21 มีนาคม 2557

หลักการตีความกฎหมาย: จะดูถ้อยหรือดูความ(?)

.
ครั้งหนึ่ง  คุณศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้กล่าวไว้ว่า วันนี้แต่ละฝ่ายมีการตีความกฎหมายไม่เหมือนกัน รัฐบาล นักวิชาการ ตีความกฎหมายกันคนละอย่าง (เดลินิวส์, 6 มีนาคม 2557)

ต่อมา นายชัยเกษม นิติสิริ รักษาการรมว.ยุติธรรม ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับศาลรัฐ ธรรมนูญและหลักการวินิจฉัยกฎหมายว่า ถ้า ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าสิ้นสภาพ ตนก็ต้องฟัง แต่สิ่งที่ผ่านๆ มาหลายครั้ง   ไม่เห็นด้วยกับศาลรัฐธรรมนูญ บางเรื่องข้อความชัดๆ ยังตีความไปอีกแบบหนึ่ง แต่กฎหมายบอกให้ฟังศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ยกตัวอย่าง บ้านตนเลี้ยงสุนัข ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า บ้านเขาไม่ได้เรียกสุนัข แต่เรียกสุกร ตนก็เลยต้องเรียกสุกรตามศาลรัฐธรรมนูญ ช่วยไม่ได้ กฎหมายเป็นอย่างนั้น (กรุงเทพธุรกิจ, 5 มีนาคม 2557)

และเมื่อคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีได้สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกออกมาว่า ทุกอย่างเราทำเพื่อประเทศชาติ อยากให้มองที่เจตนา อย่าใช้กฎหมายมาริดรอนตัดสิทธิ์ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นเราจะไปกันลำบาก มุ่งทำทุกอย่างโดยใช้ข้อกฎหมายในการที่จะตัดสิทธิ์ โดยที่ไม่มองถึงเจตนารมณ์เป็นเบื้องต้น ตรงนี้ต่างหากที่เราคิดว่า หวังว่าจะได้รับความเข้าใจ ได้รับความยุติธรรม (มติชน, 13
มีนาคม 2557)  ก็ยิ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า การตีความและวินิจฉัยทางกฎหมาย กลายเป็นประเด็นข้อต้อเถียงที่สำคัญที่สุดประเด็นหนึ่งในภาวการณ์ที่สังคมไทยประสบกับปัญหาความขัดแย้งทางการ
เมืองอย่างร้าวลึก

ผู้เขียนใคร่ขอนำความเห็นเชิงหลักการของ ผู้ใหญ่สองท่านมาให้สังคมไทยได้พิจารณาใคร่ ครวญและชั่งน้ำหนักประกอบการตัดสินใจผิดถูก ดังนี้


 
ศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร. อักขราทร จุฬารัตน

ศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร. อักขราทร จุฬารัตน (อดีตประธานศาลปกครองสูงสุด): เมื่อพูดถึงการตีความกฎหมายแล้วย่อมหมายรวมถึงการใช้กฎหมาย (Application of Law) บังคับกับกรณีที่มีปัญหา จากนั้นจึงมาถึงการตีความซึ่งย่อมหมายถึงการแปลหรือให้ความหมายแก่ตัวบทกฎหมายที่จะใช้บังคับแก่เรื่องนั้น ๆ

        ปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่าปัญหาการตีความกฎหมายเป็นปัญหาสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทย สาเหตุก็คงจะมาจากการศึกษากฎหมายสมัยก่อนค่อนข้างจะหนักไปในทางแปลตัวหนังสือที่ขีดเขียนเป็นกฎหมายโดยขาดความรู้ความเข้าใจในปรัชญาของกฎหมายและศาสตร์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง การ ตีความกฎหมายถือเป็นภาคปฏิบัติของนักกฎหมาย คนที่จะนำเอากฎหมายมาประยุกต์ใช้นั้นคือนักกฎ หมาย เมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็จะต้องตีความกฎหมายเพื่อยุติปัญหา

สมัยก่อนๆ นี้ ส่วนใหญ่ถ้ากฎหมายชัดเจนแล้ว หรือถ้าคนส่วนใหญ่เห็นว่าชัดเจนก็จะคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา แต่สิ่งที่บอกว่าชัดเจนในตัวหนังสือนั้น ในบางกรณีคนหนึ่งก็อาจจะมีความเห็นเป็นอย่างหนึ่งอีกคนหนึ่งก็อาจจะมีความเห็นเป็นอีกอย่างหนึ่งก็ได้ ยิ่งปัจจุบันนี้ถ้าสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นในแวดวงของกฎหมาย ก็จะมีข้อโต้แย้งในมุมมองของการแปลความหมายของถ้อยคำในตัวหนังสือที่เป็นกฎหมายที่แตกต่างกัน จนบางทีผลของความแตกต่างในการตีความกฎหมายของนักกฎหมายที่แตกต่างกันแทบไม่น่าเชื่อว่าจะแตกต่างกันชนิดขาวเป็นดำหรือดำเป็นขาว

ในสมัยจักรพรรดิของปรัสเซีย ท่านเคยสร้างประมวลกฎหมายขึ้นประกอบด้วยมาตราต่างๆ ถึง ๑๗,๐๐๐มาตรา ซึ่งท่านคิดว่าการเขียนรายละเอียดให้ชัดเจนครอบคลุมทุกอย่างคงจะขจัดการตีความลงได้ สุดท้ายก็ต้องตีความกันเหมือนกรณีทั่วไปและประมวลกฎหมายดังกล่าวก็ไม่อาจใช้ได้ตามที่ตั้งใจไว้ ในอดีตสภาพปัญหายังไม่มีความสลับซับซ้อนมากนัก ปัญหาการตีความกฎหมายจึงมีไม่มาก

แต่ในปัจจุบันเนื่องจากโลกพัฒนามากขึ้น สมัยก่อนๆ อาจจะมีปัญหาส่วนใหญ่ในความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชน แต่รัฐสมัยใหม่จะมีนิติสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชนเกิดขึ้นอย่างมากมายและเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นที่พูดกันว่าอะไรที่ชัดเจนแล้ว ก็ไม่ต้องตีความจึงไม่เป็นจริงในเวลานี้   เพราะฉะนั้นหลักการใช้และการตีความกฎหมายจึงเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของภาคปฏิบัติทางกฎหมาย......(จุลนิติ, กรกฏาคม-สิงหาคม 2553)


ศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร

ศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร (องคมนตรี): ตามปรกติเมื่อตัวบทกฎหมายมีข้อความชัดเจนอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องตีความและต้องถือว่าข้อความเหล่านั้นมีความหมายตามธรรมดาของถ้อยคำที่เข้าใจกันโดยทั่วไป แต่ถ้าบทบัญญัติของกฎหมายเคลือบคลุมหรือมีข้อความกำกวมก็ต้องค้นหาเจตนารมณ์อันแท้ จริงของกฎหมายหรือของผู้บัญญัติกฎหมายเหล่านั้นให้ได้ การค้นหาเจตนารมณ์ดังกล่าวก็คือ การตีความกฎหมายนั่นเอง ซึ่งหลักในการตีความกฎหมายไทยนั้นปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔วรรคหนึ่งที่ว่า กฎหมายนั้น ต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใดๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้น ๆ”…….

การตีความกฎหมายต้องอยู่ภายใต้กรอบแห่งความหมายตามตัวอักษรและตามเจตนารมณ์ แต่จะตีความกฎหมายตามตัวอักษรเพียงอย่างเดียวให้เกินเลยหรือขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายไม่ได้  และใน ทางกลับกัน ก็จะตีความกฎหมายโดยอาศัยแต่เจตนารมณ์ของกฎหมายโดยเกินเลยถ้อยคำในตัวบทไม่ได้เช่นกัน ศาลต้องพิจารณากฎหมายทั้งตามตัวอักษรและตามเจตนารมณ์ของกฎหมายไปพร้อมกัน  แต่ถ้าตัวบทกฎหมายชัดเจนอยู่แล้ว   และไม่ปรากฏว่าผลแห่งการตีความตามตัวอักษรจะถึงขนาดเกิดผลประหลาด
หรือขัดต่อสามัญสำนึกหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม ศาลก็ไม่อาจตีความกฎหมายให้ผิดไปจากข้อ ความที่ชัดแจ้งนั้นได้ ศาลต้องถือเอาความหมายตามตัวอักษรเป็นสำคัญ และถือว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายประสงค์จะใช้ถ้อยคำดังกล่าวตามความหมายธรรมดา
       ตรงกันข้ามแม้ข้อความนั้นจะชัดแจ้งแต่ถ้าทำให้เกิดผลประหลาดหรือขัดแย้งต่อสามัญสำนึกหรือเกิดความอยุติธรรมขึ้น ศาลก็ต้องพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นสำคัญ…..(จุลนิติ, กรกฏาคม-สิงหาคม 2553)


ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ใหญ่ ที่เป็นปรมาจารย์ทางด้านนิติศาสตร์ของสังคมไทยทั้งสองด้าน ได้ให้ข้อคิดสำหรับนักกฎหมายที่ดีที่พึงระลึกอยู่เสมอว่า 

ศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร. อักขราทร จุฬารัตน: การตีความกฎหมายมหาชนโดยการพิจารณาจากถ้อยคำในกฎหมายเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ แต่จะต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายประกอบด้วย และสิ่งหนึ่งที่ผู้ใช้กฎหมายมหาชนต้องนำมาประกอบการพิจารณาคือประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ของส่วนรวม ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี

ศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร: ในการตีความกฎหมายนั้นพึงตีความไปในทางที่จะทำให้เป็นผลบังคับได้มากกว่าที่จะถือเอาตามนัยที่ไร้ผล และพึงตระหนักถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งประสงค์จะอำนวยความถูกต้องชอบธรรมให้แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นสำคัญอันกฎหมายนั้นย่อมสันนิษฐานได้ว่า ตราขึ้นเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคมแต่กฎหมายทุกฉบับหาได้สร้างความเป็นธรรมในสังคมเสมอไปไม่ จึงขึ้นอยู่กับนักกฎหมายผู้ใช้กฎหมายว่าจะสามารถตีความและบังคับใช้กฎหมายเพื่อความยุติธรรมอันจะก่อให้เกิดประโยชน์สุขต่อสังคมส่วนรวมได้หรือไม่ หากเรามีนักกฎหมายที่ดีและยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมเป็นสำคัญแล้ว ย่อมจะทำให้กฎหมายไทยธำรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์และความยุติธรรม 
ประการสำคัญที่สุดก็คือการที่นักกฎหมาย รวมทั้งบรรดานักการเมืองและนักวิชาการพึงตระหนักและสำนึกเพื่อประโยชน์สุขโดยรวมของบ้านเมือง ดังพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2520 ที่ว่า:


          “กฎหมายทั้งปวงจะธำรงความยุติธรรม และถูกต้องเที่ยงตรง หรือจะธำรงความศักดิ์สิทธิ์ และประสิทธิภาพเต็มเปี่ยมอยู่ได้หรือไม่เพียงไรนั้นขึ้นอยู่กับการใช้ คือถ้าใช้ถูกวัตถุประสงค์ หรือเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นๆจริงแล้วก็จะทรงความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพอันสมบูรณ์ไว้ได้  แต่ถ้าหากนำไปใช้ ผิดวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์  โดยการพลิกแพลงบิดพลิ้วให้
ผันผวนไปด้วยความหลงผิดด้วยอคติหรือด้วยเจตนาอันไม่สุจริตต่าง ๆกฎหมายก็เสื่อมความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพลงทันที และกลักลายเป็นพิษเป็นภัยแก่ประชาชนอย่างใหญ่หลวง

                    ผู้ที่ต้องการจะใช้กฎหมายสร้างสรรค์ความผาสุกสงบ และความเป็นปึกแผ่นก้าวหน้าของประชา ชนและบ้านเมือง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาวัตถุประสงค์อันจริงแท้ของกฎหมายแต่ละฉบับไว้ให้แน่วแน่เสมอไปอย่างไม่มีข้อแม้ประการใดพร้อมทั้งต้องรักษาอุดมคติ จรรยา ความสุจริตและมโนธรรมของนักกฎหมายไว้โดยรอบคอบเคร่งครัดเสมอด้วยรักษา
ชีวิตของตนเอง กฎหมายไทยจึงจะทรงคุณค่าอันสมบูรณ์บริบูรณ์
 


.
    
.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มอเตอร์ หรือ สติกเกอร์

เมื่อตอนที่ Real Madrid ทีมดังในสเปนตัดสินใจขาย Claude Makelele ให้กับทีม Chelsea แล้วซื้อ David Beckham มาแทนที่ในช่วงกลางปี 2003 ปรา...