21 กันยายน 2557

Kingdom be United : ในวันที่สก๊อตแลนด์ตัดสินอนาคต (ตอนที่ 1)

.
            ในที่สุด การลงประชามติครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 18 กันยายนก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ภายหลังจากที่คนสก๊อตทั้งประเทศกว่า 3.6 ล้านได้เดินเข้าคูหาลงประชามติต่อประเด็นอนาคตของสก๊อตแลนด์ โดยร้อยละ 55 โหวต “No” ตัดสินใจที่จะให้สก๊อตแลนด์คงสถานะภาพเดิมและเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรร่วมกับอังกฤษ เวลล์และไอร์แลนด์เหนือต่อไป  เมื่อเทียบกับร้อยละ 44 ที่โหวต Yes จนไม่สามารถทำให้สก๊อตแลนด์กลายเป็นประเทศอิสระได้


ถึงแม้ว่า การลงประชามติในครั้งนี้ จะถือเป็น “กิจการภายใน” ของสก๊อตแลนด์และสหราชอาณาจักร แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ปรากฏว่า หลายๆประเทศมองว่า การลงประชามติตัดสินอนาคตของสก๊อตแลนด์ในครั้งนี้ ร้อน แรง ร้ายแรงและอ่อนไหวเกินกว่าที่จะปล่อยให้เป็นเรื่องของ “กิจการภายใน” เพียงอย่างเดียวได้      ด้วยเหตุผลละคนความหวั่นวิตกว่า ความสำเร็จของสก๊อตแลนด์ในครั้งนี้ อาจจะพัฒนากลายเป็น “สก๊อตแลนด์โมเดล” ที่ผลักดันหรือขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคอื่นๆทั่วโลกตามไปด้วย เหมือนเช่นกรณีผลกระทบของ “อาหรับสปริง” ที่แพร่กระจายและลุกลามไปทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออกในช่วงสามปีที่ผ่านมา

น่าสนใจว่า ท่าทีของผู้นำของประเทศมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค ล้วนแล้วแต่สนับสนุนสถานะ “ยูเนียน”  นั่นคือต้องการให้สก๊อตแลนด์ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรเช่นเดิม โดยสามารถพิจารณาแบ่งท่าทีของผู้นำทั่วโลกออกเป็นสองกลุ่มได้ดังนี้
กลุ่มแรก คือบรรดาผู้นำของประเทศที่ไม่ได้เผชิญกับปัญหาการแยกตัวภายใน แต่มีความจำเป็น(ทางการ เมือง)ที่ต้องแสดงท่าทีออกไป ทั้งนี้  ในส่วนของผู้นำสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า  รวมทั้งอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตันและนางฮิลลารี คลินตัน ว่าที่ผู้สมัครประธานาธิบดีคนต่อไป (ซึ่งผู้นำทั้งสามล้วนแต่มีบรรพบุรุษสืบสายเลือดสก๊อตผสมอยู่ไม่มากก็น้อย) ต่างก็แสดงจุดยืนอย่างค่อนข้างชัดเจนว่า ไม่ปรารถนาที่จะเห็น สก๊อตแลนด์แยกตัวออกมาจากสหราชอาณาจักร
 
 
ที่ดูเหมือนหนักแน่นและชัดเจนที่สุดจนสร้างความไม่พอใจให้กับผู้นำของสก๊อตแลนด์ก็คือท่าทีของผู้นำออสเตรเลีย โดยนายกรัฐมนตรีโทนี่ แอ๊บบ็อต(ซึ่งเกิดในลอนดอนมีพ่อแม่เป็นอังกฤษ) ประกาศตรงๆเลยว่า ไม่ต้องการเห็นสหราชอาณา จักรกลายเป็น “อาณาจักร” ที่ไม่เป็น “สหราช” และเชื่อว่าการแยกตัวเป็นสก๊อตแลนด์จะไม่ผลดีต่อโลกเลย ซ้ำร้ายอาจจะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มก่อการร้ายไปในตัวก็เป็นได้
 
 
เช่นเดียวกับท่าทีของคาร์ล บิลดท์ อดีตนายกรัฐมนตรีสวีเดนซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีต่าง ประเทศ ที่กล่าวเตือนว่า สก๊อตแลนด์กำลังจะกลายเป็นเหมือนกรณี “บอลข่าน” (ที่ทำให้อดีตยูโกสลาเวียต้องแตกและแยกตัวออกเป็นประเทศเกิดใหม่ถึง 7 ประเทศ) และอาจจะทำให้กรณีของไอร์แลนด์เหนือกลายเป็นปัญหาร้อนแรงขึ้นมาในอนาคตก็เป็นได้
ในขณะที่ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป(อียู) ก็เคยส่งสัญญาณเตือนอย่างชัดเจนให้สก๊อตแลนด์ได้พึงตระหนักว่า เส้นทางในการเดินเข้าสู่สมาชิกภาพของอียู(ในกรณีที่แยกตัวเป็นประเทศใหม่) จะไม่ได้ปูด้วยดอกกุหลาบและไม่มีหลักประกันที่แน่นอนใดๆ
ด้วยฐานะความเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป ท่าทีของเยอรมนีจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก  ถึงแม้ว่า ในด้านหนึ่ง รัฐบาลเยอรมนีจะกังวลและให้ความสำคัญต่อปัญหาในยูเครนมากเป็นอันดับแรกสุด และตัวนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลเองก็พยายามวางตัวให้เป็นกลางที่สุดต่อกรณีของสก๊อตแลนด์ แต่ท่าทีของรัฐบาล(ที่สะท้อนผ่านทางระดับรัฐมนตรี) ดูเหมือนต้องการเห็น “สถานะเดิม” เพราะมิฉะนั้นแล้ว “สก๊อตลโมเด็ล” จะกลายเป็นเหมือน “ไวรัส” ที่แพร่กระจายความยุ่งยากไปยังส่วนอื่นๆของยุโรป และจะสร้างจะปัญหาที่หนักหนาให้แก่สหภาพยุโรปในอนาคตมากยิ่งขึ้น
แม้กระทั่ง ประมุขแห่งศาสนจักรอย่างสมเด็จพระสันตปาปาฟรานซิสก็ยังได้สื่อสารแสดงออกซึ่งความวิตกกังวลต่อการแบ่งแยกแตกสลายของประเทศใดประเทศหนึ่ง ที่อาจตีความได้ว่า พระองค์ไม่สนับสนุนให้สก๊อตแลนด์(รวมทั้งกรณีของสเปนและประเทศอื่นๆ)แยกตัวเป็นประเทศใหม่
 

 
กลุ่มที่สอง ได้แก่ประเทศที่กำลังเผชิญกับปัญหาการแบ่งแยกดินแดน   ในยุโรปเอง สเปนถือเป็นประเทศที่อ่อนไหวที่สุด เพราะกรณีปัญหาแคว้นคาตาโลเนียและแคว้นบาสค์ที่คุกรุ่นมานาน พร้อมที่จะเจริญรอยตามสก๊อตแลนด์และประกาศเป็นอิสระแยก ออกมาจากสเปน ด้วยเหตุนี้  นายกรัฐมนตรีมาเรียโน ราฆอยจึงต้องกล่าวเตือนว่า สก๊อตแลนด์จะไม่มีวันจะได้สมาชิกภาพอียูโดยอัตโนมัติ  และประกาศให้รับรู้อย่างชัดเจนว่า รัฐบาลสเปนจะไม่มีวันเปิดไฟเขียวให้มีการลงประชามติเพื่อแยกตัวเป็นอิสระเกิดขึ้นอย่างแน่นอน (ทั้งนี้ คาตาโลเนียกำหนดที่จะให้มีการลงประชามติในวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้)
 


 
ในเอเชียเอง อาจกล่าวได้ว่า จีนต้องประสบปัญหาขบวนการแบ่งแยกดินแดนหรือขอเป็นอิสระจากรัฐบาลปักกิ่งมากที่สุดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะในกรณีธิเบต มณฑลซินเกียงและฮ่องกง (ที่กำลังร้อนแรงในขณะนี้)  นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงได้กล่าวแสดงจุดยืนในระหว่างการเยือนลอนดอนเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า รัฐบาลจีนประสงค์ที่จะเห็นสหราชอาณาจักรยังคงฐานะความเป็น “ยูเนียน” เหมือนเช่นเดิม การแสดงท่าทีที่ค่อนข้างชัดเจนดังกล่าว ไม่ได้เป็นการพูดเพียงเพื่อเอาใจผู้นำอังกฤษเท่านั้น แต่เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด เป็นเรื่องความจำเป็นทางการเมืองของจีนโดยตรง
 
 
 
 
ทางด้านอินเดีย ซึ่งเคยประสบปัญหาการแยกตัวเป็นอิสระของปากีสถานและบังคลาเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แน่นอนที่สุดว่า ไม่ต้องการให้ประวัติศาสตร์มาซ้ำรอยเกิดขึ้นอีกกับกรณีของแคชเมียร์และอีกหลายๆ แคว้น ถึงแม้ว่า รัฐบาลอินเดียจะเคยให้คำมั่นสัญญาตั้งแต่ปี 1948 ว่าจะอนุญาตให้แคชเมียร์ลงประชามติตัดสินใจ แต่เวลาผ่านมาจวบจนถึงปัจจุบันกว่า 66 ปี ไม่มีผู้นำอินเดียไหนที่รักษาคำสัญญานั้น เพราะการอนุญาตให้ลงประชามตินั้น มีความเสี่ยงทางการเมืองที่สูงมาก รัฐบาลอินเดียหวั่นวิตกว่า สกอตแลนด์โมเดลจะจุดเชื้อไฟให้แคชเมียร์ลุกฮือเอาเยี่ยงขึ้นมาจนยากจะเยียวยาได้ เพราะฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่ารัฐมนตรีต่างประเทศจะหลุดคำพูดไม่เห็นด้วยกับการแยกตัวเป็นประเทศอิสระ เพราะถือเป็นภารกิจที่ พระเจ้าห้ามไว้
 
 
 
ข้ามฟากไปไกลถึงแคนาดา ซึ่งประสบกับปัญหากรณีรัฐควิเบก (ซึ่งคนส่วนใหญ่มีเชื้อสายฝรั่งเศส) เรียก ร้องต้องการความเป็นอิสระแยกตัวออกมา หลังจากเพียงพยายามในการลงประชามติมาแล้วสองครั้งในปี 1980 1995 และหากสก๊อตแลนด์ประสบความสำเร็จแยกตัวออกมาได้  รัฐบาลแคนาดาย่อมหวั่นวิตกเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวว่า การลงประชามติครั้งที่ 3 อาจจะจุดประกายให้จังหวัดที่ใหญ่ที่สุดนี้ขึ้นครั้งหนึ่งก็เป็นได้
น่าสนใจว่า ในบรรดาประเทศต่างๆทั่วโลกที่มีปฏิกิริยาต่อการลงประชามติของสก๊อตแลนด์ในครั้งนี้ ดูเหมือนว่าผู้นำรัสเซีย จะเป็นผู้นำต่างชาติเพียงคนเดียวที่(เชื่อว่า)มีท่าทีสนับสนุนการเป็นอิสระของสก๊อตแลนด์ จนได้รับชื่นชมจากผู้นำของสก๊อตแลนด์แบบเต็มๆ ในด้านหนึ่ง ถึงแม้ว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินจะออกตัวว่าเคารพในสิ่งที่เป็น “กิจการภายใน” ของสหราชอาณาจักร แต่ในส่วนอื่นๆของรัฐบาลรัสเซียกลับมีท่าทีออกมาสนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสระของสก๊อตแลนด์ จนถูกตีความว่านี่คือสิ่งที่สะท้อนถึงท่าทีของผู้นำของรัสเซียอย่างแท้จริง เหตุผลสำคัญ ก็เนื่องมาจากว่า “สก๊อตแลนด์โมเดล” จะช่วยเพิ่มความชอบธรรมให้กับการลงประชามติของไครเมียเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ต้องการจะแยกตัวไครเมียออกมาจากยูเครนและรวมเข้ากับรัสเซีย แต่ถูกปฏิเสธจากสหรัฐฯและอียู ที่ไม่รับรองการลงประชามติในครั้งนี้





.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มอเตอร์ หรือ สติกเกอร์

เมื่อตอนที่ Real Madrid ทีมดังในสเปนตัดสินใจขาย Claude Makelele ให้กับทีม Chelsea แล้วซื้อ David Beckham มาแทนที่ในช่วงกลางปี 2003 ปรา...