กรณีต่อมาก็คือกรณีของอียิปต์ซึ่งมีความน่าสนใจมากเป็นพิเศษ
ในแง่เปรียบเทียบกับกรณีของประเทศไทย(บทวิเคราะห์เฉพาะในเรื่องนี้จะนำเสนอในโอกาสต่อไป)
เพราะทั้งอียิปต์และไทยต่างก็มีเหตุการณ์การรัฐประหารเหมือนกัน
มีผู้ชุมนุมหลักล้านเป็นประวัติศาสตร์ ทูตอเมริกันทั้งในกรุงไคโรและในกรุงเทพต่างก็เป็นผู้หญิง
ทั้งคู่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในเรื่องท่าทีที่แทรกแซงกิจการภายใน(มากเกินไป)
และวางตัวไม่เป็นกลางให้เหมาะสมกับตำแหน่งเอกอัครราชทูต
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นข้อแตกต่างหลายๆประการ
ที่ควรจะได้พินิจพิจารณาเปรียบเทียบ ดังนี้
หนึ่ง
คือความแตกต่างในช่วงระยะเวลาหรือวาระที่อยู่ในตำแหน่ง โดยปกติแล้ว
ทูตสหรัฐฯจะอยู่ในตำแหน่งประมาณสามปีและสามารถอยู่ต่อได้อีกหนึ่งปีตามความจำเป็นหรือเหมาะสม ในข้อเท็จจริง
ปรากฏว่า
ทูตสหรัฐฯประจำกรุงไคโรอยู่ในตำแหน่งสองปีหย่อนๆ (26 เดือน) เมื่อเทียบกับทูตสหรัฐฯประจำกรุงเทพ ซึ่งอยู่ในวาระนานถึง 47
เดือนหรือเกือบ 4 ปีเต็ม จนกลายเป็นทูตสหรัฐฯ(ประจำประเทศไทย)ที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดในรอบ
20 ปี
ทั้งนี้
หากพิจารณาในรายละเอียดเพิ่มเติมจะเห็นได้ว่า
ทูตสหรัฐฯประจำกรุงไคโรพ้นจากตำแหน่งในเดือนสิงหาคม 2556 นั่นคือหนึ่งเดือนหลังจากอดีตประธานาธิบดีโมฮัมหมัด โมร์ซีซึ่งเป็นผู้นำคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งในประวัติศาสตร์ของอียิปต์ถูกรัฐประหารโค่นล้ม
โดยอ้างเหตุผลว่าต้องไปรับตำแหน่งใหม่ที่สูงขึ้น (แต่ในอีกด้านหนึ่ง อาจตีความได้ว่าคือการประท้วงไม่ยอมรับรัฐประหาร?)
ในขณะที่ทูตสหรัฐฯประจำกรุงเทพกลับยังอยู่ในตำแหน่งต่อเนื่องไปอีกห้าเดือนกว่าหลังจากที่เกิดเหตุรัฐ
ประหารในเดือนพฤษภาคมจนหมดวาระอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน
ทั้งๆที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯสามารถเลือกแนวทางเดียวกับทูตสหรัฐฯประจำอียิปต์
โดยให้ทูตคริสตี้
เคนนีย์พ้นจากตำแหน่งแล้วไปรับตำแหน่งใหม่เร็วกว่านั้นก็อยู่ในวิสัยที่ทำได้
สอง
การประกาศเสนอชื่อบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งทูตสหรัฐฯคนใหม่ประจำกรุงไคโรเกิดขึ้นในช่วงประมาณสองสัปดาห์ก่อนถึงกำหนดวันเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ (26-28 พฤษภาคม 2557) และได้รับการอนุมัติ
เห็นชอบจากวุฒิสภาสหรัฐฯสองสัปดาห์ภายหลังประธานาธิบดีคนใหม่ของอียิปต์สาบานตนเข้ารับตำแหน่ง
(8 มิถุนายน 2557)
แต่ในกรณีของไทยนั้น
การเสนอชื่อทูตสหรัฐฯคนใหม่และการอนุมัติเห็นชอบจากวุฒิสภาเกิดขึ้นในขณะ
ที่ประเทศยังไม่มีการเลือกตั้งหรือกำหนดเวลาการเลือกตั้งที่แน่นอน อีกทั้งยังไม่มีรัฐบาลพลเรือนตามครรลองประชาธิปไตยที่สหรัฐฯต้องการเห็น
สาม
ถึงแม้ทูตสหรัฐฯประจำอียิปต์และประจำประเทศไทยจะเป็นนักการทูตอาชีพที่เติบโตไต่เต้ามาจากกระทรวงต่างประเทศโดยตรง
(ไม่ใช่ทูตที่แต่งตั้งเฉพาะกิจด้วยเหตุผลทางการเมืองหรือเป็นบุคคลของพรรคการ เมืองเดียวกับประธานาธิบดี)
แต่ทูตอเมริกันประจำอียิปต์คนปัจจุบันนี้ไม่ใช่ตัวเลือกแรกที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ(จอห์น
แคร์รี่)เสนอและต้องการ ดังนั้น เมื่อรัฐบาลอียิปต์ปฏิเสธไม่ยอมรับ (อดีตทูตสหรัฐฯประจำซีเรียซึ่งมีท่าทีสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรีย)
สหรัฐฯจึงต้องเปลี่ยนตัวและเสนอคนใหม่
ในส่วนทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย
ดูเหมือนรัฐบาลไทยจะยอมรับชื่อ “Glyn Townsend Davies” ที่ทางสหรัฐฯเสนอมาตั้งแต่แรก ทั้งๆที่มิสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ต้อนรับทูตคนนี้ (เหมือนเช่นกรณีอียิปต์รวมทั้งกรณีของโบลิเวียและเวเนซูเอล่า)
หากพิจารณาแล้วเห็นว่ามีพื้นฐาน ประสบการณ์หรือทัศนคติที่จะมาสร้างปัญหามากกว่าเชื่อมสานสัมพันธ์สร้างบรรยากาศไมตรีจิตระหว่างกัน
หากนับวันเวลาที่ทูตสหรัฐฯประจำอียิปต์คนเก่าพ้นจากตำแหน่งจนถึงวันเวลาที่วุฒิสภาอนุมัติรับรองทูตสหรัฐฯคนใหม่ได้ครบ
10 เดือน ซึ่งใกล้เคียงกับกรณีของทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทยที่ใช้เวลา
9 เดือน
ทั้งๆที่อียิปต์มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่หลังการรัฐประหารผ่านพ้นไปเกือบหนึ่งปี
ซึ่งแตกต่างจากกรณีของประเทศไทย
ดังนั้น ความล่าช้าในการแต่งตั้งทูตสหรัฐฯคนใหม่ประจำประเทศไทยจึงไม่สามารถตีความอย่างผิวเผินว่าเป็นผลมาจากการที่สหรัฐฯไม่ยอมรับการรัฐประหารและรัฐบาลทหารไทย
แต่ในข้อเท็จจริงที่เป็นจริงยิ่งกว่าเท็จนั่นคือ
เป็นผลมาจากปัญหาการเมืองสองพรรคในวุฒิสภาสหรัฐฯเป็นสำคัญรวมถึงความเหมาะสมของตัวบุคคล
นอกเหนือจากกรณีของทูตสหรัฐฯประจำไอร์แลนด์และโรมาเนียที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นแล้ว
ปรากฏว่า
หลายๆประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐฯหรือไม่ได้มีปัญหาทางการเมืองใดๆภายในประเทศกลับประสบปัญหาการแต่งตั้งที่ยืดเยื้อนานยิ่งกว่ากรณีของไทยเสียอีก
ในทวีปอเมริกากลางและลาตินอเมริกาที่เปรียบเสมือนเป็น
“คอหอย” ของสหรัฐฯนั้น ประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญที่สุดอย่างเม็กซิโกซึ่งมีพรมแดนติดกันและสถานทูตสหรัฐฯในเม็กซิโกซิตี้ก็ถือว่าใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง
(ด้วยจำนวนของเจ้าหน้าที่) กลับไม่มีทูตประจำการมาตั้งแต่กลางปี 2557 ส่วนคอสตาริก้า
ก็เพิ่งดีใจได้ทูตอเมริกันคนใหม่หลังจากรอมานานร่วมสองปีเต็ม แต่ที่เฝ้ารอมานานที่สุดก็คือบาฮามาส (45
เดือน) และทรินิแดดแอนโทบาโก (35 เดือน)
แม้กระทั่ง
คิวบาซึ่งสหรัฐฯเพิ่งฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตและเปิดสถานทูตในรอบ 50 ปีเมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ก็ยังไม่สามารถแต่งตั้งใครเป็นเอกอัครราชทูตได้
ทั้งๆที่เป็นประเทศที่มีความหมายทางการทูตต่อสหรัฐฯมากเป็นพิเศษ
ในฟากยุโรปเหนือ ทั้งนอร์เวย์และสวีเดนซึ่งไม่เคยมีข้อขัดแย้งกับสหรัฐฯเลยก็ประสบปัญหาเดียวกัน
โดยนอร์เวย์ไม่มีทูตสหรัฐฯมาประจำนานร่วมสองปีแล้ว
ส่วนสวีเดนก็ยืดเยื้อมาตั้งแต่กลางปี 2557 และมีแนวโน้มว่า
การแต่งตั้งอาจจะยืดเยื้อต่อไปจนกระทั่งบารัค โอบาม่าพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีในปลายปีหน้าแล้วก็เป็นได้
เว้นเสียแต่ว่า กระทรวงต่างประเทศจะพิจารณาเลือกแต่งตั้งนักการทูตอาชีพแทนที่จะเป็นนักการทูตสายการเมือง
นอกจากนี้ ปัจจัยในเรื่องระยะเวลาก็มีความสำคัญไม่น้อย
เพราะสหรัฐฯขึ้นชื่อในเรื่องความล่าช้าในขั้น ตอนการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตแต่ละคน
(ส่วนสำคัญเป็นผลมาจากภาวะการเมืองสองพรรคในวุฒิสภา) ว่ากันว่า โดยเฉลี่ยแล้ว
ต้องใช้เวลานานถึงประมาณแปดเดือนครึ่งหรือประมาณ 258 วันในขั้นตอนกว่าที่วุฒิสภาจะอนุมัติ
จากบันทึกในปี 2557 ปรากฏว่า ทูตสหรัฐฯประจำประเทศเซียร์ราลีโอน(ในแอฟริกา)เคยสร้างสถิติใช้เวลารอการอนุมัติเห็นชอบจากวุฒิสภานับจากวันที่ได้รับการเสนอชื่อนานถึง
351 วัน
ทูตสหรัฐฯประจำอัลบาเนีย อาร์เจนติน่าและคาแมรูน แต่ละคนต้องรอนาน 330
วัน แม้กระทั่งทูตสหรัฐฯประจำติมอร์เลสเต้
(เพื่อนบ้านในอาเซียน) ก็ต้องรอนานถึง 229 วัน
เมื่อพิจารณาเทียบเคียงกับกรณีของประเทศไทยแล้วจะเห็นได้ว่าใช้เวลาน้อยกว่ามาก หากนับจากวันที่ทูตคริสตี้ เคนนี่ย์พ้นจากตำแหน่ง
(6 พฤศจิกายน 2557) จนถึงวันที่ประธานาธิบดีโอบาม่าเสนอชื่อทูตคนใหม่
(13 เมษายน 2558) ห่างกัน 23 สัปดาห์(ประมาณ 158 วัน) หรือหากจะนับรวมจากวันที่มีการเสนอชื่อจนถึงวันที่วุฒิสภาอนุมัติเห็นชอบ
(5 สิงหาคม 2558) ให้กลิน ทาว์นเซนด์ เดวี่ส์ เป็นทูตสหรัฐฯคนใหม่ใช้เวลา
16 สัปดาห์หรือ 114 วันซึ่งถือว่าเร็วมากหากวัดจากเกณฑ์เฉลี่ยของกรณีอื่นๆที่ได้กล่าวมาแล้ว
เพราะฉะนั้น จึงไม่ได้เป็นเรื่องเลวร้ายน่ากังวลมากมายอย่างที่บางฝ่ายคิดเห็น
แต่เป็นเหตุการณ์ที่ถือว่าปกติ
หรืออาจจะเรียกว่าดีกว่าอีกหลายๆประเทศเสียอีก ทั้งๆที่มีเงื่อนไขเรื่อง
“รัฐประหาร” เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับประเทศไทย
สิ่งดีๆที่ต้องคาดเดาต่อไปก็คือว่า ทูตกลิน ทาว์นเซนด์
เดวี่ส์จะพิจารณาเลือกฤกษ์ดีในการเดินทางมารับตำแหน่งที่กรุงเทพฯอย่างไร หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่าประกาศชื่อว่าที่ทูตสหรัฐฯคนใหม่ตรงกับวันสงกรานต์พอดิบพอดี
จนน่าเชื่อว่าเป็นความตั้งใจ(ดี)มากกว่าความบังเอิญ
ดังนั้น
หากทูตสหรัฐฯคนใหม่ตั้งใจเลือกเดินทางมารับตำแหน่งในช่วงโอกาสวันมหามงคลเดือนธันวาคม
ก็ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมเป็นฤกษ์ดีที่สุด
ที่จะช่วยสร้างบรรยากาศแห่งความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและไทยให้อบอุ่นเหมือนเมื่อวันวาน
ให้สมกับฐานะเป็นประเทศแรกในเอเชียที่สหรัฐฯสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 182 ปีที่แล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น