9 กุมภาพันธ์ 2554

เอ็มโอ(ไม่)ยู กู่ไทยเขมร

.



ในช่วงเวลาครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา  อาจกล่าวได้ว่า พรมแดนด้านตะวันออกเฉียงใต้คือจุดที่สร้างปัญหาความยุ่งยากให้แก่ประเทศไทยมากที่สุด จากแนวรบด้านการทหารและภัยคอมมิวนิสต์สู่แนวรบด้านการทูตและการทหารที่ไม่เคยสงบปราศจากข้อขัดแย้ง  เป็นเหมือนเช่นภูเขาไฟที่รอการปะทุได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ในช่วงเวลาสองสามปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ทวิภาคระหว่างไทยและกัมพูชาได้ดิ่งลงสู่จุดต่ำสุดในรอบสองทศวรรษก็ว่าได้



ผู้นำกัมพูชาอาจจจะจินตนาการว่ารัฐไทยอ้าปาก
คิดงาบหรือกัดไม่ปล่อยรัฐเขมรตลอดเวลา


ทั้งๆที่มีการเซ็นเอ็มโอยูเป็นบันทึกความเข้าใจระหว่างกัน แต่การณ์กลับปรากฏว่า ทั้งสองชาติกลับไม่ค่อยเข้าใจกันเสียมากกว่า เป็นเอ็มโอ(ไม่)ยูที่สร้างผลเสียให้แต่ละฝ่าย


หรือว่า การตอบโต้ทางการทูตและทางทหารระหว่างกรุงเทพและพนมเปญเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะหากปล่อยให้รัฐบาลฮุนเซนดำเนินการเช่นนี้โดยไม่มีการตอบโต้ใดๆ ก็เท่ากับเปิดช่องให้ผู้นำกัมพูชา ได้คืบแล้วเอาศอก กระทำการอื่นๆ ได้อีกตามอำเภอใจในอนาคต 


อย่าลืมว่า ฮุนเซนในวัยสามสิบต้นๆ สร้างผลงานจากการเป็นผู้นำทางทหารในการโค่นล้มกองทัพเขมรแดง  และตำแหน่งทางการเมืองแรกสุดของผู้นำกัมพูชาผู้นิยมความรุนแรงคนนี้  นับตั้งแต่กองทัพเวียดนามสามารถโค่นล้มรัฐบาลเขมรแดงยึดครองกรุงพนมเปญได้ ก็คือรัฐมนตรีต่างประเทศในช่วงระหว่างปี 2522-2528 ที่มีบทบาทสำคัญในการเจรจาสันติภาพปารีส สี่ฝ่ายเพื่อยุติความขัดแย้งในกัมพูชา


และการที่ประกาศตัดขาดความเป็นพ่อลูกกับลูกสาวบุญธรรมที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศเมื่อสามปีก่อน ก็สะท้อนให้เห็นตัวตนที่แท้จริงอีกด้านหนึ่งของผู้นำสูงสุดกัมพูชาคนนี้


แน่นอนที่สุดว่า ไม่มีใครปรารถนาให้ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยและกัมพูชาพัฒนาเลวร้ายไปมากกว่านี้  ไม่มีใครปรารถนาให้เกิดการสู้รบทางทหารระหว่างสองชาตินี้


ในส่วนของรัฐบาลไทยเอง มีทางเลือกสามอาร์ที่สามารถนำไปประยุกต์ปรับใช้เป็นแนวนโยบายต่อไป
   

                                   
                        อย่างน้อยที่สุด ธงชาติของทั้งสองประเทศก็มี 3 สีเหมือนกัน



อาร์แรกคือ Remain โดยรัฐบาลไทยจะยังคงยึดมั่นหลักการและท่าทีเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และไม่ยินยอมประนีประนอมด้วยถึงแม้ว่าอาจจะเสี่ยงต่อผลกระทบทางการทูตและการค้าก็ตาม ถ้าหากว่าหลักนิติรัฐระหว่างประเทศถูกละเมิดจากประเทศอื่น รวมทั้งยืนหยัดให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ตระหนักดีว่า พฤติกรรมบางอย่างเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะยอมรับได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำรอยขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งนั่นหมายถึงว่า ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพและพนมเปญอาจจะยังคงสถานะเดิมเช่นนี้ต่อไป  โดยต่างฝ่ายต่างรอเวลาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศในอีกประเทศหนึ่ง เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในนโยบายต่างประเทศด้วย


ภาพบันทึกความไม่ปรารถนาของมนุษยชาติ


อาร์ที่สองคือ Repair โดยรัฐบาลไทยจะต้องสมานบาดแผล(ทางจิตวิทยา)และซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย(ทั้งทางกายภาพและทางสัญญลักษณ์) ไม่เพียงแต่เฉพาะที่เกิดจากความขัดแย้งครั้งล่าสุดนี้ เพื่อปรับความเข้าใจระหว่างกันและทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชากลับคืนสู่สภาพปกติ ตลอดจนทำให้คนของทั้งสองชาติมีทัศนคติที่ดีขึ้นระหว่างกัน  แต่อย่างไรก็ตาม ความเสียหายทางการทูตบางอย่างเป็นสิ่งที่ซ่อมแซมให้เหมือนเดิมได้ยาก และอาจจะถึงขั้นทำให้ปัญหาเลวร้ายลงไปอีกก็เป็นได้




หรือว่ามีแต่สิ่งศักดิ์สิทธิที่จะช่วยระงับ
ความขัดแย้งระหว่างไทยกับเขมรได้


อาร์ที่สามคือ Reset หากตระหนักดีว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชานี้ มีเชื้อมีมูลที่เรื้อรังจนยากจะเยียวยาตามวิธีการเดิมๆ ได้ ก็อาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเดินเครื่องใหม่ทั้งเรื่องความคิด ทัศนคติและแนวนโยบายที่อาจจะแตกต่างจากก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิง เป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์แบบใหม่ๆที่จะพัฒนาไปสู่การสมานฉันท์ (Reconciliation) และไมตรีฉันท์ (Rapprochement) เสียที  เพื่อทำให้ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน อบอุ่น จริงๆ



.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มอเตอร์ หรือ สติกเกอร์

เมื่อตอนที่ Real Madrid ทีมดังในสเปนตัดสินใจขาย Claude Makelele ให้กับทีม Chelsea แล้วซื้อ David Beckham มาแทนที่ในช่วงกลางปี 2003 ปรา...