25 มีนาคม 2560

สิ่งที่เห็นใช่คือสิ่งที่เป็นจริงหรือ?


เรามักพูดอยู่เสมอๆว่า ภาพเดียวแทนพันคำ ขณะเดียวกัน เราก็มีคติสอนใจตนเช่นกันว่า อย่าเพิ่งด่วนสรุปเนื้อหาสาระของหนังสือจากเพียงหน้าปก แต่น่าเสียดายว่า บ่อยครั้งที่เรามักจะตัดสินเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเชื่อ(อย่างผิดๆ)ว่า สิ่งที่เห็นคือสิ่งที่เป็นจริง?



ในเหตุการณ์ก่อการร้ายที่เพิ่งเกิดขึ้นล่าสุด ณ ใจกลางมหานครลอนดอน  ปรากฏภาพหนึ่งที่ก่อให้เกิดกระแสการถกเถียงอย่างร้อนแรง(ในโลกตะวันตก)เป็นอย่างมาก เมื่อมีการนำเสนอภาพผู้หญิงคนหนึ่งทางโซเชียลมีเดีย พร้อมเขียนข้อความที่สรุปไปในตัวและตำหนิผู้หญิงคนนี้ว่าไม่มีน้ำใจไร้ความเป็นมนุษย์  เห็นโทรศัพท์สำคัญกว่าชีวิตของผู้อื่น เพราะเดินผ่านผู้บาดเจ็บราวกับว่า ไม่มีอะไรเกิดขึ้นตรงหน้า หรือไม่สนใจไยดีคิดจะหยุดช่วยเหลือใดๆ(?) 


เป็นข้อสรุปที่ดูเหมือนจะมีผู้คนเห็นด้วยไม่น้อย(เพราะมีอคติเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว)  แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีคนอีกจำนวนหนึ่งที่คิดเห็นว่า เป็นการด่วนสรุปที่เร็วเกินไป(จนผิดพลาด)  เพียงเพราะเห็นหรือสรุปจากผ้าคลุมศรีษะ (ที่บังเอิญเป็นสีเดียวกับรองเท้าของผู้ก่อเหตุ)  พร้อมทั้งตั้งคำถามในเชิงเปรียบเทียบว่า ทำไมมนุษย์คนอื่นๆที่แตกต่างกันในรูปลักษณ์ภายนอก(หญิงเอเซียตะวันออกในภาพที่ 2 และ ชายผิวขาวในภาพที่ 3) ที่อยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน จึงไม่ถูกตราหน้าด้วยข้อสรุปเดียวกัน ทั้งๆที่มีพฤติกรรม(เหมือนไม่แยแสต่อผู้บาดเจ็บ) เหมือนๆกัน  
ทำไม? ทำไม? ทำไม?

ความงามของโลกมนุษย์เรานับวันจะเหือดหายไปเรื่อยๆ เพราะบ่อยครั้งที่เราใช้อคติ อารมณ์ความ รู้สึกเฉพาะหน้าหรือทัศนคติดั้งเดิมมาเป็นบรรทัดฐานตัดสินเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือ สิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้าแล้วรีบด่วนสรุปฟันธงในทันทีว่าเป็นข้อเท็จจริง?          
หากความพยายามมองป่าให้เห็นเป็นป่าแล้วนำไปสู่ข้อสรุปที่ผิดพลาด คิดว่าต้นไม้ล้วนเจริญเติบโตดีแล้วไซร์ เราก็ควรต้องยอมเปลี่ยนมุมคิดบ้าง แล้วหันมองต้นไม้แต่ละต้น เปลี่ยนสายตาแล้วหันมองอย่าง "หนอน" (ในรายละเอียด) แทนที่จะมองอย่าง "นก" (ในภาพกว้างภาพรวม) เผื่อว่าบางที อาจจะพบ "ความจริง" อื่นๆซ่อนอยู่จากสิ่งที่เห็นก็เป็นได้


หากเราพินิจพิเคราะห์ในรายละเอียด จะเห็นได้ว่าสีหน้าของผู้หญิงที่ถูกกล่าวหาคนนี้  บ่งบอกอย่างชัดเจนถึงความวิตกกังวลหรือตื่นตระหนก (จนทำอะไรไม่ถูก ณ วินาทีนั้นแต่โชคร้ายถูกคนอื่นตีความเหมาสรุปว่า เฉยเมยไม่ใยดี?)
เป็นไปได้ว่า ขณะเกิดเหตุร้ายวินาทีนั้นเธอไม่รู้จริงๆว่าเกิดเหตุอะไรขึ้น การใช้โทรศัพท์ ณ เวลานั้น อาจจะกำลังตรวจสอบว่าเกิดอะไรขึ้น ณ บริเวณจุดนั้น  อาจจะกำลังติดต่อแจ้งหรือสอบถามคนในครอบครัว  แม้กระทั่งอาจจะถูกเจ้าหน้าที่(ตำรวจ) บอกกล่าวให้รีบเร่งเดินออกจากพื้นที่จุดเกิดเหตุให้เร็วที่สุด หรืออาจจะด้วยเหตุผลบางประการที่บุคคลอื่นๆไม่อาจทราบได้อย่างแน่นอนแน่ชัดเลย "เพราะเราไม่ใช่เขา"  
อย่างน้อยที่สุด ภาษากายที่สะท้อนผ่านทางใบหน้าอย่างเป็นธรรมชาติ บ่งบอกเช่นนั้นจริงๆ ไม่น่าจะใช่สิ่งที่ถูกกล่าวหาและเข้าใจผิด(?)
การวินิจฉัยโรคแล้วจ่ายาโดยไม่เคยเห็นตัวคนไข้ หรือการที่เรารีบทานยา(ล่วงหน้า)ก่อนเจ็บไข้นั้น นอกจากจะไม่เกิดผลดีแล้ว ยังมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาอื่นๆตามมาได้ง่ายๆ เหมือนที่เกิดขึ้นจริงๆในสังคมไทยเราเอง

.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มอเตอร์ หรือ สติกเกอร์

เมื่อตอนที่ Real Madrid ทีมดังในสเปนตัดสินใจขาย Claude Makelele ให้กับทีม Chelsea แล้วซื้อ David Beckham มาแทนที่ในช่วงกลางปี 2003 ปรา...