หากพูดถึงพรสวรรค์และความสามารถเฉพาะตัวแล้ว ว่ากันว่า นักเตะดัทช์อาจจะเป็นสองรองเพียงแค่พระเจ้าเท่านั้น
เพราะความครบเครื่องสารพัดประโยชน์สารพัดตำแหน่ง ทำให้นักเตะดัชท์เก่งๆเป็นที่ต้องการของสโมสรยักษ์ใหญ่อยู่เสมอๆ บางครั้งพัฒนากลายเป็นความผูกพันลึกซึ้งเป็นดัทช์คอนเนคชั่นที่มีความหมายมากกว่าเพียงแค่เกมฟุตบอล บางครั้งกลายเป็นตำนานเป็นประวัติศาสตร์ให้เล่าขาน แต่ในทางตรงกันข้าม บางครั้ง ดัชท์คอนเนคชั่นก็ไม่ได้เป็นหลักประกันหรือเครื่องการันตีความสำเร็จเสมอไป
ในทางประวัติศาสตร์แล้ว ไม่มีสโมสรไหนที่จะมีความผูกพันมีดัทช์คอนเนคชั่นลึกซึ้งที่สุดเกินกว่าบาร์เซโลน่า โดยเฉพาะนับตั้งแต่โยฮัน ครัยฟ์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น "นักเตะเทวดา" ของวงการลูกหนังในยุคทศวรรษที่ 70 ประกาศก้องว่า ไม่มีวันที่จะไปอยู่ใต้ร่มเงาของนายพลฟรังโกผู้นำเผด็จการแห่งสเปน ผู้มีอิทธิพลเต็มเปี่ยมเหนือรีล แมดริด
"นายพลลูกหนัง" และ "นักเตะเทวดา" ผู้ร่วมสร้าง ประวัติศาสตร์ดัทช์คอนเนคชั่นในถิ่นแคมป์นู |
ด้วยเหตุนี้เอง ครัยฟ์จึงเลือกที่จะไปร่วมทีมบาร์เซโลน่าในปี 1973 คำประกาศจุดยืนและเลือกข้างของครัยฟ์มีนัยยะทางการเมืองไม่น้อย เพราะการปฏิเสธรีล แมดริดก็คือการปฏิเสธ "ระบบฟรังโก" นั่นเอง และเลือกที่จะสนับสนุนแนวทางการต่อสู้ทางการเมืองของแคว้นกาตาลัน ซึ่งมีบาร์เซโลน่าเป็นทั้งศูนย์กลางและสัญญลักษณ์
เพราะได้ชื่อว่าเป็นนักเตะที่เก่งที่สุดและมีชื่อเสียงมากที่สุดในยุคนั้น การประกาศเลือกข้างของครัยฟ์จึงมีความหมายมีน้ำหนักทางการเมืองไม่น้อย สร้างความประทับใจอย่างลึกซึ้งให้แก่แฟนๆของบาร์ซ่า จนครัยฟ์กลายเป็นฮีโร่เพียงชั่วข้ามคืน
ครัยฟ์ย้ายเข้ามาร่วมทีมบาร์เซโลน่าในปี 1973 โดยมีไรนัส มิเชลส์ บิดาแห่งปรัชญาโททัลฟุตบอลเป็นผู้จัดการทีม เป็นดัทช์คอนเนคชั่นรุ่นแรกที่มารอท่าตั้งแต่ปี 1971 การผสมที่ลงตัวระหว่างมิเชลส์และครัยฟ์ มีส่วนสำคัญมากๆที่ช่วยทำให้บาร์เซโลน่าคว้าแชมป์ลาลิก้าเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี
โยฮัน ครัยฟ์ในบทบาทกัปตันทีมบาร์เซโลน่า |
สองประสานของมิเชลส์และครัยฟ์ที่ช่วยให้บาร์ซ่าคว้า แชมป์ลาลิก้าในฤดูกาล 1973-1974 |
ความสำเร็จที่ครัยฟ์นำมาสู่บาร์เซโลน่าในทันทีทันใดในฤดูกาลแรก ทำให้เขากลายเป็นเหมือนพระเจ้าในดวงใจของแฟนๆบาร์ซ่าไปโดยปริยาย เป็นการเริ่มสร้างดัทช์คอนเนคชั่นระหว่างบาร์เซโลน่าและเนเธอร์แลนด์ที่ผูกพันต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
เพราะครัยฟ์คือผู้จุดประกาย ผู้เปิดทางให้นักเตะดัทช์รุ่นหลังๆเจริญรอยตาม บาร์เซโลน่ากลายเป็นทีมแห่งความฝันของนักเตะดัทช์โดยถ้วนหน้า โดยเฉพาะนักเตะของสโมสรยักษ์ใหญ่อย่างอาแจกซ์ อัมสเตอร์ดัม แทบจะไม่มีนักเตะดัทช์คนไหนลำบากใจหากต้องตัดสินใจเลือกระหว่างบาร์เซโลน่าหรือรีล แมดริด (แต่คงไม่ถึงขั้นหัวเด็ดตีนขาดเหมือนเปเป้ เรย์น่า ผู้รักษาประตูชาวสเปนของลิเวอร์ พูล ที่ประกาศชัดเจนว่าจะไม่มีวันยอมย้ายไปสังกัดทีมรีล แมดริดเพราะฐานะความเป็นลูกเขยของครัยฟ์ค้ำคออยู่)
อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัมมีส่วนสำคัญในการสร้างดัทช์คอนเนคชั่นเชื่อมต่อกับบาร์เซโลน่า
ครัยฟ์เป็นทั้งฮีโร่ ไอดอล เป็นตัวอย่างและเป็นผู้เปิดทางให้นักเตะดัทช์คนอื่นๆเจริญรอยตามอย่างภูมิใจ จึงไม่เป็นที่สงสัยว่า ทำไมบาร์เซโลน่าจึงมีสถิตินักเตะดัทช์มาร่วมทีมติดต่อกันถึง 19 คน โดยเฉพาะในช่วงที่หลุยส์ ฟานกาลเป็นผู้จัดการทีม (1997-2000) นั้น กลิ่น"ดัทช์ชี่"ฟุ้งกระจายไปทั่วแคมป์นู มีนักเตะดัทช์ระดับทีมชาติอยู่ในทีมพร้อมๆกันถึง 8 คน ไล่เรียงเสียงนามตั้งแต่วินส์ตัน โบกาเด่, ฟิลิปป์ โคคู, สองแฝดแฟรงค์ และโรนัลด์ เดอบัวร์, รุดด์ เฮสพ์,แพรทริก ไคล์เวิร์ท, มิเชล ไรซิงเกอร์และเบาเดอไวน์ เซนเด้น
ในวันที่ฟาลกาลสร้างประวัติศาสตร์ที่บาร์เซโลน่า โลกลูกหนัง เริ่มมีโอกาสได้หน้าตาของชายชื่อโฮเซ่ มูรินโญ่อยู่เคียงข้าง บาร์เซโลน่าในยุคฟานกาลถูกปรามาสว่าคืออาแจ็กซ์ แห่งลาลีก้าที่คราคร่ำไปด้วยนักเตะดัทช์ชี่จนล้นทีม
|
เพราะมีนักเตะดัทช์ชี่อยู่ในทีมมากเกินไป ความสำเร็จ และแชมป์เปี้ยนที่เกิดจากมันสมองของฟานกาลอาจจะ ไม่ใช่สิ่งที่แฟนๆบาร์ซ่าปรารถนาและภาคภูมิใจเป็นที่สุด |
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ดัทช์คอนเนคชั่นมีส่วนสำคัญที่ทำให้บาร์เซโลน่าคว้าแชมป์ลาลิก้า 2 สมัยติดต่อกัน เรียกว่า เป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่มากๆสำหรับหลุยส์ ฟานกาลและดัทช์ชี่ที่ช่วยกันคว้าแชมป์มาได้เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี
มาร์ค โอเวอมาร์สกลายเป็นนักเตะดัทช์ระดับโลกคนล่าสุดที่ย้ายมาร่วมทีมด้วยค่าตัวแพงเหลือหลายในปี 2000 แต่โชคไม่เข้าข้างทีมยักษ์ใหญ่แห่งแคว้นกาตาลัน หลังจากหมดยุคของฟานกาลแล้ว บาร์เซโลน่าก็ล้มเหลวไม่สามารถคว้าแชมป์ลาลีก้าได้อีกเลยติดต่อกัน 4 ฤดูกาล จนกระทั่งต้องมีการนำดัทช์คอนเนคชั่นกลับมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อแฟรงท์ ไรท์การ์ดได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ในปี 2003 กลายเป็นผู้จัดการทีมชาวดัทช์คนที่ 4 ในประวัติศาสตร์ของสโมสรต่อจากไรนัส มิเชลส์, โยฮัน ครัยฟ์ และหลุยส์ ฟานกาล
มาร์ค โอเวอมาร์สปีกจรวดค่าตัวแพงเหลือหลาย |
ถึงแม้จะไม่เคยเล่นให้กับบาร์เซโลน่า แต่ก็ไม่มีข้อห้าม สำหรับแฟรงท์ ไรท์การ์ดที่จะรับตำแหน่งผู้จัดการทีม |
ความสำเร็จของไรท์การ์ดทีอาศัยนักเตะดัทช์เพียงแค่คนสองคน |
ในฤดูกาลแรก ไรท์การ์ดมีนักเตะเพื่อนร่วมชาติดัทช์ถึง 6 คน โดยเฉพาะการยืมตัวเอ็ดการ์ ดาวิดส์มาจากสโมสรยูเวนตุสในช่วงครึ่งหลังของฤดูกาล 2003-2004 กลายเป็นจุดเปลี่ยนจุดพลิกผันที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสโมสร เพราะการเข้ามาของดาวิดส์ช่วย "คลิก" ทำให้บาร์เซโลน่าค้นพบฟอร์มและคลาสของตัวเอง (คลิกอ่าน ไม่มีดาวิดส์เมื่อวันวาน ไม่มีบาร์ซ่าให้เล่าขานในวันนี้) แม้จะจบด้วยตำแหน่งรองแชมป์ แต่แสงสว่างเริ่มส่องประเจิดจ้าทั่วถิ่นแคมป์นู ให้ผู้คนที่นั่นเริ่มเห็นความหวังที่รอท่าอย่างสดใส
เอ็ดการ์ ดาวิดส์ผู้ "คลิก" ทำให้บาร์เซโลน่า ค้นหาฟอร์มและคลาสได้อย่างเหมาะเจาะ |
ในฤดูกาลที่สองของไรท์การ์ด ฟาน บรองค์ฮอร์สท์กลายเป็นนักเตะดัทช์เพียงคนเดียวที่หลงเหลืออยู่ แต่บาร์เซโลน่าก็สมหวังด้วยการคว้าแชมป์ลาลิก้าได้เป็นผลสำเร็จ ในฤดูกาลต่อมา มาร์ค ฟานบอมเมลกลายเป็นนักเตะดัทช์คนที่สองที่ถูกเติมเข้ามาในถิ่นแคมป์นู(เพียงแค่หนึ่งฤดูกาล) พร้อมกับความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ เมื่อบาร์เซโลน่าประกาศศักดาคว้าดับเบิลแชมป์ทั้งแชมป์ลาลิก้าและ แชมป์เปี้ยนลีกอย่างน่าอิจฉา
บอมเมลและบรองค์ฮอร์สท์คือสองดัทช์ชี่ที่ร่วมสร้าง ความสำเร็จให้กับบาร์เซโลน่า |
ความสำเร็จของไรท์การ์ด ช่วยเพิ่มจำนวนถ้วยแชมป์ต่างๆ รวม 23 แชมป์ที่ผู้จัดการทีมชาวดัทช์ทั้ง 4 คนได้ช่วยกันนำความสำเร็จอันยิ่งใหญ่มาสู่บาร์เซโลน่า โดยเฉพาะแชมป์ลาลีก้า 9 สมัย(จากทั้งหด 21 สมัย) และแชมป์ระดับยุโรป (ยูโรเปี้ยนคัพและยูเอฟ่าแชมป์เปียนลีก) 2 สมัย (จากทั้งหมด 4 สมัย)
สองปีดีสองปีร้าย ความล้มเหลวเริ่มกลับคืนมาสู่สโมสรสองปีติดต่อกัน โดยเฉพาะในฤดูกาลสุดท้ายปี 2007-2008 ไรท์การ์ดกลายเป็นดัทช์คนเดียวโดดเดี่ยว กลายเป็นปีผลัดใบที่ไม่หลงเหลือนักเตะดัทช์สักคนเดียว
ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม ดัทช์คอนเนคชั่นเริ่มหมดความขลังไปอย่างไม่น่าเชื่อ ดูเหมือนว่า การเริ่มต้นยุคใหม่ยุคของโจเซฟ กัวดิโอล่าก็คือการสิ้นสุดของดัทช์คอนเนคชั่นนั่นเอง นับตั้งแต่เริ่มมาคุมทีมในปี 2008 บาร์เซโลน่ากวาดทุกแชมป์ที่มีในสังเวียนลูกหนังโลก โดยเฉพาะแชมป์ลาลิก้าติดต่อกัน 3 สมัยและแชมป์เปี้ยนลีกอีกสองสมัยโดยไม่ต้องพี่งพานักเตะดัทช์ชี่สักคนเดียว
โจเซฟ กัวดิโอล่าเป็นลูกหม้อเป็นกัปตันทีมมาก่อน
จึงเหมาะสมกับตำแหน่งผู้จัดการทีมของบาร์เซโลน่าเป็นอย่างยิ่ง
ความสำเร็จที่ไม่ต้องอาศัยดัทช์คอนเนคชั่น |
ความยิ่งใหญ่ของบาร์ซ่ากับการสิ้นสุดของดัทช์คอนเนคชั่น |
ความยิ่งใหญ่ไร้เทียมทานของบาร์เซโลน่าในวันนี้ โดยไม่ต้องพึ่งพาดัทช์ชี่หน้าไหนเลย |
กัวดิโอล่าพิสูจน์ว่าหมดเวลาของดัทช์คอนเนคชั่นแล้ว(?) |
กัวดิโอล่าสามารถสร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่บาร์เซโลน่าได้อย่างไร้เทียมทานโดยไม่มีข้อโต้แย้งโดยไม่อาศัยนักเตะดัทช์ชี่แม้เพียงสักหน่อเดียวเลย เป็นยุคแห่งความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่ปลอดนักเตะดัทช์อย่างชัดเจน และถึงแม้ว่าอิบราฮิม อเฟลไลย์จะถูกซื้อตัวมาร่วมทีมเมื่อฤดูกาลที่แล้วเป็นนักเตะดัทช์คนที่ 19 นับตั้งครัยฟ์ แต่อเฟลไลย์ก็มีบทบาทน้อยมากหรือแทบจะไม่มีส่วนสำคัญในความยิ่งใหญ่ของบาร์ซ่ายุคกัวดิโอล่าก็ว่าได้
อิบราฮิม อเฟลไลย์ ดัทช์ชี่หนึ่งเดียวในบาร์เซโลน่ายุคปัจจุบัน |
ครัยฟ์คือตำนานคือลิงค์ประวัติศาสตร์ของ ดัทช์คอนเนคชั่นในบาร์เซโลน่าจวบจนถึงปัจจุบัน |
โยฮัน ครัยฟ์ในวันที่ยังเป็นจุดสนใจที่แคมป์นู |
หรือว่า ดัทช์เริ่มหมดความขลังไปแล้วจริงๆ(?) พร้อมๆกับบทบาทและอิทธิพลของครัยฟ์ในสโมสรบาร์เซโลน่า หลังจากลาออกจากตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ของสโมสนที่ผูกพันมานานเกือบสี่ทศวรรษ
.
.