จจริงแล้ว ภายหลังจากที่ภัยคอมมิวนิสต์ได้สูญสลายหายไปเมื่อสองทศวรรษก่อน  กรณีปราสาท
พระวิหารได้พัฒนากลายเป็นจุดที่อ่อนไหวที่สุดแทนที่ในความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกรุงเทพฯ และ
พนมเปญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ความขัดแย้งในกรณีพิพาทดัง
กล่าวนี้ ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้านนี้อย่างรุนแรง

มันเขี้ยวเพราะอยากรบ?
 
ถึงแม้จะได้มีความพยายามที่จะผลักดันให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกตั้งแต่ปี 2535 แต่จุดเริ่ม
ต้นของปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบันเกิดขึ้นในปี 2550 เมื่อฝ่ายกัมพูชาได้ยื่นขอจดทะเบียน(แต่ฝ่ายเดียว)
ต่อองค์การยูเนสโกให้ประกาศรับรองปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก(ของกัมพูชาแต่ผู้เดียว)  กระแส
คัดค้านจากหลายๆ ฝ่ายในประเทศไทยค่อยๆ ก่อตัว จนถึงจุดเดือดสุดในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฏาคม
2551 เพราะมีการต่อต้านและกล่าวหาทางการเมืองอย่างแข็งกร้าวต่อรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวชว่ากำลัง
ทำให้ประเทศไทยสูญเสียดินแดงบริเวณโดยรอบปราสาทพระวิหาร (หรือส่วนที่เรียกว่าเขาพระวิหาร)
กว่า 4.6 ตารางกิโลเมตร อันเนื่องมาจากนโยบาย(แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา) สนับสนุนให้กัมพูชา
จดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก

ยินดีต้อนรับสู่เขตชายแดนไทย-กัมพูชา

ในที่สุด ถึงแม้ว่า องค์การยูเนสโกจะได้ประกาศขึ้นทะเบียนรับรองตามคำขอของรัฐบาลกัมพูชาให้ปรา-
สาทพระวิหารเป็นมรดกโลก(ของกัมพูชาแต่ผู้เดียว) ตั้งแต่เดือนกรกฏาคมปีที่แล้ว แต่โชคร้ายที่ปัญหา
ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศกลับพัฒนารุนแรงยิ่งขึ้น จนนำไปสู่การเผชิญหน้าทั้งทางทหารและ
ทางการทูต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่าทีและคำพูดที่แข็งกร้าวอย่างยิ่งของผู้นำสูงสุดในกัมพูชานั้น ไม่ต่าง
จากการราดน้ำมันใส่กองไฟ เพราะยิ่งทำให้บรรยากาศการเผชิญหน้าตึงเครียดและเลวร้ายมากยิ่งขึ้น

เครื่องหมายแห่งมิตรภาพระหว่างไทย-กัมพูชา
                                   


ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า ไม่ว่าจะอยู่ในระบอบการเมืองการปกครองใด ผู้นำกัมพูชามักจะมีท่าทีแข็ง
กร้าวไม่แตกต่างกัน และไม่ยอมประนีประนอมกับรัฐบาลไทยในกรณีปราสาทพระวิหาร(และพื้นที่โดย
รอบ)เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่งในปี 2501 เมื่อรัฐบาลกัมพูชาโดยสมเด็จนโรดม สีหนุถึงขั้นตัด
ความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งอย่างรุนแรงในกรรมสิทธิ์เหนือ
ปราสาทพระวิหาร(และบริเวณโดยรอบ)  ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกสุดที่รับรองความเป็น
เอกราชของกัมพูชาในปี 2493 และนั่นคือจุดเริ่มต้นของปัญหาความขัดแย้งเหนือปราสาทเขาพระวิหาร
ในความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่ยืดเยื้อต่อเนื่องกันมากว่าห้าสิบปี

ความร้อนแรงและอ่อนไหวของกรณีพิพาทดังกล่าว ได้กลับมา หลอกหลอน ความสัมพันธ์ระหว่าง
ไทยและกัมพูชาอีกครั้งหนึ่งในปีพ.ศ.นี้ จนถึงขั้นทำให้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะต้องยกขึ้นมา
เป็นประเด็นหารือกับนายบัน คี มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติเกี่ยวกับบทบาทขององค์การ
ยูเนสโก เพราะเชื่อว่า องค์การยูเนสโกมีส่วนสร้างเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา
มากกว่าก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน

แต่ในอีกด้านหนึ่งที่ห่างจากจุดขัดแย้งนี้ไปทางใต้ประมาณสองพันกิโลเมตร ผู้นำอินโดนิเซียย่อมมีความ
คิดที่แตกต่างจากผู้นำไทยอย่างแน่นอน เพราะมีเหตุให้เชื่อว่า บทบาทขององค์การยูเนสโกมีส่วนสำคัญ
อย่างมากที่ทำให้ความร้อนแรงตึงเครียดล่าสุดระหว่างอินโดนิเซียกับมาเลเซียผ่อนคลายลง

ในช่วงสามสี่เดือนที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างจาร์กาต้าและกัวลาลัมเปอร์ได้ถึงจุดเดือดที่
เรียกว่าเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในรอบห้าทศวรรษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งอันเนื่องมาจากข้อพิพาท
เกี่ยวกับทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของทั้งสองชาติ ที่ทำให้เกิดการเผชิญหน้าของคนทั้งสองประเทศจนถึง
ขั้นประกาศสงคราม

โดยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แล้ว คงจะไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า มาเลเซียและอินโดนิเซียมีรากเหง้ามา
จากครอบครัวเดียวกัน ทั้งในเรื่องของภาษา วัฒนธรรมและศาสนา  แต่ไม่น่าเชื่อว่า ในความสัมพันธ์
ระหว่างสองประเทศนี้กลับอุดมไปด้วยปัญหาความขัดแย้งสารพัด โดยเฉพาะข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับ
การอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของเหนือดินแดนและวัฒนธรรม เรียกได้ว่า เป็นคู่กรณีที่มีข้อพิพาทขัดแย้ง
มากที่สุดในบรรดาสมาชิกอาเซียนทั้งหมด

ดูเหมือนเป็นความบังเอิญอย่างยิ่ง ที่รากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งระหว่างมาเลเซียและอินโดนิเซีย
ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่เริ่มต้นในช่วงใกล้เคียงกันกับกรณีของไทยและกัมพูชา โดยอินโดนิเซียเปิดฉาก
ทำสงครามสี่ปีกับมาเลเซียในสมรภูมิเกาะบอร์เนียวเมื่อปี 2505 เพื่อคัดค้านการจัดตั้งสหพันธรัฐมาเลเซีย
(ที่รวมเอาซาบาร์และซาราวัค)  บาดแผลจากความพ่ายแพ้ทางทหารต่อมาเลเซีย (ซึ่งได้รับความช่วยเหลือ
อย่างเต็มที่จากกองทัพอังกฤษ) ในครั้งนั้น ถูกตอกย้ำด้วยบาดแผลใหม่จากความพ่ายแพ้ต่อมาเลเซียเป็น
ครั้งที่สองในปี 2545 เมื่อศาลโลกได้ตัดสินให้เกาะ Sipadan และ Ligitan เป็นของมาเลเซีย 

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่อินโดนิเซียจะยอมรับความพ่ายแพ้อีกครั้งหนึ่ง ในกรณีพิพาทเหนือ
เกาะ Ambalat ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันที่อุดมสมบูรณ์   ความขัดแย้งล่าสุดจนเกือบจะเกิดยุทธนาวีระหว่าง
กองทัพเรือของทั้งสองประเทศเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานั้น  เป็นดัชนีชี้วัดความเป็นปฏิปักษ์ที่ร้าว
ลึกได้อย่างดี และตอกย้ำว่า นโยบายการเผชิญหน้าหรือ konfrontasi ที่เป็นมรดกตกทอดมาจากสมัย
ประธานาธิบดีซูการ์โนเมื่อห้าสิบปีก่อนยังดำรงอยู่ในปัจจุบันนี้

ความเกลียดชังอย่างร้าวลึกที่ถูกสะสมมานานระหว่างคนสองชาตินี้ได้กลายเป็น เชื้อ อย่างดีที่สามารถ
จุดปะทุให้เกิดความรุนแรงได้ทุกเมื่อ บวกกับความรู้สึกที่ถูกกดขี่ข่มเหงจากนายจ้างชาวมาเลเซียมาโดย
ตลอด ทำให้ทัศนคติเชิงลบของคนอินโดนิเซียที่มีต่อมาเลเซียยิ่งฝังรากลึกมากขึ้น (เช่นเดียวกับทัศนคติ
ของคนกัมพูชาที่มีต่อคนไทย)

และเมื่อปรากฏข่าวที่นางแบบสาวอินโดนิเซียออกมาเปิดเผยต่อสาธารณชนว่า ถูกปฏิบัติอย่างโหดร้าย
ทารุณจากสามีซึ่งเป็นเจ้าชายมาเลเซียพระองค์หนึ่งเสมือนเป็น ทาสทางเพศ  จนต้องหลบหนีกลับมา
อินโดนิเซียโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ จากทางการมาเลเซีย  ก็ยิ่งทำให้อารมณ์โกรธแค้นของคน
อินโดนิเซียร้อนแรงยิ่งขึ้น  ว่ากันว่า การจับตายนายนอร์ดิน ท๊อป ผู้นำกลุ่มก่อการร้ายที่อยู่เบื้องหลัง
การระเบิดที่บาหลีในปี2548 และล่าสุดที่โรงแรมมาร์ริออทกลางกรุงจาร์กาต้า คือปฏิกิริยา แก้เผ็ด
ต่อมาเลเซีย เพราะบุคคลที่สร้างความเสียหายและเป็นที่ต้องการตัวมากที่สุดของทางการอินโดนิเซีย
คนนี้เป็นชาวมาเลเซีย

ความขัดแย้งได้ขยายลุกลามไปสู่สงครามวัฒนธรรม เมื่ออินโดนิเซียกล่าวหามาเลเซียว่า ขโมย ทรัพย์
สินทางวัฒนธรรมของอินโดนิเซีย  ไล่เรียงตั้งแต่เพลงชาติ เพลงพื้นเมืองราซาซายัง เครื่องดนตรีอังกะลุง
หนังตะลุงวายัง รำบาหลีและผ้าบาติก จนเกิดกระแสความไม่พึงพอใจไปทั่วอินโดนิเซีย และเรียกขาน
ชื่อ Malaysia ให้เพี้ยนเป็น Malingsia ซึ่งแปลว่า หัวขโมยในภาษาอินโดนิเซีย    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การ
ประท้วงของกลุ่มหัวรุนแรงชาตินิยมเมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา ที่ได้รวมตัวกัน(พร้อมอาวุธ) ขว้างปาสถาน
ทูตมาเลเซียในจาร์กาต้า เผาธงชาติมาเลเซีย และตามล่าหวังทำร้ายและขับไล่คนมาเลเซียให้ออกไปจาก
อินโดนิเซีย (เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับคนไทยในพนมเปญเมื่อเดือนมกราคม 2546) พร้อมทั้งประกาศ
วันดีเดย์อย่างชัดเจนโจ่งแจ้งว่า จะบุกไปทำสงครามกับมาเลเซียในวันที่ 8 ตุลาคมนี้ 

การประกาศอย่างเป็นทางการให้ผ้าบาติกเป็นมรดกทางวัฒนธรรมโลกของอินโดนิเซียโดยองค์การ
ยูเนสโกเมื่อเร็วๆนี้  ถือเป็นชัยชนะที่มีความหมายมากสำหรับอินโดนิเซีย และส่งผลทำให้อารมณ์เกลียด
ชังโกรธแค้นของชาวอินโดนิเซียที่มีต่อคนมาเลเซียลดดีกรีความร้อนแรงลงอย่างมาก และหากไม่เกิด
โศกนาฏกรรมแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงเสียก่อนแล้ว เราก็คงจะเห็นชาวอินโดนิเซียร่วมฉลองกันทั้ง
ประเทศในวันที่ 2 ตุลาคมมากกว่านี้อย่างแน่นอน

แน่นอนที่สุดว่า ผู้นำอินโดนิเซียจะเดินหน้าต่อไป โดยอาศัยช่องทางขององค์การยูเนสโกเรียกคืนทรัพย์
สินทางวัฒนธรรมจากมาเลเซีย เพราะเชื่อมั่นว่าช่องทางนี้จะนำชัยชนะมาสู่อินโดนิเซียได้มากที่สุด หลัง
จากที่ประสบความสำเร็จในกรณีของฝ้าบาติก รวมถึงหนังตะลุง (2546) และกริช (2548) โดยแทบจะ
ไม่มีการคัดค้านไม่ยอมรับจากทางการมาเลเซีย  และอย่างน้อยที่สุด ชัยชนะทางสัญญลักษณ์ดังกล่าวนี้
มีผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงบวกไม่น้อย   ถึงแม้ว่า คำประกาศรับรองขององค์การยูเนสโกดังกล่าว
อาจจะไม่ได้สร้างเงื่อนไขให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างอินโดนิเซียและมาเลเซีย  แต่ก็ส่งผลทำให้ความ
ขัดแย้งระหว่างสองชาตินี้ลดระดับความตึงเครียดและความรุนแรงไปไม่น้อย แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจาก
กรณีพิพาทปราสาทพระวิหารที่บทบาทขององค์การยูเนสโกมีส่วนจุดชนวนทำให้เกิดความเกลียด
ชังและทัศนคติชาตินิยมระหว่างคนไทยและคนกัมพูชาร้าวลึกมากขึ้น


(ตีพิมพ์ในมติชน ฉบับวันที่ 14 ต.ค. 2552 หน้า 7)
.

มอเตอร์ หรือ สติกเกอร์

เมื่อตอนที่ Real Madrid ทีมดังในสเปนตัดสินใจขาย Claude Makelele ให้กับทีม Chelsea แล้วซื้อ David Beckham มาแทนที่ในช่วงกลางปี 2003 ปรา...