อ่อนไหวและสั่นสะเทือนไปทั่วโลก
สำหรับภาพที่กลุ่ม “รัฐอิสลาม” หรือกลุ่ม IS
สังหารตัวประกันญี่ปุ่นสองคนและตัวประกันชาวจอร์แดนอย่างเหี้ยมโหดป่าเถื่อนที่สุด ถือเป็นวิกฤติตัวประกันที่อ่อนไหวที่สุดครั้งหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก
นับตั้งแต่กรณีวิกฤติตัวประกันเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯในอิหร่านเมื่อปี 1979
ดังนั้น ท่าทีและบทบาทของรัฐบาลญี่ปุ่นและจอร์แดนต่อวิกฤติครั้งนี้
จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งผลกระทบอื่นๆที่จะเกิดตามมาในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในส่วนของตัวประกันญี่ปุ่น ว่ากันว่า รัฐบาลญี่ปุ่นรับรู้เรื่องราวตัวประกันทั้งสองคนถูกจับตัวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
แต่พยายามปิดข่าวและเดินเกมแบบเงียบๆเจรจาแบบลับๆที่จะให้มีการปล่อยตัว (เหมือนที่เคยประสบความสำเร็จในปี 2010 ที่อัฟกานิสถาน) แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ในขณะเดียวกัน กลุ่ม IS (ซึ่งมีชื่อเรียกในอีกหลายๆชื่อตั้งแต่ ISIS,
ISIL, หรือ Daesh ในภาษาอาหรับ) ก็แทบจะไม่เคยนำเรื่องหรือภาพวีดีทัศน์ของตัวประกันทั้งสองคนมาเป็นเงื่อนไขหรือเสนอทางอินเตอร์เนทเหมือนตัวประกันชาติอื่นๆก่อนหน้านี้
การแถลงของผู้นำญี่ปุ่นที่กลายเป็นจุดเปลี่ยน |
ว่ากันว่า จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้น
ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีซินโซะ อาเบะของญี่ปุ่นเดินทางไปเยือนอียิปต์เมื่อวันที่
17 มกราคม และประกาศสนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือเบื้องต้น
200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (และอีก 2.5 พันล้านเหรียญในอนาคต)
ให้กับบรรดาประเทศที่กำลังเผชิญกับปัญหาคุกคามและกำลังต่อสู้กับกลุ่ม IS
ผู้นำญีปุ่นเยือนจอร์แดนก่อนเกิดวิกฤต |
ผู้นำญี่ปุ่นรับทราบข่าววิกฤติในระหว่างการเยือนปาเลสไตน์ |
ก่อนหน้านี้ กลุ่ม IS เคยเตือนให้ผู้นำญี่ปุ่นยกเลิกกำหนดการเดินทางไปเยือนตะวันออกกลาง
(อียิปต์ จอร์แดน อิสราเอลและปาเลสไตน์) แต่ผู้นำญี่ปุ่นยังยืนหยัดในเจตนารมณ์เดิมเพราะเชื่อว่า
‘‘the best way is to go in the middle’’ คือการเดินสายกลางท่ามกลางคู่ขัดแย้ง
โดยอาจจะไม่คาดคิดว่า กลุ่ม IS จะใช้วิธีอย่างรุนแรงโหดร้ายกับตัวประกันทั้งสองเช่นนี้
กลุ่ม IS มองว่า ท่าทีของรัฐบาลญี่ปุ่นดังกล่าวคือการสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯเพื่อฆ่าชาวมุสลิมในซีเรียและอิรัค
ดังนั้น กลุ่ม IS จึงนับเอาญี่ปุ่นเป็นศัตรูด้วย
ด้วยเหตุนี้เอง
ตัวประกันญี่ปุ่นสองคนที่ถูก “เก็บ” ดองไว้นานกว่า 3 เดือนจึงถูกนำมาเป็น
“เครื่องมือ” ในการตอบโต้รัฐบาลญี่ปุ่นจนกลายเป็นวิกฤติตัวประกันที่หนักหนาที่สุดสำหรับนายกรัฐมนตรีอาเบะคนนี้
ในขณะเดียวกัน ท่าทีของผู้นำญี่ปุ่นต่อวิกฤติตัวประกันในครั้งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า
แข็งกร้าว(เกินเหตุ) ราวกับว่ารัฐบาลยึดมั่นในหลักการเหนือชีวิตของตัวประกัน เพราะกลัวว่าโลกจะมองว่ารัฐบาลยอมก้มหัวอ่อนข้อให้แก่กลุ่มก่อการร้าย ที่น่าสนใจก็คือ ท่าทีของสาธารณชนจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วยกับท่าทีของผู้นำคนนี้
และยังกล่าวตำหนิตัวประกันว่า สร้างปัญหาความยุ่งยากให้กับประเทศ (ทั้งๆที่ทางการได้พยายามห้ามปรามไม่ให้เดินทางไปซีเรียแล้วก็ตาม)
ก่อนหน้านี้ ในช่วงต้นเดือนมกราคม กลุ่ม IS เคยเขียนอีเมล์เรียกขอเงินค่าไถ่จากครอบครัวตัวประกันคนที่
2 จำนวน 17 ล้านเหรียญโดยแทบไม่ปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะ
แต่สามวันต่อมาภายหลังคำประกาศของผู้นำญี่ปุ่นที่อียิปต์ (ซึ่งกำลังเยือนปาเลสไตน์) กลุ่ม IS ประกาศเรียกเงินค่าไถ่สำหรับตัวประกันทั้งสองคนเป็นเงิน
200 ล้านเหรียญ (เท่ากับจำนวนเงินช่วยเหลือของรัฐบาล)
ดังนั้น เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นปฏิเสธไม่ทำตามเงื่อนไขของกลุ่ม
IS ภายในกำหนดเส้นตาย
72 ชั่วโมง ตัวประกันคนแรก
(ซึ่งเชื่อว่าถูกจับตัวตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว) จึงถูกฆ่าตัดศรีษะจบชีวิตอย่างน่าสลดที่สุด
เสมือนหนึ่งเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู และประกาศเตือนว่ากลุ่ม IS ทำจริงไม่ล้อเล่นเหมือนที่สังคมออนไลน์ญี่ปุ่นแสดงออกอย่างสนุกเกินเลย (เพราะไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง)
กลุ่ม IS ตระหนักดีตั้งแต่แรกว่า
ผู้นำญี่ปุ่นคนนี้จะไม่มีวันยอมจ่ายเงินค่าไถ่อย่างแน่นอน ดังนั้น จึงปรับ เปลี่ยนกลยุทธ์ข้อต่อรองใหม่ให้หนักขึ้น
โดยยื่นเงื่อนไขแลกเปลี่ยนตัวประกันระหว่างนักโทษหญิงชาวอิรัคกับตัวประกันชาวญี่ปุ่น
ถือเป็นดีลเงื่อนไขที่สร้างความหนักใจและยุ่งยากให้กับรัฐบาลญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุผลหลักๆสองประการ ดังนี้
หนึ่ง
ถึงแม้ว่า ญี่ปุ่นเคยประสบปัญหาวิกฤติตัวประกันมาก่อนในอดีต โดยเฉพาะในปี 2004 ที่ตัวประกันถูกสังหารในอิรัค แต่วิกฤติตัวประกันครั้งนี้ถือว่าอ่อนไหวและเลวร้ายที่สุดสำหรับสาธารณชนญี่ปุ่นก็ว่าได้
ตัวประกันญี่ปุ่นในปี 2004 |
ปัญหาสำคัญหนึ่งสำหรับรัฐบาลอาเบะในการจัดการแก้ปัญหาวิกฤติในครั้งนี้ก็คือ
ญี่ปุ่นไม่มีศักยภาพหรือช่องทางใดๆที่จะสามารถเจรจาหรือกดดันกลุ่ม IS ได้โดยตรง ต้องอาศัยขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลอียิปต์
ตุรกี (ซึ่งเคยประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือตัวประกันมาก่อน) และปาเลสไตน์ นอกจากนี้
นับตั้งแต่ญี่ปุ่นปิดสถานทูตในซีเรีย ซึ่งถือเป็นฐานที่มั่นหลักของกลุ่ม IS
ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2012 เป็นต้นมา
ก็ยิ่งทำให้ญี่ปุ่นขาดช่องทางระดับท้องถิ่นในการติดต่อเจรจากับกลุ่ม IS ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมมากยิ่งขึ้น
สอง นักโทษหญิงชาวอิรัค
ซึ่งกลายเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดสำหรับชีวิตของตัวประกันญี่ปุ่น เป็นนัก โทษประหารที่อยู่ภายใต้การควบคุมของทางการจอร์แดน
เรียกว่าอยู่นอกเหนืออำนาจการตัดสินใจของรัฐบาลญี่ปุ่นที่จะสามารถทำอะไรได้ตามที่ต้องการ
หรือไม่สามารถจะกดดันรัฐบาลจอร์แดนในเรื่องนี้ได้เลย เพราะจอร์แดนเกี่ยวข้องและประสบปัญหาวิกฤติตัวประกันครั้งนี้หนักหนายิ่งกว่าญี่ปุ่นเสียอีก ดังนั้น ชะตากรรมของตัวประกันชาวญี่ปุ่นจึงขึ้นอยู่กับท่าที
ความเต็มใจและการตัดสินใจของจอร์แดนเป็นสำคัญที่สุด
(อ่านต่อตอนที่ 2 ชื่อ วิกฤติตัวประกันและจุดเปลี่ยนแห่งตะวันออกกลาง? : บทบาทของจอร์แดน
.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น