26 กันยายน 2557

Kingdom be United : ในวันที่สก๊อตแลนด์ตัดสินอนาคต (ตอนที่ 2)

.

ในที่สุด การลงประชามติครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เพื่อตัดสินอนาคตของสก๊อตแลนด์ก็ผ่านพ้นไปได้อย่างที่ผู้นำทั้งในลอนดอนและทั่วโลกรู้สึก “โล่งอก” ไปตามๆกัน ภายหลังจากที่ชาวสก๊อตสองล้านคนหรือร้อยละ 55.3 โหวต No ต้องการให้สก๊อตแลนด์ยังคงป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรร่วมกับอังกฤษ เวลล์และไอร์แลนด์เหนือต่อไป  ถือเป็นการความดับความฝันของบรรดาผู้นำและผู้สนับสนุน “Yes Scotland” ที่วาดหวังและวางแผนกำหนดการจะประกาศเอกราชจัดตั้งประเทศสก๊อตแลนด์อย่างเป็นทางการในวันที่ 24 มีนาคม 2016 อย่างสิ้นเชิง
ว่ากันว่า ความคิดความฝันของคนสก๊อต(ส่วนหนึ่ง)ที่ต้องการเป็นอิสระและเอกเทศมีมาตั้งแต่เริ่มแรกที่เข้าร่วมยูเนียนกับอังกฤษเมื่อ 307 ปีที่แล้วและยังสืบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันอย่างไม่เสื่อมคลาย  จุดเริ่มต้นที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนและนำมาสู่การลงประชามติในครั้งนี้เกิดขึ้นในปี 1997 เมื่อโทนี่ แบลร์สามารถก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีสังกัดพรรคแรงงานคนแรกในรอบ 18 ปี  พร้อมทั้งเปิดไฟเขียวให้มีการถ่ายโอนอำนาจ (devolution) ให้แก่สก๊อตแลนด์มากขึ้น เพราะคำนวณ(ผิดพลาด?)ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสหราชอาณาจักรมากกว่าผลเสียหาย
 
 
จากการถ่ายโอนอำนาจในการบริหารกิจการภายในให้แก่สก๊อตแลนด์มากขึ้น นำสู่การจัดตั้งรัฐสภาเป็นของตัวเองในปี 1999 (เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 3 ศตวรรษ) จุดประกายความหวังให้แก่คนสก๊อตได้เชื่อมั่นว่าถึงเวลาแล้วที่สก๊อตแลนด์จะแยกมาตั้งเป็นประเทศใหม่  การเลือกตั้งครั้งล่าสุดในสก๊อตแลนด์เมื่อปี 2011 พรรคแห่งชาติสก๊อตแลนด์ (SNP) ซึ่งมีนโยบายหลักในการผลักดันเรื่องการลงประชามติชนะการเลือกตั้งได้ครองเสียงข้างมากเป็นครั้งแรก ในขณะที่ พรรคแรงงานพ่ายแพ้เป็นครั้งแรกเป็นครั้งแรกในรอบแปดทศวรรษ กลายเป็นแรงผลักดันทำให้รัฐบาลของนายดาวิด คาเมรอนต้องคิดหนัก และสุดท้ายก็เห็นชอบ(ในเดือนตุลาคม 2012)ให้มีการมีการประชามติที่มีผลผูกมัดตามรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา
การลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์นี้ กลายเป็นประเด็นที่นานาประเทศให้ความสนใจติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะหวั่นเกรงว่าความสำเร็จของสก๊อตแลนด์จะกลายเป็น “ไวรัส” ที่แพร่กระจายไปยังประเทศอื่นๆและเป็นโมเดลที่จะกระตุ้นผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบเดียวกันทั่วโลก จึงไม่เป็นที่สงสัยว่า ทำไมผู้นำของหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะสเปน จีน แคนาดา ออสเตรเลีย สหรัฐฯ สหภาพยุโรป(อียู) อินเดีย ต่างร่วมใจกัน “แทรกแซง” แสดงท่าทีคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการแยกตัวเป็นอิสระของสก๊อตแลนด์ในครั้งนี้อย่างออกนอกหน้า
 
 
            บทบาทของผู้นำหลายๆคนล้วนแต่มีส่วนสำคัญต่อการลงประชามติของสก๊อตแลนด์ในครั้งนี้ คนแรกสุดที่จะต้องกล่าวถึงคือเดวิด คาเมรอนในฐานะนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ที่เกี่ยวข้องและมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง ตลอดระยะเวลาเกือบสองปีจนถึงวันลงประชามติ นอกเหนือจากจะไม่ได้รับคำชื่นชมหรือเครดิตใดๆแล้วยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในความผิดพลาดหลายๆประเด็น ดังนี้
หนึ่ง การยินยอมไฟเขียวให้มีการลงประชามติตั้งแต่แรกถือเป็นความผิดพลาดแรกสุดและสำคัญสุด ทั้งๆที่หลายๆฝ่ายเชื่อว่าสามารถหลีกเลี่ยงหรือซื้อเวลาได้ (ซึ่งแตกต่างจากผู้นำสเปนที่ยืนยันหนักแน่นว่าจะไม่มีทางยินยอมให้มีการลงประชามติแยกตัวเป็นอิสระเกิดขึ้นในสเปนอย่างแน่นอนเด็ดขาด) หรือควรเปิดโอกาสให้ส่วนอื่นๆของสหราชอาณาจักร(คืออังกฤษ เวลล์และไอร์แลนด์เหนือ) มีลงประชามติร่วมตัดสินใจก่อนด้วย (ซึ่งผลสำรวจล่าสุดก่อนถึงวันลงประชามติ ปรากฏว่า ร้อยละ 53 ของไม่ต้องการให้สก๊อตแลนด์เป็นอิสระแยกตัวออกไป เมื่อเทียบกับร้อยละ 21 ที่สนับสนุน)
 
 
ทั้งนี้  เดวิด คาเมรอนอ้างเหตุผลความจำเป็นว่า เป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ เพราะพรรค SNP ชนะการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในสก๊อตแลนด์ได้ครองเสียงข้างมากเป็นครั้งแรกด้วยการหาเสียงชูนโนบาย(จะ)ผลักดันให้มีการลงประชามติ ดังนั้นจึงต้องดำเนินการตามพันธะสัญญาที่รับปากกับประชาชน) ประการต่อมา ผู้นำอังกฤษตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลของผลโพลล์ในช่วงปี 2012 ซึ่งพบว่า คนสก๊อตเพียงแค่หนึ่งในสามที่สนับสนุนการแยกเป็นอิสระ ดังนั้น จึงเชื่อมั่น(และคาดการณ์ผิด)ว่า การลงประชามติจะไม่ร้อนแรงหรืออ่อนไหวจนถึงขั้นนำไปสู่ภาวะ “แผ่นดินไหว” ทางการเมืองในอนาคตได้อย่างแน่นอน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว กลับกลายเป็นวิกฤติทางการเมืองและวิกฤติรัฐธรรมนูที่อ่อนไหวที่สุดนับตั้งแต่ไอร์แลนด์แยกตัวออกไปในปี 1921
 
 
สอง ความผิดพลาดประการต่อมาก็คือการยินยอมโอนอ่อนให้ฝ่ายผู้นำสก๊อตแลนด์เป็นผู้เลือกกำหนดวันลงประชามติตามความต้องการ  เชื่อกันว่า ปี “2014” ถูกเลือกด้วยเหตุผลทางจิตวิทยาเป็นสำคัญ   เพราะเป็นปีครบรอบ 700 ปีของศึก “บันน็อคเบิร์น” ที่กองทัพทหารสก๊อต(เคย)ชนะกองทัพอังกฤษได้เป็นครั้งแรก  ดังนั้นจึงสามารถนำมาย้ำเตือนให้ชาวสก๊อตในรุ่นปัจจุบันได้ระลึกถึงวีรกรรมของบรรพบุรุษที่เคยต่อสู้หลั่งเลือดและชีวิตเพื่อความเป็นอิสระและ เอกราชของดินแดนที่เรียก ว่า “สก๊อตแลนด์” ก่อนที่จะเดินเข้าคูหาด้วยหัวใจรักชาติเต็มเปี่ยมเพื่อโหวต “Yes” ให้สก๊อตแลนด์เป็นอิสระจากสหราชอาณาจักร  นอกจากนี้ การเลือกปี 2014 แทนที่จะเป็น 2013 ตามความต้องการของเดวิด คาเมรอน ทำให้ฝ่าย Yes มีระยะเวลาในการรณรงค์หาเสียงมากขึ้นและมีโอกาสมากขึ้นตามไปด้วย
 

 
สาม การยินยอมให้มีการปรับลดอายุของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงให้เหลือ 16 ปี ทั้งๆที่ในการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว ผู้มีสิทธิต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ถึงแม้ว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ในช่วงอายุ 16-17 ปีซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนการแยกตัว จะมีสัดส่วนเพียงแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ แต่ในสถานการณ์ที่คะแนนสูสี คนกลุ่มใหม่ที่เพิ่มมานี้อาจจะเป็นปัจจัยชี้ขาดผลแพ้ชนะก็ได้
 
 
สี่ โดยธรรมชาติแล้ว เชื่อกันว่า คนเราชอบตอบ Yes มากกว่า No หรือในคำถามใดๆ ก็ตาม ลำดับของคำตอบ Yes มักจะมาก่อน No เสมอ จึงสามารถในการรณรงค์โน้มน้าวคนได้ง่ายกว่า  เพราะฉะนั้น แทนที่เดวิด คาเมรอนจะผลักดันให้คนสก๊อตต้องตัดสินใจเลือกตอบในแนวคำถามที่ว่า “Should Scotland remain part of the United Kingdom?” (สก๊อตแลนด์ควรจะยังคงอยู่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรหรือไม่) ซึ่งจะเป็นคำถามที่เอื้อต่อความเป็นยูเนียน แต่ในความเป็นจริง กลับกลายเป็นคำถามในบัตรเลือกตั้งว่า “Should Scotland be an independent country?” (สก๊อตแลนด์ควรจะเป็นประเทศอิสระหรือไม่) ซึ่งมีลักษณะที่เอื้อให้กับฝ่ายสก๊อตแลนด์มากกว่า
 
 
ห้า ไม่น่าเชื่อว่า เดวิด คาเมรอนจะทำผิดพลาดอีกครั้ง ภายหลังจากที่เปิดเผยต่อสาธารณชนถึงความรู้สึกของสมเด็จสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อทราบผลการลงประชามติอย่างเป็นทางการ ซึ่งในธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว จะต้องเก็บเป็นความลับห้ามเผยแพร่โดยเด็ดขาด
 
ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่ปลายปี 2012 เป็นต้นมา ดูเหมือนว่า คะแนนของฝ่ายสนับสนุน No จะทิ้งห่างฝ่าย Yes มาโดยตลอด ผลการสำรวจในเดือนสิงหาคม ช่องว่างของคะแนนนิยมทิ้งห่างถึง 22 จุดอย่างน่าสบายใจ จนกระทั่ง ผลสำรวจที่น่าเชื่อถือของ YouGov ปรากฏเมื่อวันที่ 7 กันยายน ส่งผลให้เกิด “กระแสคลื่นแห่งความตกใจ” ไปทั่วเกาะอังกฤษ เพราะเป็นครั้งแรกที่ฝ่าย Yes มีคะแนนนำในสัดส่วน 51 ต่อ 49  ด้วยเหตุนี้ ท่าทีของผู้นำคนสำคัญๆ สามสี่คนในความพยายามช่วงโค้งนาทีสุดท้ายเพื่อเซฟ “ยูเนียน” จึงปรากฏต่อสาธารณชนอย่างน่าสนใจ ดังนี้
หนึ่งคือท่าทีของผู้นำสหรัฐฯซึ่งถือเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดและมีความเกี่ยวพันเกี่ยวโยงทางสายเลือดกับสหราชอาณาจักรอย่างใกล้ชิด  ท่าทีของ “ทำเนียบขาว” ยืนหยัดมาตลอดว่าตั้งแต่แรกในปี 2012 จนถึงกลางปี 2014 ว่าสหรัฐฯจะดำรงความเป็นกลาง ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในกิจการภายในของสก๊อตแลนด์ในครั้งนี้  แต่เมื่อเข้าสู่เดือนมิถุนายนของปีนี้ ท่าทีของผู้นำสหรัฐฯก็เริ่มเปลี่ยนแปลงและเริ่มต้น “แทรกแซง”
สามผู้นำคนสำคัญซึ่งล้วนแต่มีบรรพบุรุษสืบสายเลือดสก๊อตผสมอยู่ไม่มากก็น้อยอย่างประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า  อดีตประธานาธิบดีบิล คลินตันและนางฮิลลารี คลินตัน ว่าที่ผู้สมัครประธานาธิบดีคนต่อไป ต่างก็ร่วมกันแสดงจุดยืนอย่างค่อนข้างชัดเจนในช่วงเวลาเดียวกัน ปรารถนาที่จะเห็นสก๊อตแลนด์ยังคงอยู่ร่วมชายคา สหราชอาณาจักรต่อไป โดยเฉพาะโทนเสียงของฮิลลารี คลินตันที่ชัดเจน(กว่า)ว่า ทั้งลอนดอนและเอดินเบิร์กจะสูญเสียด้วยกันทั้งคู่หากสก๊อตแลนด์แยกตัวออกไป
 
แต่เมื่อสถานการณ์พลิกผันในช่วงโค้งสองอาทิตย์สุดท้ายที่ฝ่าย Yes เริ่มมีคะแนนนำเป็นครั้งแรก ถือเป็นสัญญาณ “เตือนภัย” ที่ส่งไกลไปถึงฝั่งอเมริกา จนบารัค โอบาม่าและบิล คลินตันต้องตัดสินใจ “แทรกแซง” ในช่วงนาทีสุดท้ายอีกครั้งหนึ่ง เพราะเชื่อว่า อาจจะเกิดความยุ่งเหยิงและหายนะไปทั่วโลกหากสก๊อตแลนด์แยกตัวออกมา
 
 
บารัค โอบาม่าได้ทวีตข้อความสั้นๆลงท้ายชื่อ bo” เพื่อสื่อสารตรงๆไปยังชาวสก๊อตตอกย้ำถึงท่าทีเดิมที่ปรารถจะเห็นสหราชอาณาจักรในสถานะภาพเดิม แต่ความแตกต่างก็คือ  ในครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน โอบาม่ายึดมั่นในหลักการว่า อนาคตของสก๊อตแลนด์ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนสก๊อต(เท่านั้น) แต่ในครั้งล่าสุดนี้ไม่มีการกล่าวถึงหลักการนี้ กลับเลือกที่จะตอกย้ำว่า สหรัฐฯและสหราชอาณาจักร(ที่รวมสก๊อตแลนด์) เป็นพันธมิตรสำคัญที่มีหน้าที่ร่วมกันปกป้องโลกที่ยุ่งเหยิงไร้เสถียรภาพเช่นนี้  ซึ่งอาจจะตีความได้ว่า การลงประชามติของสก๊อตแลนด์ในครั้งนี้ ไม่อาจถือเป็น “กิจการภายใน” เฉพาะสำหรับคนสก๊อตเท่านั้น
 
 
ในขณะที่บิล คลินตันซึ่งเคยได้รับเครดิตในบทบาทที่ช่วยเซฟแคนาดาให้รอดพ้นจากการสูญเสียควิเบกจากการลงประชามติเมื่อปี 1995 อย่างเฉียดฉิว ก็สร้างประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่งให้กับตัวเอง ในบทบาทที่เรียกว่าช่วยเซฟยูเนียนของสหราชอาณาจักร
ด้วยฐานะเป็นอดีตประธานาธิบดีที่ไม่ได้มีข้อจำกัดเหมือนผู้นำคนปัจจุบัน  บิล คลินตันซึ่งเพิ่งได้ฐานะ “คุณตา” สดๆร้อนๆ จึงสามารถสื่อสารด้วยข้อความที่ตรงเป้าและชัดเจน(ยิ่งกว่าโอบาม่า)โดยไม่ต้องตีความอีกว่า “I hope the Scots people will vote to remain in the UK” ด้วยการแจงเหตุผล 4 ข้อที่ทำให้คนสก๊อตได้ไตร่ตรองถึงอนาคตที่ไม่แน่แน่นอนและมีความเสี่ยงรอท่าอยู่หากแยกตัวออกไป คำเตือนของอดีตผู้นำสหรัฐฯคนนี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้คนสก๊อตเทคะแนนเสียงสนับสนุนให้สก๊อตแลนด์จะคงอยู่ในชายคาที่เรียกว่า UK ต่อไป
สองคือท่าทีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2  ถึงแม้กรณีสก๊อตแลนด์จะเป็นวิกฤติที่อ่อนไหวที่สุดในรอบศตวรรษ แต่ด้วยฐานะความเป็นประมุขแห่งรัฐทำให้พระองค์ต้องดำรงความเป็นกลางและอยู่เหนือการเมืองอย่างเคร่งครัด ไม่สามารถแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่โน้มเอียงไปในทางใดทางหนึ่งได้  และไม่ปรากฏว่า พระองค์มีพระราชดำรัสหรือแถลง การณ์อย่างเป็นทางการใดๆเลยต่อการลงประชามติในครั้งนี้
 
 
ทั้งนี้ นอกเหนือจากฐานะความเป็นประมุขแห่งรัฐที่เชื่อมโยงทำให้พระองค์เกี่ยวข้องกับสก๊อตแลนด์โดยตรงแล้ว พระองค์ยังมีความผูกพันกับสก๊อตแลนด์ในหลายๆด้าน พระองค์มีเลือดเนื้อเชื้อไขสก๊อต  เพราะสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนีทรงสืบเชื้อสายมาจากสก๊อตแลนด์โดยตรง   เจ้าหญิงมาร์กาเรต พระขนิษฐาหนึ่งเดียวของพระองค์ประสูตรใน สก๊อตแลนด์  นอกจากนี้ ในช่วงฤดูร้อนของทุกๆปี พระองค์จะเสด็จไปประทับ ณ ปราสาทบัลมอรัลในสก๊อตแลนด์ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็น “บ้านหลังที่สอง” ของพระองค์   สะท้อนให้เห็นว่า พระองค์มีความผูกพันกับสก๊อตแลนด์อย่างลึกล้ำมากเกินกว่าที่ใครๆจะเข้าใจได้อย่างง่ายๆ    ด้วยเหตุนี้ การสูญเสียสก๊อตแลนด์จึงเป็นสิ่งที่ยากจะอธิบายได้
 
 
จนกระทั่ง ผลสำรวจของ YouGov ดังกล่าวกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สั่นสะเทือนทั้ง “บ้านเลขที่ 10 ถนนดาวน์นิ่งสตรีท” และ “พระราชวังบักกิ้งแฮม”  สื่อในเกาะอังกฤษหลายๆฉบับรายงานตรงกันว่า พระองค์ทรงอยู่ในภาวะที่ “วิตกกังวล” อย่างลึกๆ       และหวั่นเกรงว่า สหราชอาณาจักรที่ดำรงอยู่มาได้ยืนนานกว่า 307 ปีจะต้องถึงวันที่ สก๊อตแลนด์เดินแยกทางออกไปในยุคของพระองค์ การที่หนังสือพิมพ์ The Daily Mail  (ฉบับวันที่ 8 กันยายน) พาดหัวข่าวหน้าปกว่า “Queen’s Fear over Break Up of Britain” สะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงนี้ไม่น้อย
ว่ากันว่า  พระองค์กำลังอยู่ในช่วงการตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดนับตั้งแต่ขึ้นครองราชย์เมื่อปี 1953 เกี่ยวกับอนาคตของสก๊อตแลนด์  หนังสือพิมพ์ The Belfast Telegraph ถึงกับตั้งคำถามในทำนองว่า ถูกต้องหรือไม่ ที่จะให้พระองค์ดำรงความเป็นกลางและอยู่เหนือการเมืองอย่างเคร่งครัด ในสถานการณ์ที่ราชอาณาจักรกำลังเผชิญกับการแตกแยกเป็นสองประเทศ ในขณะที่ The Telegraph พยายามชี้ให้เห็นว่า กรณีสก๊อตแลนด์นี้ไม่ได้เป็นเรื่องของการเมืองหรือพรรคการเมืองแต่เป็นเรื่องของบ้านเมืองเรื่องความเป็นปึกแผ่นของสหราชอาณาจักรที่สำคัญที่สุด
 
 
ในที่สุด วันอาทิตย์ที่ 14 กันยายนก็กลายเป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักรอีกครั้งหนึ่ง (นอกเหนือจากปี 1977) เมื่อพระองค์ได้แสดงความคิดเห็นสั้นๆ อย่างไม่เป็นทางการในเรื่องการลงประชามติเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวให้กับพสกนิกรกลุ่มเล็กๆ ที่รออยู่หน้าโบสต์บริเวณปราสาทบัลมอรัลภายหลังเสร็จพิธีนมัสการทางศาสนาคริสต์  ว่า “Well, I hope people will think very carefully about the future” จนฝ่ายสนับสนุนโหวต No ตีความและเชื่อว่า พระองค์ปรารถนาจะให้สก๊อตแลนด์ยังคงอยู่ภายใต้ชายคาของสหราชอาณาจักรต่อไป(?)
 
 
สามคือท่าทีของอดีตนายกรัฐมนตรีกอร์ดอน บราวน์ที่สืบทอดตำแหน่งต่อจากโทนี่ แบลร์ในปี 2007 ก่อนที่จะสูญเสียให้แก่เดวิด คาเมรอนในปี 2010 และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็หายเข้ากลีบเมฆแทบจะไม่ปรากฏบทบาทใดๆในฐานะและบทบาทของส.ส.เลย (ยิ่งไปกว่านั้น ภาพพจน์ของทั้งกอร์ดอน บราวน์และโทนี่ แบลร์ ก็ดูย่ำแย่อย่างมาก ภายหลังจากไม่ได้รับเชิญให้เป็นแขกเข้าร่วมในพิธีอภิเษกสมรสของเจ้าฟ้าชายวิลเลี่ยมและแคเธอรีน มิดเดิลตันเมื่อปี 2011 ทั้งๆที่มีฐานะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศ)
 
 
กอร์ดอน บราวน์ตัดสินใจเข้าร่วมในการรณรงค์โน้มน้าวให้คนสก๊อตตัดสินใจร่วม “ยูเนี่ยน” จมหัวจมท้ายกับสหราชอาณาจักรต่อไป ภายหลังจากได้รับการร้องขอจากเดวิด คาเมรอนที่ไม่มีทางเลือกอื่น ทั้งๆที่อยู่คนละพรรค เพราะกอร์ดอน บราวน์คือผู้นำที่มีบารมีในสก๊อตแลนด์มากที่สุด และสก๊อตแลนด์ก็เป็นเขตอิทธิพลของพรรคแรงงานผูกขาดติดต่อกันมาหลายทศวรรษ อย่างชนิดที่พรรคอนุรักษ์นิยมของเดวิด คาเมรอนไม่สามารถเจาะได้เลย
 
 
ว่ากันว่า การกล่าวสุนทรพจน์ที่ทรงพลังในวันสุกดิบสุดท้ายโค้งสุดท้าย กลายเป็นจุดชี้ขาดที่ทำให้เกิดผลแพ้ชนะแตกต่างกันถึง 10 จุด ส่งผลทำให้อดีตนายกรัฐมนตรีที่ได้ชื่อว่า “ยอดแย่” ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่หลังสงครามโลกเป็นต้นมาคนนี้ พลิกกลับกลายเป็นฮีโร่ของประเทศ ได้รับเครดิตอย่างมากๆในการมีส่วนสำคัญช่วยเซฟชีวิตและรักษา “ยูเนียน” ของสหราชอาณาจักรให้คงเดิมต่อไป
โจทย์ใหญ่สองข้อนับตั้งแต่บัดนี้ก็คือว่า รัฐบาลสหราชอาณาจักรจะยินยอมถ่ายโอนอำนาจการบริหารภายในให้แก่ สก๊อตแลนด์ (ตามหลัก One Kingdom, Two Nations) เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน และจะยังคงยืนยันความคิดเดิมอยู่อีกหรือไม่ที่จะเดินหน้าให้มีการลงประชามติตัดสินอนาคตว่า สหราชอาณาจักรจะยังอยู่ร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปหรือถอนตัวออกมา  เพราะดูเหมือนคำว่า “ประชามติ” ได้กลายเป็นของ “แสลงทางการเมือง” สำหรับผู้นำไปแล้ว
 

 
 
.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มอเตอร์ หรือ สติกเกอร์

เมื่อตอนที่ Real Madrid ทีมดังในสเปนตัดสินใจขาย Claude Makelele ให้กับทีม Chelsea แล้วซื้อ David Beckham มาแทนที่ในช่วงกลางปี 2003 ปรา...