17 กรกฎาคม 2554

18 กรกฏา: วันมีกรรม ธรรมมีตา(?)

.


ไม่ว่าผลจะเกิดมาเป็นอย่างไร แต่สำหรับคนไทยแล้ว วันที่ 18 กรกฏาคม 2554 จะถูกบันทึกเป็นวันที่สำคัญวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของประเทศนี้

ราวกับเป็นเรื่องบังเอิญที่เรียกว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนสำหรับประเทศไทย เพราะจะมีการตัดสินพิพากษา "รัฐไทย" พร้อมๆกันทีเดียวสองเหตุการณ์

เหตุการณ์หนึ่ง คือ กรณีที่ศาลโลกจะวินิจฉัยตัดสินเป็นคำรบสองตามคำร้องของกัมพูชาที่ให้ตีความคำสั่งศาลเมื่อปี 2505 เกี่ยวกับอธิปไตยเหนือดินแดนบริเวณปราสาทพระวิหาร และบังคับสั่งให้ "รัฐไทย" ต้องถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ
 
 

คำวินิจฉัยของคณะพิพากษาศาลโลก ณ กรุงเฮก
ที่จะส่งผลสะเทือนถึงคนไทยทั้งประเทศ
 
มีความวิตกกันว่า คณะผู้พิพากษาศาลโลกจะยึดหลักทฤษฏีคอนโดมิเนียมมากกว่าทฤษฏีตึกเซ้ง (คลิ๊กอ่าน http://preechayana.blogspot.com/2011/02/blog-post_9523.html) และวินิจฉัยที่เป็นคุณเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายกัมพูชา



สิ่งที่คนไทยหวาดหวั่นวิตกเป็นที่สุดว่า 
ประวัติศาสตร์แบบนี้อาจจะเกิดขึ้นอีกครั้ง
 

ถึงแม้จะตั้งอยู่ในแนวเทือกเขาพนมดงรัก แต่ความ 
ขัดแย้งเหนือปราสาทพระวิหารกลับกลายเป็น "เชื้อ"
เพาะความแค้นความเกลียดชังระหว่างสองประเทศ



ประเด็นดังกล่าวเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งที่อ่อนไหวที่สุดระหว่างไทยและกัมพูชาในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา    และไม่ว่าผลคำวินิจฉัยจะออกมาในรูปแบบใด เชื้อแห่งความขัดแย้งระหว่างสองประเทศนี้ก็อาจจะลุกลามและกัดกร่อนทำให้เกิดความรู้สึกเกลียดชังระหว่างกันมากขึ้น

ในช่วงเวลาที่คณะผู้พิพากษาศาลโลกกำลังอ่านคำวินิจฉัยอยู่ ณ กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์นั้น อีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลาและสถานที่ใกล้ๆกัน (ตามที่คาดหมาย) คณะผู้พิพากษาศาลนครมิวนิค เยอรมนีกำหนดจะวินิจฉัย(รอบสอง)ตามคำทัดท้วงและคัดค้านของฝ่ายรัฐ(บาล)ไทย ภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งอายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737 ซึ่งเป็นเครื่องบินส่วนพระองค์ฯ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากกรณีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยและเอกชนเยอรมันเกี่ยวกับสัมปทานดอนเมืองโทลล์เวย์



  
ข่าวที่สะเทือนใจคนไทยเป็นที่สุด



กรณี "มิวนิค-โบอิ้ง 737" อ่อนไหวเป็นที่สุดในช่วงเวลาที่
ไทยและเยอรมนีกำลังเข้าสู่ช่วงการเฉลิมฉลองครบรอบ
150 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต




การวินิจฉัยตัดสินของทั้งสองกรณีที่จะเกิดขึ้นในวันนี้นั้น กล่าวอย่างชัดเจนที่สุดแล้ว ฝ่ายรัฐ(บาล)ไทยตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบเป็นทุนเดิมอันเป็นผลมาจากคำวินิจฉัยครั้งแรกก่อนหน้านี้  นั่นคือ คำตัดสินของศาลโลกในปี 2505 ที่วินิจฉัยให้ปราสาทพระวิหารอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา  และคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ณ กรุงเจนีวาที่ตัดสินเมื่อเดือนกรกฏาคมปี 2552  ให้รัฐบาลไทยต้องชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 36 ล้านยูโร (ประมาณ 1,500 ล้านบาท) ให้แก่บริษัทWalter Bau AG  อันเนื่องมาจาการผิดสัญญาในโครงการทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์

เพื่อความกระจ่างในเรื่องนี้ มีข้อเท็จจริงสองประการที่ควรจะพิจารณาเป็นพิเศษ

ข้อเท็จจริงหนึ่ง  รัฐไทยไม่สามารถเรียกร้อง เปลี่ยนแปลงหรืออ้างสิทธิอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารได้  แต่รัฐไทยอาจโชคดีหากศาลวินิจฉัยให้มีอธิปไตยเหนือดินแดน 4.6 ตารางกิโลเมตรบริเวณรอบๆปราสาทพระวิหาร

ข้อเท็จจริงหนึ่ง  รัฐบาลไทยไม่สามารถอุทธรณ์ใดๆต่อคำวินิจฉัยตัดสินของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้ นั่นคือรัฐบาลไทยจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัท Walter Bau AG อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  แต่ศาลเยอรมันอาจจะพิจารณาและวินิจฉัยว่าเครื่องบินลำดังกล่าวไม่ได้เป็นสมบัติของรัฐบาลไทย จึงไม่สามารถสั่งอายัดได้

แน่นอนที่สุด คนไทยทั้งประเทศย่อมวาดหวังว่า คำวินิจฉัยในทั้งสองกรณีจะเป็นคุณเป็นประโยชน์กับฝ่ายไทย และเป็นเรื่องที่ยากเกินจะจินตนาการหากคำวินิจฉัยออกมาในทางตรงกันข้าม เป็นวันที่เราอาจจะเห็น "สีดำ" ผุดขึ้นมาในสังคมไทยก็เป็นได้

ฝนที่ตกที่กรุงเฮกและนครมิวนิคในวันนี้ ย่อมส่งผลทำให้คนที่ประเทศไทย "เปียก" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้




.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มอเตอร์ หรือ สติกเกอร์

เมื่อตอนที่ Real Madrid ทีมดังในสเปนตัดสินใจขาย Claude Makelele ให้กับทีม Chelsea แล้วซื้อ David Beckham มาแทนที่ในช่วงกลางปี 2003 ปรา...