19 ธันวาคม 2558

ตุรกี : ผู้เปิดและปิดเกมให้รัสเซีย


ณ ปัจจุบันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า วิกฤติสงครามการเมืองในซีเรียคือศูนย์รวมความสนใจและความหวั่นวิตกของคนทั้งโลก เพราะมีเงื่อนไขที่สามารถพัฒนาไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 ได้
หากกล่าวชี้ชัดเป็นกรณีพิเศษแล้ว  ตุรกีถือเป็นตัวละครตัวเอกที่สำคัญมากๆในความขัดแย้งครั้งนี้  โดยเฉพาะบทบาทและฐานะทั้งเป็นผู้เปิดเกมและผู้ปิดเกมให้กับรัสเซียต่อปัญหาวิกฤติซีเรียที่ยืดเยื้อมานานกว่าสี่ปี ที่จะต้องบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์
ตุรกีผู้เปิดเกมให้รัสเซีย:   ในบทวิเคราะห์เรื่อง “วิกฤตซีเรีย : รัสเซียมาแล้ว” (มติชนรายวัน, 16 ตุลาคม 2558) ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นแรกๆที่ผู้นำทหารอิหร่านโน้มน้าวและผลักดันให้รัสเซียก้าวเข้ามาเกี่ยวข้องกับวิกฤติในซีเรีย  จนกระทั่งนำมาสู่ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในซีเรียตั้งแต่วันที่  30 กันยายนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้
หากวิเคราะห์เจาะลึกในรายละเอียดเพิ่มเติมแล้ว จะพบว่า การเปลี่ยนแปลงจุดยืนของตุรกีต่อปัญหาวิกฤติในซีเรียแบบกลับลำคือมูลเหตุที่สำคัญมากถึงมากที่สุดที่ส่งผลทำให้ผู้นำทหารอิหร่านจำเป็นต้องขยับและเดินทางไปมอสโคว์ด้วยภาระกิจลับและเร่งด่วนที่สุด


ก่อนหน้านั้น ในช่วงระยะเวลากว่า 9-10 เดือนแรกที่สหรัฐฯนำกับพันธมิตรนานาประเทศเปิดฉากปฏิบัติการโจมตีกองกำลังกลุ่ม ISIS ในซีเรียตั้งแต่เดือนกันยายน 2014   บทบาทของตุรกีถือว่าน่าผิดหวัง(ในสายตาของตะวันตก) เพราะรั้งรอ อิดออดและสงวนตัวไม่ยอมเข้าร่วมแบบเต็มตัวทั้งๆที่มีพรมแดนชิดติดกันและได้รับผลกระทบจากวิกฤตซีเรียมากที่สุดชาติหนึ่ง ด้วยเหตุว่าเป้าหมายหลักของตุรกีไม่ใช่อยู่ที่กลุ่ม ISIS  แต่อยู่ที่การกำจัดประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดแห่งซีเรียและกองกำลังชาวเคิร์ด
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญมากที่ทำให้ตุรกีต้องกลับลำและปรับเปลี่ยนนโยบายต่อปัญหาในซีเรียจนกลายเป็นจุดพลิกผันครั้งใหญ่สำหรับวิกฤติในซีเรียชนิดที่ประธานาธิบดีอัสซาดต้องขอบคุณ ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุ การณ์สำคัญๆอย่างน้อยสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนมิถุนายนและกรกฏาคม  ดังนี้


กองกำกำลังชาวเคริ์ดกับชัยชนะครั้งสำคัญ

เหตุการณ์แรกก็คือการรุกคืบของกองกำลังชาวเคิร์ดในซีเรียที่รุกไล่กองกำลังกลุ่มก่อการร้าย ISIS จนถอยร่นและสามารถยึดครองพื้นที่ตามแนวพรมแดนซีเรีย-ตุรกีเป็นแนวยาวกว่า 400 กิโลเมตรไปจนจดแนวพรม แดนที่ติดกับอิรัค
สภาพการณ์ดังกล่าวสร้างความหวั่นวิตกให้แก่รัฐบาลตุรกีเป็นอย่างมากเพราะหวั่นเกรงว่า จะนำไปสู่การประกาศจัดตั้งประเทศเคอร์ดิสถาน ซึ่งประธานาธิบดีเรเจ๊บ เอิร์ดโดวันแห่งตุรกีจะไม่มีวันปล่อยให้เกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด  เพราะนอกจากรัฐใหม่นี้จะกลายเป็นภัยคุกคามสำหรับตุรกีโดยตรงแล้ว ยัง(อาจ)จะกลายเป็นเชื้อชนวนที่ปลุกกระตุ้นให้ชาวเคิร์ดในตุรกีอีกกว่า 15 ล้านคนประกาศแยกพื้นที่เข้าไปรวมสร้างรัฐใหม่นี้ด้วย นี่คือฝันร้ายที่สุดสำหรับรัฐบาลตุรกี

ด้วยเหตุนี้เอง สถานการณ์ในซีเรียได้พัฒนามาจนถึงที่ตุรกีจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนโยบายแบบกลับลำ เพื่อตัดไฟเสียแต่ต้นลม โดยการวางแผนตระเตรียมระดมพลเกือบสองหมื่นนายตามแนวพรมแดนเตรียมพร้อมที่จะบุกซีเรียเพื่อทำลายฐานกำลังของชาวเคิร์ด เป็นการประกาศตัวอย่างชัดเจนว่า ณ เวลานี้(ปลายเดือนมิถุนายน) ตุรกีเปิดตัวพร้อมเข้าร่วมปฏิบัติการทางทหารในซีเรียแบบเต็มตัวแล้ว รอเพียงเงื่อนไขและโอกาสเท่านั้น   
 
ระเบิดพลีชีพที่สังหารผู้บริสิทธิ์กว่า 32 คน
 

เหตุการณ์ที่สองคือเหตุการณ์ระเบิดพลีชีพในเมืองซูรึกของตุรกีใกล้แนวพรมแดนซีเรียเมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม จนทำให้มีชีวิตกว่า 32 ราย  ถือเป็นเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมที่ร้ายแรงที่สุดในรอบสองปีที่เกิดขึ้นตามแนวพรมแดนของทั้งสองประเทศ 
ภายใต้ทฤษฏีสมคบคิด  รัฐบาลตุรกีไม่สามารถหยิบยกเหตุการณ์แรกมาเป็นเหตุผลในการบุกเข้าไปในดินแดนของซีเรียได้มากนัก  แต่เหตุการณ์ที่สองสร้างเงื่อนไขและความชอบธรรมให้กับตุรกีมากยิ่งขึ้น โดยทางการของตุรกีอ้างว่ากลุ่ม ISIS ข้ามพรมแดนจากซีเรียเข้ามาก่อเหตุในดินแดนของตุรกี (ทั้งๆที่ในข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งแล้ว ถึงแม้จะเกิดขึ้นในดินแดนของตุรกี แต่ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวเชื้อสายชาวเคิร์ด ที่กำลังชุมนุมเตรียมตัวข้ามพรมแดนไปช่วยชาวเคิร์ดในซีเรีย ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลตุรกีไม่อาจยอมรับได้)
ทั้งสองเหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อตุรกีโดยตรง จนนำไปสู่การตัดสินใจครั้งสำคัญของตุรกี สำคัญถึงขั้นที่เรียกว่า กลายเป็นจุดเปลี่ยนของวิกฤติซีเรียที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2011 ก็ว่าได้
การตัดสินใจอันดับแรกสุด (วันที่ 23 กรกฏาคม)  คือการเปิดไฟเขียวอนุญาตอย่างเป็นทางการให้สหรัฐฯและแนวร่วมพันธมิตรใช้ฐานทัพอากาศอินเซอร์ลิกซึ่งอยู่ห่างจากแนวพรมแดนซีเรียเพียงไม่ถึงสองร้อยกิโลเมตร (จากเดิมที่ต้องบินข้ามประเทศหลายพันกิโลเมตร) ทำให้ปฏิบัติการทางทหารโจมตีกองกำลัง ISIS ในซีเรียที่มีสหรัฐฯเป็นแกนนำมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ฐานทัพอากาศ : จุดเปลี่ยนแห่งยุทธศาสตร์

ทั้งนี้ สหรัฐฯเคยใช้ฐานทัพอากาศแห่งนี้ในการเปิดศึกกับอิรัคภายหลังบุกยึดคูเวตเมื่อปี 1990 แต่ได้รับการปฏิเสธจากตุรกีที่ไม่ยินยอมให้สหรัฐฯใช้เพื่อปฏิบัติการทางทหารในการบุกอิรัคในปี 2003 จนนำไปสู่จุดจบของซัดดัม ฮุสเซน
การตัดสินใจครั้งที่สอง ในวันถัดมา (24 กรกฏาคม) คือการส่งเครื่องบินรบไปถล่มฐานที่มั่นของกลุ่ม ISIS ในซีเรียนับเป็นปฏิบัติทางทหารเป็นครั้งแรกสุดของกองทัพตุรกี  ถือเป็นวันแรกสุดที่ตุรกีประกาศเข้าร่วมศึกในวิกฤติซีเรียอย่างเป็นทางการ

ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของตุรกี : เปิดทางให้รัสเซีย


               อาจกล่าวได้ว่า ทั้งสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสองวันติดๆกันนี้ คือจุดพลิกผันที่เปลี่ยนโฉมหน้าของวิกฤติซีเรียและปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่มีมาจนถึงทุกวันนี้  ถึงแม้ว่า อิหร่านจะพยายามร้องขอให้รัสเซียเข้ามาแทรกแซงในวิกฤติซีเรียหลายเดือนก่อนหน้านี้  แต่การที่ตุรกีอนุมัติให้สหรัฐฯสามารถฐานทัพอากาศอินเซอร์ลิกได้ และการเข้ามามีบทบาทโดยตรงของตุรกี กลายเป็นเงื่อนไขที่สุกงอมที่สุดที่ทำให้นายพลคาสเซม โซเลมานี  ผู้บัญชาการกองทัพอัล-คุ๊ดฟอร์ซแห่งอิหร่าน ซึ่งเป็นกองกำลังที่มีบทบาทสำคัญในความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในหลายๆประเทศในตะวันออกกลาง  ตัดสินใจเดินทางไปเจรจาโน้มน้าวผู้นำรัสเซียแบบลับที่สุดและเร่งด่วนที่สุด และทำให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินตัดสินใจง่ายที่สุดที่จะเข้าแทรกแซงวิกฤติในซีเรียและช่วยเหลือรัฐบาลซีเรียในอีกสองเดือนต่อมา
ตุรกีผู้ปิดเกมให้รัสเซีย:  ในขณะที่รัสเซียกำลังสร้างความได้เปรียบทั้งในสมรภูมิการสู้รบภายในซีเรียมานานร่วมสองเดือนและในเวทีเจรจาระหว่างประเทศ ตุรกีก็ช๊อคโลกและสร้างจุดเปลี่ยนอีกครั้งให้กับวิกฤติซีเรียเมื่อเครื่องบินรบ F-16 ของตุรกียิงเครื่องบิน SU-24 ของรัสเซียตกเมื่อ 24 พฤศจิกายน โดยให้เหตุผลว่ามีการบินรุกล้ำน่านฟ้าของตุรกีจนเกิดกระแสหวั่นวิตก(เกินเหตุ)ว่า ตุรกีได้จุดชนวนเงื่อนไขที่จะนำไปสู่สงคราม โลกครั้งที่ 3(?)


ณ เวลานี้ ที่ยังไม่มีการประกาศและพิสูจน์ด้วยหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าใครผิดใครถูก แต่บทเรียนและข้อคิดในอดีตที่เกี่ยวข้องกับตุรกีก็สมควรนำมาพิจารณาเทียบเคียงเพื่อความเข้าใจ




ประการแรก โดยปกติแล้ว การบินละเมิดล่วงล้ำเข้าไปในเขตน่านฟ้าของประเทศอื่นอาจเกิดขึ้นได้เสมอและอยู่ในวิสัยที่จะป้องกันหรือหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดได้   อย่างเช่นกรณีเครื่องบินรบตุรกีและกรีซที่มีการบินรุกล้ำน่านฟ้าระหว่างกันอยู่บ่อยๆ แต่ไม่ปรากฏว่ามีการปะทะกัน ทั้งๆที่ทั้งสองประเทศมีความขัดแย้งกันมานานจนถึงขั้นพร้อมเผชิญหน้า   แต่ในกรณีความขัดแย้งกับซีเรียแล้ว ตุรกีกลับใช้อีกมาตรฐานหนึ่ง ซึ่งปรากฏว่า ในช่วงระหว่างปี 2013-2015 เครื่องบินรบและเฮลิคอปเตอร์ของซีเรียถูกยิงร่วงหลายครั้งภายหลังจาก(ถูกกล่าวหาว่า)บินล่วงล้ำเข้าไปเขตน่านฟ้าของตุรกี


ประการที่สอง ตุรกีเคยมีประสบการณ์และบทเรียนแบบเดียวกันเมื่อกลางปี 2012 เมื่อเครื่องบินรบ F-4 ถูกสอยร่วงขณะบินรุกล้ำน่านฟ้าของซีเรีย  คำพูดเมื่อวันวานของเรเจ๊บ เอิร์ดโดวันซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่ว่า  การละเมิดน่านฟ้าของประเทศอื่นเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆไม่ถือเป็นการรุกรานอย่างแน่ นอน ก็ได้กลับมาหลอกหลอนผู้นำตุรกีคนนี้  เพราะการบินล่วงล้ำเข้าไปในเขตน่านฟ้าของตุรกีเพียงแค่ 17 วินาทีเทียบไม่ได้เลยกับช่วงระยะเวลา 5 นาทีที่เครื่องบินรบของตุรกีบินล่วงล้ำเข้าไปในเขตซีเรียเมื่อสามปีที่แล้ว  



ประการที่สาม  ถึงแม้ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนตุลาคม เครื่องบินรบของรัสเซียได้บินล่วงล้ำเข้าไปในเขตน่านฟ้าของตุรกีหลายครั้งหลายหน และหนึ่งในนั้นถูกเครื่องบินรบตุรกียิงตก แต่ก็ไม่มีคำยืนยันหรือนำไปสู่ความตึงเครียดถึงขั้นเผชิญหน้า ซึ่งแตกต่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน อย่างสิ้นเชิง
หากวิเคราะห์ตีความคำพูดของนายกรัฐมนตรีอังเกลา  แมร์เคิลแห่งเยอรมนี ซึ่งได้มีการสนทนาสอบ ถามกับผู้นำตุรกีหลังเกิดเหตุ นับว่าน่าสนใจไม่น้อย   ด้านหนึ่ง ผู้นำเยอรมันยอมรับว่าทุกประเทศ(รวมทั้งตุรกี) มีสิทธิและความชอบธรรมที่จะปกป้องอธิปไตยของประเทศ แต่ในอีกด้านหนึ่ง  ตุรกีมีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องยิงเครื่องบินของรัสเซียเมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์วิกฤติในซีเรียที่ยังคงเลวร้ายอยู่ ในมุมมองของผู้นำเยอรมันคนนี้ การกระทำของตุรกีไม่ต่างจากการเติมน้ำมันเข้าไปในกองเพลิงที่มีแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก


ถึงแม้ว่าตุรกีจะสร้างประวัติศาสตร์เป็นชาติสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ(นาโต้)ชาติแรกที่ยิงเครื่องบินของรัสเซียตกในรอบ 62 ปี แต่อาจจะเป็นเกียรติประวัติที่มีต้นทุนแพงเหลือหลายสำหรับผู้นำตุรกีคนนี้จนต้องจารึกในประวัติศาสตร์
หากวันที่ 24 กรกฏาคมคือวันสำคัญแห่งประวัติศาสตร์ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนของวิกฤติซีเรีย เพราะเป็นวันแรกสุดที่ตุรกีประกาศศักดาส่งเครื่องบินรบไปถล่มกลุ่ม ISIS ในดินแดนของซีเรีย และเป็นวันที่ผู้นำรัสเซียตอบตกลงเข้าแทรกแซงช่วยเหลือประธานาธิบดีอัสซาดแห่งซีเรีย   วันที่ 24 พฤศจิกายนก็ต้องถือว่ามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน 



โดยที่ไม่ต้องรอให้มีการพิสูจน์เปิดเผยก่อนว่าใครผิดใครถูกกันแน่ แต่การที่เครื่องบินรบตุรกียิงเครื่อง บินรบของรัสเซียจนทำให้นักบินเสียชีวิตหนึ่งนายนั้น ได้สร้างความชอบธรรมและเปิดทางให้รัสเซียเคลื่อน้ายอาวุธยุทโธปกรณ์ชั้นเลิศเข้ามาประจำการในซีเรียทันที โดยเฉพาะ S-400 ซึ่งถือเปฌรระบบต่อต้านอากาศยานและขีปนาวุธที่ทรงพลังและก้าวล้ำมากที่สุดในโลกปัจจุบัน จนส่งผลอย่างมากต่อดุลแห่งอำนาจและสถาน การณ์ในซีเรียอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน 


นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อำนาจต่อรองของรัสเซียกลับเพิ่มขึ้นและกลายเป็นผู้กำหนดเกมเงื่อนไขต่างๆ  อย่างที่ใครยากจะปฏิเสธได้ ตรงกันข้ามกับฐานะของสหรัฐฯที่เริ่มมีท่าทียืดหยุ่น ถดถอย และยอมอ่อนข้อให้กับ(ข้อเรียกร้องของ)ฝ่ายรัสเซียมากขึ้น จนถึงขั้นปรับเปลี่ยนนโยบายต่อวิกฤติซีเรียทให้สอดคล้องกับความต้องการของรัสเซียมากขึ้น
ไปๆมาๆ นอกจากจะเป็นผู้ “เปิดเกม” เปิดทางทำให้รัสเซียต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับวิกฤติในซีเรียแล้ว ตุรกีอาจจะได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างโอกาสให้รัสเซียได้ “ปิดเกม” อย่างไม่น่าเชื่อ

.
.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มอเตอร์ หรือ สติกเกอร์

เมื่อตอนที่ Real Madrid ทีมดังในสเปนตัดสินใจขาย Claude Makelele ให้กับทีม Chelsea แล้วซื้อ David Beckham มาแทนที่ในช่วงกลางปี 2003 ปรา...