คาดไม่ถึงว่า ในที่สุดแล้ว คนกรุงเทพฯจำเป็นและจำใจใช้คำว่า "ต้องอพยพ" "ต้องหนี" "ต้องยอมแพ้" ในพ.ศ.นี้
หากหลายๆคนยังจำได้ คำเหล่านี้เป็นคำที่เคยเกิดขึ้นสำหรับคนกรุงเทพฯ(และคนในอีกหลายๆจังหวัด) เมื่อประมาณเกือบ 30 ปีก่อน ในช่วงเวลานั้น ภัยคอมมิวนิสต์กำลังรุกประชิดชายแดนทางกัมพูชา กองทัพเวียดนามจำนวนมากกำลังรุกจ่อคอหอยเตรียมการบุกยึดประเทศไทย ด้วยความหวั่นวิตกเป็นที่สุดว่า หากกองทัพไทยไม่สามารถต้านทานกำลังของกองทัพเวียดนามได้ ไทยก็จะกลายเป็นโดมิโนตัวต่อไปของลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างค่อนข้างแน่นอน
ในช่วงเวลานั้น คนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีเตรียมการอพยพหนีไปยังต่างประเทศ คนไทยบางส่วนดูเหมือนจะจำใจยอมแพ้ เพราะเชื่อว่าเราไม่สามารถต้านทานกำลังกองทัพเวียดนามจำนวนมหาศาลได้
กับสิ่งที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้ซึ่งถือเป็นวิกฤติภัยธรรมชาติที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เมืองหลวงแห่งนี้ประสบมานับตั้งแต่วันเวลาก่อตั้งเมื่อปี 2325 ร้ายแรงยิ่งกว่าช่วงที่กรุงเทพฯต้องประสบกับภัย "ฝนพันปี" ในปี 2529
ณ พ.ศ. 2554 ถือเป็นครั้งแรกๆที่คนกรุงเทพฯรู้จักและรู้สึกว่าต้องอพยพหนีอย่างจริงๆจังๆ เป็นเวลากว่า 30 ปีที่คำเหล่านี้ได้กลับมาหลอกหลอนคนกรุงเทพฯอีกครั้งหนึ่ง แต่เมื่อตระหนักดีว่า ไม่อาจจะต้านทานกระแสและมวลน้ำมหาศาลได้ คนกรุงเทพฯก็จำใจยึดหลัก "เอ็งมาข้ามุด เอ็งหยุดข้าโผล่" ยอมให้วารีไหลผ่านทางของเรา(ซึ่งจริงๆแล้วก็คือทางของน้ำ) ไปสู่ท้องทะเล เมื่อไหลลงสู่มหาสมุทรแล้ว เราจะหวนกลับมาสู่ที่ของเราเช่นเดิม
ภาพแห่งกรุงเทพฯที่ไม่ถึงปรารถนา |
แน่นอนที่สุด เมื่อวิกฤติผ่านพ้นไป คนกรุงเทพฯจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่เคยมีมาก่อนเหมือนเช่นคนหาดใหญ่ เราจะเริ่มใช้คำว่า "กระต่ายตื่นตูม" น้อยลง เราจะเริ่มประจักษ์ตั้งแต่แรกเริ่มมากขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดภาวะ "ท่วมน้อยท่วมยาก ท่วมมากท่วมง่าย" เราจะกลายเป็นคนตื่นตัวและเตรียมตัวมากขึ้น ด้วยความเชื่อว่า "เราต้องเตรียมตัวเราเองก่อนเสมอ ก่อนที่จะให้ใครมาเตรียมให้เรา"
ไม่มีชาติใดสังคมปรารถนาวิกฤติใดๆ แต่วิกฤติหนึ่งๆช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมและประเทศนั้นๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
หลังจากก่อตั้งมา 229 ปี หรือว่า กรุงเทพฯกำลังจะเข้าสู่จุดแห่งการเปลี่ยนแปลงบุคลิกใหม่ ทั้งในทางทัศนียภาพ ทางจิตวิทยา ทางสังคมและประชากร
.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น