6 กรกฎาคม 2553

เนลสัน แมนเดล่า: 2 ทศวรรษแห่งอิสรภาพและการสมานฉันท์

.



ณ วินาทีที่เนลสัน แมนเดล่าก้าวพ้นออกจากเรือนจำสู่ประตูแห่งอิสรภาพในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2533 นั่นคือจุดเริ่มต้นไม่เพียงแต่เฉพาะอนาคตใหม่ของประเทศแอฟริกาใต้เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการจุดประกายให้โลกมีความหวังอย่างไม่เคยมีมาก่อน

20 ปีแห่งอิสรภาพที่ผ่านมา แอฟริกาใต้ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากเดิมที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นจุดเริ่มต้นที่จุดประกายให้มหาตามะ คานธีได้ “เพาะเชื้อ” แนวความคิดเกี่ยวกับการต่อสู้แบบอหิงหาตั้งแต่วัยหนุ่มเมื่อกว่าหนึ่งศตวรรษก่อน กลายเป็นดินแดนตัวอย่างแห่งความสำเร็จของการสมานฉันท์ระหว่างคนสีผิวต่างๆ

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง แอฟริกาใต้กลายเป็นประเทศที่ดำเนินนโยบายเหยียดสีผิว (Apartheid) อย่างเข้มข้นที่สุดในโลกประเทศหนึ่งติดต่อกันร่วมสี่ทศวรรษ จนทำให้ชื่อของประเทศแอฟริกาใต้แยกไม่ออกจากคำว่าการเหยียดผิว

หนึ่งในผู้นำคนผิวดำที่เรียกร้องและต่อสู้เพื่อสิทธิแห่งความเท่าเทียมกันก็คือเนลสัน แมนเดล่า ซึ่งเลือกแนวทางการต่อสู้ด้วยกำลังและความรุนแรงเพื่อปลดปล่อยคนผิวดำให้เป็นอิสระจากนโยบายการเหยียดผิวอย่างสุดโต่ง จนกระทั่ง ถูกจับกุมและถูกพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิตในข้อหาก่อวินาศกรรมเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ แม้ในระหว่างการถูกจองจำ แมนเดล่าก็ยังคงยืนหยัดที่จะใช้ความรุนแรงเป็นวิธีการต่อสู้กับนโยบายเหยียดสีผิวของคนผิวขาว

จุดเปลี่ยนผันเริ่มขึ้นในเดือนกันยายน 2532 เมื่อนายเอฟดับเบิลยู เดอเคิร์ก ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศในช่วงเวลาที่โลกการเมืองระหว่างประเทศกำลังจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์กำลังจะล่มสสลายในยุโรปตะวันออก และการพังทลายของกำแพงเบอร์ลินในอีกสองเดือนต่อมา ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญหนึ่งที่ทำให้ผู้นำคนใหม่ของแอฟริกาใต้ไม่อาจที่จะดำเนินนโยบายเหยียดผิวอย่างเข้มข้นได้อีกต่อไป ก้าวแรกที่ขับเคลื่อนให้แอฟริกาใต้มีวันนี้ได้ก็คือ การปล่อยตัวแมนเดล่าเป็นอิสระหลังจากถูกจองจำมานานร่วม 27 ปี

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2533 จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับประวัติศาสตร์ของประเทศที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกาประเทศนี้ โดยเฉพาะในปีนี้ซึ่งเป็นวาระครบรอบสองทศวรรษของเหตุการณ์สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์โลก

เช่นเดียวกับคอนราด อเดเนาว์ นายกรัฐมนตรีคนแรกของเยอรมนีตะวันตก (ในวัย 80 กว่าปี) และนายพลชาลล์ เดอโกลล์ อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส (ที่ย่างเข้าวัย 70 ปี) ที่ร่วมกันฝังรากต้นสมานฉันท์ระหว่างสองประเทศ เมื่อห้าสิบปีก่อนให้หยั่งลึกจนยากที่ผู้นำคนต่อๆมาจะสั่นคลอนได้ แมนเดล่าในวัย 72ปีจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการสร้างความสมานฉันท์ เป็น “คนแก่” ที่พร้อมและเต็มใจจะทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับประเทศ

เหมือนเช่นผู้นำสำคัญคนอื่นๆ แมนเดล่าไม่ได้เปลี่ยนเป็นคนใหม่เพียงชั่วข้ามคืน เพราะทันทีที่ก้าวออกจากเรือนจำ แมนเดล่าถึงกับทำให้โลกช๊อคเมื่อประกาศให้สาธารณชนได้รับทราบว่า การต่อสู้ด้วยวิธีการที่รุนแรงเพื่อยุติการเหยียดผิวในแอฟริกาใต้นั้นจะยังคงมีอยู่ต่อไป เพราะการสิ้นสุดของการเหยียดผิวและการเริ่มต้นสร้าง “สังคมสายรุ้ง” เพื่อความสมานฉันท์ระหว่างคนผิวขาวและคนดำจะเกิดขึ้นได้ด้วยการเจรจาเท่านั้น ในช่วงสามปีแรกหลังได้รับอิสระภาพของแมนเดล่า และการดำรงตำแหน่งผู้นำผิวขาวคนสุดท้ายของ เดอเคิร์ก จึงเน้นเรื่องของการเจรจาเป็นสำคัญเพื่อเป้าหมายดังกล่าว ท่าทีของแมนเดล่าค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปด้วยความเชื่อว่า การสมานฉันท์ยากที่จะเกิดขึ้นหากไม่ปรับท่าทีและทัศนะคติใหม่ โดยเฉพาะต่อคนผิวขาวที่มีสัดส่วนเพียงแค่แปดเปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ แต่ยึดกุมเส้นเลือดเศรษฐกิจของประเทศเกือบทั้งหมด

อุปสรรคแรกสุดที่แมนเดล่าสามารถก้าวพ้นผ่านได้ก็คือการเอาชนะใจตัวเอง เพราะตระหนักดีว่า การเจรจาจะไม่ประสบผลหากวางอยู่บนความอาฆาตพยาบาทและความต้องการล้างแค้นคนผิวขาวที่มีส่วนทำให้เขาต้องถูกจองจำอยู่ในคุกนานร่วม 27 ปี

เพราะเป้าหมายสูงสุดคือการล้มเลิกนโยบายเหยียดผิดและการสมานฉันท์ แมนเดล่าจึงต้องแสดงออกต่อสาธารณชนด้วยท่าทีและทัศนคติใหม่ที่ยืดหยุ่นและส่งเสริมต่อเป้าหมายดังกล่าวมากขึ้น โดยเฉพาะการให้เกียรติคนผิวขาวอย่างออกนอกหน้าและไม่ทำให้คนผิวขาวต้องรู้สึกอัปยศพ่ายแพ้มากเกินไปหากต้องยกเลิกนโยบายการการเหยียดผิด รวมไปถึงการขอโทษต่อคนผิวขาวที่เคยได้รับเคราะห์กรรมจากการใช้ความรุนแรงของคนผิวดำ จึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลและได้รับการชื่นชมจากทั่วโลก เมื่อแมนเดล่าและเดอเคิร์กได้รับรางวัลโนเบล(ร่วม)ในปี 2536 ในความสำเร็จที่สามารถบรรลุข้อตกลงสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของแอฟริกาใต้

เมื่อแมนเดล่าก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำผิวดำคนแรกในปีต่อมา ทุกความเคลื่อนไหวล้วนแต่เพื่อส่งเสริมให้เกิดความสมานฉันท์อย่างแท้จริง นอกเหนือจากการมอบตำแหน่งรองประธานาธิบดีให้แก่เดอเคิร์กเพื่อสร้างหลักประกันว่าคนผิวขาวจะยังคงมีอำนาจทางการเมืองต่อไปและสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติแล้ว แมนเดล่าพยายามใช้ทุกโอกาสในฐานะผู้นำของประเทศ โดยเฉพาะการใช้สัญญลักษ์เพื่อสะท้อนและตอกย้ำให้ทุกคนในแอฟริกาใต้ได้ประจักษ์ว่า การสมานฉันท์ระหว่างคนสีผิวต่างๆ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้และเกิดขึ้นแล้ว

ในฐานะผู้นำคนผิวดำ แมนเดล่าเชื่อว่า มีคนดี(จำนวนมาก)ในหมู่คนผิวขาวและคนเลว(จำนวนหนึ่ง)ในหมู่คนผิวดา ไม่มีสังคมใดที่มีคนดีทั้งหมด เพราะฉะนั้น คนผิวดำและผิวขาวควรเริ่มเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมสายรุ้ง แมนเดล่าเริ่มสร้างตัวอย่างที่ดีให้ปรากฏด้วยการพบปะพูดคุยสนทนาและรับประทานอาหารร่วมกับบรรดาอดีตผู้นำคนผิวขาวที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นศัตรูของคนผิวดำและมีส่วนต่อนโยบายการเหยียดผิว การสังหารหมู่คนผิวดำและการพิพากษาจำคุกให้ปรากฏต่อสายตาของสาธารณชน
หลักการสำคัญอย่างหนึ่งของนโยบายสมานฉันท์คือการผสมผสานระหว่างแนวทางยุติฉันท์ (Restorative) และทัณฑฉันท์ (Retributive) โดยเฉพาะนโยบายนิรโทษกรรมอย่างมีเงื่อนไข นั่นคือ เฉพาะคนที่ก่อความผิดและยอมรับสารภาพพร้อมทั้งแจ้งความจำนงค์อย่างชัดเจนเท่านั้น จึงจะได้รับการนิรโทษกรรมพ้นผิด

ที่น่าสนใจก็คือ แมนเดล่าเลือกเกมกีฬาเป็นสื่อหนึ่งในการสมานแผลและสมานฉันท์ที่มีพลานุภาพอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเจตนาเลือกสวมใส่เสื้อหมายเลข 6 ซึ่งเป็นหมายเลขประจำตัวของกัปตันทีมชาติรักบี้ซึ่งรู้จักกันภายใต้ชื่อ Springboks ในนัดชิงชนะเลิศที่แอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพในปี 2538 เพราะรักบี้คือเกมกีฬาที่สะท้อนถึงการเหยียดผิวมากที่สุดในแอฟริกาก็ว่าได้ การที่แมนเดล่าปรากฏตัวในสนามในฐานะประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ (ไม่ใช่ในฐานะผู้นำคนผิวดำ) และมอบถ้วยแชมป์ให้กับกัปตันทีมซึ่งเป็นคนผิวขาว จึงมีความหมายและนัยยะของการสมานฉันท์อย่างยิ่ง ว่ากันว่า นี่คือก้าวสำคัญของการสมานฉันท์อย่างแท้จริง เพราะตั้งแต่นั้นมา ทีมชาติรักบี้ Springboks ก็ไม่ได้ผูกขาดอยู่แต่เฉพาะผู้เล่นหรือโค๊ชคนผิวขาวเท่านั้น

ในอีก 9 ปีต่อมา ภาพแห่งความประทับใจอีกครั้งหนึ่งของแมนเดล่าซึ่งมีฐานะเป็นอดีตประธานาธิบดีชูถ้วยฟุตบอลโลกอย่างดีใจสุดซึ้ง ภายหลังจากที่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่าได้ประกาศให้แอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2553 เป็นรางวัลเกียรติยศที่โลกได้มอบให้แก่แอฟริกาใต้ในความสำเร็จของการสร้างสังคมสายรุ้ง และแมนเดล่าได้ตอกย้ำให้เห็นถึงความหมายที่แท้จริงของการสมานฉันท์อีกครั้งหนึ่ง เพราะในวันนั้น เดอเคิร์กและสาธุคุณเดสมอน ตูตู ขนาบข้างซ้ายขวาของแมนเดล่าร่วมแสดงความยินดีต่อความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของแอฟริกาใต้ในครั้งนี้ เพื่อบ่งบอกว่า บุคคลทั้งสามได้ร่วมกันมีบทบาทสำคัญต่อการสิ้นสุดของนโยบายเหยียดผิวและความสำเร็จของการสมานฉันท์

ฟุตบอลโลกที่จะเริ่มต้นในเดือนมิถุนายนปีนี้ จึงมีความหมายสำคัญยิ่งสำคัญทุกสีผิวในแอฟริกาใต้ เป็นช่วงเวลาที่คนแอฟริกาใต้ทุกสีผิวร่วมกันเก็บเกี่ยวผล จากการปลูกต้นสมานฉันท์เมื่อยี่สิบปีก่อน

หลังฟุตบอลโลกสิ้นสุดลง ชาวแอฟริกาใต้ก็จะมีโอกาสเฉลิมฉลองวันแมนเดล่า ซึ่งสหประชาชาติได้กำหนดขึ้นในวันที่ 18 กรกฏาคมอันเป็นวันคล้ายวันเกิดของแมนเดล่า เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณและคุณูปการอันยิ่งใหญ่ที่รัฐบุรุษโลกคนนี้มีต่อมวลมนุษย์
ในวัย 92 ปี เนลสัน แมนเดล่า ยังคงมีพลังและแรงปรารถนาที่จะเห็นการสมานฉันท์เกิดขึ้นทั่วโลก




(ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน, 13 ก.พ. 2553)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มอเตอร์ หรือ สติกเกอร์

เมื่อตอนที่ Real Madrid ทีมดังในสเปนตัดสินใจขาย Claude Makelele ให้กับทีม Chelsea แล้วซื้อ David Beckham มาแทนที่ในช่วงกลางปี 2003 ปรา...