ถึงแม้ว่า จะไม่ได้เป็นข่าวพาดหัวตัวโตทางหน้าหนังสือพิมพ์
แต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นประจำบ่อยครั้ง ณ
จุดตัดถนนกับทางรถไฟทั่วประเทศเป็นปัญหาที่ไม่อาจจะละเลยเฉื่อยชาไม่ให้ความสำคัญได้อีกต่อไป
เพราะนับวัน อุบัติเหตุแต่ละครั้งจะเกิดถี่ขึ้น
ทวีความรุนแรงจนถึงขั้นสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้น สถิติตัวเลขระบุว่า
ในช่วงระหว่างปี 2545-2551 มีอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟเกิดขึ้นประมาณ
1,200 ครั้ง ในช่วง 5 ปีต่อมา (คือช่วง
2552-2556) พบว่า เกิดอุบัติเหตุรวมทั้งสิ้นรวม 2,768 เฉลี่ย ส่วนตัวเลขในปีงบประมาณ 2557
(ตุลาคม 2556 - ตุลาคม 2557) เกิดอุบัติเหตุรวม 219 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตถึง 33
ราย โดยเฉพาะในช่วงสามเดือนล่าสุด
ได้เกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงหลายๆครั้งติดต่อกันจนเกิดเป็นกระแสที่พูดถึงในวงกว้าง
แน่นอนที่สุด ไม่มีใครอยากให้เกิดอุบัติเหตุจนมีผู้เสียชีวิตแม้เพียงแค่หนึ่งคน แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไรที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าหรือเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด เพราะเพียงแค่หนึ่งชีวิตก็ถือว่ามากเกินแล้ว ทั้งนี้ ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ ทำให้ปัจจุบันนี้ มีจุดตัดถนนกับทางรถไฟทั่วประเทศมากกว่าหนึ่งพันแห่งที่ยังไม่ได้มาตรฐานสมบูรณ์เพียงพอสำหรับการป้องกันอุบัติเหตุใดๆได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ นั่นคือ ทางตัดที่มีเพียงแค่ป้ายจราจรเตือน 788 แห่ง และทางตัดที่มีเฉพาะสัญญาณไฟเตือนจำนวน 40 แห่ง ยังไม่นับรวมจุดตัดอื่นๆที่เกิดใหม่และทางลักผ่าน(ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากทาง ร.ฟ.ท.) อีกกว่า 590 แห่งทั่วประเทศ
แน่นอนที่สุด ไม่มีใครอยากให้เกิดอุบัติเหตุจนมีผู้เสียชีวิตแม้เพียงแค่หนึ่งคน แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไรที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าหรือเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด เพราะเพียงแค่หนึ่งชีวิตก็ถือว่ามากเกินแล้ว ทั้งนี้ ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ ทำให้ปัจจุบันนี้ มีจุดตัดถนนกับทางรถไฟทั่วประเทศมากกว่าหนึ่งพันแห่งที่ยังไม่ได้มาตรฐานสมบูรณ์เพียงพอสำหรับการป้องกันอุบัติเหตุใดๆได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ นั่นคือ ทางตัดที่มีเพียงแค่ป้ายจราจรเตือน 788 แห่ง และทางตัดที่มีเฉพาะสัญญาณไฟเตือนจำนวน 40 แห่ง ยังไม่นับรวมจุดตัดอื่นๆที่เกิดใหม่และทางลักผ่าน(ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากทาง ร.ฟ.ท.) อีกกว่า 590 แห่งทั่วประเทศ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า
การไม่มีเครื่องกั้นหรือการมีเครื่องกั้นที่ไม่ได้มาตรฐานเป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนทำให้เกิดอุบัติเหตุในหลายๆ
กรณี โดยเฉพาะในรอบสามเดือนที่ผ่านมา แต่ในทางกลับกัน ก็ไม่ได้หมายความว่า
การมีเครื่องกั้นที่ได้มาตรฐานสมบูรณ์และติดตั้งครบทุกแห่งทั่วประเทศ จะเป็นหลักประกันว่า
จะไม่มีอุบัติเหตุใดๆเกิดขึ้น ณ บริเวณจุดตัดทางรถไฟนี้เลย ตราบเท่าที่วัฒนธรรม “ฝ่า”
ยังดำรงอยู่ในจิตสำนึกของคนไทย
โดยข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏว่า
อุบัติเหตุจำนวนไม่น้อยเกิดขึ้นจากการขับฝ่าเครื่องกั้น
(ซึ่งไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน) ดูเหมือนว่า คนไทยจะมีวัฒนธรรมชอบ “ฝ่า” กฏเกณฑ์กติกาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
การขับรถฝ่าไฟแดงที่มีให้เห็นเป็นปกติ
เพราะฉะนั้นแล้ว จึงดูไม่ถูกต้องมากนัก ที่จะตำหนิหรือเรียกร้องให้การรถไฟฯ
เป็นผู้รับผิดชอบแต่ฝ่ายเดียวหรือในทุกๆครั้ง แต่อาจจะต้องมีการพิจารณาว่า
สมควรหรือไม่ที่จะต้องให้คนที่ขับรถฝ่าเครื่องกั้นด้วยความประมาทเลินเล่อ
(ซึ่งถือว่าไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจราจร) หรือครอบครัวต้องรับผิดชอบในส่วนใดส่วนหนึ่งด้วย ถึงแม้ว่า ผู้ขับจะเสียชีวิตอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุแล้วก็ตาม
เหมือนเช่นกรณีของประเทศญี่ปุ่นซึ่งได้ชื่อว่า
เป็นประเทศที่มีสถิติคนฆ่าตัวตายมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง
โดยเฉพาะคนญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองหลวงอย่างโตเกียวที่มีปัญหาความกดดันมากกว่าเมืองอื่นๆ
กฏหมายกำหนดไว้ว่า ครอบครัวของผู้เสีย
ชีวิตที่ฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดให้รถไฟชนนั้น
ต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำให้การ
จราจรรถไฟเป็นอัมพาตทั่วทั้งเมือง(ณ ช่วงระยะเวลาหนึ่ง) โดยเฉพาะในช่วงเช้าที่คนญี่ปุ่นจำนวนมากต้องเดินทางเข้ามาทำงานในโตเกียว อย่างน้อยที่สุด
เพื่อเป็นการป้องกันให้คนได้มีสติยั้งคิดมากขึ้น
โดยปกติแล้ว เชื่อได้ว่า อุบัติเหตุใดๆ จะไม่เกิดขึ้น ณ
จุดตัดทางรถไฟ
หากรถทุกคันไม่ขับฝ่าเครื่องกั้นในช่วงระหว่างที่รถไฟกำลังวิ่งผ่านจุดตัดนั้นๆ และจะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุน้อยลง(ถึงแม้ว่าจะไม่มีเครื่องกั้น)
หากผู้ขับขี่ทราบและปฏิบัติตามสัญญาณเตือน ณ
บริเวณที่เป็นจุดตัดกับทางรถไฟอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้
หลักการสำคัญของการสร้างเครื่องมือเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ณ จุดตัดทางรถไฟ ก็คือ
หนึ่ง ชะลอความเร็ว (Slow down)
สอง มองและฟัง (Look and listen)
สาม เตรียมตัวแล้วหยุด (Be prepared and stop)
ทั้งนี้
ในช่วงระยะเวลาที่มีการถกเถียงหาข้อสรุปไม่ได้ระหว่างการรถไฟฯและองค์กรปก ครองส่วนท้อง
ถิ่นต่างๆในการแก้ไขปัญหาจุดลักผ่านให้ได้มาตราฐาน
และในช่วงเวลาที่การรถไฟฯและกระทรวงคมนาคมไม่ได้มีงบประมาณเพียงพอที่จะสามารถสร้างสะพานข้ามและอุโมงค์ลอดทางรถไฟให้ครอบคลุมทั้งหมดได้
และที่สำคัญที่สุดก็คือความยากในการปรับแก้นิสัยการขับฝ่าของคนไทย เราจะมีวิธีไหนบ้างที่สามารถทำให้รถชะลอความเร็วและหยุดชั่วคราวได้จริงๆ
ทางเลือกข้อเสนอที่ถือเป็นการแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนจุดตัดทางรถไฟที่เป็นไปได้มากที่สุดและใช้งบ
ประมาณน้อยที่สุด มีดังนี้
หนึ่ง ภายใต้หลักการชะลอความเร็ว (Slow down) ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งก็คือว่า
การขับฝ่ากลายเป็นวัฒนธรรมไทยไปเสียแล้ว สัญญาณเสียงหรือสัญญาณไฟเตือน ณ บริเวณจุดตัดตลอดจนข้อกฎหมายจราจรไม่สามารถหยุดยั้งคนไทย(จำนวนหนึ่ง)ได้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างสิ่งชะลอความเร็ว (Rumble
strip) ขึ้นมาเป็นสิ่งกีดขวางทางกายภาพเพื่อทำให้รถทุกคนต้องชะลอและหยุด
โดยสร้างอย่างน้อยสองระยะ
ระยะแรกก็คือการสร้างลูกคลื่นบนถนนยาวติดต่อกัน 50 เมตรในระยะ 100 เมตรก่อนจะถึงจุดตัดกับทางรถไฟ (ระหว่างจุด A และจุด B) เพื่อเป็นสัญญาณบอกกล่าวบอกเตือนให้ผู้ขับขี่รถยนต์(โดยเฉพาะผู้ที่ไม่คุ้ยเคยหรือไม่ชำนาญในเส้นทาง รวมทั้งคนที่หลับใน) กำลังเข้าสู่เขตจุดตัดรถไฟ ให้ชะลอและระมัดระวัง พร้อมทั้งมีป้ายสัญญาณย้ำเตือนที่มีขนาดใหญ่ มีลักษณะเฉพาะชัดเจน เด่นชัด (หรืออาจเป็นใบพัดกังหันลมเป็นเอกลักษณ์พิเศษสำหรับบริเวณจุดตัดทางรถไฟ)ให้คนขับรถทุกคันชะลอความเร็วโดยอัตโนมัติ
หลังจากนั้น ในเขตระยะที่สอง
คือการสร้างลูกระนาด(ที่มีสีสันโดดเด่นตัดกับพื้นถนน)ขวางกั้นในระยะ 5 เมตรก่อนถึงจุดตัดทางรถไฟ
(ระหว่างจุด B และจุด C) เพื่อบังคับให้รถทุกคันต้องชะลอความเร็วโดยอัตโนมัติ ก่อนถึงจุดตัดทางรถไฟ (ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายพรบ.การจราจรทางบกพ.ศ.2522 มาตรา 62, 63และ 64) และเป็นหลักประกันว่า
จะไม่มีรถคันใดสามารถวิ่งฝ่าจุดตัดกับทางรถไฟได้อย่างลื่นไหลหรือด้วยความเร็วตามที่ต้องการ ทั้งนี้ สามารถเพิ่มเติมลูกระนาดขึ้นอีกหนึ่งจุด (จุด F) ในระยะห่างจากจุดตัด(หรือรางรถไฟ) เพียงแค่ 2 เมตรตามความเหมาะสมและจำเป็น
แต่ควรสร้างให้ยาวครอบคลุมตลอดทั้งสองเลนหรือสุดขอบถนนสองฝั่งเพื่อป้องกันไม่ให้รถจักรยานขับฝ่าไปได้
นอกจากนี้ ควรจะต้องติดตั้งฝังหมุดสะท้อนแสง(โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อประหยัดงบประมาณ)
ในบริเวณที่ลูกระนาดและลูกคลื่นด้วย เพื่อเป็นสัญญาณเตือนให้ผู้ขับขี่ได้เห็นโดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน
สอง คือการสร้างกลไกสัญญาณเตือนอัตโนมัติ ณ จุดตัดทางรถไฟ
โดยเฉพาะสัญญาณเสียงและสัญญาณแสงซึ่งเป็นสัญญาณเตือนภัยที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับรถยนต์ทุกคันที่กำลังจะขับผ่านจุดตัด
(เพื่อให้ผู้ขับขี่ได้มองและฟัง พร้อมทั้งเตรียมตัวชะลอและหยุดรถ ตามหลักการ)
วิธีการหนึ่งก็คือการติดตั้งตัวเซ็นเซอร์ หรือสายพาด(ที่ต่อมาจากสายไฟฟ้า)
หรือปรับกลไกคันเหยียบ(บนรางรถไฟ) ณ บริเวณที่ห่างจากจุดตัดทางรถไฟประมาณ 1-2 กิโลเมตร เมื่อรถไฟวิ่งผ่านจุดสัมผัสเหล่านี้
ก็จะส่งผลทำให้กลไกสัญญาณเสียง(กระดิ่งหรือระฆัง ณ จุด H))
สัญญาณแสง (ที่อาจจะติดตั้งแผงโซลาเซลล์เพิ่มเติมเพื่อใช้ในยามค่ำคืน ณ จุด G) รวมทั้งแผงกั้นทำงานโดยอัตโนมัติทันที ทั้งนี้
แผงกั้นอาจจะเป็นแบบแข็งแรงแน่นหนาหรือเป็นเพียงสิ่งกั้นขวางที่มองเห็น แต่สิ่งสำคัญก็คือควรมีความยาวที่ครอบคลุมตลอดเลนสุดถนนสองฝั่ง
ไม่เปิดโอกาสให้มอเตอร์ไซต์คันไหนสามารถฝ่าหรือผ่านไปได้เลย
ทั้งนี้ เมื่อรถไฟวิ่งผ่านจุดตัดถนนไปได้ประมาณ 100 เมตร
ก็จะต้องวิ่งผ่านตัวเซ็นเซอร์
สายพาดหรือคันเหยียบอีกตัวหนึ่งเพื่อหยุดการทำงานของสัญญาณเสียง
สัญญาณแสงและแผงกั้น เปิดทางให้รถยนต์อื่นๆที่จอดรออยู่สามารถวิ่งผ่านจุดตัดไปได้
นอกจากนี้ การติดตั้งป้ายหรือบิลบอร์ดก่อนถึงจุดตัด
ด้วยข้อความหรือภาพที่โดนใจด้วยเหตุผลทางจิตวิทยาเป็นสำคัญเพื่อทำให้ผู้ขับรถหยุดอ่านหยุดมอง
ยั้งคิดและชะลอรถก็เป็นสิ่งสามารถทำได้เช่นกัน
(และอาจจะได้ผลมากกว่าป้ายเตือนทั่วๆไป)
เช่นภาพผู้หญิงสวยกำลังไหว้ขอให้ช่วยชะลอรถ
(เหมือนเช่นกรณีภาพผู้หญิงแต่งตัวเซ๊กซี่ที่ปรากฏตามป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่
ซึ่งมีผลทำให้คนขับรถบนท้องถนนหรือบนทางด่วนโดยเฉพาะผู้ชายต้องหยุดชะลอไปตามๆกัน)
หรือแม้กระทั่งภาพของน้องไลลาที่กระแสกำลังมาแรงพร้อมด้วยข้อความทำนอง “เหญ็ดแหม่….หยุดรอไม่เป็นหรือ?”
ซึ่งแม้จะดูเป็นคำไม่สุภาพ แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือชีวิตของผู้ขับขี่ทุกคน
หรือกระทั่งให้น้องไลลาอัดคริปตามโทนสำเนียง “เหนียวไก่”
รณรงค์ให้คนหยุดชะรอรถ ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นไปไม่ได้
กลไกแบบง่ายๆดังกล่าวนี้
ไม่ได้อยู่นอกเหนือความสามารถของฝ่ายการช่างหรือวิศวกรของการรถไฟฯ
หรือแม้กระทั่งความรู้ความสามารถของนักศึกษาช่างกลช่างเทคนิค
หรือสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง การรถไฟฯ อาจจะจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งเชิญชวนให้สถาบันการศึกษาเหล่านี้
นำเสนอผลงานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดและต้นทุนประหยัดที่สุด
เพื่อนำมาติดตั้งปฏิบัติใช้จริง
และทำให้บรรดาเด็กช่างกลช่างเทคนิคทั้งหลายได้แสดงฝีมือและศักยภาพที่แท้จริงให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วย
เชื่อได้ว่า
ข้อเสนอดังกล่าวนี้มีความเป็นเป็นไปได้ในทางปฏิบัติโดยเฉพาะวิธีการแรก
เพราะใช้งบประมาณน้อยมากและสามารถทำได้ทันที
โดยความร่วมมือระหว่างการรถไฟฯและองค์กรท้องถิ่นต่างๆที่เป็นเจ้าของพื้นที่ทางลักผ่าน
ทั้งนี้ อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาพถนนในแต่ละพื้นที่
และให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่สุด
อย่างไรก็ตาม ประการสำคัญยิ่งที่สังคมต้องตระหนักให้มากๆก็คือ
การมีเครื่องกั้นไม่ว่าจะได้มาตรฐานแค่ไหนหรือแน่นหนาแค่ไหน
ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันที่สามารถป้องกันอุบัติเหตุได้แน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ ตราบเท่าที่วัฒนธรรม “ฝ่า”
ยังเป็นส่วนหนึ่งของคนไทยอยู่
.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น