4 กุมภาพันธ์ 2554

ไคโรไครซิส วิกฤติอาหรับ

.



ไม่มีใครจะเชื่อว่า เพียงไฟจุดเดียวที่หนุ่มตูนิเซียวัยเบญเพศนามโมฮัมเหม็ด บัวซิซี่เผาตัวเองเพื่อแสดง ออกซึ่งความไม่พึงพอใจต่ออำนาจรัฐและประท้วงความเหลื่อมล้ำไม่ยุติธรรมในสังคมจะลุกโชนนำไปสู่กระแสของการเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงใน  กลุ่มประเทศอาหรับได้ใหญ่หลวงขนาดนี้  


                        
                         เพียงไฟจุดเดียวของโมฮัมเหม็ด บัวซิซี่ กลาย
                    เป็นไฟลามทุ่งไปทั่วโลกอาหรับ



กลายเป็นจุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สั่นสะเทือนภูมิภาคตะวันออกกลางมากที่สุดในรอบหลายๆ ทศวรรษ  ว่ากันว่า สั่นสะเทือนมากยิ่งกว่าการปฏิวัติประชาชนในอิหร่านเมื่อ  32 ปีก่อน และการโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซนในอิรัคเมื่อปี 2545


การจุดไฟเผาตัวเองของโมฮัมเหม็ด บัวซิซี่เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ได้จุดและโหมเชื้อแห่งความไม่พึงพอใจรัฐในหมู่ชาวตูนิเซียที่มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้วให้ระเบิดออกมา เกิดกระแสรวมตัวอย่างโกรธแค้นกลายเป็นการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ซึ่งโดยปกติแล้ว การรวมตัวประท้วงรัฐบาลเกิดขึ้นน้อยครั้งมากในสังคมตูนิเซีย  ถึงแม้ว่าจะเป็นประเทศที่ประชากรมีการศึกษามากที่สุดประเทศหนึ่งในโลกอาหรับ แต่ตูนิเซียก็ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการควบคุมกวดขันสิทธิเสรีภาพมาก 
ที่สุดประเทศหนึ่งเช่นกัน


เพียงแค่ระยะเวลาเพียง 3 สัปดาห์คนตูนิเซียก็สามาถโค่นล้มรัฐบาลเบน อาลีที่ปักหลักยึดครองอำนาจของประเทศมายาวนานกว่า 23 ปีได้อย่างง่ายดาย


โมฮัมเหม็ด บัวซิซี่ไม่เพียงแต่จุดประกายสร้างความหวังให้คนหนุ่มคนสาวที่เป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมเกือบทุกประเทศในตะวันออกกลางเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมว่า “Yes, we can”  เท่านั้น แต่มรดกอันล้ำค่าที่บัวซิซี่ฝากไว้คือยุทธวิธีการต่อสู้แบบใหม่สำหรับชาวมุสลิมที่ทรงอนุภาพอย่างไม่น่าเชื่อ นั่นคือการจุดไฟเผาตัวเอง และอาจจะกลายเป็นอาวุธทางการเมืองที่ได้รับการยอมรับแทนทีการระเบิดพลีชีพตัวเองมากขึ้น 


การจุดไฟเผาตัวเองได้กลายเป็นสัญลักษณ์ใหม่ในการเริ่มต้นการประท้วงโค่นล้มรัฐบาลหรือแสดงออกซึ่งความไม่พอใจต่ออำนาจรัฐในโลกอาหรับเหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นในเวียดนามใต้เมื่อเกือบ 50 ปีก่อน ถึงแม้ว่าจะขัดกับหลักศาสนาอิสลาม แต่ยุทธวิธีจุดไฟเผาตัวเองกลับแพร่ขยายไปอย่างรวดเร็วจากตูนิเซียสู่อียิปต์ อัลจิเรีย ซีเรียและซาอุดิอาระเบีย  เพราะผลกระทบทางจิตวิทยาอย่างมหาศาลมากกว่าการระเบิดพลีชีพหรือวิธีการอื่นๆ


ความสำเร็จในการโค่นล้มระบอบอัตตาธิปไตยในตูนิเซียได้กลายเป็นโดมิโนเอฟเฟ๊กท์ที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ก่อให้เกิดคลื่นมนุษย์คนหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่รวมพลังต่อต้านเพื่อโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการและระบอบอัตตาธิปไตยในหลายๆประเทศ กลายเป็นเหมือนไฟลามทุ่งที่สร้างความหวั่นไหวให้กับผู้นำในหลายๆประเทศ รวมทั้งพันเอกโมฮัมเหม็ด  กัดดาฟี่แห่งลิเบียที่อยู่ในตำแหน่งอย่างยืนยาวคงกระพันนานที่สุดในโลกอาหรับกว่า 40 ปี



ประธานาธิบดีฮอสนี่ มูบารัคจะรักษาอำนาจ
ได้นานอีกแค่ไหน

แต่วิกฤติการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ณ กรุงไคโร อียิปต์ในเวลานี้มีความหมายความสำคัญต่อภูมิภาคตะวันออกกลางมากที่สุด เพราะอียิปต์เป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค เป็นยักษ์ใหญ่มหาอำนาจทางทหารและการเมืองที่ทรงอิทธิพลในโลกอาหรับที่มีผลต่อสันติภาพกับอิสราเอล ในสายตาของโลกอาหรับแล้ว อียิปต์คือ มารดาแห่งโลก  คือ ตักสิลาที่เป็นทั้ง สมองและแหล่งกำเนิดอุดมการณ์ปรัชญาของโลกมุสลิมทั่วโลก ในรอบศตวรรษทีผ่านมา  กลุ่มที่เคลื่อนไหวการเมืองและสังคมเกือบทั้งหมด
ล้วนแต่เริ่มต้นหรือกำเนิดมาจากอียิปต์ทั้งสิ้น


ความรุนแรงที่เกิดจากการปะทะกันของสองฝ่าย



มวลชนรวมพลังที่ไคโร

ด้วยฐานะและความสำคัญของอียิปต์ดังกล่าว การเปลี่ยนแปลงใดๆทางการเมืองย่อมมีผลสั่นสะเทือนภูมิภาคทั้งหมดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประวัติศาสตร์สะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงหนึ่งว่า การเปลี่ยนแปลงใดๆ ในอียิปต์มักจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในประเทศอื่นๆในภูมิภาคเดียวกัน    และด้วยเหตุนี้เอง ความพยายามที่จะโค่นล้มประธานาธิบดีฮอสนี่  มูบารัคจากอำนาจจึงไม่ใช่เรื่องง่ายหรือได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายโดยเฉพาะจากภายนอกประเทศเหมือนเช่นกรณีของผู้นำตูนิเซีย


ฮอสนี่ มูบารัคเคยผ่านการถูกลอบสังหารมาแล้ว 6 ครั้ง
แต่ศึกการเมืองในครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก
 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า มูบารัคคือผู้สืบทอดอำนาจและอุดมการณ์โดยตรงของอันวาร์ ซาดัด อดีตผู้นำผู้หาญกล้าสร้างความสมานฉันท์กับอิสราเอลจนถูกลอบสังหาร มูบารัคเลือกที่จะเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นของสหรัฐฯ และเลือกที่จะเป็นพันธมิตรหนึ่งเดียวในโลกอาหรับของอิสราเอล เช่นเดียวกับบทบาทการเป็นตัวกลางของตูนิเซียและจอร์แดนในความพยายามที่จะไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ บทบาทที่ไม่เป็นศัตรูกับรัฐอิสราเอลดังกล่าว อาจจะเป็นปัจจัยหนุนเสริมทำให้ทั้งสามประเทศกลายเป็น
เป้าหมายหลักแรกๆของกลุ่มหัวรุนแรงที่ร่วมหัวกันโค่นล้มผู้นำประเทศ


ในวัย 82 ปี คนแก่อย่างมูบารัคอาจจะ
พร้อมที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อตัวเอง
หรือเพื่อประเทศ?


ในขณะเดียวกัน ผู้นำในตะวันออกกลางหลายๆประเทศอาจจะภาวนาและปรารถนาให้การเคลื่อนไหวเพื่อโค่นล้มมูบารัคไม่ประสบความสำเร็จ มิฉะนั้นแล้ว ผู้นำของประเทศเหล่านี้จะต้องเป็นเหยื่อเป็นเป้าหมายรายต่อไปตามทฤษฏีโดมิโนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  


จึงอาจจะเป็นไปได้ว่า มูบารัคจะได้รับการสนับสนุนจากผู้นำอิสราเอลและผู้นำประเทศอาหรับอื่นๆ (อย่างลับๆ) ให้สามารถประคองอยู่ในตำแหน่งต่อไป(อีกระยะหนึ่ง) ป้องกันไม่ให้ ประตูเขื่อน (คือมูบารัค) พังทลายในทันที เพราะอย่างน้อยที่สุด การดำรงอยู่ของมูบารัคคือหลักความปลอดภัยในตำแหน่งของผู้นำคนอื่นๆรวมทั้งมิตรภาพกับอิสราเอล 


การอยู่รอดของระบอบมูบารัคส่วนสำคัญหนึ่ง จึงขึ้นอยู่กับการต่อกรกันระหว่างปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน (โดยเฉพาะพลังมวลชน) เป็นสำคัญ

เช่นเดียวกับผู้นำในอิหร่านและซาอุดิอาระเบียที่ต้องหวั่นวิตกและเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงในอียิปต์มากเป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคในระดับเดียวกับอียิปต์แล้ว ทั้งสองประเทศก็มีเงื่อนไขภายในประเทศไม่แตกต่างจากประเทศอาหรับอื่นๆ นั่นคือเป็นเงื่อนไขที่สามารถจุดกระแสให้เกิดการประท้วงต่อต้านและโค่นล้มรัฐบาลได้


ในรอบ 12 ปีที่ผ่านมาก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ในตูนิเซีย  อิหร่านคือประเทศที่มีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ใหญ่และรุนแรงที่สุดในภูมิภาค ถึงแม้ว่า การประท้วงของพลังคนรุ่นใหม่ในปี 2542 และ 2552 (ในโอกาสครบรอบ 20 ปี และ 30 ปีของการปฏิวัตประชาชน ตามลำดับ)  จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่การเปลี่ยนแปลงในอียิปต์จะจุดประกายและสร้างพลังให้คนหนุ่มสาวซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่า จะสามารถโค่นล้มระบอบที่เป็นมรดกของโคไมนี่ได้


โลกกำลังจับตามองว่า โดมิโนเอฟเฟ๊กท์ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางในเวลานี้จะส่งผลสั่นสะเทือนต่อโลกอาหรับอย่างใหญ่หลวงเหมือนเช่นโดมิโนเอฟเฟ๊กท์ที่เคยเกิดขึ้นในยุโรปตะวันออกเมื่อปี 2532 จนนำไปสู่การสิ้นสุดของระบบคอมมิวนิสต์หรือไม่   แต่การเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่เกิดขึ้นในทันทีทันใดก็คือ ผู้นำในหลายๆ ประเทศโดยเฉพาะอียิปต์และเยเมนได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะไม่ยึดเอา ซีเรียโมเดลเป็นแบบอย่างนั่นคือ จะไม่ให้บุตรชายสืบทอดอำนาจต่อ


วีรบุรุษคนนี้ชื่อ โมฮัมเหม็ด บัวซิซี่ 

สำหรับชายหนุ่มธรรมดาคนหนึ่ง ถึงแม้ต้องสังเวยด้วยชีวิต  แต่ในวันนี้ โมฮัมเหม็ด บัวซิซี่ได้กลาย เป็นฮีโร่คนใหม่ของคนอาหรับและคนมุสลิมรุ่นใหม่ทั่วโลก เป็นวีรบุรุษผู้สร้างความหวังและจุดประกายให้โลกอาหรับอย่างไม่เคยมีมาก่อน  เป็นผู้เปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อของคนในโลกมุสลิมเพียงชั่วข้ามคืน เป็นความสำเร็จที่ยังไม่มีมุสลิมคนไหนทำได้มาก่อน แม้กระทั่งบิน ลาเดน



ถึงวันนี้ชีวิตจะหาไม่ แต่โมฮัมเหม็ด บัวซิซี่
ได้กลายเป็นฮีโร่คนใหม่ของ
คนอาหรับและคนมุสลิมรุ่นใหม่ทั่วโลก


ไม่ว่าประเทศไหนจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรและเมื่อไหร่  แต่วันที่ 17 ธันวาคม 2553  ได้กลายเป็นวันที่สำคัญที่สุดวันหนึ่งสำหรับโลกอาหรับและโลกมุสลิมไปแล้ว





.
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มอเตอร์ หรือ สติกเกอร์

เมื่อตอนที่ Real Madrid ทีมดังในสเปนตัดสินใจขาย Claude Makelele ให้กับทีม Chelsea แล้วซื้อ David Beckham มาแทนที่ในช่วงกลางปี 2003 ปรา...