27 ตุลาคม 2554

วิกฤติน้ำ วิกฤติหน้า

.


ในช่วง "หน้าสิ่วหน้าขวาน" ที่ประเทศชาติกำลังประสบกับวิกฤติอุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ "หน้าหนึ่ง" ของประเทศนี้  สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ผู้นำพึงต้องตระหนักก็คือ การบริหารจัดการกับ "หน้าตา" ของตัวเอง

แน่นอนที่สุด ไม่ใช่เป็นเรื่องของความสวยความงามหรือเรื่องของเครื่องสำอางประทินโฉมใดๆ บนในหน้า แต่เป็นเรื่องสำคัญและอ่อนไหวที่ผู้นำพึงระมัดระวังและสามารถจัดการควบคุมอารมณ์ความรู้สึกให้ได้มากที่สุด เพราะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคือ "หน้าตา" ของประเทศชาติ " หน้าตา"ของผู้นำจึงมีผลสื่อต่ออารมณ์สังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นั่นคือ  หาก "หน้าตา" ของผู้นำในช่วงวิกฤติสะท้อนออกมาในลักษณะผิดหวังหรือยอมแพ้ ย่อมมีผลทางจิตวิทยาอย่างมหาศาลต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้ที่กำลังเดือดร้อนหรือหรือเหล่าบรรดาอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ผู้เสียสละผู้ทำงานหนัก

แต่ในอีกลักษณะหนึ่ง หาก "หน้าตา" ของผู้นำแสดงออกมาในลักษณะที่ดูเหมือนเย็นชา(เกินควร)ท่ามกลางความเดือดร้อนของประชาชน ก็อาจจะถูกตีความได้ว่า ไม่เดือดเนื้อร้อนใจสักเท่าไหร่ ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อผู้นำเลย

เนลสัน แมนเดลล่าเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากๆตัวอย่างหนึ่งของการรู้จักบริหารอารมณ์ผ่านทาง "ใบหน้า" ได้อย่างน่าทึ่ง แมนเดลล่ารู้ดีว่า เมื่อไหร่ที่ควรแสดงออกซึ่งอารมณ์หนึ่งๆ และเมื่อไหร่ควรที่จะต้องเก็บอารมณ์นั้นๆไว้เสมือนหนึ่งไม่มีอะไรเกิดขึ้น


ความลงตัว: ใบหน้าที่เยือกเย็นและ "กำปั้น" ที่บ่งบอกถึงท่าที
ที่ไม่ย่อท้อและยอมแพ้ง่ายๆ ของเนลสัน แมนเดล่า

จริงอยู่ ผู้นำก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่ย่อมมีอารมณ์ความรู้สึก แต่ผู้นำที่คนที่อยู่ตรงกลางหรืออยู่ในที่แจ้ง ที่สาธารณชนสามารถมองเห็นได้ชัดเจน บ่อยครั้งที่ผู้นำจะเป็นแหล่งสร้างหรือก่อในเกิดอารณ์หนึ่งๆของสาธารณชน เพราะฉะนั้นแล้ว อารมณ์ของผู้นำจึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างอ่อนไหวที่สุด โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤติ



สีหน้าของนายกรัฐมนตรีเวินเจียเป่าสะท้อนให้เห็น
ถึงความลงตัวระหว่างความเยือกเย็นและความอ่อนไหว:
อ่อนไหวต่อความสูญเสียของเหยื่อภัยแผ่นดินไหว
และเยือกเย็นสุขุมแม้ในยามวิกฤติที่สาหัสสากรรจ์


ผู้นำจะต้องไม่แสดงออกซึ่งความตื่นตัว ความหมวั่นวิตก ความหมดหวังท้อแท้ที่อาจจะเป็นการซ้ำเติมอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนได้  ซึ่งแมนเดล่าประจักษ์ด้วยตนเองว่า รางวัลแห่งความเยือกเย็นในช่วงวิกฤตินั้นยิ่งใหญ่เกินจะประเมินค่าได้

โดยอุปมาแล้ว ความเยือกเย็นของผู้นำในช่วงวิกฤติเป็นเสมือน "ปุ่มควบคุม" ที่ลดระดับความตื่นตระหนกขวัญเสียของผู้คนได้อย่างมหาศาล ทำให้สถานการณ์ไม่เลวร้ายไปกว่าเดิม และในทาง กลับกัน ก็สามารถสร้างขวัญกำลังให้ผู้คนมีกะจิตกะใจที่จะร่วมฝ่าฟันเพื่อวันข้างหน้า เพราะฉะนั้น ความเยือกเย็น ในฐานะเป็นวิธีการบริหารจัดการอารมณ์ความรู้สึกผ่านทาง "ใบหน้า ถือเป็นเครื่องมือทางจิตวิทยาที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้นำ ที่จะนำพาประเทศชาติก้าวผ่านวิกฤติได้อย่างไม่บอบช้ำมากเกินไป



อาการเดิน "คอตก" ของผู้นำ สามารถตี
ความและมีผลทางจิตวิทยามหาศาล

หนึ่งหมื่นแสนคำพูดหรือจะสู้หนึ่งภาพที่เห็น(?)
ในช่วงวิกฤติ ธรรมชาติของคนเรามักใช้ "หัวใจ"
มากกว่า "หัว" ตัดสินภาพที่เห็น

นอกจากเรื่องการบริหารจัดการกับอารมณ์ผ่านทาง "ใบหน้า" แล้ว ผู้นำจะต้องกล้าหาญเด็ดขาดในการตัดสินใจเรื่องหนึ่งๆ โดยไม่ใส่ใจว่าจะทำให้ตัวเอง "เสียหน้า" เกินไป ตราบเท่าที่การตัดสินใจนั้น มีผลทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน

ในขณะเดียวกัน คนที่เป็นผู้นำก็ควรจะต้องระมัดระวังคนรอบข้างที่ "อยากได้หน้า" และชอบ "ล้อมหน้าล้อมตา" ห้อมล้อมอยู่ตลอดเวลาที่มีโอกาส ทั้งๆที่มีคุณประ โยชน์เพียงแค่ "ใบเฟิร์น" ในยามที่น้ำท่วมนองท้องถนนเท่านั้น หรืออย่างเลวร้าย มีคุณค่าเสมือน "ใบเฟิร์นเป็นพิษ" ที่กัดกร่อนความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีไปทุกขณะ 

น่าเสียดาย หลายคนเพียงแค่อยาก "ได้หน้าได้ตา" ทั้งๆ ที่ไม่ "ดูหน้าดูตา" ตัวเองเสียก่อนว่าเหมาะสมหรือไม่

และหากมีโอกาส นายกรัฐมมนตรีจะต้องไม่ปฏิเสธหรือรีรอ หากคนเก่งมีความรู้ความสามารถจริงๆ "เสนอหน้า" เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาวิกฤติของชาติ ให้คนเก่งได้มีโอกาส มาช่วยกันทำงานเพื่อส่วนรวมอย่าง "พร้อมหน้าพร้อมตา"

มิฉะนั้นแล้ว ผู้คนก็จะเกิดอารมณ์ความรู้สึก(สิ้นหวัง)ร่วมกันว่า ต่อให้ "ชาติหน้า" ตอนบ่ายๆ ปัญหาวิกฤติต่างๆที่สะสมต่อเนื่องกันมา ก็อาจจะไม่สามารถแก้ไขเยียวยาได้




.

ถึงเวลาที่ประเทศชาติต้องมี Dream Team

.


ในช่วงเวลาปกตินั้น ผู้นำมักจะมีเวลาคิดไตร่ตรองและมีเวลาตัดสินใจมากกว่าช่วงที่เกิดวิกฤติ โอกาสผิดพลาดจึงมักมีน้อยกว่า

แต่สิ่งที่สำคัญมากๆสำหรับผู้นำทุกๆคน ทั้งในช่วงเวลาที่สงบปราจาศจากภัยใดๆ หรือในช่วงที่วิกฤติตึงเครียดอย่างหนักหนาก็คือ การมีอำนาจในการตัดสินใจ และเมื่อถึงคราวจำเป็น ผู้นำต้องตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลและความเป็นไปได้ที่สุด

ณ ช่วงขณะที่มวลน้ำมหาศาลกำลังจ่อไหลทะลักท่วมกรุงเทพฯครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของเมืองหลวงแห่งนี้ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรในฐานะเป็นผู้นำสูงสุดจำเป็นต้องพินิจคิดพิจารณาและตัดสินใจอย่างเด็ดขาด และจะต้องตัดสินใจโดยยึดเป้าหมายเป็นสำคัญที่สุดเหนือกว่าวิธีการ

เป้าหมายที่สำคัญที่สุด ณ วินาทีนี้ก็คือ ทำอย่างไรไม่ให้มวลกระแสน้ำไหลท่วมกรุงเทพฯเลวร้ายไปกว่านี้ ทำอย่างไรที่จะป้องกันไม่ให้มีการสูญเสียชีวิต ทำอย่างไรที่จะบันเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย และทำอย่างไรที่จะทำให้มวลน้ำไหลผ่านลงทะเลให้มากที่สุดและเร็วที่สุดในเส้นทางใดๆ ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด

นายกรัฐมนตรีต้องกล้าหาญเด็ดขาด ต้องตระหนักว่า เมื่อเป็นผู้นำแล้วต้องทำเป็น ต้องยอมเป็นคน "ตาบอดสี" และต้องพร้อมทำทุกวิถีทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมายหลักดังกล่าว

เราต้องยอมรับว่า วิกฤติอุทกภัยที่เกิดขึ้นในเวลานี้ คือวิกฤติของชาติคือปัญหาของคนไทยทุกคน เป็นผู้นำต้องเลือกได้ เพราะฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่นายกรัฐมนตรีจะต้องรวบรวมและแต่งตั้งคนเก่งคนที่มีความสามารถ (โดยอาจจะต้องมองข้ามความเป็นคนดีของคนๆนั้นไปชั่วคราว?) เป็น top team เป็น dream team จริงๆ เพื่อร่วมกันจัดการและแก้ไขวิกฤติธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุดของมหานครหลวงแห่งนี้


ความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับน้ำ ของ"ปราโมช ไม้กลัด"
ที่นายกรัฐมนตรีต้องรับฟัง 

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยาผู้เชี่ยวชาญด้านสมุทรศาสตร์

ด้วยบทบาทที่โดดเด่นและประทับใจ "เสธ.ไก่อู" ได้รับ
ยกย่องว่าคือตัวอย่างที่ดีของ "โฆษก" ในยามวิกฤติ


การแต่งตั้งคุณปราโมชน์ ไม้กลัดและ ดร. อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยาคือจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะนี่คือกูรูที่รู้จริงๆ และเนื่องจากวิกฤติอุทกภัยในครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของน้ำและอากาศเท่านั้น แต่ครอบคลุมในทุกมิติทุกเรื่องตั้งแต่เรื่องจิตวิทยา การสื่อสาร  การจัดการ ความโกลาหล มวลชน โลจิสติก การรักษาพยาบาล  การอพยพและการช่วยเหลือเฉพาะหน้า

ในสภาพการณ์ปัจจุบัน เราต้องการดรีมทีมมากกว่าอัศวินขี่ม้าขาว  เป็นดรีมทีมเพรียวๆที่ไม่ต้องมี "ใบเฟิร์น" มาประดับ  การแต่งตั้งคุณปราโมชน์ ไม้กลัดและดร. อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยาที่สังคมยอมรับ น่าจะมีผลทำให้นายกรัฐมนตรีสามารถดึงและแต่งตั้งคนเก่งๆคนอื่นๆ มาร่วมท๊อปทีมเพื่อภาระกิจของชาติในครั้งนี้

ในภาวะการณ์ที่เข้าขั้นวิกฤติ จนผู้ว่ากทม.ประกาศเป็นครั้งแรกให้คนกรุงเทพต้องอพยพหนี้ภัยน้ำนี้ ประเทศชาติต้องการดรีมทีม(หลากสี) มากที่สุด

วิกฤติอุทกภัยที่กำลังเลวร้ายเป็นประวัติศาสตร์นี้ คุณยิ่งลักษณ์ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว และประชาชนก็ไม่มีอะไรจะเสียแล้วเช่นกัน


.

23 ตุลาคม 2554

กรุงเทพฯจะเปลี่ยนไป(?)

.


คาดไม่ถึงว่า ในที่สุดแล้ว คนกรุงเทพฯจำเป็นและจำใจใช้คำว่า "ต้องอพยพ"  "ต้องหนี"  "ต้องยอมแพ้" ในพ.ศ.นี้ 

หากหลายๆคนยังจำได้  คำเหล่านี้เป็นคำที่เคยเกิดขึ้นสำหรับคนกรุงเทพฯ(และคนในอีกหลายๆจังหวัด) เมื่อประมาณเกือบ 30 ปีก่อน ในช่วงเวลานั้น ภัยคอมมิวนิสต์กำลังรุกประชิดชายแดนทางกัมพูชา กองทัพเวียดนามจำนวนมากกำลังรุกจ่อคอหอยเตรียมการบุกยึดประเทศไทย ด้วยความหวั่นวิตกเป็นที่สุดว่า หากกองทัพไทยไม่สามารถต้านทานกำลังของกองทัพเวียดนามได้  ไทยก็จะกลายเป็นโดมิโนตัวต่อไปของลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างค่อนข้างแน่นอน

ในช่วงเวลานั้น คนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีเตรียมการอพยพหนีไปยังต่างประเทศ คนไทยบางส่วนดูเหมือนจะจำใจยอมแพ้ เพราะเชื่อว่าเราไม่สามารถต้านทานกำลังกองทัพเวียดนามจำนวนมหาศาลได้  

กับสิ่งที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้ซึ่งถือเป็นวิกฤติภัยธรรมชาติที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เมืองหลวงแห่งนี้ประสบมานับตั้งแต่วันเวลาก่อตั้งเมื่อปี 2325 ร้ายแรงยิ่งกว่าช่วงที่กรุงเทพฯต้องประสบกับภัย "ฝนพันปี" ในปี 2529

ณ พ.ศ. 2554 ถือเป็นครั้งแรกๆที่คนกรุงเทพฯรู้จักและรู้สึกว่าต้องอพยพหนีอย่างจริงๆจังๆ เป็นเวลากว่า 30 ปีที่คำเหล่านี้ได้กลับมาหลอกหลอนคนกรุงเทพฯอีกครั้งหนึ่ง  แต่เมื่อตระหนักดีว่า ไม่อาจจะต้านทานกระแสและมวลน้ำมหาศาลได้ คนกรุงเทพฯก็จำใจยึดหลัก "เอ็งมาข้ามุด เอ็งหยุดข้าโผล่" ยอมให้วารีไหลผ่านทางของเรา(ซึ่งจริงๆแล้วก็คือทางของน้ำ) ไปสู่ท้องทะเล เมื่อไหลลงสู่มหาสมุทรแล้ว เราจะหวนกลับมาสู่ที่ของเราเช่นเดิม


ภาพแห่งกรุงเทพฯที่ไม่ถึงปรารถนา

แน่นอนที่สุด เมื่อวิกฤติผ่านพ้นไป คนกรุงเทพฯจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่เคยมีมาก่อนเหมือนเช่นคนหาดใหญ่ เราจะเริ่มใช้คำว่า "กระต่ายตื่นตูม" น้อยลง เราจะเริ่มประจักษ์ตั้งแต่แรกเริ่มมากขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดภาวะ "ท่วมน้อยท่วมยาก ท่วมมากท่วมง่าย"  เราจะกลายเป็นคนตื่นตัวและเตรียมตัวมากขึ้น ด้วยความเชื่อว่า "เราต้องเตรียมตัวเราเองก่อนเสมอ ก่อนที่จะให้ใครมาเตรียมให้เรา"

ไม่มีชาติใดสังคมปรารถนาวิกฤติใดๆ แต่วิกฤติหนึ่งๆช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมและประเทศนั้นๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

หลังจากก่อตั้งมา 229 ปี หรือว่า กรุงเทพฯกำลังจะเข้าสู่จุดแห่งการเปลี่ยนแปลงบุคลิกใหม่ ทั้งในทางทัศนียภาพ ทางจิตวิทยา ทางสังคมและประชากร 




.

18 ตุลาคม 2554

วิกฤติชีวิตไทย

.


ท่ามกลางวิกฤติที่คนไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยากำลังประสบอย่างสาหัสสากรรจ์เยี่ยงนี้ บทเรียนบางบทบางตอนของประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็ถูกรื้อฟึ้นให้กลับมาพินิจคิดเคราะห์อีกครั้ง โดยเฉพาะหลายๆวิกฤติที่คนไทยเราเคยประสบมา

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนไทยในหลายๆจังหวัดต้อง "อุ้มทุกข์" อย่างสาหัสสากรรจ์ ในขณะเดียวกัน คนกรุงเทพฯซึ่งถือเป็น "ก้นถุง" ทางกายภาพที่ต้องรองรับมวลน้ำมหาศาลจากทางเหนือก็ติดตามข่าวสารต่างๆ อย่างใจจอใจจ่อด้วยความกังวลเป็นที่สุด การรับรู้ว่า พนังกั้นน้ำตรงจุดนั้นตรงจุดนี้เริ่มแตกหรือต้านทานกระแสน้ำไม่ไหวแล้ว หรือประตูน้ำประตูเล่าเริ่มพังเริ่มล้น ไม่ต่างไปจากสภาวะน้ำท่วมใจ มีสภาพจิตที่ทั้งหวั่นใจพร้อมๆกับการเตรียมใจว่าน้ำเหนือจะไหลบ่ามาท่วมกรุงเทพฯหรือไม่ หรือถ้าจะท่วมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว จะท่วมหนักหนาสักแค่ไหน  

แน่นอนที่สุด เพราะความสำคัญอย่างยิ่งยวดของกรุงเทพฯ ที่มีฐานะเป็นเมืองหลวงและเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ กรุงเทพฯจึงเป็นพื้นที่ที่วิตกกังวลสูงสุดและได้รับการปกป้องอย่างเต็มพิกัด ชนิดที่ไม่อาจยอมแพ้ต่ออุทกภัยในครั้งนี้ได้ เป็นฐานที่มั่นสุดท้ายที่ต้องรักษาให้ได้  

ด้วยสภาพวิกฤติที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้ ซึ่งกระแสน้ำและมวลน้ำค่อยๆคลืบคลานยึดพื้นที่รังสิตและนนทบุรีชนิดที่หายใจรดต้นคอ(หอย)คนเมืองกรุงนี้  ย่อมทำให้คนกรุงเทพฯวิตกกังวลอย่างใจจดใจจ่อเป็นที่สุดว่า สุดท้ายแล้ว น้ำเหนือจะฝ่าด่านและสามารถบุกเข้ามายึดเมืองหลวงได้เมื่อไหร่ 

สภาพและความวิตกทางจิตวิทยาเช่นนี้ ดูเหมือนไม่ต่างจากสภาพลางๆที่เกิดขึ้นเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน  ในช่วงเวลาที่กรุงศรีฯกำลังถูกกองทัพพม่าบุกใกล้เข้ามาๆ สามารถตีเมืองหน้าด่านเมืองแล้วเมืองเล่าแตก จนในที่สุดกรุงศรีฯซึ่งเป็นเป้าหมายสุดท้ายก็แตก เราเสียกรุง กลายเป็น "ด้านมืด" ในประวัติศาสตร์ชาติไทย

เราเรียนรู้ด้วยความหดหู่ว่ากรุงศรีฯแตกถูกกองทัพพม่ายึดได้ถึงสองครั้งสองครา ส่วนสำคัญ หนึ่งไม่ใช่เพียงเพราะคนไทยขาดความสามัคคีเท่านั้น แต่คนไทยบางส่วนกลับยอมเป็นมิตรเป็นพวกเป็นไส้ศึกให้กับศัตรู 

เช่นเดียวกับวิกฤติทางการเมืองในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาที่ร้าวลึกอย่างไม่เคยมีมาก่อน เป็นวิกฤติที่แยกแยะความสามัคคีในหมู่คนไทยออกเป็นชิ้นเป็นก้อน เป็นพวกเป็นเหล่าเป็นสีอย่างชัดเจน ชนิดที่เกิดไม่เกิดผลดีต่อประเทศชาติเลย

แต่อย่างน้อยที่สุด ในช่วงวิกฤติอุทกภัย ณ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษนี้  เราได้เห็นความสามัคคี ความช่วยเหลือและความเห็นอกเห็นใจระหว่างคนไทยด้วยกันจากทั่วทุกภาคเกิดขึ้นจริงๆ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้เราได้เพียงพยายามเรียกร้องมาโดยตลอดว่า คนไทย(ต้อง)หัวใจเดียวกัน  

อย่างน้อยที่สุด ภาพเหล่านี้เป็นภาพที่สวยงามยิ่งที่ค่อยๆชูช่อโผล่ให้เห็น คนไทยเราเริ่มมีความคิดและตระหนักว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น ณ จุดหนึ่งของประเทศล้วนเป็นปัญหาร่วม เป็นความกังวลของคนทั้งประเทศร่วมกัน  เพราะฉะนั้น น้ำท่วมภาคกลางก็ถือเป็นปัญหาของคนนราธิวาส ของคนเชียงราย ของคนอุบลฯและคนจังหวัดอื่นๆ เช่นกัน 

เช่นเดียวกัน คนไทยควรจะต้องตระหนักว่า ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ตอนล่าง ปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับเขาพระวิหารทางด้านจังหวัดศรีษะเกส ปัญหาชนกลุ่มน้อยทางภาคเหนือ ปัญหาความหนาวเหน็บในเชียงราย ปัญหาความแห้งแล้งในอุดรธานีล้วนเป็นปัญหาร่วมของประเทศ ที่คนไทยทุกคนต้องกังวลต้องช่วยเหลือหยิบยื่นให้ราวกับเป็นปัญหาของตัวเอง

อุปมาเหมือนอาการบาดเจ็บที่นิ้วเท้า ที่หู ที่หัวเข่าหรือที่ตับ ล้วนแล้วแต่มีผลกระทบต่อร่างกายส่วนอื่นๆและต่อชีวิตของเราทั้งสิ้น หากเราไม่รักษาอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง   ก็คงเป็นเรื่องไม่ง่ายนักที่เราจะสามารถรักษาชีวิตของเราให้เป็นปกติได้

ยีนไทยพลังไทย ใจอาสาทุกโมงยาม


ณ เวลานี้  ธุระต้องใช่ ใจต้องอาสา 


แม้ในยามวิกฤติ เด็กยังยิ้มสู้ ยังมีหัวอกคำนึงถึงทุกชีวิต


หนักแค่แรง แบ่งแค่ใจ ภัยแค่ไหน ไม่หนักหนา



สองมือสองแรงแข็งขัน มิเคยยั่นเมื่อภัยมา   


หากภาพนี้เกิดขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีก่อน บางที อาจทำให้
กองทัพเรือฝรั่งเศสคิดสองรอบสามรอบก็เป็นได้ และบางที
ประวัติศาสตร์ชาติไทยก็อาจจะเป็นอีกอย่างหนึ่งก็เป็นได้



แบ่งเบา แบ่งปัน คือความงามที่มนุษย์ต้องเรียนรู้ให้ติดตัว

ในยามที่บ้านเมืองสงบศึก ปราศจากภัยคุกคามหรือการรุกรานจากอริราชศัตรู  เรามักมีอารมณ์นิ่งมากพอที่จะผลิตความงามสุนทรีให้กับโลกได้ วัดวาอารามและวรรณคดีต่างๆ ส่วนใหญ่ล้วนถูกสร้างขึ้นถูกประดิษฐ์ขึ้นในสภาวะการณ์เช่นนี้

แม้ในยามวิกฤติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นี้ ธรรมชาติสอนให้เรามีความเป็นเข็มแข็งและมีความมนุษย์มากขึ้นเช่นกัน ท่ามกลางวิกฤติที่สาหัสสากรรจ์  อย่างน้อยที่สุด เราก็ได้เห็นด้านที่งดงามของคนไทย เป็นความงามที่มีพลังอย่างมหาศาล เหมือนเช่นที่เราเคยเห็นเป็นประจักษ์ในช่วงเวลาหลังเหตุการณ์ที่กรุงเทพฯถูกเผาถูกทำลายเมื่อปีที่แล้ว
อยากเห็นความงามเหล่านี้ฝังรากลึกและพัฒนากลายเป็นคาแรคเตอร์ของคนไทย เป็นยีนที่ถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นต่อๆไป



.

มอเตอร์ หรือ สติกเกอร์

เมื่อตอนที่ Real Madrid ทีมดังในสเปนตัดสินใจขาย Claude Makelele ให้กับทีม Chelsea แล้วซื้อ David Beckham มาแทนที่ในช่วงกลางปี 2003 ปรา...