22 ธันวาคม 2557

“ทีมนี้สีน้ำเงิน” : สีเสื้อกับความเชื่อในเกมฟุตบอล

'

มนุษย์กับความเชื่อเป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่กันมานานนับพันปี และถึงแม้เทคโนโลยีจะก้าวไกลไปมากแค่ไหน แต่มนุษย์ก็ยังคงมีความเชื่อที่ดูไร้เหตุผลหรือในสิ่งที่ยากจะพิสูจน์ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ได้ จึงไม่เป็นที่สงสัยว่า ใน(เกือบ)ทุกๆย่างก้าวของชีวิต ใน(เกือบ)ทุกๆอิริยาบถของกิจวัตรประจำวัน  ในหลายๆกาละและเทศะของกิจกรรมมนุษย์เรา  และในทุกๆวัฒนธรรมจึงจะมักจะมีกลิ่นอายหรืออิทธิพลของความเชื่ออยู่ไม่น้อย

เช่นเดียวกับในวงการกีฬาฟุตบอล  ด้วยเหตุว่า ชัยชนะเป็นสิ่งที่หอมหวลและพึงปรารถนาของทุกๆทีม และด้วยเหตุว่าฝีเท้าและความสามารถที่เหนือกว่าไม่ได้เป็นหลักประกันความมีชัยที่แน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์เสมอไป  แต่ต้องอาศัยดวงและโชคให้ช่วยบ้าง  ดังนั้น มนุษย์เราจึงเพียงพยายามในแต่ละหนทางที่เพื่อเป็นหลักประกันว่า อย่างน้อยที่สุดจะไม่พ่ายแพ้ และอย่างมากที่สุดคือชัยชนะ หนึ่งในนั้นก็คือการถือเคล็ดถือโชคในเรื่องสีเสื้อ

 


บราซิลเป็นทีมแรกๆในโลกลูกหนังที่ถือเคล็ดมีความเชื่อในเรื่องดวงของสีเสื้ออย่างชัดเจน การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกครั้งแรกในปี 1950 นั้น บราซิลมุ่งหวังและมั่นใจอย่างสุดๆว่าจะคว้าแชมป์โลกครั้งแรกในประวัติศาสตร์แบบแบเบอร์  แต่สุดท้ายบราซิลก็ผิดพลาดแล้วผิดหวังไปทั้งประเทศ    กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับสีเสื้อของทีมชาติบราซิล

ผลแห่งความพ่ายแพ้ครั้งนั้น ทำให้เสื้อสีขาวที่ทีมชาติบราซิลสวมใส่กลายเป็นสีแห่งโชคร้าย เพราะนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา บราซิลได้เปลี่ยนสีเสื้อมาเป็นสีเหลืองที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของบราซิลจนถึงปัจจุบันนี้  กลายเป็นเสื้อสีเหลืองที่ศักดิ์สิทธิที่สุดในโลกลูกหนังก็ว่าได้ 







แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถึงแม้ว่า บราซิลคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกสมัยแรกในปี 1958 ในชุดเสื้อน้ำเงิน (เนื่องจากสวีเดนคู่ชิงได้สิทธิใส่เสื้อสีเหลืองในฐานะเจ้าภาพ)  แต่ทีมแซมบ้าก็ยังยึดมั่นถือดวงกับเสื้อสีเหลืองไม่เปลี่ยนแปลง  สามารถคว้าแชมป์โลกในชุดสีเหลืองแซมบ้าได้เป็นครั้งแรกในปี 1962  และในปี 1970 ถือเป็นครั้งแรกที่โลกได้เห็นชุดสีเหลืองของบราซิลคว้าแชมป์โลก (สมัยที่ 3) อร่ามเป็นครั้งแรกทางจอทีวีสี

ในประเทศอังกฤษเอง มีคนกว่า 15 ล้านคนที่มีความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติและถือเคล็ดถือดวง  โทนสีขาวถูกเลือกให้เป็นสีแรกของทีมชาติสิงโตคำรามเมื่อปี 1872 และใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้ แต่ในช่วงระยะเวลา 142 ปีนี้ สีเหลืองถูกเลือกมาใช้น้อยที่สุดเพียงแค่ 3 แมทช์ (ในช่วงปี 1973) โดยไม่มีชัยชนะ จึงต้องถูกยกเลิกและไม่เคยปรากฏให้เห็นอีกเลย เพราะถือว่าไม่ใช่สีเสื้อนำโชค 








ในทางกลับกัน  การสวมใส่เสื้อสีแดงและเอาชนะเยอรมันตะวันตกจนคว้าแชมป์โลกสมัยแรก(ในปี 1966) ทำให้คนอังกฤษเชื่อว่า สีแดงคือสีนำโชค (นอกเหนือจากสถิติที่บ่งบอกว่าสโมสรที่สวมใส่เสื้อสีแดงประสบความสำเร็จมากที่สุดในประเทศ) และมักจะเลือกใส่สีแดงในเกือบทุกครั้งที่เจอกับทีมชาติอินทรีย์เหล็กเพื่อเป็นการฤกษ์เอาชัย   แต่โชคไม่ได้เข้าข้างอังกฤษตามที่วาดหวังถือเป็นเคล็ดอีกเลยเพราะสถิติบ่งบอกเช่นนั้น  อังกฤษพ่ายแพ้แก่ทีมเยอรมันตะวันตกในการแข่งขันฟุตบอลโลกที่เม็กซิโกในปี 1970, แพ้ในศึกฟุตบอลยูโร 1972, เสมอในฟุตบอลโลก 1982, ชนะเพียงครั้งเดียวในศึกยูโร 2000 (แต่ทั้งอังกฤษและเยอรมันก็ตกรอบแรกด้วยกันทั้งคู่), แพ้คาบ้านในสนามเวมบลีย์ในศึกฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกปี 2002 และล่าสุด แพ้อย่างย่อยยับในศึกครั้งสุดในฟุตบอลโลก 2010  จนคนอังกฤษถึงคราวต้องยอมรับว่า เสื้อสีแดงหมดความขลังไปตั้งแต่คว้าแชมป์ในปี 1966 แล้ว และเชื่อว่า ทีมอังกฤษคงจะเลิกล้มถือเคล็ดโชคสีแดงหากต้องเจอกับทีมเยอรมันในอนาคตก็เป็นได้






สีนำเงินเฉิดฉายเฉพาะวันกระชับมิตร


อาร์เจนติน่าในชุดฟ้าขาวคือสีเสื้อที่คุ้นตาแฟนลูกหนังทั่วโลกมากที่สุด คว้าแชมป์โลก 2 สมัยในปี 1978 และ 1986 แต่ดูเหมือนว่า ลิโอเนล เมสซี่ จะมีดวงกับสีเสื้อสีน้ำเงิน(ชุดทีมเยือน)มากกว่า  สถิติการการยิงประตูแรกในนามทีมชาติ สถิติการยิงประตูแรกในศึกฟุตบอลโลก สถิติการโหม่งทำประตูแรก  การทำแฮกทริกแรก และได้รับปลอกแขนให้เป็นกัปตันทีมครั้งแรกล้วนเกิดขึ้นในแมทช์ที่เมสซี่ใส่เสื้อสีน้ำเงินเข้ม(ไม่ใช่ชุดเก่งสีฟ้าขาว)  แต่ในขณะเดียวกัน ถึงแม้ว่า สีน้ำเงินเข้มนี้อาจจะถูกชะตากับเมสซี่ แต่ไม่ใช่สีถูกโฉลกกับทีมชาติอาร์เจนติน่าอย่างแน่นอน(เมื่อเทียบกับสีฟ้าขาว) เพราะในวันที่ใส่เสื้อสีน้ำเงิน อาร์เจนติน่าพ่ายแพ้ตกรอบควอเตอร์ไฟนัลให้ทีมเยอรมันในปี 2006  แพ้ต่ออุรุกวัยตกรอบแรกในศึกโคป้าอเมริกาปี 2011 และล่าสุด พ่ายแพ้ให้กับทีมเยอรมนีในนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก 2014

หลายๆทีมชาติมีเหตุผลและความเชื่อที่แตกต่างกันที่จะเลือกสีเสื้อประจำโดยไม่จำเป็นต้องเหมือน ตรงหรือปรากฏในธงชาติ   โดยเฉพาะทีมยักษ์ใหญ่อย่างเยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์และญี่ปุ่น  ในส่วนของทีมอิตาลีนั้น ถือว่าเป็นทีมหนึ่งที่ยึดมั่นและผูกติดกับสีน้ำเงินมาตลอดกว่า 7 ทศวรรษโดยแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะถือว่าเป็นสีที่ถูกโฉลกที่สุดแล้วที่ทำให้คว้าแชมป์โลกถึง 4 สมัย








ในขณะที่เนเธอร์แลนด์หรือทีม Oranje  เลือกใช้สีส้มเป็นสีประจำทีมมาโดยตลอดร่วมศตววรษ (ยกเว้นเฉพาะในช่วงปี 1934 ทีใช้สีน้ำเงิน)  เป็นทีมเก่งระดับโลกที่ทำได้เพียงแค่ตำแหน่งแชมป์ฟุตบอลยุโรปสมัยเดียว  แต่สถิติบ่งบอกว่า ในสองทัวร์นาเมนท์ที่เนเธอร์แลนด์เลือกใช้สีดำเป็นชุดทีมเยือน ทีมจะล้มเหลวอย่างไม่น่าเชื่อ นั่นคือตกรอบคัดเลือกในศึกฟุตบอลโลกปี 2002 (ทั้งๆที่มีนักเตะระดับโลกท่วมทีม และล้มเหลวที่สุดในศึกยูโร 2012 ด้วยผลงานแพ้ 3 นัดรวดตกรอบแรกพลิกความคาดหมาย ตอกย้ำว่า สีดำเป็นสีอัปโชคสำหรับชาวดัทช์ และยากที่จะเห็นทีมกังหันสีส้มเลือกใช้สีดำอีกครั้งในอนาคต

ญี่ปุ่นเป็นอีกชาติหนึ่งที่เลือกสีเสื้อด้วยเหตุผลของความเชื่อและดวงเป็นหลัก ทีมชาติญี่ปุ่นประเดิมลงสนามในแมมช์แรกแห่งประวัติศาสตร์ลูกหนังของญี่ปุ่นในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคปี 1938 ด้วยการใส่เสื้อสีน้ำเงินและสามารถเอาชนะสวีเดนได้  หลังจากนั้นสีน้ำเงินจึงถูกเลือกให้เป็นสีโฉลกประจำทีม Samurai Blue มาโดยตลอด





ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างปี 1988-1991 ทีมชาติญี่ปุ่นทดลองฝืนดวงโดยเลือกใส่เสื้อสีแดงกางแกงขาว(ตามสีธงชาติ) ปรากฏว่า ทำผลงานได้อย่างย่ำแย่ทั้งในการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกและกีฬาโอลิมปิค  จนส่งผลทำให้สีแดงหายสาบสูญแทบจะไม่เคยโผล่มาให้เห็นอีกเลย   และคนญี่ปุ่นก็ประจักษ์ดีว่าสีน้ำเงินคือสีแห่งโชคที่ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นทีมเอเซียที่มีประสบความสำเร็จมากที่สุดในรอบทศวรรษเพราะแต่ละทีมล้วนวาดหวังที่จะให้โชคอำนวย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายๆทีมจะพกพาความเชื่อและถือเคล็ดต่างๆนานา  รวมทั้งมาเลเซียคู่ชิงของทีมชาติไทยในศึก AFF Suzuki Cup 2014 ล่าสุด สดๆร้อนๆด้วย





สีเหลืองเป็นสีประจำทีมชาติมาเลเซียมาตั้งแต่ต้น เพราะเป็นสีประจำของสถาบันสุลต่าน และมีนิ๊กเนมว่า “Yellow Tiger” หรือ เสือเหลือง  แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำสีน้ำเงินกลายเป็นสีนำโชค ก็คือการที่นักเตะมาเลเซียสวมใส่เสื้อสีน้ำเงินคว้าแชมป์ซีเกมส์ที่เวียงจันทร์ในปี 2010 ซึ่งถือเป็นแชมป์แรกในรอบ 20 ปีของมาเลเซีย 

 หลังจากนั้นในปีต่อมา ในศึก AFF Suzuki Cup 2010  มาเลเซียไม่รู้จักชนะเมื่อเป็น เสือเหลืองแต่กลับโชว์ฟอร์มไร้พ่ายเมื่อกลายพันธุ์เป็น “Blue Tiger” อย่างน่ามหัศจรรย์จนคว้าแชมป์มาครองเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มาเลเซียจึงมาความเชื่อมาตลอดว่า สีน้ำเงินคือสีนำโชคนำชัย





ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้ มาเลเซียเลือกใส่เสื้อสีน้ำเงินในนัดชิงชนะเลิศนัดที่สองกับทีมชาติไทย แทนที่จะเป็นชุดสีเหลืองในฐานะเจ้าบ้าน  ด้วยความเชื่อว่า โชคจะซ้ำรอยนำพาแชมป์มาให้มาเลเซียอีกครั้งเหมือนเช่นในปี 2010





ในขณะเดียวกัน ด้วยเหตุเป็นทีมเยือนที่ต้องยินยอมเสียสิทธิการเลือกสีเสื้อให้เจ้าบ้านก่อน  ทีมชาติไทยก็แก้เคล็ดด้วยการเขียนบ่งบอก เสื้อนี้สีนำเงินบนชายเสื้อสีแดง ราวกับตอกย้ำว่า once blue, blue forever ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ไหน และไม่ว่าเสื้อตัวนั้นสีอะไรก็ตาม แต่เสื้อตัวนี้ สีน้ำเงินเสมอ



เหมือนเช่นการแก้เคล็ดของหลุยส์ อะราโกเนส อดีตยอดผู้จัดการทีมชาติสเปน ผู้ริเริ่มเปลี่ยนแปลงและทำให้ทีมกระทิงดุยิ่งใหญ่ไร้เทียมทาน เพราะเชื่อว่าสีเหลืองเป็นสีอับโชคเอามากๆ(ทั้งๆที่เป็นสีในธงชาติ) แต่เมื่อไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้  จึงแก้เคล็ดโดยการเปลี่ยนโทนสีและเรียกว่าสีทองหรือสีคัสตาร์ค แทน  ทีมชาติสเปนจึงไม่โชคร้ายหรือดวงเสียเพราะสีเสื้อเลย





นอกจากนี้ สโมสรอังกฤษทุกสโมสรที่มีคนไทยเข้าไปเกี่ยวข้องล้วนแต่เกี่ยวข้องกับสีน้ำเงินอย่างน่าบังเอิญ ตั้งแต่สโมสรเอฟเวอร์ตัน ที่มีบริษัทไทยเป็นสปอนเซอร์ รวมไปถึงสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เลสเตอร์ และเรดดิ้ง ที่มีคนไทยเป็นเจ้าของ ล้วนแต่เป็นทีมสีบลูทั้งสิ้น




ประการสำคัญต่อมา มาเลเซียคงจะลืมดูประวัติศาสตร์ย้อนหลังว่า ชื่อของ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง” นั้นมีดวงที่ข่มมาเลเซียอยู่ในที เพราะเคยเป็นผู้ยัดเยียดความปราชัยให้แก่ทีมมาเลเซียในศึกไทเกอร์คัพครั้งที่ 1 นัดชิงชนะเลิศเมื่อปี 1996 

ด้วยพระบารมีของ "พ่อหลวง" อย่างแท้จริง

เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมดก็คือ ทีมชาติไทยโชคดีที่สุดที่ได้รับกำลังใจจาก พ่อหลวงกลายเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่สามารถพลิกกลับเอาชนะดวงของมาเลเซีย  คว้าแชมป์เป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปีชนิดที่คนไทยมีความสุขปลื้มไปทั้งประเทศ




'

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มอเตอร์ หรือ สติกเกอร์

เมื่อตอนที่ Real Madrid ทีมดังในสเปนตัดสินใจขาย Claude Makelele ให้กับทีม Chelsea แล้วซื้อ David Beckham มาแทนที่ในช่วงกลางปี 2003 ปรา...