10 กุมภาพันธ์ 2558

วิกฤติตัวประกันและจุดเปลี่ยนแห่งตะวันออกกลาง? : บทบาทของจอร์แดน

.
ต่อจากตอนที่ 1 คลิก วิกฤติตัวประกัน : บทบาทของญี่ปุ่น




ตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือนเต็มนับตั้งแต่นักบินรบของกองทัพอากาศจอร์แดนถูกกลุ่ม IS จับเป็นตัวประกันเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม รัฐบาลจอร์แดนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากต่อท่าทีที่ดูเหมือนเฉื่อยชาในการช่วย เหลือนักบิน  รวมทั้งการถูกวิพากษ์วิจารณ์ในนโยบายต่างประเทศที่ร่วมมือกับสหรัฐฯในการถล่มโจมตีกลุ่ม IS และเป็นมิตรกับอิสราเอลมากเกินไป จนเป็นสาเหตุที่ทำให้นักบินเป็นเป้าหมายถูกจับเป็นตัวประกัน



เชื่อกันว่า  ทางการจอร์แดนทราบและมีข้อมูลการข่าว(ที่ไม่สามารถยืนยันได้แน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์) ว่า ตัวนักบินน่าจะเสียชีวิตแล้วตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม  ดังนั้น  การที่รัฐบาลมีท่าทีในช่วงแรกๆ (ก่อนที่กลุ่ม IS จะเสนอดีลเงื่อนไขขอแลกเปลี่ยนตัวประกันกับนักโทษหญิงในอีก 3 สัปดาห์ต่อมา) เหมือนไม่กระตือรือร้นหรือร้อนรนที่จะหาทางช่วยเหลืออย่างจริงๆจังๆ เพราะเชื่อว่าไม่เกิดประโยชน์อันใดที่จะช่วยเหลือตัวประกันที่เสีย ชีวิตแล้ว(?)
 


 จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อกลุ่ม IS กำหนดเงื่อนไขใหม่(ต่อรัฐบาลญี่ปุ่น)ให้ปล่อยตัวนักโทษหญิงที่ชื่อซาจิดา อัล-ริชาวีเพื่อแลกกับตัวประกันญี่ปุ่นคนที่สอง ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่เปิดทางให้รัฐบาลจอร์แดนต้องขยับเข้ามาเกี่ยวข้องกับวิกฤติตัวประกัน “3J”  (Japanese – Jordanian - Jihadi ) ในครั้งนี้โดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะนอกจากนักโทษประหารชาวอิรัคที่กลุ่ม IS ต้องการจะอยู่ภายใต้การควบคุมของทางการจอร์แดนแล้ว  กลุ่ม IS ยังขู่ว่าจะฆ่าตัวประกันนักบินจอร์แดน (ก่อนฆ่าตัวประกันญี่ปุ่น)  อีกด้วย

ถึงแม้โดยหลักการแล้ว  จอร์แดนจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศอาหรับหนึ่งที่ไม่เคยเจรจาอ่อนข้อให้กับกลุ่มก่อการร้าย(เหมือนเช่นญี่ปุ่น) แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง  ชีวิตของตัวประกันย่อมมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ดังนั้น รัฐบาลจอร์แดนได้ประกาศท่าทีที่ชัดเจนที่สุด(ที่แตกต่างจากรัฐบาลญี่ปุ่น)ว่า พร้อมเจรจาและพร้อมยอมรับข้อเรียกร้องของกลุ่ม IS ที่จะปล่อยตัวนักโทษหญิงอัล-ริชาวีในทันที หากกลุ่ม IS ยอมรับเงื่อนไข  2 ต่อ 1” พ่วงตัวประกันนักบินจอร์แดนรวมเข้าไปด้วย
แน่นอนที่สุดว่า คงไม่มีรัฐบาลไหนที่ใจดีอยากเป็น “พ่อพระ” เห็นความสำคัญและยอมช่วยเหลือพลเมืองของชาติอื่นมากกว่าพลเมืองของชาติตัวเองเป็นแน่  ด้วยเหตุนี้เอง  จึงเข้าใจได้ว่า จอร์แดนจะไม่มีวันยินยอมปล่อยตัวนักโทษหญิงอิรัคเพื่อแลกกับอิสรภาพของตัวประกันญี่ปุ่นเพียงคนเดียวเท่านั้น  ผู้นำจอร์แดนตระหนักดีว่า อิสรภาพและชีวิตความเป็นความตายของนักบินจอร์แดนจะกลายเป็นเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความยุ่งเหยิง ความรุนแรงและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศได้

ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อการเจรจาเข้าสู่ช่วงเส้นตายครั้งที่สาม ท่าทีและเป้าหมายของจอร์แดนกลับเปลี่ยน แปลงไปในลักษณะที่ผู้นำญี่ปุ่นต้องจำใจยอมรับ นั่นคือ  พูดถึงเฉพาะอิสรภาพของตัวประกันนักบินจอร์แดนเพียงคนเดียวเท่านั้น  ไม่มีการรวมหรือกล่าวถึงตัวประกันชาวญี่ปุ่นในเงื่อนไขอีกเลย 
นอกจากนี้  ในช่วงระหว่างที่การเจรจาดำเนินไป  ด้านหนึ่ง จอร์แดนแสดงออกถึงท่าทีว่าพร้อมยอมรับเงื่อนไขของกลุ่ม IS แต่ในอีกด้านหนึ่ง จอร์แดนก็กดดันและข่มขู่กลุ่ม IS ว่า จะจัดการ(ประหารชีวิต)นักโทษของกลุ่ม IS ทุกคนที่ถูกทางการจอร์แดนควบคุมไว้ หากนักบินจอร์แดนคนนี้มีอันเป็นไป
ความผิดปกติประการหนึ่งของวิกฤติตัวประกัน “3J” ในครั้งนี้ก็คือ  ในช่วงระหว่างการเจรจา กลุ่ม IS ได้ประกาศเลื่อนเส้นตายถึง 3 ครั้ง (สะท้อนถึงความลังเลของกลุ่ม IS?)   สุดท้ายเมื่อไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้  ตัวประกันทั้งสามคนที่อยู่ในดีลเงื่อนไขจึงต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเศร้าที่สุด 
ความล้มเหลวของดีลเจรจาครั้งนี้มาจากหลายๆสาเหตุ   ในมุมมองของสื่อญี่ปุ่นเห็นว่า เนื่องมาจากความขัดแย้งภายในกลุ่ม IS ที่มีการแย่งชิงบทบาทการนำระหว่างสายซีเรียและสายอิรัคซึ่งมีความคิดที่ต่างกันในเรื่องตัวประกัน   ในขณะที่สื่อรัฐของจอร์แดนเชื่อว่า เป็นผลมาจากการที่กลุ่ม IS ไม่สามารถให้ประกันหรือพิสูจน์ด้วยหลักฐานว่า นักบินคนนี้ยังมีชีวิตอยู่ตามที่รัฐบาลจอร์แดนต้องการ
เป็นการตอกย้ำข้อมูลการข่าวของทางการจอร์แดนที่เชื่อว่า นักบินตัวประกันเสียชีวิตแล้วตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม ไม่ใช่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ตามที่ปรากฏเป็นข่าว  ยิ่งทำให้ข้อสมมติฐานมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้นว่า ทำไมฝ่าย IS จึงไม่เคยกล่าวถึงหรือหยิบยกตัวประกันจอร์แดนขึ้นมาเป็นเงื่อนไขในการแลกเปลี่ยนตัวประกันโดยตรงเลยตั้งแต่แรก (นอกเหนือจากการขู่ว่าจะสังหาร)
ในอีกด้านหนึ่ง อาจเป็นไปได้ว่า   กลุ่ม IS ไม่เคยคิดเรื่องการช่วยเหลือตัวนักโทษหญิงชาวอิรัคคนนี้มาตั้งแต่แรกเลย และไม่เคยคิดเรื่องดีลการแลกเปลี่ยนตัวประกันมาก่อน  จึงสังหารนักบินตัวประกันไปตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา(?)   ทั้งนี้ หากกลุ่ม IS ได้คิดคำนวณเรื่องนี้อย่างรอบคอบตั้งแต่แรก และหยิบยกเรื่องการขอแลกเปลี่ยนตัวประกันนักบินคนนี้กับนักโทษ IS ที่ถูกกุมขังอยู่ในจอร์แดนอีกหลายร้อยคน (ไม่ใช่เพียงแค่นักโทษหญิงอัล-ริชาวีเพียงคนเดียว) ก็เชื่อได้ว่า อาจเป็นดีลที่กลุ่ม IS ได้ประโยชน์มากกว่า


ดังนั้น เมื่อตัวประกันชาวญี่ปุ่นคนที่ 2 ถูกฆ่าตัดศรีษะอย่างโหดร้ายที่สุด  ท่าทีของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นก็คือ จะไม่มีวันให้อภัยกลุ่ม IS อย่างแน่นอน (โดยไม่ได้ระบุว่าจะดำเนินการแก้แค้นหรือไม่)  และต่อมา เมื่อปรากฏภาพนักบินจอร์แดนถูกเผาทั้งเป็นภายในกรงขังอย่างโหดเหี้ยมเกินมนุษย์ ปฏิกิริยาของผู้นำจอร์แดน(โดยเฉพาะกษัตริย์อับดุลเลาะห์ที่ 2) ชัดเจนที่สุดก็คือ จะ “แก้แค้น” กลุ่ม IS ให้ถึงที่สุด
วิกฤติตัวประกันครั้งนี้ เปิดโอกาสให้รัฐบาลจอร์แดนได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งภายในและระหว่างประเทศพร้อมๆกัน อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
 ภายในประเทศ  ท่าทีที่แข็งกร้าวของกษัตริย์อับดุลเลาะห์ต่อกลุ่ม IS สามารถชนะใจคนเชื้อสายเบดูอิน(เผ่าเดียวกับนักบินผู้โชคร้าย)กว่าสามล้านคนที่มีอิทธิพลมากที่สุดในประเทศอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนนับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชในปี 1999 กลายเป็นพลัง(กองทัพทหาร)ที่หนุนเสริมกษัตริย์อับดุลเลาะห์อย่างมั่นคงที่สุด 


             ในขณะเดียวกัน ก็เปิดโอกาสให้รัฐบาลสามารถกำจัดหรือจำกัดบทบาทและอิทธิพลของฝ่ายต่อต้านมากขึ้น โดย เฉพาะกลุ่ม Muslim Brotherhood ไม่ให้เป็นหอกข้างแคร่หรือแพร่พันธุ์แนวคิด “IS” ไปยังกลุ่มคนเชื้อสายปาเลสไตน์ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และไม่ให้ลุกลามขยายตัวจนเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศในอนาคต ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าอาบู มูซาบ อัล-ซาร์ควาวี อดีตมือขวาของบิน ลาเดนและเป็นผู้นำกลุ่มอัลคอเอดะในอิรัค และถือเป็น “บิดา” ผู้จุดประกายและริเริ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แนวคิดจัดตั้งกลุ่ม IS ตั้งแต่แรกในปี 1999 จนขยายพันธุ์ในปัจจุบันนี้ เป็นชาวจอร์แดน(เชื้อสายปาเลสไตน์)
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขระหว่างประเทศ  วิกฤติตัวประกันครั้งนี้ทำให้จอร์แดนมีความชอบธรรมมากที่สุดในการเปิดศึกเพื่อถอนรากถอนโคนกลุ่ม IS ให้หมดสิ้นไป โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากบรรดาผู้นำประเทศอาหรับและผู้นำทางศาสนาคนสำคัญๆในโลกมุสลิมที่ต่างพากันประณามการกระทำของกลุ่ม IS ว่าเป็นศัตรูของอิสลาม  ทำให้กลุ่ม IS มีสภาพและฐานะไม่ต่างจาก “ซาตานที่โดดเดี่ยว” (Isolated Satan- IS)


จอร์แดนได้สร้างประวัติศาสตร์กลายเป็นประเทศแรกที่ประกาศทำศึกแก้แค้นเอาคืนกลุ่ม IS เปิดทางให้ประเทศอื่นๆดำเนินมาตรการ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” แบบไม่ยอมเป็นฝ่ายตั้งรับอย่างเดียวอีกต่อไป  แน่นอนที่สุดว่า  ความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐอาหรับอิมิเรสต์และบาห์เรนในฐานะราชอาณาจักรพันธมิตรที่ใกล้ชิดย่อมส่งผล(ดี)ทางจิตวิทยาไม่น้อย  แต่ในขณะเดียวกัน ภารกิจกวาดล้างกลุ่ม IS จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่า จอร์แดนจะขอหรือยอมรับความร่วมมือทางทหารจากรัฐบาลอิรัคและซีเรียกับเป้าหมายและภารกิจอันสำคัญในประวัติศาสตร์ของภูมิภาคครั้งนี้หรือไม่  

ตูนิเซียเอฟเฟกกับปรากฏการณ์อาหรับสปริง
 ถึงที่สุดแล้ว ภาพ “เผาทั้งเป็น” นักบินจอร์แดนครั้งนี้ จะกลายเป็นพลังแค้นเกิดเป็น “อาหรับซัมเมอร์” ที่สามารถสั่นสะเทือนจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลครั้งใหญ่เหมือนตอนที่นายโมฮัมเหม็ด บัวซิซี หนุ่มตูนิเซียเผาตัวเองเมื่อปลายปี 2010 จนนำไปสู่ อาหรับสปริง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขนานใหญ่ทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออกกลางหรือไม่  เป็นสิ่งที่โลกต้องให้ความสำคัญอย่างมาก
 

.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มอเตอร์ หรือ สติกเกอร์

เมื่อตอนที่ Real Madrid ทีมดังในสเปนตัดสินใจขาย Claude Makelele ให้กับทีม Chelsea แล้วซื้อ David Beckham มาแทนที่ในช่วงกลางปี 2003 ปรา...