7 พฤศจิกายน 2556

นิรโทษกรรม – กรรมของใคร

.



                มนุษย์และสัตว์บางจำพวกมีความรักความผูกพันเป็นธรรมชาติติดตัว  แต่เรื่องน่าเศร้าของมนุษย์เราก็คือ ในขณะที่สัตว์โลกมีสัญชาติญาณในกลับคืนสู่ความเป็นเพื่อนร่วมฝูงหลังการต่อสู้ผ่านไปไม่นานนัก แต่มนุษย์เรากลับใช้เหตุผลและแรงจูงใจมากเกินไป จนทำให้ไม่สามารถก้าวข้าวความขัดแย้งระหว่างกันไปได้อย่างง่ายๆ
                มนุษย์ได้เพียงพยายามหาหนทางเพื่อกำจัดความเกลียดชังและเคียดแค้น ป้องกันไม่ให้เกิดเป็นเชื้อปมนำไปสู่วงจรอุบาทว์ของความขัดแย้งและความรุนแรง  ด้วยเป้าหมายสุดยอดปรารถนาที่สุดที่เรียกว่า สมานฉันท์
ในความเป็นจริงแล้ว หลังเหตุการณ์ความรุนแรงและความโหดร้ายได้ผ่านพ้นไป เป็นเรื่องยากสำหรับ เหยื่อ ผู้ประสบเคราะห์ร้ายแต่ละคน ที่จะทำใจและก้าวข้ามความเจ็บปวดหรือความสูญเสียได้อย่างสนิท
เพระเป็นโศกนาฏกรรมของคนกลุ่มหนึ่งหรือสังคมโดยรวม การจัดการกับความเจ็บปวดในอดีตจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย และนี่คือบทบาทของสิ่งที่เรียกว่า สมานฉันท์ที่จะนำพาสังคมก้าวข้ามไปสู่ชีวิตในอนาคตได้
โดยหลักการแล้ว การสมานฉันท์จะทำหน้าที่สองบทบาท บทบาทแรกในฐานะเป็นกระบวนการหรือกลไก (process) ที่มุ่งเน้นจัดการกับอดีตและบริหารปัจจุบัน  เพื่อให้เราสามารถก้าวต่อไปสู่อนาคต  ดั่งสุภาษิตจีนที่ว่า ประสบการณ์(ที่ขมขื่น)ในอดีต หากไม่ถูกหลงลืมก็จะนำทาง(เรา)ไปสู่อนาคตได้  

ในทางปฏิบัติที่ยอมรับกันทั่วโลก หลายๆประเทศเลือกแนวทางที่ให้น้ำหนักและมองการสมานฉันท์เป็นกระบวนการ ซึ่งหลักๆก็คือ การทำความจริงให้ปรากฏ การเยียวยา การชดเชย การให้ความยุติธรรม การลงโทษ การขอโทษ ที่ดูเหมือนเป็นเงื่อนไขหนึ่งสองสาม (โดยไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับและอาจดำเนินการพร้อมๆกันได้)  หากในเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่มีการดำเนินการหรือยังไม่บรรลุ ก็อาจจะส่งผลต่อเงื่อนไขหรือกลไกอื่นๆได้  แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้ถือเป็นหลักประกันว่า การดำเนินการตามเส้นแนวนอนหรือตามขั้นตอนกระบวนการนี้ จะนำไปสู่ความปรองดองในท้ายที่สุด
ในอีกบทบาทหนึ่ง การสมานฉันท์จะทำหน้าที่เป็น เป้าหมายโดยเน้นอนาคตเป็นสำคัญ นั่นคือ เราจะทุ่มเทความพยายามทั้งหลายทั้งปวงเพื่อผลักดันให้สังคมก้าวไปสู่ความเป้าหมายของการสมานฉันท์ ภายในชาติ ซึ่งอาจจะต้องแลกกับการลดการจัดการกับอดีต ให้น้อยลง  มีดีกรีของการประนีประนอมมากขึ้น  หรืออีกนัยหนึ่ง หากสังคมหนึ่งมองการสมานฉันท์เป็นเป้าหมายสำคัญแล้ว สังคมนั้นๆก็พร้อมที่จะก้าวข้ามปัจจัยบางประการ(ที่ปรากฏในกระบวนการ) ไม่ให้กลายเป็นเงื่อนไขหรืออุปสรรคจนขยับเขยื้นไม่ได้
ไม่ว่าเราจะให้น้ำหนักกับการเยียวยาอดีตหรือมุ่งหน้าสู่อนาคตมากกว่ากัน และไม่ว่าเราจะมองหรือจะเลือกแนวทางไหน  แต่สิ่งที่จะต้องตระหนักก็คือ การสมานฉันท์มีความหลากหลายซับซ้อนเชื่อมโยงหลากหลายมิติทางศาสนา ทางจิตวิทยา ทางกฎหมาย และทางการเมืองเข้าด้วยกัน เพื่อให้สังคมค่อยๆก้าวข้ามผ่านอดีตที่ขมขื่นและวงจรแห่งความเกลียดชัง ไปสู่การสมานฉันท์แบบบางๆ ที่ต่างคนต่างอยู่โดยไม่ทำร้ายหรือก่อความรุนแรงให้แก่กัน จนกระทั่งพัฒนาถึงระดับที่สามารถหันมาพูดคุยกันมากขึ้น เชื่อใจมากขึ้น รวมมือกันมากขึ้น จนในที่สุดสามัคคีปรองดองเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งก็คือการสมานฉันท์แบบหนานั่นเอง
โดยธรรมชาติแล้ว หลังเหตุการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงผ่านไป  สภาพจิตใจของเหยื่อถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเยียวยาอันเนื่องมาจากความสูญเสียและความเจ็บปวด ซึ่งมิติทางศาสนาและจิตวิทยาจะมีบทบาทสำคัญเพื่อให้เกิดการอภัยขึ้น เรียกว่าเป็นการให้อภัยทางใจที่ไม่สามารถบังคับขู่เข็ญได้และต้องใช้เวลากว่าที่จะสมานแผล(ทางใจ) นี้ได้สนิท
แต่ในขณะเดียวกัน การให้อภัยทางกฎหมายก็กลายเป็นปัจจัยเงื่อนไขหนึ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับทุกสังคมทุกประเทศหากมุ่งหวังที่จะบรรลุการสมานฉันท์ โดยที่รัฐ (ทั้งรัฐบาลและรัฐสภา) สามารถดำเนินการด้วยวิธีการนิรโทษกรรมที่สังคมไทยกำลังพูดถึงอย่างเผ็ดร้อน ณ เวลานี้
โดยหลักการแล้ว การนิรโทษกรรมเกิดจากความคิดที่ว่า ตราบใดที่มนุษย์เรายังมีความทรงจำกับอดีตที่ขมขื่นอยู่จนไม่สามารถสลัดหลุดออกไปได้ หรือที่เราใช้คำว่าปล่อยวางแล้ว  โอกาสที่จะเกิดการสมานฉันท์ระหว่างบุคคลหรือในสังคมก็จะยากขึ้น  ดังนั้น การนิรโทษกรรมจะมีบทบาทช่วยขับเคลื่อนทำให้สังคมสามารถอยู่กับปัจจุบันและเดินหน้า (move on) ไปสู่อนาคตได้อย่างไม่เจ็บปวด(มากเกินไป)
เพราะเราไม่สามารถทำให้ทุกๆคนหลงลืมหรือลืมเหตุการณ์ในอดีตได้ หรือทำให้เป็นโรคอัลซัลเมอร์ที่ไม่หลงเหลือความทรงจำใดๆได้ สังคมจึงจำเป็นต้องอาศัยพึงพาการนิรโทษกรรมให้เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้
โดยข้อเท็จจริงแล้ว  การนิรโทษกรรมเป็นเครื่องมือที่ต้องอาศัยการประนีประนอม(ทางการเมือง) และมาตรการทางกฎหมาย เพื่อยกเลิกหรือยกเว้นโทษอาณาที่เกิดจากกความผิดในอดีต  ทั้งนี้ การจะพิจารณาตัดสินใจเลือกรูปแบบของการนิรโทษกรรมก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆประการ และขึ้นอยู่กับว่าให้น้ำหนักหรือมองการสมานฉันท์ในแบบใด และรูปแบบที่เหมาะสมจะมีผลอย่างมากต่อความสำเร็จของการสมานฉันท์ในอนาคต
แต่ใครจะนึกว่า การเสนอและพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯที่เราเรียกว่าฉบับ เหมาเข่งนี้  จะก่อให้เกิดกระแสการคัดค้านไปทั่วแผ่นดิน เหมือนโยนไม้ขีดก้านเล็กๆเข้าสู่กองฟืนที่(บังเอิญ)เปียกน้ำมัน จนลุกลามเป็นโดมิโนขยายวงกว้างยากจะดับได้
หากพิจารณาเนื้อหาสาระบนหน้าเสื่อแล้ว ดูเหมือนว่า ร่างกฏหมายฉบับ เหมาเข่งนี้  จะเข้าข่ายในแนวทางที่สองที่มุ่งเป้าหมายเพื่อการสมานฉันท์ โดยไม่ประสงค์ที่จะรื้อฟื้นหาตะเข็บและดำเนินการตามกระบวนการ(สมานฉันท์)มากไปกว่านี้ และเมื่อพิจารณาศัพท์แสงของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรในช่วงร้อนแรงนี้ จะเห็นว่าเน้นพูดคำว่า อนาคตหลายต่อหลายครั้ง
โทนเสียงของอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 คนนี้ดูเหมือนพยายามทำให้สังคมไทยเห็นว่า ทุกอย่างเลิก และเริ่มต้นกันให้ถูกต้อง Set Zero แล้วเดินหน้าถ้ามัวแต่อยู่กับแต่ข้างหลัง อยู่กับอดีตไม่อยู่กับอนาคต ไม่มีทางเป็นไปได้และเชื่อมั่นว่า การนิรโทษกรรมแบบ เหมาเข่งนี้ เป็นแนวทางที่ Set Zero คิดว่าเป็นแนวทางที่ทำให้บ้านเมืองกลับมาดี
ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า คุณทักษิณมีเจตนารมณ์ตามคำพูดจริงแท้มากน้อยแค่ไหน แต่กับกระแสการต่อต้าน ณ เวลานี้ที่สะท้อนถึงการคำนวณที่ผิดพลาด(?)  อาจเรียกได้ว่า การเลือกแนวทาง เหมาเข่งเป็นการยิงเข้าประตูตัวเองที่ราคาแพงมากที่สุดในชีวิตของอดีตผู้นำคนนี้ก็เป็นได้(?)
โดยหลักการแล้ว การนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง (blanket amnesty) มีหลักการง่ายๆว่า จะไม่มีสองมาตรฐานหรือเลือกที่รักมักที่ชัง ทุกคนทุกฝ่าย(จะ)ได้รับผลพลอยได้และพ้นจากความผิดเหมือนกันหมด  กล่าวได้ว่า การนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งนี้ถือเป็นถือเป็นรูปแบบที่ง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อน สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและใช้เวลาน้อย เมื่อเทียบกับการนิรโทษกรรมในรูปแบอื่นๆ  แต่ในอีกด้านหนึ่ง ถือเป็นแนวทางที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมาก เชื่อว่าเป็นแนวทางที่ละเลยหลักมนุษยธรรมและเป็นการสร้างวัฒนธรรมที่ผิดเพี้ยนที่ทำให้คนผิดลอยนวล
มีตัวอย่างในหลายๆประเทศที่สังคมการเมืองไทยสามารถเรียนรู้เพื่อหลีกเลี่ยง(หากจะก่อให้เกิดผลเสียหาย) และเพื่อเจริญรอยตาม (หากก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการสมานฉันท์ของคนในประเทศได้) ดังนี้
หนึ่ง  ต้องถือว่าชื่อเสีย(ง)ของนายพลอูกุสโต ปิโนเชต์ผู้ทำรัฐประหารยึดอำนาจชิลีเมื่อสี่ทศวรรษก่อนและดำเนินนโยบายปราบปรามฝ่ายตรงข้ามอย่างโหดร้ายทารุณจนทำให้ได้รับความสนใจไปทั่วโลก  ถึงแม้จะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งในความผิดที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและหายสาบสูญร่วมสามพันคน แต่กฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าวก็ไม่ได้มีผลบังคับใช้ในต่างแดนด้วย   ดังนั้น เมื่อเดินทางไปรักษาตัวที่ลอนดอน นายพลปิโนเช่ต์จึงถูกทางการอังกฤษอาศัยเขตอำนาจสากล (universal jurisdiction) จับกุมตามหมายศาลสเปน (เนื่องจากมีพลเรือนของสเปนเสียชีวิตภายใต้เผด็จการทหารด้วย) และถูกกักบริเวณเป็นเวลากว่า 2 ปี  เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ไม่มีใครที่จะสามารถรอดพ้นจากความผิดฐานละเมิดหลักมนุษยธรรมขั้นเลวร้ายที่สุดไปได้อย่างถาวรถึงแม้จะมีการนิรโทษกรรมไปแล้วก็ตาม
                เพราะฉะนั้นแล้ว ไม่ว่ากฎหมายนิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่งหรือฉบับไหนๆจะมีผลบังคับใช้ ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้สั่งการ(ตัวจริง)ที่เป็นต้นเหตุนำไปสู่การเสียชีวิตของนักข่าวชาวญี่ปุ่นและอิตาลีในช่วงเหตุการณ์ความรุนแรงจะเป็นอิสระจากความผิดนั้นๆอย่างถาวรหรือครอบคลุมทั่วโลก  ในอนาคต อาจจะเป็นไปได้ว่า ศาลหรือรัฐบาลของญี่ปุ่นและอิตาลีจะอาศัยหลักเขตอำนาจสากลเพื่อดำเนินการตามกฎหมายยุติธรรมที่ว่า คนผิด(จริง)ต้องถูกลงโทษ(จริง)
                สอง มีหลายๆประเทศในแอฟริกาที่เลือกแนวทางการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งเหมือนเช่นกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา  แต่กรณีของแอฟริกาใต้ถือว่าน่าสนใจเป็นที่สุดด้วยความเป็นประเทศที่เคยดำเนินนโยบายเหยียดผิวสุดโต่งหรือเข้มข้นที่สุด      
                ถึงแม้ว่า ภารกิจหลักของเนลสัน แมนเดลล่าภายหลังก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำผิวดำคนแรกของแอฟริกาใต้ก็คือการสร้างความสมานฉันท์ระหว่างคนผิวดำและผิวขาว  แต่ด้วยเหตุผลความจำเป็นที่ต้องประนีประนอมทางการเมือง  จึงทำให้แมนเดลล่าไม่สามารถยึดแนวทางของ นูเรมเบิร์กโมเดล ที่ต้องมีการไต่สวนนำเอาคนผิดมาลงโทษอย่างถึงที่สุดได้ เพราะจะยิ่งทำให้คนผิวขาวเกิดความกลัวและยิ่งต่อต้านมากขึ้น ขณะเดียวกัน ตัวแมนเดลล่าเองก็มีโอกาสต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอีกรอบในฐานะผู้ก่อการร้าย (ตามภาษาของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ)   ในอีกด้านหนึ่ง ก็ไม่อาจจะยอมรับการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งตามความต้องการของอดีตผู้นำผิวขาวได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า คนในครอบครัวของแมนเดลล่าก็ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงนี้ด้วย ที่สำคัญก็คือจะต้องถูกต่อต้านอย่างหนักจากคนผิวดำและนานาประเทศ
สุดท้ายแล้ว แมนเดลล่าเลือกทางนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข (conditional amnesty) นั่นคือ บุคคลที่อยู่ในข่ายจะได้รับการนิรโทษกรรม ต้องยอมเปิดเผยข้อมูลและสารภาพความผิดที่ได้กระทำเพื่อแลกกับการได้รับพิจารณาเป็นอิสระจากความผิดทั้งหลาย    กรณีของแอฟริกาใต้ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า การประนีประนอมระหว่างหลักการ (principle) และหลักความเป็นจริงในทางปฏิบัติ (practical) ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นเสมอสำหรับการสมานฉันท์
สาม ในกรณีของปากีสถานนั้น ดูเหมือนจะเทียบเคียงกับกรณีของประเทศไทยได้ใกล้เคียงที่สุด ณ เวลานี้ กล่าวคือ รัฐบาลทหารได้ออกกฎหมายว่าด้วยการสมานฉันท์แห่งชาติในปี 2550 ให้นิรโทษกรรมความผิด(โดยเฉพาะแก่บรรดานักการเมืองทั้งหลาย) ที่เกี่ยวเนื่องกับคดีการคอรัปชั่น การยักยอกเงิน การฟอกเงิน การฆาตกรรมและการก่อการร้ายในช่วงที่ประเทศอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก (2529-2542)  โดยเป้าหมายหลักๆก็คือการนิรโทษกรรมให้อดีตนายกรัฐมนตรีเบนาซีร์ บุตโตที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาคอรัปชั่น พร้อมทั้งเปิดทางให้เดินทางกลับประเทศหลังจากที่ต้องลี้ภัยอยู่ในดูไบมานานกว่า 8 ปี   ด้านหนึ่ง (อ้างว่า) เพื่อเปิดทางไปสู่การสมานฉันท์ของชาติ และอีกด้านหนึ่ง (เชื่อว่า)เพื่อเป็นการประนีประนอมระหว่างบุตโตกับนายพลเปอร์เวซ มูชาร์ราฟ(ผู้นำประเทศ)ที่ต้องการเสียงสนับสนุนทางการเมืองจากนางบุตโตเป็นการแลกเปลี่ยน
แต่หลังจากกลับมาสู่มาติภูมิได้เพียงสองเดือน นางบุตโตก็ถูกระเบิดลอบสังหารเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก จบสิ้นชีวิตของผู้นำหญิงคนแรกของประเทศไปอย่างน่าเศร้า  ในขณะที่กฏหมายนิรโทษกรรมดังกล่าวก็ถูกศาลฏีกา(ซึ่งก็คือศาลรัฐธรรมนูญ) พิพากษาตัดสินในปี 2552 ว่าขัดกับรัฐธรรมนูญของประเทศมีผลทำให้ตกไป ส่วนนายพลมูชาร์ราฟเองหลังจากต้องหลุดพ้นจากวงจรแห่งอำนาจ ก็ต้องลี้ภัยในต่างแดนถึง 4 ปีและเมื่อกลับคืนสู่ประเทศ ก็ถูกจับกุมและถูกกักบริเวณ
สี่ กรณีของประเทศเนปาลที่ประสบภัยกับทศวรรษแห่งสงครามการเมืองจนกระทั่งพลพรรคคอมมิวนิสต์ชนะศึกและในท้ายที่สุดนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองการเมืองในปี 2551 จะเห็นได้ว่า ตลอดเวลา 7 ปีที่ผ่านนับตั้งแต่การยุติสงครามการเมืองที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 16,000 คน ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆในกระบวนการยุติธรรมที่เป็นรูปธรรมเพื่อเปิดทางไปสู่การสมานฉันท์อย่างแท้จริง  ถึงแม้ว่าล่าสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกกฏหมายจัดตั้งคณะกรรมาธิการว่าด้วยความจริงและการสมานฉันท์ตามโมเดลของแอฟริกาใต้  แต่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งระงับด้วยเกรงว่า กฎหมายดังกล่าวอาจจะนำไปสู่การนิรโทษกรรม(แบบเหมาเข่ง) ทำให้บรรดาผู้สั่งการรอดพ้นจากความผิดได้  เวลาจะเป็นเครื่องช่วยพิสูจน์ว่า ผลคำพิพากษาดังกล่าวถือเป็นการตัดไฟเสียแต่ต้นลมหรือตีตนไปก่อนไข้กันแน่
กล่าวโดยสรุปแล้ว ตราบใดที่สังคมปรารถนาการสมานฉันท์แล้ว ตราบนั้น สังคมก็ต้องการการนิรโทษกรรมเป็นเครื่องมือหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กรณีศึกษาในต่างประเทศข้างต้นน่าจะเป็นประโยชน์แก่สังคมไทยบ้าง ในการพิจารณาว่า ถึงที่สุดแล้ว เราควรจะเลือกเดินตามแนวทางไหนดี




.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มอเตอร์ หรือ สติกเกอร์

เมื่อตอนที่ Real Madrid ทีมดังในสเปนตัดสินใจขาย Claude Makelele ให้กับทีม Chelsea แล้วซื้อ David Beckham มาแทนที่ในช่วงกลางปี 2003 ปรา...