6 กรกฎาคม 2553

ศัพท์แสงตัวอาร์กับความขัดแย้งและการสมานฉันท์: จาก Red สู่ Reconciliation

.



ในช่วงสองปีภายหลังการปฏิวัติรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 สังคมการเมืองไทยเริ่มมีการนำเอาสีมาใช้เป็นสัญญลักษณ์เพื่อแบ่งแยก (ขั้ว) ทางการเมืองอย่างชัดเจนที่สุดชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมือง

ไทย โดยเฉพาะสีแดง (Red) ซึ่งกลายเป็นสัญญลักษณ์ทางการเมืองของกลุ่มอำนาจ(เก่า) ภายใต้การนำของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ปฏิบัติการ “แดงทั้งแผ่นดิน” ในระหว่างวันที่ 8-14 เมษายนที่ผ่านมา ถือเป็นการชุมนุมแสดงพลังทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดของกลุ่มด้วยเป้าหมายเพื่อต่อต้าน (Resistance) รัฐบาล และเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะรวมทั้งองคมนตรี
ทั้งสามคนลาออก (Resign) ถึงแม้ว่า กลุ่มคนเสื้อแดงจะประกาศชัยชนะด้วยผลงานชิ้นโบว์แดงที่สามารถล้มเลิก (Ruin) การประชุมผู้นำอาเซี่ยนที่พัทยา แต่ดูเหมือนว่า ในที่สุด การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง (Red shirts) ก็จบลงด้วยความล้มเหลว ต้องถอยร่น (Retreat) ไปตั้งหลักใหม่

ความล้มเหลวของปฏิบัติการ “แดงทั้งแผ่นดิน” ดังกล่าว ส่วนสำคัญหนึ่งก็เป็นผลสืบเนื่องมาอารมณ์บ้าคลั่ง (Rampage) ของผู้ชุมนุม(บางส่วน) ที่ลุกลามรุนแรงจนกลายเป็นการจราจล (Riot) โดยเฉพาะการการบุกรุก (Raid) เข้าไปในสถานที่ที่มีการจัดประชุมผู้นำอาเซี่ยนและการปิดถนนเผาทำลายรถเมล์ในกรุงเทพฯ ตลอดจนการการบุกรุกเข้าไปกระทรวงมหาดไทยเพื่อปิดล้อมและหวังทำร้าย(ถึงขั้นเอาชีวิต)ผู้นำประเทศ (Ruler) จนในที่สุด ปฏิกิริยาที่เกิดจากอารมณ์โกรธ (Resentment) ของคนกรุงเทพฯ ที่ไม่ยอมรับ (Repulsive) กับพฤติกรรมการชุมนุมดังกล่าว นำไปสู่การต่อต้านและตอบโต้อย่างรุนแรงของชุมชนบางแห่งต่อกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งเชื่อว่าส่วนใหญ่มาจากภาคชนบท (Rural) จนสีแดงกลายเป็นสีต้องห้ามสำหรับบางชุมชมในกรุงเทพฯ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ก็ยังถูกรัฐบาลสหรัฐฯ ประณามไม่ยอมรับพฤติกรรม “แดงทั้งแผ่นดิน” ดังกล่าวด้วย

ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา มีการชุมนุม (Rally) ทางการเมืองที่เข้มข้นและทรงพลังสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง มีการหยิบยกและอ้างถึงสิทธิ (Rights) และเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่ชอบธรรมในการชุมนุมใดๆ อยู่เสมอๆ จนเกิดเป็นภาวะสิทธิเฟ้อ ในขณะเดียวกัน ก็มีการใช้สีเป็นสัญญลักษณ์ที่สะท้อนถึงการแตกแยก (Rift) ทางการเมืองในสังคมไทยที่ชัดเจนที่สุด โดยเฉพาะการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือกลุ่มคนเสื้อเหลือง ที่มีส่วนสำคัญต่อการสิ้นสุดของรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวชและรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ในปี 2551 และการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสิ้อแดงในช่วงระหว่างวันสงกรานต์ที่ผ่านมา

แรกเริ่มเดิมที “สีแดง” ในสังคมการเมืองไทยถือกำเนิดมาจากการรณรงค์ให้มีการโหวต “โน” ในช่วงระหว่างการลงประชามติ (Referendum) ไม่รับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 หลังจากนั้น ก็พัฒนายกระดับกลายเป็นกลุ่มคนเสื้อแดงที่เป็นสัญญลักษณ์ของกลุ่มอำนาจเก่าไปโดยปริยาย ปฏิเสธไม่ได้ว่า เครื่องมือหนึ่งที่ทางกลุ่มเสื้อแดงใช้ในการสื่อสาร เชิญชวนและปลุกระดมคนให้มาชุมนุมทางการเมืองต่างๆ ได้เป็นจำนวนมากและต่อเนื่องนั้น ก็คือวิทยุชุมชม (Radio) จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่รัฐบาลดำเนินการตอบโต้ภายหลังการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ด้วยการสั่งปิดสถานีวิทยุชุมชน(คนเสื้อแดง) หลายๆสถานี และดำเนินการทางการกฏหมายต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

ความเพลี่ยงพร่ำและพ่ายแพ้ทางการเมือง(ชั่วคราว?) ของกลุ่มคนเสื้อแดง อันเนื่องมาจากความล้มเหลวของปฏิบัติการ “แดงทั้งแผ่นดิน” ดังกล่าว ไม่ได้หมายถึงการ “สิ้นฤทธิ์” หรือยุติบทบาทโดยสิ้นเชิง ในทางตรงกันข้าม ก็ยังมีความพยายามที่จะปรับยุทธศาสตร์ใหม่และพร้อมที่จะระดมพล (Regroup) กลุ่มคนเสื้อแดงเพื่อต่อต้านรัฐบาลปัจจุบันต่อไปจนกว่าจะบรรลุผล แกนนำคนสำคัญอย่างนายจักรภพ เพ็ญแข ซึ่งได้หลบหนีไปอยู่ร่วม (Reunite) กับ “นายใหญ่” ในต่างประเทศก็ได้ประกาศท่าทีที่แข็งกร้าวยิ่งขึ้นผ่านทางสื่อต่างประเทศว่า จะยืนหยัดไม่ยอมแพ้หรือยอมจำนน (Resolute) โดยเด็ดขาด และยืนยันที่จะต่อต้าน (Revolt) รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ต่อไป ด้วยวิธีการต่อสู้แบบใต้ดินที่พร้อมจะใช้อาวุธและความรุนแรง ซึ่งไม่ต่างไปจากวิธีการแบบกองโจร (Rebel) หรือแม้กระทั่งข่าวการปลุกผี “ดาวแดง” คอมมิวนิสต์ให้เป็นยุทธศาสตร์ทางเลือกหนึ่งในการต่อสู้ทางการเมืองกับรัฐบาล โดยมีอดีตพลพรรคผู้ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นแกนนำ แต่เชื่อว่ามีโอกาสน้อยมากที่จะสามารถผลักดันให้กลุ่มคนเสื้อแดงกลายเป็น “ไทยแดง” (Thai Rouge) ได้

หากจะพินิจพิเคราะห์ถึงสาเหตุหลักที่นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยอย่างรุนแรงในรอบสามปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องไม่ง่ายนัก ที่จะสามารถระบุถึงรากเหง้า (Root) ที่แท้จริงของปัญหานี้ สมมติฐานหนึ่งที่ใช้อธิบายปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในขณะนี้ ก็คือ ความขัดแย้งอย่างรุนแรงของศัตรูคู่ปฏิปักษ์ (Rivalry) ทางการเมืองระหว่างกลุ่มอำนาจหลักๆ ในเบื้องต้นแล้ว การแบ่งแยกทางสัญญลักษณ์ระหว่างกลุ่มคนสีเหลืองและกลุ่มคนสีแดง (อาจจะ)พัฒนามาจากความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างคุณทักษิณ และคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งแน่นอนที่สุดว่า ความเป็นปฏิปักษ์ดังกล่าวไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะก่อให้เกิด “แผ่นดินไหว” สร้างรอยแยกใดๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้ หรือแม้กระทั่ง ความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างขั้วของพรรคประชาธิปัตย์และขั้วของอดีตพรรคไทยรักไทย (พรรคเพื่อไทย)

แต่การระบุอย่างชัดเจนของอดีตนายกรัฐมนตรีที่ต้องอาศัยอยู่ในต่างประเทศในเวลานี้ ว่า พล อ. เปรม ติณสูลานนท์ คือผู้บารมีนอกรัฐธรรมนูญตัวจริงที่เอ่ยอ้างถึงมาตลอด โดยนัยยะแล้ว ก็คือการประกาศอย่างเปิดเผยว่า “ป๋าเปรม” คือศัตรูคู่ปฏิปักษ์ทางการเมืองหมายเลขหนึ่งของอดีตผู้ก่อตั้งและหัวหน้าพรรคไทยรักไทยนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ ปฏิบัติการ “แดงทั้งแผ่นดิน” เพื่อโค่นล้มระบอบอำมาตยาธิปไตยจึงพุ่งเป้าไปที่ประธานองคมนตรีเป็นสำคัญ โดยโยงใยให้เห็นว่า การปกครองแบบเก่าที่มีพล อ.เปรมเป็นต้นแบบเป็นสิ่งที่ล้าสมัยและเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย และการปกครองแบบใหม่ที่มีพ.ต.ท.ทักษิณเป็นตัวชูโรง เป็นประชาธิปไตยของประชาชนอย่างแท้จริง

ในแง่(ผลประโยชน์)ส่วนบุคคลแล้ว แทบจะไม่มีเหตุผลอันใดที่มีน้ำหนักมากพอจะก่อตัวและพัฒนาให้เกิดความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างอดีตนายกรัฐมนตรีทั้งสองท่านนี้ได้เลย หากไม่มีเรื่องของสถาบัน (Royal) เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะถือเป็นประเด็นที่อ่อนไหวที่สุดท่ามกลางความขัดแย้งในสังคมการเมืองไทยปัจจุบัน มีการกล่าวหาอย่างรุนแรงเสมือนหนึ่งว่า คุณทักษิณเป็น “ต้นไม้มีพิษ” ที่งอกบนแผ่นดินไทย เพราะมีทัศนคติและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งต่อสถาบัน ตลอดจนมีความทะเยอทะยาน “ล้ำเกินเส้น” หรือสุดโต่ง (Radical) ที่คิดจะเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองการปกครอง (Regime) ของไทยให้เป็นระบอบสาธารณรัฐ (Republic) และสถาปนาตนเองเป็นผู้นำประเทศในฐานะประธานาธิบดี คือจุดเปลี่ยนผันที่ทำให้ “ป๋าเปรม” ในฐานะประธานองคมนตรี กลายเป็นฝ่ายตรงข้ามของคุณทักษิณไปโดยปริยาย ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้ความเป็นปฏิปักษ์ของคุณทักษิณกับชนชั้นสูงหรือ “อภิสิทธิชน” ยิ่งเด่นชัดมากขึ้น

ประเด็นเรื่องความไม่จงรักภักดีต่อสถาบันคือเงื่อนไขที่สำคัญหนึ่งที่ทำให้เกิดการปฏิวัติรัฐประหารครั้งล่าสุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ
จุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณทักษิณต้องสูญเสียอำนาจทางการเมืองในฐานะนายก รัฐมนตรีของประเทศ ในขณะเดียวกัน ศัพท์แสงต่างๆ ที่ใช้ในการรณรงค์เรียกร้องให้ปฏิบัติการ “แดงทั้งแผ่นดิน” เป็นการปฏิวัติ(ของ)ประชาชน (Revolution) ครั้งที่สาม โดยอ้างอิงถึงความสำเร็จของการปฏิวัติ(โดย)ประชาชนสองครั้งในเหตุการณ์ “14 ตุลาคม 2516” และ “17 พฤษภาคม 2535” ที่ผ่านมา ก็ยิ่งทำให้ “สีแดง” ของคุณทักษิณถูกมองและตีความจากฝ่ายตรงข้ามว่าใกล้เคียงกับคำว่า Rouge หรือ Republican มากยิ่งขึ้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความแตกแยกที่เกิดขึ้นในสังคมไทยนี้ เป็นเหมือน “ฝันร้าย” ที่สร้างความบอบช้ำ (Rack) ให้กับประเทศชาติไม่น้อย ได้มีความพยายามจากหลายๆ ฝ่ายที่จะแสวงหาหนทาง (Resolution) เพื่อยุติปัญหาความขัด แย้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเรียกร้องให้เกิดการสมานฉันท์ (Reconciliation) ของคนในชาติ แต่การสมานฉันท์แห่งชาติจะเริ่มขึ้นได้นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ ประการ และการสมานฉันท์จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าหากขาดซึ่งปัจจัยของความเป็นไปได้และความเต็มใจจากทั้งสองฝ่าย กล่าวเฉพาะในส่วนของคุณทักษิณเอง มีปัจจัยสามอาร์ที่ต้องพิจารณาให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เรียกว่าเป็นปัจจัยสองอาร์เพื่อถอยคนละก้าว และหนึ่งอาร์เพื่อพบกันครึ่งทาง

อาร์ที่หนึ่งก็คือ การแก้แค้น (Revenge) ดูเหมือนว่า ไม่มีใครที่จะมีเหตุผลที่จะเกิดความรู้สึกอาฆาตแค้นทางการ เมืองมากเท่าพ.ต.ท.ทักษิณที่ต้องสูญเสียอำนาจทางการเมืองเพราะการปฏิวัติรัฐประหาร ซ้ำร้ายต้องระเห็จหลบหนีลี้ภัยไปพำนักในประเทศต่างๆ ที่นับวันจะถูกจำกัดให้เหลือน้อยลงๆ อันเป็นผลมาจากมาตรการกดดันทางการฑูตจากทางการไทย ว่ากันว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในตัวคุณทักษิณก็คือแรงอาฆาตแค้นที่พร้อมจะตอบโต้ (Retaliate) ศัตรูทางการเมืองทุกคน ซึ่งคุณเนวิน ชิดชอบได้กล่าวระบายสะท้อนให้เห็นถึงข้อเท็จจริงนี้ส่วนหนึ่ง แต่อย่างน้อยที่สุด หากการยืนยันผ่านทางหนังสือ “ทักษิณ: ARE YOU OK?” ในทำนองว่า ไม่อยากคิดล้างแค้น เพราะเชื่อว่าไม่มีประโยชน์และผลสุดท้ายคือการทำร้ายตัวเอง เป็นความรู้สึกจริงๆ ของคุณทักษิณ และพร้อมที่จะอโหสิกรรมให้ทุกฝ่ายแล้ว สังคมไทยก็คงจะมีความหวังที่จะเห็นแสงสว่างที่ปลายถ้ำได้

อาร์ที่สองคือ การล้มเลิกความตั้งใจและยุติการเคลื่อนไหว (Renounce) สมมติฐานหนึ่งที่ฝ่ายตรงข้ามของคุณทักษิณวางไว้ ก็คือ ปัญหาความขัดแย้งอย่างลึกซึ้งในสังคมที่นำไปสู่ความรุนแรงในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานั้น เกิดจาก “ปัจจัยทักษิณ” เป็นสำคัญ นั่นหมายถึงว่า ความแตกแยกแตกร้าวระหว่างคนไทยจะยังไม่ยุติ หากว่าคุณทักษิณยังไม่คิดยอมแพ้ ไม่หยุดการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งหมดและยุติ (Retire) บทบาททางการเมืองโดยเด็ดขาด เมื่อนั้นความปลองดองภายในชาติก็จะเกิดขึ้นได้ยาก

อาร์ที่สามคือ การกลับคืน (Return) โดยข้อเท็จจริงแล้ว มีโอกาสความเป็นไปได้น้อยมากที่คุณทักษิณจะสามารถหวนกลับคืนสู่อำนาจทางการเมือง (หากมีการสมานฉันท์เกิดขึ้นจริง) หรือได้เกิดใหม่ (Reborn) ทางการเมือง (หากมีการนิรโทษกรรมจริง) และหากพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ ที่คุณทักษิณประสบ ณ เวลานี้ นับตั้งแต่ถูกเพิกถอน (Recall) ทั้งพาสปอร์ตแดงซึ่งทำให้ความเป็น “อภิสิทธิชน” ทางการฑูตหมดสภาพ และพาสปอร์ตสีน้ำตาล รวมถึงการถูกเพิกถอน (Revoke) วีซ่าเข้าประเทศอังกฤษ ตลอดจน การถูก “หมายแดง” (Red Notice) จากตำรวจสากลที่มีสมาชิกเครือข่ายครอบคลุมทั่วโลก ให้ดำเนินการจับกุมและส่งตัวคุณทักษิณกลับคืนให้ทางการไทย เพื่อทำให้ “แผ่นดิน”ของคุณทักษิณเหลือเท่าใบพุทธาจริงๆ

ถึงแม้ว่าจะมีข่าวเล่าลือ (Rumour) ต่างๆ ว่า คุณทักษิณถือพาสปอร์ตของหลายๆ ประเทศ รวมทั้งพาสปอร์ตกัมพูชา จนสามารถเดินทางเข้าออกและพำนักอยู่ในบางประเทศได้ต่อไป แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ไม่ได้เป็นความลับก็คือ คุณทักษิณไม่เคยมีความสุขกับการต้องพำนักอยู่ในต่างประเทศและปรารถนาจะกลับคืนสู่มาตุภูมิเสมอ และหากพิจารณาสถานภาพปัจจุบันของอดีตนายกรัฐมนตรีที่ว่ากันว่า ทำให้เกิด “แผ่นดินไหว” รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ความปรารถนาที่จะกลับคืนสู่มาตุภูมิก็ยิ่งทวีคูณมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลัง “เกมลี้ภัย” ได้จบสิ้นลงนับตั้งแต่การถูกทางการของอังกฤษเพิกถอนวีซ่าเข้าประเทศแล้ว ปัญหาก็คือ คุณทักษิณจะกลับมาประเทศไทยในฐานะและเงื่อนไขใด รวมทั้งเงื่อนไขของเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่จะสามารถเดินทางกลับประเทศได้ นั่นหมายถึงว่า หากคุณทักษิณยอมรับเงื่อนไขของ “เกมสมานฉันท์” แล้ว อีกฝ่ายหนึ่งจะยอมรับ “เกมกลับบ้าน” ของคุณทักษิณหรือไม่ เสมือนหนึ่งเป็นการพบกันครึ่งทางของทั้งสองฝ่าย

ในสถานการณ์ที่ความขัดแย้งทางการเมืองปะทุจนถึงขีดสุด พร้อมๆกับที่ประเทศกำลังประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (Recession) อย่างรุนแรงที่สุดในรอบสิบปีเช่นนี้ ดูเหมือนว่า การฟื้นฟู (Recover) ภาคการท่องเที่ยวคือเป้าหมายอันดับต้นๆของรัฐบาล ในขณะเดียวกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาความขัดแย้งและรุนแรงทางการเมืองดังกล่าวส่ง ผลเสียหาย (Ravage) ต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของประเทศไทยอย่างร้ายแรง ความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการก็คือ การฟื้นฟู (Restore) ความเชื่อมั่นของประเทศในสายตาของต่างประเทศให้กลับคืนมาโดยเร็ว โดยเฉพาะ ความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยเป็นนิติรัฐ (Rule of Law) อย่างสมบูรณ์ และมีความปลอดภัยอย่างสูงสุด หากผู้นำประเทศอาเซี่ยนต้องกลับมาร่วมประชุมในประเทศไทยอีกครั้ง รวมทั้งรัฐบาลก็ต้องสร้างหลักประกันว่า กฏหมายต้องเป็นกฏหมายที่มีความศักดิ์สิทธิ ให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า บ้านเมืองมีขื่อมีแปรที่ทุกคนต้องเคารพ (Respect) โดยไม่มีข้อยกเว้น

เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด การปองดองสมานฉันท์คือความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่สุดสำหรับสังคมไทย ณ เวลานี้ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้มีความชัดเจนว่า สังคมไทยมองการสมานฉันท์เป็นกลไกกระบวนการที่จะนำไปสู่การปฏิรูป (Reform) ทางการเมืองและความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง หรือในทางตรงกันข้าม เราเรียกร้องต้องการให้มีการแก้ไข (Revision) รัฐธรรมนูญและการปฏิรูปการเมือง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการสมานฉันท์ในสังคมไทยในที่สุด

ในสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ต้องยอมรับว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ได้รุนแรงหรือเลวร้ายถึงขั้นเป็นสงครามกลางเมืองหรือสงครามล้างเผ่าพันธ์เหมือนในประเทศอื่นๆ อย่างเช่นที่หลายๆ คนพยายามยกมาเปรียบ เทียบ เพราะฉะนั้น การสมานฉันท์ในสังคมไทยก็สามารถดำเนินการหรือมีโอกาสเป็นไปได้มากกว่า โดยไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยขั้นตอนกระบวนการของการทำความจริงให้ปรากฏเพื่อนำคนผิดมาลงโทษ ตลอดจนการชดใช้ความผิดหรือชดเชยความเสียหาย (Redress/Restitution) ทั้งในรูปของการยุติฉันท์ (Restorative) หรือทัณฑฉันท์ (Retributive) หรือกระทั่งการกล่าวขอโทษเสียใจยอมรับผิด (Regret/Remorse) แต่คำถามที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เงื่อนไขของเวลาและความพร้อม นั่นคือ สังคมไทยได้เดินมาถึงจุดที่สุกงอม (Ripeness) แล้วหรือยัง? และผู้นำของแต่ละฝ่ายพร้อม (Readiness) แล้วหรือยังที่จะเริ่มต้นสมานฉันท์อย่างจริงๆจังๆ ภายใต้เงื่อนไขที่มีความเสี่ยง (Risk) น้อยที่สุด ตลอดจนบทบาทของผู้แทนปวงชน (Representatives) ที่ควรจะอยู่ตรงไหน อย่างไร เพื่อกระตุ้นหรือส่งเสริมให้การสมานฉันท์เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

หลักการและจุดมุ่งหมายสำคัญประการหนึ่งของการสมานฉันท์ก็คือ การมุ่งเน้นและมองอนาคตเป็นสำคัญ เพราะ ฉะนั้นแล้ว นอกจากจะต้องกำจัด (Remove) ความรู้สึกเกลียดชังและหวาดระแวงระหว่างกันแล้ว จะต้องมีการเยียวยา (Repair) ฟื้นฟู (Rebuild/Refresh) หรือแม้กระทั่งเสริมสร้าง (Renew) มิตรภาพความสัมพันธ์ (Relationship) ของคนในสังคมให้ดีขึ้นกว่าเดิม ให้มีทัศนคติที่เป็นบวกต่อคนที่เคยอยู่ต่างกลุ่มต่างพวก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนเสื้อแดงและกลุ่มคนเสื้อเหลือง ในด้านหนึ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือหยุดยั้งการสร้างเงื่อนไขของความแตกแยก (Rupture) และความรุนแรงอื่นๆ และในอีกด้านหนึ่ง เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจและเชื่อใจซึ่งกันและกันเป็นหนึ่งเดียว (Rapport) มากพอที่จะทำให้คนไทยสามารถอยู่และทำงานร่วมกัน (Reunion) ได้อย่างปกติเหมือนที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ นอกจากจะทำให้สังคมเชื่อมั่นว่า “รักชาด” มีความหมายเดียวกับคำว่า “รักชาติ” แล้ว กลุ่มคนเสื้อแดงควรจะมีบทบาทอย่างมากในการทำให้เกิดบรรยากาศ “แดงสดใสทั้งแผ่นดิน” (Rose Reconciliation) สร้างบรรยากาศแห่งความสุขหรรษา (Rejoice) กลับคืนสู่สังคมไทยอีกครั้ง เป็นสังคมสายรุ้ง (Rainbow) ที่คนกลุ่มสีต่างๆ สามารถสมาคมระหว่างกันได้โดยไม่เกิดความแปลกแยก ในขณะเดียวกัน ไมตรีฉันท์ (Rapprochement) กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกัมพูชาที่ถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในสังคมไทย จะต้องไม่ถูกละเลยด้วย

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ก็เพื่อเป็นการถวายแด่ “ในหลวง” ของปวงชนชาวไทย เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบปีที่ 60 ของการครองราชสมบัติ (Reign) ปกครองแผ่นดินโดยธรรม




(มติชน, 19 พ.ค. 2552)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มอเตอร์ หรือ สติกเกอร์

เมื่อตอนที่ Real Madrid ทีมดังในสเปนตัดสินใจขาย Claude Makelele ให้กับทีม Chelsea แล้วซื้อ David Beckham มาแทนที่ในช่วงกลางปี 2003 ปรา...