ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า การชุนนุมทางการเมืองของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือที่รู้จักกันว่ากลุ่มคนเสื้อแดง (Red Shirts) ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม จะเลวร้ายกลายเป็นวิกฤติชาด (Red crisis) ที่สั่นสะเทือนสังคมไทยได้มากเช่นนี้
กล่าวได้ว่า การชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงกว่า 68 วัน ที่พัฒนากลายเป็นเป็นวิกฤติการณ์ทางการเมืองที่รุนแรงที่สุดในประวัติการเมืองไทยยุคใหม่ มีลักษณะพิเศษสำคัญๆ ที่แตกต่างจากการชุมนุมทางการเมืองอื่นๆ เท่าที่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทยหลายๆ ประการ
ประการแรก ในช่วงแรกเริ่มของการชุมนุม กลุ่มคนเสื้อแดงประกอบพิธีกรรมทางไสยศาสตร์(Ritual) เพื่อ “ตัดไม้ข่มนาม” และเทเลือดในสถานที่ต่างๆ ของฝ่ายปฏิปักษ์ (Rivals) ทางการเมือง โดยเฉพาะที่ทำเนียบรัฐบาล ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ และบ้านพักของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งที่บริเวณอนุสาวรีย์พระเจ้ากาวิละ ซึ่งเป็นอดีตเจ้าเมือง (Ruler) เชียงใหม่คนแรก
ประการที่สอง การปรากฏตัวของนักรบโรนิน (Ronin) และกลุ่มคนเสื้อดำติดอาวุธที่ผ่านการฝึกฝนทักษะรบพิเศษ (Rangers) กลายเป็น “อาวุธ” อันทรงพลังที่ทำให้ทฤษฏี “แก้วสามประการ” ของกลุ่มคนเสื้อแดงน่าสะพรึงกลัวอย่างคาดไม่ถึง รวมแม้กระทั่งข่าวร้ายว่า โจรใต้กลุ่มแนวร่วมอาร์เคเค (RKK) อาจจะร่วมผสมโรงเพื่อสร้างความเสียหายให้แก่กรุงเทพฯเป็นทวีคูณ
วิกฤติชาดครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต(อย่างเป็นทางการ) มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคใหม่ถึง 88 คน โดยเฉพาะ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม (Romklao Thuwatham) และพลตรีขัตติยะ สวัสดิผลหรือเสธ.แดง คนราชบุรี (Ratchaburi) ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดของฟากกองทัพและกลุ่มคนเสื้อแดง(ตามลำดับ)ที่ต้องสังเวยชีวิตให้กับความขัดแย้งทางการเมืองในครั้งนี้
พลเอกร่วมเกล้า ธุวธรรม |
พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล |
การใช้อาวุธสงครามนานาชนิด มีส่วนสำคัญที่ทำให้ความรุนแรงขยายดีกรีจนเกือบจะกลายเป็นสงครามกลางเมือง(หลวง) ที่ถูกเปรียบเทียบว่าไม่ต่างจากกรณีของประเทศรวันดา (Rwanda) ถึงแม้ว่า ระเบิดเอ็ม 79 จะเป็นหนึ่งในอาวุธที่สร้างความหวาดกลัวรายวันให้กับประชาชนมากที่สุดในช่วงการชุมนุม แต่จรวดอาร์พีจี (RPG) เกือบกลายเป็นอาวุธที่สร้างความสั่นสะเทือนอย่างใหญ่หลวงให้กับประเทศ เพราะไม่ว่าเป้าหมายที่แท้จริงจะอยู่ที่กระทรวงกลาโหมหรือวัดพระแก้ว แต่หากยิงถูกเป้าเชื่อว่าจะสร้างความเสียหายทั้งในทางจิตวิทยาและทางสัญลักษณ์ที่ประเมินค่าไม่ได้จริงๆ ในขณะเดียวกัน คมกระสุนของปืนไรเฟิลแรงสูง (Rifle) ด้วยฝีมือของของสไนเปอร์หรือพลซุ่มยิงระยะไกลที่ปลิดชีวิตเสธ.แดง ก็กระทบกระเทือนต่อจิตใจของกลุ่มคนเสื้อแดงไม่น้อย
ประการที่สาม ในอดีตที่ผ่านมา ถนนราชดำเนิน (Ratchadamnoen) เป็นสัญญลักษณ์และเป็นถนนที่มีความสำคัญทางการเมืองมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเหตุการณ์ “14 ตุลา 16” เหตุการณ์ “6 ตุลา 19” และเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ 35” แต่ในปีปัจจุบัน การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง (Red rally) ที่เริ่มปักหลักอยู่ ณ บริเวณสะพานผ่านฟ้า ก่อนที่จะย้ายฐานไปตั้งเวทีชุมนุมที่บริเวณแยกราชประสงค์ (Ratchaprasong) ติดต่อกันร่วมสองเดือน ได้สร้างนวัตกรรมทางการเมืองทำให้ชื่อ “ราชประสงค์” โดดเด่นขึ้นมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเทียบเท่าชื่อ “ราชดำเนิน”
ในวันที่สีแยกราชประสงค์กลายเป็น "จัตุรัสแดง" |
ตลอดช่วงระยะเวลากว่า 36 วันที่มีการปักหลักชุมนุมอย่างหามรุ่งหามค่ำจนทำให้แยกราชประสงค์กลายเป็นจัตุรัสแดง (Red square) ไปโดยพฤตินัย กลุ่มคนเสื้อแดงยังได้ขยายขอบเขตพื้นที่เรดโซน (Red zone) ให้ครอบคลุมไปยังบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะถนนราชดำริ (Ratchadamri) ถนนราชปรารภ (Ratchapralop) ถนนราชวิถี (Ratchawithi) ซอยรางน้ำ (Rangnam) ถนนพระราม 1 (Rama I) และถนนพระราม 4 (Rama IV)
ถนนพระราม 4 ในวันที่กลายเป็นสมรภูมิ |
ในขณะที่ชื่อ “ราบ11” กลายเป็นกรมทหาร (Regiment) ที่มีบทบาทโดดเด่นมากที่สุด เพราะนอกจากจะเป็นศูนย์บัญชาการหลักของรัฐบาลและกองทัพ ภายใต้ชื่อศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) แล้ว ยังเชื่อว่าเป็นเซฟเฮ้าส์ของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ รวมทั้งเป็นสถานที่ที่สาธารณชนได้มีโอกาสเห็นพล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธในชุดเครื่องแบบทหารเป็นครั้งแรกๆในรอบเกือบ 20 ปี
ประการที่สี่ ทันทีที่แกนนำนปช. ประกาศยุติการชุมนุมของบ่ายวันที่ 19 พฤษภาคม ก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่พอใจแสดงพลังต่อต้าน (Resistance) รัฐบาลด้วยการก่อการจลาจล (Riot) อย่างบ้าคลั่ง (Rampage) พร้อมทั้งเผา (Raid) อาคารทางธุรกิจสำคัญๆ ที่ตั้งอยู่ในเขตเรดโซนจนแปรเปลี่ยนกลายเป็นสมรภูมิกลางกรุง นับเป็นความบังเอิญอย่างยิ่งที่ความรุนแรงเหล่านี้ล้วนแต่เกิดขึ้นในเขตตัวอาร์เป็นหลัก ไล่ตั้งแต่ เซ็นทรัลเวิลด์ (ราชประสงค์) โรงภาพยนตร์สยามและวัดปทุมวนาราม (พระราม 1) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (ราชดำริ) ซอยรางน้ำ (ราชปรารภ) สวนลุมพินี โรงแรมดุสิตธานี บ่อนไก่และอาคารช่อง 3 (พระราม4) เซ็นเตอร์วัน(ราชวิถี) รวมทั้ง “วิกฤติชาด 10 เมษา” บริเวณสี่แยกคอกวัว (ราชดำเนิน)
โศกนาฏกรรมดังกล่าว ทำให้คนไทยและชาวโลกได้เห็นเป็นประจักษ์ด้วยสายตาเป็นครั้งแรกว่า ในที่สุด เมืองหลวงของประเทศไทยได้ถูกเผาจริงในปี 2553 โดยกลุ่มคนไทยผู้บ้าคลั่งราวกับว่าต้องการจะข่มขืนปู้ยี้ปู้ยำ (Rape) กรุงเทพฯให้ถึงที่สุด และเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในเดือนเมษายนปี 2310 ซึ่งเรารับรู้เพียงเฉพาะข้อเท็จจริงว่า กรุงศรีอยุธยาถูกทหารพม่าเผาจนวอดวาย แต่ไม่มีใครเคยเห็นภาพของความอดหู่อัปยศนั้นได้นอกจากจินตนาการ และการเสียกรุงครั้งที่สองนี้เป็นเงื่อนไขที่สำคัญ(ที่สุด) ที่นำไปสู่การกู้เอกราชของสมเด็จพระเจ้าตากสินและการสถาปนากรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงใหม่
แต่นับเป็นความโชคดีของบ้านเมือง ที่การเผากรุงเทพฯในปีพ.ศ.นี้ ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใดๆ อย่างถอนรากถอนโคน เพราะที่ผ่านๆ มา กลุ่มคนเสื้อแดงถูกกล่าวหาว่ามีความคิดหัวรุนแรง (Radical) และดำเนินการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเป้าหมาย(แอบแฝง)สูงสุดคือการสถาปนารัฐใหม่ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงระบอบ (Regime) การเมืองการปกครองใหม่ให้เป็นสาธารณรัฐ (Republic) ที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ โดยเรียกขานอย่างสวยหรูว่าคือการปฏิวัติประชาชน (Revolution)
ประการที่ห้า บทบาทของสื่อมวลชนในช่วงวิกฤติชาดนี้โดดเด่นมากเป็นพิเศษ ผู้สื่อข่าว (Reporter) ทั้งไทยและเทศกลายเป็นเหยื่อเป็นเป้าหมายของความรุนแรง โชคร้ายที่สุดก็คือช่างภาพญี่ปุ่นของสำนักข่าวรอยเตอร์ส (Reuters) ที่เสียชีวิต ส่วนเนลสัน แรนด์ (Nelson Rand) แห่งสำนักข่าวช่อง France24 รอดตายอย่างหวุดหวิดที่สุด ในขณะที่นายแดน ริเวอร์ส (Dan Rivers) แห่งสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น คือสื่อที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดว่าทำหน้าที่ “เอียง”
ขณะเดียวกัน ในช่วงเวลาที่กรมตำรวจกำลังประสบปัญหาศรัทธาความน่าเชื่อถือมากที่สุดนั้น ชื่อของ พ.ต.อ.ฤชากร จรเจวุฒิ (Ruechakorn Jorajewut) ก็ได้รับการยกย่องจากสื่อบางฉบับให้เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ผู้ปิดทองหลังพระ ในบทบาทและภารกิจที่กล้าหาญเสี่ยงตายช่วยเหลือชีวิตพนักงานมากกว่าสี่ร้อยคนจากเหตุการณ์เผาเซ็นทรัลเวิลด์
กล่าวกันในบรรดานักการทูตทั้งหลาย ดูเหมือนว่า นายแอนโธนิโอ วีนัส โรดิเกวซ (Antonio Venus Rodriguez) เอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ มีโอกาสเข้าไปสังเกตการณ์การชุมนุมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอมากที่สุด(คนหนึ่ง) และมีบทบาทไม่น้อยในฐานะคณบดีผู้อาวุโสสูงสุดในบรรดาทูตานุทูตต่างประเทศทั้งหมด ในการประสานทำความเข้าใจระหว่างทูตต่างประเทศและรัฐบาลไทยถึงความสำคัญและอ่อนไหวของ “กิจการภายในประเทศ”
ประการที่หก ในช่วงระหว่างการชุมนุม ได้มีความพยายามจากหลายๆ ฝ่ายที่จะให้มีการเจรจาเพื่อหาทางยุติวิกฤติการณ์ทางการเมืองที่ว่ากันว่าสะท้อนให้เห็นถึงความแตกแยก (Rift) ในสังคมไทยที่ชัดเจนและร้าวลึกมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2475 โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามของพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธและนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ที่จะขอเข้าเฝ้าฯ (Royal audience) พระเจ้าแผ่นดิน “พ่อหลวง” ของคนไทย ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงพักฟื้นพระวรกาย (Recuperate) ณ โรงพยาบาลศิริราช เพื่อทรงพระกรุณามหาธิคุณแก้ไข (Resolve) ปัญหาบ้านเมือง แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงถึงความไม่ถูกต้องและเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะดึงสถาบัน (Royal institution) ที่คนไทยรักและเคารพเทิดทูน (Revere) มากที่สุด ลงมาเกี่ยวข้องกับทางการเมือง (Royal intervention)
ในขณะเดียวกัน ก็มีความพยายามและเรียกร้องให้ต่างประเทศเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวกลางเจรจา โดยเฉพาะองค์การสหประชาชาติ องค์การอาเซียน หรือองค์การกาชาดสากล (Red Cross)
บทบาทของกัมพูชาในช่วงวิกฤติชาดนี้กลับชวนให้น่าสงสัยมิน้อย เพราะในด้านหนึ่ง ดูเหมือนว่า นายกรัฐมนตรีฮุนเซนได้ปรับเปลี่ยนท่าทีที่เป็นมิตรต่อรัฐบาลนายอภิสิทธิอย่างคาดไม่ถึง นับตั้งแต่การประชุมพบปะที่หัวหินในช่วงต้นเดือนเมษายน และตลอดระยะเวลาสองเดือนของการชุมนุมคนเสื้อแดง กัมพูชาแทบจะไม่แสดงบทบาทใดๆ ที่เปิดเผยหรือสร้างความรำคาญใจให้แก่รัฐบาลไทยเหมือนก่อนหน้านี้ ที่ดูเหมือนว่าผู้นำกัมพูชาจะ “ถือหาง” คุณทักษิณอย่างชัดเจน
แต่ในอีกด้านหนึ่ง กัมพูชากลับพยายามแสดงบทบาทอย่างกระตือรือล้นและล๊อบบี้ให้อาเซียนยกระดับวิกฤติชาดในประเทศไทยให้เป็นปัญหาของภูมิภาค (Regional concern) เพื่อเปิดทางให้อาเซียนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่ปรากฏว่าสมาชิกส่วนใหญ่ไม่เห็นดีเห็นงามด้วย นอกจากนี้ ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทหารกัมพูชามีบทบาท(ลับ)และร่วมอยู่ในกลุ่มผู้ก่อการร้ายชุดดำด้วย อย่างไรก็ตาม รัสเซีย (Russia) กลับกลายเป็นประเทศแรกที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ “19 พฤษภา” เพราะหมายกำหนดการเดินทางไปเยือนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีในช่วงวันที่ 7-9 มิถุนายนต้องถูกเลื่อนออกไป
ประการที่เจ็ด เแน่นอนที่สุดว่า “วิกฤติชาด2553” ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เกิดจากต้นรากมูลเหตุ (Roots) หลายๆประการ มูลเหตุสำคัญหนึ่งก็คือ “ปัจจัยทักษิณ” เพราะนับตั้งแต่ถูกรัฐประหารโค่นล้มอำนาจทางการเมืองในเดือนกันยายน 2549 แล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรต้องหลบลี้หนีภัยอาศัยอยู่ในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ถูกศาลพิพากษาจำคุก 2 ปีในคดีซื้อขายที่ดินรัชดาฯ (Ratchadaphisek) และถูกยึดทรัพย์กว่า 4.6 หมื่นล้านบาท กลายเป็นแหล่งเพาะความแค้น (Revenge) ที่รอการสนอง โดยมีเป้าหมายหลักสามประการคือ การกลับเมืองไทย (Return) การขอคืนทรัพย์สินที่ถูกยึด (Reclaim) และการได้รับอภัยโทษ (Royal pardon)
นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างคนรวย (Rich) และคนยากจนระดับรากหญ้าในชนบท (Rural) รวมทั้งความเหลื่อมล้ำทางสังคมในเรื่องสิทธิ (Rights) ต่างๆ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้ “ลาวาแดง” ไหลทะลักพุ่งพล่านปกคลุมสังคมการเมืองไทย แต่สุดท้าย ก็จบลงด้วยความล้มเหลว ไม่สามารถสร้างทฤษฏีใหม่เพื่อหักล้างทฤษฏีสองนคราประชาธิปไตยและพิสูจน์ว่า นอกจากจะตั้งรัฐบาลแล้ว คนต่างจังหวัดยังสามารถล้มรัฐบาลได้เช่นกัน
ประการที่แปด วิกฤติชาดครั้งนี้รุนแรงและร้ายแรงเกินกว่าที่จะปล่อยให้ผ่านไปเป็นเพียงประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งได้ คำกล่าวขอโทษและเสียใจในสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้น บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ควรจะต้องแสดงออกซึ่งความเสียใจสำนึกผิดต่อสิ่งที่ได้กระทำ (Remorse) และร่วมรับผิดชอบ (Responsibility) ในสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความรับผิดชอบทางแพ่ง ทางอาญาและทางการเมือง
ในทางการเมืองนั้น มีเสียงเรียกร้องจากลุ่มคนเสื้อแดงตลอดเวลาให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง (Resign) เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อ 88 ชีวิตที่เป็นเหยื่อของความขัดแย้ง แต่ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ได้แสดงออกซึ่งท่าทีที่ชัดเจนว่า ภายใต้แผนการโรดแม็บ (Roadmap) เพื่อการสมานฉันท์ (Reconciliation) แห่งชาตินั้น ผู้ร่วมชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงโดยส่วนใหญ่ จะได้รับการปฏิบัติตามแนวทางยุติฉันท์ (Restorative justice) เพราะเชื่อว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย ไม่ได้กระทำผิดกฎหมายใดๆ ในขณะที่แกนนำและผู้อยู่เบื้องหลังในการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งถูกเรียกขานว่าเป็น “กบฏแดง” (Red rebel) คือผู้ก่อการร้ายที่ไม่สามารถปรองดองกันได้ และจะต้องถูกลงโทษตามแนวทางทัณฑ์ฉันท์ (Retributive justice) นั่นคือคนผิดต้องรับโทษ โดยมีอดีตหัวหน้าพรรคผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยเป็นเป้าหมายสำคัญแรกสุดอย่างไม่ต้องสงสัย
ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างวิกฤติชาด มีข่าวลือ (Rumour) แพร่สะพัดว่า อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 กำลังเผชิญกับโรคมะเร็งร้ายใกล้จะเสียชีวิต แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุดก็คือ ณ เวลานี้ คุณทักษิณกลายเป็นคนสองสัญชาติเป็นพลเมืองของมอนเตเนโกรตามกฎหมาย ภายหลังจากที่เข้าไปลงทุนร่วมทำธุรกิจกับกลุ่มเรสติส กรุ๊บ (Restis Group)
เนื่องจากกฎหมายรัฐธรรมนูญห้ามการส่งพลเมืองมอนเตเนโกรไปดำเนินคดีในประเทศอื่น การร้องขอ (Request) ของทางการไทยให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ ในขณะเดียวกัน การร้องขอให้องค์การตำรวจสากลออกหมายแดง (Red notice) เพื่อจับกุมคุณทักษิณในข้อหาก่อการร้าย อาจจะเป็นหนทางเดียวที่รัฐบาลไทยวาดหวังได้ในขณะนี้ ซึ่งจะเป็นการพิสูจน์ว่านายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม (Robert Amsterdam) ที่ปรึกษาทางกฎหมายชาวแคนาดาจะสามารถช่วยเหลือและสร้างข้อได้เปรียบให้คุณทักษิณได้มากน้อยแค่ไหน
จริงอยู่ คุณทักษิณอาจจะยอมรับคำขอจากนายมิลาน โรเซน (Milan Rocen) รัฐมนตรีต่างประเทศของเมนเตเนโกร ที่ให้หลีกเลี่ยงการใช้มอนเตเนโกรเป็นฐานเพื่อก่อให้เกิดปัญหาทางการเมืองในประเทศไทยอีก แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะให้อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ทำให้เกิดภาวะ “แผ่นดินไหว” ที่สั่นสะเทือนการเมืองไทยมากที่สุดยอมสละ (Revoke) สัญชาติไทยตามคำท้าทายของนายกรัฐมนตรี
ถึงที่สุดแล้ว การถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังตัวจริงที่ทำให้เกิดวิกฤติชาดที่รุนแรงที่สุดในครั้งนี้ ทำให้โอกาสที่คุณทักษิณจะได้กลับเมืองไทยอย่างยิ่งใหญ่ ได้รับการต้อนรับบน “พรมแดง” (Red carpet) อย่างสมเกียรติจากกลุ่มคนเสื้อแดงตามที่วาดฝันไว้นั้น เหลือน้อยมาก
ปฏิเสธไม่ได้ว่า วิกฤติชาดครั้งนี้เป็นวิกฤติชาติที่รุนแรงที่สุดเท่าที่สังคมไทยเคยประสบมา และไฟแห่งความแค้นความรุนแรงยังระอุอยู่ในหลายๆพื้นที่ จนทำให้รัฐบาลอ้างเป็นเหตุผลของการคงไว้ซึ่งมาตรการควบคุม (Repression) และจำกัด (Restriction) สิทธิและเสรีภาพบางประการตาม พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ตลอดจนการใช้รถยนต์กันกระสุน Range Rover ของผู้นำในรัฐบาลและกองทัพ ที่สะท้อนถึงความไม่ปกติในบ้านเมือง แต่ในทางกลับกัน การร่วมมือร่วมแรงกันช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย (Retailers) ที่ได้รับความเสียหายจากวิกฤตชาดก็เป็นสัญญาณที่ดีของพลังสังคม “สายรุ้ง” (Rainbow) หลากสีสัน
เพราะฉะนั้นแล้ว การปรองดองสมานฉันท์จึงถือเป็นสิ่งจำเป็นอันดับแรกสุดและเป็นเป้าหมายสูงสุดของประเทศ ณ เวลานี้ เพื่อที่จะสามารถสมานเยียวยา (Remedy) แผลแห่งความเกลียดชังและคับแค้นใจ (Resentment) ที่ร้าวลึกนี้ได้ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลและคนไทยโดยรวมต้องร่วมมือกัน (Reunite) ในการฟื้นฟู (Rehabilitate) และบูรณะ (Rebuild) ประเทศให้พลิกฟื้นขึ้นมา (Recover) เพื่อกอบกู้ (Restore) ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของประเทศ และสร้างหลักประกันว่าบ้านเมืองจะดำรงความเป็นนิติรัฐ (Rule of law) อย่างแท้จริงให้ได้ และที่จะขาดเสียมิได้ ก็คือการปฏิรูป (Reform) ทางการเมืองและสังคม เพื่อลดเงื่อนไขต่างๆ ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงในอนาคต มิฉะนั้นแล้ว สังคมไทยจะมีสภาพที่ทรงกับทรุด (Relapse) ไม่ต่างจาก “คนป่วยแห่งเอเชีย”
(ตีพิมพ์ใน มติชนรายวัน, 18 มิ.ย. 2553)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น