ในความชื่นชมที่มีต่อการเลือกตั้งของเมียนมาร์เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรได้กล่าวถึงความปรารถนาและความฝันว่า
อยากเห็นคนไทยแห่แหนออกมาใช้สิทธิให้เกิน 80 เปอร์เซ็นต์เหมือนที่ชาวพม่าสร้างประวัติศาสตร์ได้อย่างน่าประทับใจ
หากเราพิจารณาในเงื่อนไขเฉพาะ จะเห็นได้ว่า ปัจจัยเรื่องระยะเวลาน่าจะมีผลอย่างมากที่ทำให้คนพม่าออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งกว่าร้อยละ
80 เพราะนี่คือการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ
25 ปีที่ทำให้คนพม่าโหยหาเฝ้ารอเป็นที่สุด
หากมีการเลือกตั้งบ่อยๆเป็นประจำทุกๆ 2-4 ปี
บางทีตัวเลขผู้ออกมาใช้สิทธิอาจจะต่ำกว่าตัวเลขในครั้งนี้จนน่าวิตกก็เป็นได้
หากเราดูกรณีการลงประชามติของชาวสก๊อตแลนด์เมื่อเดือนกันยายนปี
2557 แล้วก็ถือว่ามีความน่าสนใจไม่น้อย ซึ่งปรากฏว่า
มีผู้ออกมาใช้สิทธิมากเป็นประวัติการณ์ถึง 84.6 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาว สก๊อตแห่แหนกันออกมาใช้สิทธิสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งและการลงประชามติของสหราชอาณาจักรก็เนื่องจากความสำคัญหรือความอ่อนไหวของประเด็นการลงประชามติที่ตัดสินอนาคตของสก๊อตแลนด์ว่าจะยังดำรงเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรต่อไปอีกหรือไม่
เพราะฉะนั้นแล้ว
การที่ประชาชนจะออกไปใช้สิทธิมากน้อยมากแค่ไหน
จึงมีเรื่องของหลายๆปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยเราไม่ได้ว่างเว้นห่างเหินการเลือกตั้งมาเนิ่นนานเหมือนเมียนมาร์หรือไม่ได้มีประเด็นที่สำคัญต่ออนาคตของประเทศมากๆจนไม่อาจนอนหลับทับสิทธิเหมือนกรณีสก๊อตแลนด์ได้
แล้วเราจะมีกลยุทธ์ วิธีการ หรือกุศโลบายใดบ้างที่จะทำให้เกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์ทางการเมืองที่จะได้เห็นคนไทยออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย
โดยทั่วๆไปแล้ว
กฎเกณฑ์ต่างๆสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่าเรื่องทัศนคติ
อันรวมถึงทัศนคติที่เห็นว่าการไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเกิดประโยชน์อะไรมากนัก
ทั้งต่อตัวเองและต่อประเทศโดยรวม
ที่ผ่านๆมา ถึงแม้จะบัญญัติเป็นข้อกฎหมายเชิงบังคับให้การไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นหน้าที่
โดยกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ไม่ไปใช้สิทธิ อาทิเช่น การตัดสิทธิทางการเมือง แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถทำให้คนหวาดกลัวและ(จำใจ)ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวนมากอย่างที่หวังไว้
เพราะฉะนั้น แทนที่จะใช้ไม้แข็งกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ที่มีบทลงโทษซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล
เราควรจะเปลี่ยนแนวความคิดใหม่และหันมาพิจารณาไม้อ่อนสร้างแรงจูงใจใหม่ๆเพื่อทำให้คนอยากออกไปใช้สิทธิมากขึ้น
ทำให้การเลือกตั้งเป็นเรื่องง่าย สนุกและมีความสุขด้วย นั่นคือ
นอกจากการไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะเป็นสิทธิตามกฏหมายแล้ว ยังมีโชคให้รอลุ้นรางวัลอีกด้วย
ตามวิถีแบบไทยๆนั้น
คนไทยคุ้นเคยและชื่นชอบกับการจับสลากชิงโชคมากๆ ถึงแม้จะเป็นเพียงรางวัลเล็กๆก็ตาม ดังนั้น
จึงอาจจะใช้แนวคิดนี้ประยุกต์เพื่อเป้าหมายหลักที่จะจูงใจให้คนมาใช้สิทธิเลือกตั้งให้มากที่สุด
ภายใต้แนวคิดนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง
(กกต.) จะเป็นผู้กำหนดและประกาศหลักเกณฑ์กติกาให้สาธารณชนได้รับทราบโดยทั่วไปว่า จังหวัดใดที่มีผู้มาใช้สิทธิเกินร้อยละ 70 ของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งหมด จังหวัดนั้นจะอยู่ในเกณฑ์ที่จะมีการลุ้นรางวัลใหญ่น้อย
ทั้งนี้ รางวัลต่างๆ
อาจจะได้มาจากส่วนกลางที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณหรือเป็นรางวัลที่จังหวัดนั้นๆจัดหามาเอง ลักษณะเหมือนการจับสลากงานกาชาดประจำปี
เป็นการเพิ่มสีสันและกระตุ้นให้คนออกมาใช้สิทธิกันมากๆ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุด
อย่างน้อยที่สุด
เพื่อทำให้แต่ละคนเชื่อว่า การไปใช้สิทธิเลือกตั้งแต่ละครั้งคุ้มค่า เพราะนอกเหนือจาก
จะมีส่วนร่วมในการตัดสินอนาคตของประเทศผ่านบัตรเลือกตั้งแล้ว ยังทำให้มีสิทธิถูกรางวัลเล็กรางวัลใหญ่กันถ้วนหน้า
ส่วนผู้ที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิก็ถือว่าหมดสิทธิอดลุ้นรางวัลรถยนต์
มอเตอร์ไซค์ ทีวี วิทยุ มือถือ สลากออมสิน ประกันอุบัติเหตุ ข้าวสาร สารพัดตามแต่จะจัดหามา
จังหวัดใดที่มีผู้มาใช้สิทธิต่ำกว่าร้อยละ 69.99 ถือว่าหมดสิทธิ
จังหวัดนั้นจะไม่มีการจับรางวัลใดๆ ซึ่งอาจจะโอนรางวัลส่วนนี้ไปให้จังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งสูงสุดของประเทศ หรืออาจจะจัดหารางวัลใหญ่ที่สุดให้เฉพาะแก่คนในจังหวัดที่คนไปใช้สิทธิมากที่สุดในประเทศให้สมคุณค่า
การสร้างแรงจูงใจดังกล่าวนี้
เชื่อได้ว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์สองประการ
หนึ่ง มีเหตุให้เชื่อว่า
คนไทยจะออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้นโดยอัตโนมัติอย่างแน่นอน เพราะคนไทยจะรับรู้เรื่องข่าวสารการลุ้นโชคได้เร็วมาก
สอง การสร้างแรงจูงใจดังกล่าวนี้ จะทำให้เกิดกระแส “สโนว์บอลล์” คือคนๆหนึ่งจะชักชวนคนอื่นๆให้ไปใช้สิทธิให้มากที่สุด
เพราะกลัวว่าจังหวัดของตัวเองจะมีคนมาใช้สิทธิไม่ถึงร้อยละ 70 แล้วจะตกขบวนอดได้ลุ้นรางวัล ในขณะเดียวกัน
ในบางจังหวัด
เราอาจจะเห็นกระแสหรือภาพที่ต่างคนต่างก็จะเชิญชวนคนอื่นๆให้ไปสิทธิกันถ้วนหน้า
เพื่อทำให้จังหวัดของตัวเองเป็นที่หนึ่งได้ลุ้นรางวัลพิเศษมูลค่าสูงสุดก็เป็นได้
สาม
การสร้างแรงจูงใจให้คนไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากๆนั้นถือเป็นมาตรฐานสากล
จะแตกต่างก็ตรงวิธีการเท่านั้น บางที
การที่คนแห่แหนการไปใช้สิทธิกันมืดฟ้ามัวดินนั้น อาจจะทำให้ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า
“ธนปราคา” (อ่านว่า ธะ-นะ-ปะ-รา-คา)
นั่นคือความอยากได้รางวัลอย่างมากๆจะมากลบลบบดบังผลที่เกิดจากอำนาจเงินและการซื้อเสียงก็เป็นได้
ทั้งนี้ ภายหลังการเลือกตั้งควรจะได้มีการทำบัญชีประกาศผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งในทันที
ซึ่งก็คือบัญชีผู้มีสิทธิที่จะได้รับการสุ่มมีโอกาสถูกรางวัลนั่นเอง
อีกบัญชีหนึ่งคือบัญชีผู้ไม่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง
นอกจากจะบอกกล่าวถึงรายชื่อผู้หมดสิทธิลุ้นรางวัลแล้ว อีกนัยหนึ่งก็คือการประกาศให้สังคมได้รับรู้ถึงรายชื่อของผู้นอนหลับทับสิทธินั่นเอง
เพื่อสร้างผลทางจิตวิทยาอีกทางหนึ่งให้คนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
พูดอย่างเข้าใจง่ายที่สุด วิธีการนี้ถือเป็นการสร้างแรงจูงใจ
(incentive) ให้คนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นสำคัญ ไม่ใช่การซื้อเสียงหรือให้สินบน (bribery) เพื่อให้มีการโหวตเลือกคนใดคนหนึ่ง แน่นอนที่สุดว่า วิธีการสร้างแรงจูงใจแบบนี้เป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้น
ผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆควรจะต้องหาหนทางอื่นๆในระยะยาวที่จะทำให้เกิดจิตสำนึกทางการเมืองอย่างแท้จริงที่จะต้องออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
ทั้งหลายทั้งปวง
ไม่ว่าจะเป็นแบบไทยๆหรือแบบใหม่ๆ หากเราสามารถสร้างเงื่อนไขทำให้ช่วงวันเลือกตั้งเป็นช่วงที่ผู้คนมีความสุขมากที่สุดได้เหมือนเช่นในสหรัฐฯที่เกิดขึ้นในทุกๆสี่ปี
ก็เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาไม่ใช่หรือ
.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น