ในที่สุดปัญหามนุษย์เรือโรฮินจาก็บานปลายกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศเต็มตัวและกลายเป็นโศกนาฏกรรมของมนุษย์ยุคใหม่ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะยังคงหลงเหลืออยู่
ตอกย้ำให้เห็นว่า
นอกจากจะเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ถูกกดขี่กีดกันมากที่สุดในโลก
(the
most persecuted people) ตามบทสรุปของสหประชาชาติแล้ว ชาวโรฮินจาก็คือกลุ่มคนที่ไม่มีใครต้องการมากที่สุดในโลก
(the
most unwanted people) เช่นกัน
วิกฤติในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นปัญหาที่กระทบต่อประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยตรงโดยเฉพาะประเทศไทย
มาเลเซียและอินโดนิเซียแล้ว
ยังกลายเป็นปัญหาที่ท้าทายอาเซียน ณ ช่วงเวลาที่กำลังย่างเข้าสู่ความเป็นประชาคมเศรษฐกิจหนึ่งเดียวหรือเออีซีในสิ้นปีนี้
ทั้งสามประเทศซึ่งอาจเรียกว่า
“กลุ่มประเทศทิม” (TIM – Thailand, Indonesia and
Malaysia) ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากคลื่นมนุษย์เรือโรฮินจาในครั้งนี้
เลือกที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับผู้อพยพเหล่านี้เสมือนว่าเป็น “เผือกร้อน” ที่ไม่มีใครอยากถือครองไว้ และต่างฝ่ายต่างโยนไปโยนมา จนถึงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายๆฝ่าย
จนกระทั่ง
ฟิลิปปินส์สร้างเซอร์ไพรส์กลายเป็นประเทศแรกสุดในภูมิภาคที่ประกาศยินดีเปิดบ้านเปิดเกาะต้อนรับผู้อพยพเหล่านี้จำนวน
3
พันคน
ทั้งๆที่ฟิลิปปินส์ก็มีปัญหาประชากรแออัดล้นประเทศ(ร่วมร้อยล้านคน)และยากจนมากพอแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ชาวฟิลิปปินส์มากกว่า 12 ล้านคนก็อาศัยทำงานอยู่ในต่างประเทศเพราะไม่มีงานทำในประเทศ
แล้วทำไม
ฟิลิปปินส์จึงอาสาเป็น “พ่อพระ” ในวิกฤติมนุษย์เรือครั้งนี้?
ในด้านหนึ่ง
ฟิลิปปินส์เคยมีประสบการณ์เป็นแหล่งรองรับบรรดาผู้อพยพหลายต่อหลายครั้ง
นับตั้งแต่ชาวยิวที่หนีภัยนาซีในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่หนีภัยสงครามการเมืองภายหลังพรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดครองประเทศในปี1949
และชาวเวียดนามที่หนีภัยสงครามเวียดนามในช่วงทศวรรษที่ 1970
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ฟิลิปปินส์มีภูมิศาสตร์ตั้งอยู่ห่างไกลออกไปอีกมาก
และไม่ใช่เป้าหมายของผู้อพยพ เรียกได้ว่า ฟิลิปปินส์แทบจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤติครั้งนี้เลยก็ว่าได้
เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งสาม แม้กระทั่ง หากจะวางท่าทีเฉยเมย
เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ก็คงจะไม่มีใครตำหนิติเตียนตรงๆได้
ยิ่งกว่านั้น ดูเหมือนว่า
รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้กำหนดเงื่อนไขว่าจะต้อนรับเฉพาะผู้อพยพที่มีหลักฐานเอกสารพิสูจน์ตัวตนว่าเป็นชาวโรฮินจาที่หนีภัย(การเมือง)มาจากพม่าจริงๆ
ไม่ใช่อพยพมาจากบังคลาเทศ (เพราะเหตุผลความยากจน)
ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากในทางปฏิบัติสำหรับผู้อพยพเหล่านี้ เพราะชาวโรฮินจา ณ พ.ศ.นี้
ไม่ใช่ผู้อพยพที่หนีภัยการเมืองร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนชาวยิว
ชาวจีนและชาวเวียดนามในอดีต
บางที
อาจจะมีมนุษย์เรือโรฮินจาเข้าข่ายตามเงื่อนไขนี้หรือเต็มใจไปฟิลิปปินส์น้อยผิดคาดก็เป็นได้
ในเปอร์เซ็นต์ของความเป็นไปได้นั้น นอกเหนือจากเครดิตที่ได้รับคำชื่นชมแบบเต็มๆจากนานาประเทศแล้ว รัฐบาลมะนิลาอาจจะได้คำนวณผลทางการเมืองและวาดหวังว่า
การประกาศท่าทีช่วยเหลือชาวโรฮินจาดังกล่าว
จะส่งผลทางจิตวิทยาต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในหมู่เกาะมินดาเนาซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมและได้ทำสงครามสู้รบกับกองทัพเพื่อแยกตัวออกเป็นอิสระมานานร่วมทศวรรษ
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าอะไรจะเป็นแรงจูงใจที่แท้จริงสำหรับฟิลิปปินส์ในครั้งนี้ แต่จุดสำคัญที่สุดก็คือ การประกาศท่าที
“พ่อพระ” ของฟิลิปปินส์ดังกล่าวส่งผลทางจิตวิทยาให้เกิดแรงกระเพื่อมในทันที กลายเป็นจุดเริ่มต้นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านเริ่มขยับและเปลี่ยนแปลงท่าทีตามไปด้วยในทันที
ด้านหนึ่ง อาจจะมองและเป็นไปได้ว่า
ด้วยแรงกดดันและเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาประเทศ จนมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จึงทำให้ทั้งมาเลเซียและอินโดนิเซียจำใจต้องกลับลำเปลี่ยนนโยบาย
ด้วยการเปิดประตูยอมให้มนุษย์เรือโรฮินจาขึ้นฝั่งและให้ที่พักพิงชั่วคราวรวมกันสองประเทศไม่เกิน
7 พันคน ทั้งนี้ ภายในเงื่อนไขว่า
จะไม่รับเพิ่มเกินจำนวนนี้และประชาคมโลกจะต้องให้คำมั่นสัญญาและร่วมช่วยกันหาแห่งพักพิงใหม่ให้ผู้อพยพกลุ่มนี้ภายในระยะเวลาหนึ่งปี
แต่ในอีกด้านหนึ่งที่มีโอกาสความเป็นไปได้ว่า
ปัจจัยด้านวัฒนธรรมและศาสนาอาจจะมีส่วนสำคัญไม่น้อยที่ก่อให้เกิด “จุดเปลี่ยน”
จนถึงขั้นทำให้ทั้งรัฐบาลมาเลเซียและอินโดนิเซียต้องกลับลำ เชื่อกันว่า คำประกาศของ รัฐบาลฟิลิปปินส์ว่า ในฐานะเป็นประเทศแคธอลิคเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ จึงถือเป็นหน้าที่หรือภาระกิจแห่งมนุษยชาติที่จะต้องให้ความช่วยเหลือต่อเหล่าบรรดาผู้เดือดร้อนนั่นคือชาวโรฮินญาน่าจะส่งผลทางจิตวิทยาไม่น้อยต่อทั้งมาเลเซียและอินโดนิเซียในฐานะสองประเทศมุสลิมที่สำคัญที่สุดในอาเซียน
ซึ่งตามหลักศาสนาถือว่า
ชาวมุสลิมทั่วโลกล้วนเกี่ยวดองเป็นพี่น้องโดยไม่แยกเชื้อชาติหรือเผ่าพันธุ์
ดังนั้น
ภายหลังที่มาเลเซียและอินโดนิเซียมีท่าทีกลับลำต่อปัญหามนุษย์เรือโรฮินจาแล้ว ก็ส่งผลทำให้ประเทศมุสลิมอื่นๆอย่างแซมเบียและตุรกีประกาศยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือพี่น้องชาวโรฮินจาโดยทันที
และเชื่อว่าน่าจะจุดประกายให้กลุ่มประเทศมุสลิมอื่นๆโดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาหรับเข้ามาร่วมด้วยในลักษณะใดลักษณะหนึ่งในอนาคตอันใกล้นี้
เหมือนเช่นที่ซาอุดิอาระเบียได้ให้ที่พักพิงและสิทธิพิเศษในการจ้างงานแก่โรฮินจากว่า
4
แสนคนที่อาศัยอยู่ในประเทศเทียบเท่ากับชาวปาเลสไตน์ที่หนีภัยการเมืองมา
นอกเหนือจากมาเลเซียและอินโดนิเซียแล้ว
บทบาทและท่าทีของพม่าในฐานะเป็นหนึ่งในประเทศ “ต้นทาง”
ของปัญหาวิกฤตครั้งนี้ก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน
ท่าทีของรัฐบาลพม่าชัดเจนแจ่มแจ้งโดยไม่ต้องตีความใดๆตั้งแต่แรก
นั่นคือปฏิเสธไม่เคยยอมรับว่า โรฮินจาเป็นปัญหาของพม่าหรือเป็นพลเมืองของพม่า ดังนั้น คำว่า “โรฮินจา” จึงไม่(เคย)ปรากฏในภาษาทางราชการของพม่าเลย
รัฐบาลพม่าถือว่าชาวโรฮินจาเหล่านี้คือชาวเบงกาลีที่อพยพมาจากบังคลาเทศ(อย่างผิดกฎหมาย)
ปัญหาของมนุษย์เรือโรฮินจาจึงมีต้นกำเนิดมาจากบังคลาเทศไม่ใช่พม่า ด้วยเหตุนี้
จึงไม่ใช่ความรับผิดชอบใดๆของรัฐบาลพม่าต่อวิกฤติครั้งนี้เลย
อย่างไรก็ตาม
การปรับเปลี่ยนท่าทีของมาเลเซียและอินโดนิเซียมีส่วนสำคัญที่ทำให้รัฐบาลพม่าปรับ
เปลี่ยนตามไปด้วย
และเมื่อรัฐบาลพม่าได้รับเชิญอย่างเป็นทางการให้เข้าร่วมประชุมนานาชาติที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในวันที่
29
พฤษภาคม ศกนี้ โดยหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “โรฮินจา”
ในหนังสือเชิญตามข้อเรียกร้องของพม่า
จึงทำให้รัฐบาลพม่าตอบรับเข้าร่วมประชุมเพื่อหาทางแก้ไขวิกฤติมนุษย์เรือในครั้งนี้ด้วย
ในขณะเดียวกัน
ว่ากันว่า ถึงแม้จะมีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศอย่างร้าวลึกเป็นทุน
เดิม แต่ปัญหาคนโรฮินจากลับมีส่วนสำคัญที่ทำให้รัฐบาลทหารของประธานาธิบดีเต็งเส็งและฝ่ายประชาธิปไตยที่นำโดยนางอองซานซูจีมีท่าทีเป็นหนึ่งเดียวหรือสอดคล้องกันอย่างไม่น่าเชื่อ
ที่ผ่านๆมา
ถึงแม้จะได้ชื่อว่าเป็น “เนลสัน แมนเดลล่า” แห่งพม่า
แต่ดูเหมือนว่าอองซานซูจีกลับมีท่าทีเงียบเฉยต่อปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนพม่าและคนโรฮินจาตลอดมา
โดยเฉพาะนับตั้งแต่เกิดความรุนแรงในรัฐยะไข่เมื่อปี 2012
แต่ล่าสุด
อองซานซูจีเริ่มปรับเปลี่ยนท่าที และแสดงความเห็น(ผ่านทางโฆษก) ต่อชาวโรฮินจาเป็นครั้งแรกๆ(ในวันเดียวกันกับที่รัฐบาลฟิลิปินส์ประกาศท่าทีช่วยเหลือ)
ว่า พวกเขา(คนโรฮินจา) ต่างก็เป็นมนุษย์เพื่อนร่วมโลกที่ควรจะได้รับสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกัน กล่าวได้ว่า
การปรับเปลี่ยนทัศนคติของอองซานซูจีดังกล่าวนี้
อาจจะมีส่วนทำให้รัฐบาลเต็งเส็งต้องปรับเปลี่ยนท่าทีตามกระแสด้วย
กล่าวสำหรับประเทศไทยในฐานะประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อวิกฤติมนุษย์เรือโรฮินจาในครั้งนี้
ซึ่งถือว่าอ่อนไหวมากๆ
และเคยถูกสหประชาชาติลดอันดับฐานะของประเทศเมื่อปีที่แล้วและจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศศูนย์กลางการค้ามนุษย์ที่เลวร้ายที่สุดในโลกในระดับเดียวกับอินโดนิเซีย
เกาหลีเหนือและซีเรีย จึงยิ่งทำให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาอยู่ในภาวะ
“กลืนไม่เข้า คายไม่ออก” ถือเป็นโจทย์ที่ยากที่สุดข้อหนึ่งสำหรับรัฐบาลไทยก็ว่าได้
แต่ในที่สุด
รัฐบาลไทยเลือกดำเนินนโยบายช่วยเหลือด้วยเหตุผลทางมนุษธรรมเป็นชั่วคราว
และวางตำแหน่งประเทศให้มีฐานะเป็นประเทศ “จุดเปลี่ยน” หรือ “ทางผ่าน” (transit
country) สำหรับผู้อพยพที่จะเดินทางต่อไปยังประเทศอื่นๆ
ก่อนที่จะร่วมด้วยช่วยกันหาหนทางแก้ปัญหาในระยะยาว
แน่นอนที่สุดว่า
แนวทางแก้ไขที่ยั่งยืนที่สุดก็คือการพิจารณารากเหง้าของปัญหาที่ทำให้เกิดการอพยพซึ่งก็คือปัญหา2P
ได้แก่ปัญหาการถูกกดขี่กีดกัน (persecution)
และปัญหาความยากจน (property)
ซึ่งน่าจะมีแนวทางความเป็นไปได้หลายๆแนวทาง ดังนี้
ทางเลือกแรกซึ่งมีความเป็นไปได้น้อยที่สุดคือการ
swap นั่นคือการแลกเปลี่ยนพลเมืองระหว่างบังคลาเทศและพม่าแบบเดินข้ามพรมแดนอย่างสมัครใจ ซึ่งที่ผ่านๆมารัฐบาลพม่าเปิดประตูต้อนรับคนเชื้อสายพม่าที่อาศัยและเป็นพลเมืองของบังคลาเทศให้มาตั้งรกรากในพม่า
โดยรัฐบาลช่วยเหลือและจัดสรรหาที่อยู่ให้ ปัญหาก็คือว่า
รัฐบาลกรุงดักกาพร้อมจะต้อนรับคนเชื้อสายเบงกาลีให้กลับเข้ามาอยู่ในบ้านหลังที่เรียกว่า
“บังคลาเทศ” หรือไม่
ทางเลือกที่สอง
จากข้อมูลที่ปรากฏพบว่า
ผู้อพยพส่วนใหญ่เป็นชาวเบงกาลีที่หนีภัยความยากจนในบังคลาเทศไม่ใช่ชาวโรฮินจาที่หนีภัยการเมืองในพม่าอย่างแท้จริง ดังนั้น บังคลาเทศจึงควรร่วมรับเป็น “เจ้าภาพ”
ในการช่วยแก้และลดปัญหานี้โดยตรงด้วย
ทั้งนี้
รัฐบาลไทยอาจจะร่วมมือกับรัฐบาลบังคลาเทศในการประยุกต์และเผยแพร่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมมือกับมูฮัมหมัด ยูนูส สถาปนิกผู้ริเริ่มโครงการ Grameen
Bank หรือธนาคารคนจนที่ประสบความสำเร็จและโด่งดังไปทั่วโลก
เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์โครงการช่วยเหลือคนจนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดโครงการหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ทั้งนี้
นานาประเทศควรจะต้องให้การสนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อขับเคลื่อนโครงการนี้ให้บรรลุผลให้ได้
ทางเลือกที่สาม
ซึ่งต่อเนื่องมาจากทางเลือกที่สองก็คือการส่งเสริมการลงทุนที่ก่อให้เกิดการจ้างงานและรายได้ โดยเฉพาะในเขตบริเวณชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีพรมแดนติดกับรัฐยะไข่ของพม่า
และเป็นเขตที่ชาวเบงกาลีนิยมขึ้นเรือเริ่มต้นอพยพออกสู่ทะเลกว้าง
จุดขึ้นเรือ cox bazar ของชาวโรฮินจาทางตะวันออกเฉียงใต้ ของบังคลาเทศ ซึ่งมีชายหาดที่ยาวที่สุดในโลก |
โดยข้อเท็จจริงแล้ว
เขตชายฝั่งบริเวณอ่าวเบงกอลนี้มีฐานะเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศอยู่แล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น เป็นเขตที่มีชายทะเลยาวที่สุดในโลกร่วมร้อยกิโลเมตร จึงมีศักยภาพและแรงจูงใจสำหรับนักลงทุนต่างประเทศไม่น้อย กล่าวสำหรับนักลงทุนไทย
ธุรกิจการทำประมงซึ่งมีแรงงานให้เลือกอย่างเหลือเฟือพร้อมทั้งทรัพยากรทางทะเลอย่างสมบูรณ์ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีไม่น้อย
สำหรับโครงการขนาดใหญ่อื่นๆที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก อาเซียนควรจะทำหน้าที่ประสานสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างบังคลาเทศและพม่า
โดยอาศัยเงินลงทุนจากประเทศอาหรับและจีนเป็นหลัก
ทั้งหลายทั้งปวง
เพื่อทำให้ปัญหามนุษย์เรือได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืนที่สุด
.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น