ในที่สุด การลงประชามติครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เพื่อตัดสินอนาคตของสก๊อตแลนด์ก็ผ่านพ้นไปได้อย่างที่ผู้นำทั้งในลอนดอนและทั่วโลกรู้สึก
“โล่งอก” ไปตามๆกัน ภายหลังจากที่ชาวสก๊อตสองล้านคนหรือร้อยละ 55.3 โหวต No ต้องการให้สก๊อตแลนด์ยังคงป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรร่วมกับอังกฤษ
เวลล์และไอร์แลนด์เหนือต่อไป
ถือเป็นการความดับความฝันของบรรดาผู้นำและผู้สนับสนุน “Yes
Scotland” ที่วาดหวังและวางแผนกำหนดการจะประกาศเอกราชจัดตั้งประเทศสก๊อตแลนด์อย่างเป็นทางการในวันที่
24 มีนาคม 2016 อย่างสิ้นเชิง
ว่ากันว่า
ความคิดความฝันของคนสก๊อต(ส่วนหนึ่ง)ที่ต้องการเป็นอิสระและเอกเทศมีมาตั้งแต่เริ่มแรกที่เข้าร่วมยูเนียนกับอังกฤษเมื่อ
307 ปีที่แล้วและยังสืบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันอย่างไม่เสื่อมคลาย จุดเริ่มต้นที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนและนำมาสู่การลงประชามติในครั้งนี้เกิดขึ้นในปี
1997 เมื่อโทนี่ แบลร์สามารถก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีสังกัดพรรคแรงงานคนแรกในรอบ
18 ปี พร้อมทั้งเปิดไฟเขียวให้มีการถ่ายโอนอำนาจ (devolution) ให้แก่สก๊อตแลนด์มากขึ้น เพราะคำนวณ(ผิดพลาด?)ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสหราชอาณาจักรมากกว่าผลเสียหาย
จากการถ่ายโอนอำนาจในการบริหารกิจการภายในให้แก่สก๊อตแลนด์มากขึ้น
นำสู่การจัดตั้งรัฐสภาเป็นของตัวเองในปี 1999
(เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 3 ศตวรรษ)
จุดประกายความหวังให้แก่คนสก๊อตได้เชื่อมั่นว่าถึงเวลาแล้วที่สก๊อตแลนด์จะแยกมาตั้งเป็นประเทศใหม่ การเลือกตั้งครั้งล่าสุดในสก๊อตแลนด์เมื่อปี
2011 พรรคแห่งชาติสก๊อตแลนด์ (SNP) ซึ่งมีนโยบายหลักในการผลักดันเรื่องการลงประชามติชนะการเลือกตั้งได้ครองเสียงข้างมากเป็นครั้งแรก
ในขณะที่ พรรคแรงงานพ่ายแพ้เป็นครั้งแรกเป็นครั้งแรกในรอบแปดทศวรรษ
กลายเป็นแรงผลักดันทำให้รัฐบาลของนายดาวิด คาเมรอนต้องคิดหนัก และสุดท้ายก็เห็นชอบ(ในเดือนตุลาคม
2012)ให้มีการมีการประชามติที่มีผลผูกมัดตามรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่
18 กันยายนที่ผ่านมา
การลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์นี้
กลายเป็นประเด็นที่นานาประเทศให้ความสนใจติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะหวั่นเกรงว่าความสำเร็จของสก๊อตแลนด์จะกลายเป็น
“ไวรัส” ที่แพร่กระจายไปยังประเทศอื่นๆและเป็นโมเดลที่จะกระตุ้นผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบเดียวกันทั่วโลก
จึงไม่เป็นที่สงสัยว่า ทำไมผู้นำของหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะสเปน จีน แคนาดา
ออสเตรเลีย สหรัฐฯ สหภาพยุโรป(อียู) อินเดีย ต่างร่วมใจกัน “แทรกแซง”
แสดงท่าทีคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการแยกตัวเป็นอิสระของสก๊อตแลนด์ในครั้งนี้อย่างออกนอกหน้า