27 ตุลาคม 2554

วิกฤติน้ำ วิกฤติหน้า

.


ในช่วง "หน้าสิ่วหน้าขวาน" ที่ประเทศชาติกำลังประสบกับวิกฤติอุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ "หน้าหนึ่ง" ของประเทศนี้  สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ผู้นำพึงต้องตระหนักก็คือ การบริหารจัดการกับ "หน้าตา" ของตัวเอง

แน่นอนที่สุด ไม่ใช่เป็นเรื่องของความสวยความงามหรือเรื่องของเครื่องสำอางประทินโฉมใดๆ บนในหน้า แต่เป็นเรื่องสำคัญและอ่อนไหวที่ผู้นำพึงระมัดระวังและสามารถจัดการควบคุมอารมณ์ความรู้สึกให้ได้มากที่สุด เพราะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคือ "หน้าตา" ของประเทศชาติ " หน้าตา"ของผู้นำจึงมีผลสื่อต่ออารมณ์สังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นั่นคือ  หาก "หน้าตา" ของผู้นำในช่วงวิกฤติสะท้อนออกมาในลักษณะผิดหวังหรือยอมแพ้ ย่อมมีผลทางจิตวิทยาอย่างมหาศาลต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้ที่กำลังเดือดร้อนหรือหรือเหล่าบรรดาอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ผู้เสียสละผู้ทำงานหนัก

แต่ในอีกลักษณะหนึ่ง หาก "หน้าตา" ของผู้นำแสดงออกมาในลักษณะที่ดูเหมือนเย็นชา(เกินควร)ท่ามกลางความเดือดร้อนของประชาชน ก็อาจจะถูกตีความได้ว่า ไม่เดือดเนื้อร้อนใจสักเท่าไหร่ ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อผู้นำเลย

เนลสัน แมนเดลล่าเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากๆตัวอย่างหนึ่งของการรู้จักบริหารอารมณ์ผ่านทาง "ใบหน้า" ได้อย่างน่าทึ่ง แมนเดลล่ารู้ดีว่า เมื่อไหร่ที่ควรแสดงออกซึ่งอารมณ์หนึ่งๆ และเมื่อไหร่ควรที่จะต้องเก็บอารมณ์นั้นๆไว้เสมือนหนึ่งไม่มีอะไรเกิดขึ้น


ความลงตัว: ใบหน้าที่เยือกเย็นและ "กำปั้น" ที่บ่งบอกถึงท่าที
ที่ไม่ย่อท้อและยอมแพ้ง่ายๆ ของเนลสัน แมนเดล่า

จริงอยู่ ผู้นำก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่ย่อมมีอารมณ์ความรู้สึก แต่ผู้นำที่คนที่อยู่ตรงกลางหรืออยู่ในที่แจ้ง ที่สาธารณชนสามารถมองเห็นได้ชัดเจน บ่อยครั้งที่ผู้นำจะเป็นแหล่งสร้างหรือก่อในเกิดอารณ์หนึ่งๆของสาธารณชน เพราะฉะนั้นแล้ว อารมณ์ของผู้นำจึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างอ่อนไหวที่สุด โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤติ



สีหน้าของนายกรัฐมนตรีเวินเจียเป่าสะท้อนให้เห็น
ถึงความลงตัวระหว่างความเยือกเย็นและความอ่อนไหว:
อ่อนไหวต่อความสูญเสียของเหยื่อภัยแผ่นดินไหว
และเยือกเย็นสุขุมแม้ในยามวิกฤติที่สาหัสสากรรจ์


ผู้นำจะต้องไม่แสดงออกซึ่งความตื่นตัว ความหมวั่นวิตก ความหมดหวังท้อแท้ที่อาจจะเป็นการซ้ำเติมอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนได้  ซึ่งแมนเดล่าประจักษ์ด้วยตนเองว่า รางวัลแห่งความเยือกเย็นในช่วงวิกฤตินั้นยิ่งใหญ่เกินจะประเมินค่าได้

โดยอุปมาแล้ว ความเยือกเย็นของผู้นำในช่วงวิกฤติเป็นเสมือน "ปุ่มควบคุม" ที่ลดระดับความตื่นตระหนกขวัญเสียของผู้คนได้อย่างมหาศาล ทำให้สถานการณ์ไม่เลวร้ายไปกว่าเดิม และในทาง กลับกัน ก็สามารถสร้างขวัญกำลังให้ผู้คนมีกะจิตกะใจที่จะร่วมฝ่าฟันเพื่อวันข้างหน้า เพราะฉะนั้น ความเยือกเย็น ในฐานะเป็นวิธีการบริหารจัดการอารมณ์ความรู้สึกผ่านทาง "ใบหน้า ถือเป็นเครื่องมือทางจิตวิทยาที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้นำ ที่จะนำพาประเทศชาติก้าวผ่านวิกฤติได้อย่างไม่บอบช้ำมากเกินไป



อาการเดิน "คอตก" ของผู้นำ สามารถตี
ความและมีผลทางจิตวิทยามหาศาล

หนึ่งหมื่นแสนคำพูดหรือจะสู้หนึ่งภาพที่เห็น(?)
ในช่วงวิกฤติ ธรรมชาติของคนเรามักใช้ "หัวใจ"
มากกว่า "หัว" ตัดสินภาพที่เห็น

นอกจากเรื่องการบริหารจัดการกับอารมณ์ผ่านทาง "ใบหน้า" แล้ว ผู้นำจะต้องกล้าหาญเด็ดขาดในการตัดสินใจเรื่องหนึ่งๆ โดยไม่ใส่ใจว่าจะทำให้ตัวเอง "เสียหน้า" เกินไป ตราบเท่าที่การตัดสินใจนั้น มีผลทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน

ในขณะเดียวกัน คนที่เป็นผู้นำก็ควรจะต้องระมัดระวังคนรอบข้างที่ "อยากได้หน้า" และชอบ "ล้อมหน้าล้อมตา" ห้อมล้อมอยู่ตลอดเวลาที่มีโอกาส ทั้งๆที่มีคุณประ โยชน์เพียงแค่ "ใบเฟิร์น" ในยามที่น้ำท่วมนองท้องถนนเท่านั้น หรืออย่างเลวร้าย มีคุณค่าเสมือน "ใบเฟิร์นเป็นพิษ" ที่กัดกร่อนความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีไปทุกขณะ 

น่าเสียดาย หลายคนเพียงแค่อยาก "ได้หน้าได้ตา" ทั้งๆ ที่ไม่ "ดูหน้าดูตา" ตัวเองเสียก่อนว่าเหมาะสมหรือไม่

และหากมีโอกาส นายกรัฐมมนตรีจะต้องไม่ปฏิเสธหรือรีรอ หากคนเก่งมีความรู้ความสามารถจริงๆ "เสนอหน้า" เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาวิกฤติของชาติ ให้คนเก่งได้มีโอกาส มาช่วยกันทำงานเพื่อส่วนรวมอย่าง "พร้อมหน้าพร้อมตา"

มิฉะนั้นแล้ว ผู้คนก็จะเกิดอารมณ์ความรู้สึก(สิ้นหวัง)ร่วมกันว่า ต่อให้ "ชาติหน้า" ตอนบ่ายๆ ปัญหาวิกฤติต่างๆที่สะสมต่อเนื่องกันมา ก็อาจจะไม่สามารถแก้ไขเยียวยาได้




.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มอเตอร์ หรือ สติกเกอร์

เมื่อตอนที่ Real Madrid ทีมดังในสเปนตัดสินใจขาย Claude Makelele ให้กับทีม Chelsea แล้วซื้อ David Beckham มาแทนที่ในช่วงกลางปี 2003 ปรา...