16 มีนาคม 2556

คดีปราสาทพระวิหาร: ข้อคิดและแนวทางต่อสู้ทางกฎหมาย

.




PACIS TUTELA APUD JUDICEM - การส่งเสริมสันติภาพเป็นภาระหน้าที่ของผู้พิพากษา

เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๕๓ ราชอาณาจักรกัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก)ให้ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารที่ศาลมีคำพิพากษาไปแล้วในปี พ.ศ.๒๕๐๕ พร้อมกับมีคำขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศออกมาตรการฉุกเฉินจำนวน ๓ ประการ ได้แก่
ประการที่หนึ่ง ให้รัฐบาลไทยต้องถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่พิพาทรอบปราสาทพระวิหารทันที
ประการที่สอง  ห้ามรัฐบาลไทยเคลื่อนไหวทางการทหารที่มีผลกระทบต่อสิทธิของราชอาณาจักรกัมพูชา
ประการที่สาม  ห้ามสร้างความขัดแย้งชายแดนจนกว่าศาลโลกจะตีความคำพิพากษาเสร็จสมบูรณ์
ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ศาลโลกได้มีคำสั่งจำนวน ๗ ประการ โดยแยกเป็นคำสั่งมาตรการชั่วคราวจำนวน ๔ ประการ และคำสั่งทั่วไปจำนวน ๓ ประการ ได้แก่  

คำสั่งมาตรการชั่วคราว(provisional measures order) จำนวน ๔ ข้อ ประกอบด้วย
หนึ่ง  ให้ทั้งไทยและกัมพูชา ถอนกำลังทหารออกจากเขตปลอดทหารชั่วคราว (provisional demilitarized zone) ทันที ตามร่างแผนที่(sketch map)ที่ศาลโลกได้กำหนด รวมทั้งห้ามทั้งไทยและกัมพูชาวางกำลังทหารในเขตหรือดำเนินกิจกรรมทางอาวุธใดๆที่มุ่งหมายไปยังเขตดังกล่าว
สอง  ให้ไทยแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่ให้ขัดขวางกัมพูชาในการเข้าถึงปราสาทพระวิหารอย่างอิสระ(free access) รวมทั้งการส่งเสบียง (fresh supplies /ravitailler)ให้แก่เจ้าหน้าที่ที่มิใช่ทหารของฝ่ายกัมพูชาในปราสาทพระวิหาร
สาม  ให้ทั้งไทยและกัมพูชาร่วมมือกันตามกรอบของอาเซียน และต้องอนุญาตให้คณะผู้สังเกตการณ์จากอาเซียนสามารถเข้าไปยังเขตปลอดทหารชั่วคราวดังกล่าวได้ และ
สี่  ให้ทั้งไทยและกัมพูชาละเว้นจากกิจกรรมใดๆที่จะทำให้สถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างกันเลวร้ายหรือรุนแรงมากขึ้น หรือทำให้ปัญหาข้อพิพาทมีความยากลำบากยิ่งขึ้นในการที่จะแก้ไข

คำสั่งทั่วไป จำนวน ๓ ข้อ  ประกอบด้วย
หนึ่ง สั่งไม่จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ (ศาลโลกรับคดีนี้ไว้พิจารณา)
สอง  ให้ทั้งไทยและกัมพูชาต้องรายงานให้ศาลโลกทราบถึงการปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวที่ศาลโลกสั่งทั้งสี่ประการ  และ
สาม  สั่งว่าศาลโลกยังคงสามารถพิจารณาประเด็นใดๆที่มีสาระเกี่ยวข้องกับมาตรการชั่วคราวต่อไปได้ จนกว่าศาลโลกจะมีคำพิพากษากรณีที่ทางกัมพูชาร้องขอให้ศาลโลกตีความตามคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ.๒๕๐๕
โดยศาลโลกอาจเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขคำสั่งที่เกี่ยวกับมาตรการชั่วคราวที่ศาลโลกมีคำสั่งไว้ได้หากมีเหตุการณ์หรือข้อเท็จจริงใหม่ ที่ทั้งไทยและกัมพูชาหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอให้ศาลโลกพิจารณา 

ทั้งนี้  ทั้งไทยและกัมพูชาก็ได้ปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลโลกโดยเฉพาะการถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ที่ศาลโลกเรียกว่าเขตปลอดทหารชั่วคราว ซึ่งเป็นพื้นที่ตามที่ปรากฏในร่างแผนที่ที่ศาลโลกได้กำหนด  นั่นคือพื้นที่บริเวณโดยรอบตัวปราสาทพระวิหารและพื้นที่ใกล้เคียงบางส่วน  ซึ่งโดยพื้นที่ส่วนใหญ่ที่อยู่ในร่างแผนที่ที่ศาลโลกกำหนดให้ถอนทหารจะอยู่ในเขตแดนของไทยและพื้นที่ส่วนน้อยจะอยู่ในเขตแดนของกัมพูชา โดยการเจรจาและท่าทีที่เป็นมิตรต่อกันทั้งของกัมพูชาและไทยที่ผ่านมาก็ทำให้เห็นภาพความร่วมมือระหว่างสองประเทศดำเนินการไปด้วยดี   






เขาพระวิหาร -อาถรรพ์แห่งความขัดแย้ง




ในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๕๖ ศาลโลกได้กำหนดวันนัดพิจารณาคดีดังกล่าวในศาลที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์  ทางกัมพูชาก็จะมีการส่งทีมงานกฏหมายนำพยานหลักฐานเข้าสืบพิสูจน์เพื่อให้ศาลเห็นและมีคำสั่งหรือมีคำพิพากษาให้เป็นตามที่กัมพูชาร้องขอ และในขณะเดียวกันไทยเราก็จะส่งทีมงานกฏหมายนำพยานหลักฐานเข้าสืบพิสูจน์หักล้างคำร้องขอของกัมพูชาเพื่อให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องของกัมพูชาและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ทีมงานกฏหมายไทยจะนำสืบหักล้างอย่างไรให้ศาลโลกเห็นพ้องด้วยกับฝ่ายเราจนศาลมีคำสั่งยกคำร้องของกัมพูชาและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ผู้เขียนเห็นว่ามีข้อพิจารณา ๔ ประการที่ทีมกฏหมายของไทยควรจะต้องให้ความสำคัญ ประกอบด้วย

ประการแรก   ในปี พ.ศ.๒๕๐๕ การต่อสู้คดีปราสาทพระวิหาร ฝ่ายไทยได้โต้แย้งคัดค้านเขตอำนาจศาลโลก(Preliminary Objection)ด้วย แต่เมื่อศาลโลกได้มีคำพิพากษาให้ฝ่ายกัมพูชาชนะคดีดังกล่าวซึ่งได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหาแห่งคดีแล้ว  ขั้นตอนหลังจากศาลโลกมีคำพิพากษาแล้ว(Post Adjudicative Phrase)ไม่มีหน่วยงานที่จะทำหน้าที่บังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษา (Enforcement Unit)โดยตรงเหมือนศาลยุติธรรมภายในประเทศ แต่กฎบัตรสหประชาชาติ ข้อ ๙๔(๒) กำหนดให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ(UN Security Council) มีดุลพินิจ(Discretion) ในการที่จะออกคำแนะนำ(Recommendation) หรือมาตรการ (Measure) เพื่อให้คำพิพากษาศาลโลกมีผลใช้บังคับได้  เนื่องจากกฎบัตรสหประชาชาติ ข้อ ๙๔(๑) บัญญัติให้ รัฐที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติจะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา ซึ่งคดีนี้ศาลโลกเองก็ไม่ได้มีการออกคำบังคับเพื่อให้มีการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษา(Enforcement) แต่ประการใด แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยสมัยนั้นก็ได้มีหนังสือไปถึงเลขาธิการสหประชาชาติว่าไทยยอมรับที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าว ซึ่งผลที่เกิดขึ้นเท่ากับว่าฝ่ายไทยยอมรับเขตอำนาจศาลโลกแบบคำประกาศฝ่ายเดียวหรือเป็นการปฏิบัติตามคำพิพากษาฝ่ายเดียว (Single Compliance )ในเฉพาะคดีดังกล่าวเท่านั้น และไทยเราก็ได้ปฏิบัติครบถ้วนตามที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลโลกคดีดังกล่าวแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๕ ในฐานะสมาชิกที่ดีขององค์การสหประชาติ ซึ่งจนถึงขณะนี้ระยะเวลาก็ได้ล่วงเลยผ่านพ้นมาเป็นเวลากว่า ๕๐ ปีแล้ว
  
ประการที่สอง  ภายหลังจากศาลโลกมีคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารโดยใช้หลักกฏหมายปิดปาก (estoppel) ที่ศาลยกประเด็นว่าไทยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านแผนที่ระวางอัตรา ๑ :๒๐๐,๐๐๐ ที่ฝรั่งเศสจัดทำขึ้นในสมัยที่กัมพูชาเป็นประเทศอาณานิคมของฝรั่งเศส  มีผลเท่ากับว่าไทยยอมรับที่จะผูกพันตามแผนที่ดังกล่าวมาพิพากษาให้ไทยแพ้คดีแล้ว ไทยก็ได้ให้การยอมรับปฎิบัติจนครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลโลกทุกประการในฐานะของสมาชิกสหประชาชาติที่ดี   โดยยอมรับว่าเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา และรัฐบาลไทยในขณะนั้นก็ได้มีหนังสือเพื่อตั้งข้อสงวนสิทธิ์และดำเนินการล้อมรั้วลวดหนามรอบตัวปราสาทพระวิหารเพื่อกำหนดให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพื้นที่บริเวณภายนอกโดยรอบตัวปราสาทพระวิหารเป็นของไทย และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทางรัฐบาลกัมพูชาก็ไม่เคยมีการอุทธรณ์คำพิพากษา และไม่เคยโต้แย้งหรือท้วงติงว่าการกระทำดังกล่าวของไทยเป็นการละเมิดคำพิพากษาและเป็นการละเมิดอธิปไตยของกัมพูชาแต่ประการใด 


พระวิหาร - เรื่องกลุ่มใจสุดๆของรัฐมนตรีต่างประเทศ




การที่กัมพูชาไม่เคยอุทธรณ์คำพิพากษาคดี ปราสาทพระวิหารและไม่เคยโต้แย้งหรือคัดค้านการล้อมรั้วลวดหนามรอบตัวปราสาท พระวิหารเพื่อกำหนดให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพื้นที่บริเวณภายนอกโดยรอบตัว ปราสาทพระวิหารเป็นของไทย  เพราะฉะนั้น ผลทางกฏหมายก็เท่ากับว่าฝ่ายกัมพูชายอมรับมาตลอดแล้วว่าเฉพาะตัวปราสาทพระ วิหารเป็นของกัมพูชาและพื้นที่โดยรอบตัวปราสาทพระวิหารเป็นของไทยมาโดยตลอด  ดังนั้น  หากคำพิพากษาศาลโลกมีมาตรฐาน หลักกฎหมายปิดปากที่ศาลโลกเคยใช้ในคดีดังกล่าวเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ ก็(ควร)จะต้องถูกยกขึ้นมาอ้างอิงและใช้ในการวินิจฉัยคดีนี้ด้วยเช่นกัน 

ประการที่สาม  การแสดงให้เห็นว่ามีการยอมรับเขตอำนาจศาลโลก สามารถกระทำได้ ๒ แนวทางคือ แนวทางแรก  เป็นการยอมรับอำนาจเขตศาลแบบคำประกาศฝ่ายเดียว และแนวทางที่สอง เป็นการยอมรับเขตอำนาจศาลแบบทำความตกลงเป็นพิเศษ(Special Agreement) โดยรัฐที่เป็นคู่พิพาทยินยอมพร้อมใจหรือตกลงกันให้นำเสนอข้อพิพาทให้ศาลโลก พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด ปัจจุบันไทยไม่ได้เป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยศาลโลก เพราะความเป็นภาคีสมาชิกของไทยสิ้นสุดลงพร้อมกับคำพิพากษาศาลโลกที่ตัดสิน ให้ปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชาในปี พ.ศ.๒๕๐๕ แล้ว หลังจากนั้นต่อมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันไทยก็ยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกของ ศาลโลกอีก และไทยก็ไม่ได้มีการแสดงให้เห็นว่า มีการยอมรับเขตอำนาจศาลโลก ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับอำนาจเขตศาลแบบคำประกาศฝ่ายเดียว หรือเป็นการยอมรับเขตอำนาจศาลแบบทำความตกลงเป็นพิเศษ

ประการสุดท้าย การยื่นคำร้องของกัมพูชาครั้งนี้เพื่อให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระ วิหารที่เคยตัดสินไปแล้วในปี พ.ศ.๒๕๐๕ ดังกล่าวจะถือว่าเป็นการเสนอข้อพิพาทขึ้นใหม่ของกัมพูชา หรือเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษา ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเด็นหลักที่ฝ่ายกัมพูชามุ่งประสงค์ให้ศาลโลกวินิจฉัยตาม คำร้องคดีนี้นั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพื้นที่โดยรอบตัวปราสาทพระวิหาร ไม่ใช่ให้วินิจฉัยชี้ขาดตัวปราสาทพระวิหารโดยตรง ดังนั้นการยื่นคำร้องคดีดังกล่าวจึงไม่เป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาเนื่องจากคดี เดิมนั้นได้ล่วงพ้นระยะเวลามาเกินกว่าสิบปีแล้วและคดีดังกล่าวก็ได้ถึงที่ สุดไปแล้ว และไม่ใช่เป็นการเสนอข้อพิพาทขึ้นใหม่เนื่องจากการยื่นคำร้องของกัมพูชา ครั้งนี้เป็นเพียงการขอให้ศาลโลกอธิบายคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารที่เคยตัดสินไปแล้วในปี พ.ศ.๒๕๐๕ ดังกล่าวว่า จริงๆแล้วคำพิพากษาคดีดังกล่าวกินความรวมถึงพื้นที่อื่นๆ(ตามร่างแผนที่แนบท้ายคำร้องของกัมพูชา) ที่อยู่โดยรอบตัวปราสาทพระวิหารด้วยหรือไม่เท่านั้น  ซึ่งการยื่นคำร้องขอให้ศาลอธิบายคำพิพากษาตามหลักกฏหมายทั่วไปจะกระทำได้ก็ต่อ เมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่เข้าใจคำพิพากษาและไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไร เพื่อให้ถูกต้องตามคำพิพากษาได้ และการยื่นคำร้องขอให้อธิบายคำพิพากษากรณีที่มีคู่ความทั้งสองฝ่ายคู่ความทั้งสองฝ่ายจะต้องเป็นผู้ยื่นคำร้องร่วมกัน แต่คดีนี้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้ศาลอธิบายคำพิพากษา เนื่องจากคำพิพากษาในคดีดังกล่าวได้วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดีโดยชัดแจ้งแล้ว โดยทั้งไทยและกัมพูชาเข้าใจคำพิพากษาดีโดยไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์หรือโต้แย้งคัด ค้านคำพิพากษาคดีดังกล่าวและไทยก็ได้ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษาอย่าง ครบถ้วนแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๕ ซึ่งกัมพูชาก็ยอมรับมาโดยตลอดและไม่เคยโต้แย้งหรือคัดค้านการล้อมรั้วลวด หนามรอบตัวปราสาทพระวิหารเพื่อกำหนดให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา  ส่วนพื้นที่บริเวณภายนอกโดยรอบตัวปราสาทพระวิหารเป็นของไทย หากศาลโลกจะวินิจฉัยในเรื่องของพื้นที่ดังกล่าวอีกก็จะไม่เป็นการอธิบายคำ พิพากษาแต่จะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดก้าวล่วงเข้าไปในเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่อง เขตแดนโดยไม่มีกฏหมายที่จะให้อำนาจศาลโลกกระทำได้


พระราชวังสันติภาพ - สถานที่ตั้งของศาลโลก - คำตัดสินที่จะนำสู่สันติภาพ?





การวินิจฉัยชี้ขาดคดีนี้ของศาลโลกจะเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่า ศาลโลกจะเป็นศาลที่ส่งเสริมสันติภาพหรือส่งเสริมสงคราม ซึ่งคงไม่นานเกินรอก็จะได้รู้กัน แต่ใครก็ตามที่ร่วมสมคบคิดกันใช้อำนาจศาลโลกเพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการทำให้ไทยต้องเสียดินแดน พึงระลึกให้จงหนักว่าการกระทำใดๆก็ตามถ้ามีผลให้มีการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือมีผลให้ราชอาณาจักรหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรตกไปอยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐต่างประเทศ หรือทำให้เอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งเขตอำนาจรัฐเสื่อมเสียไป จะเป็นการละเมิดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๑ ที่บัญญัติว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้และอาจถูกดำเนินคดีอาญาในฐานความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๙  ที่บัญญัติว่า ผู้ใดกระทำการใดๆเพื่อให้ราชอาณาจักรหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรตกไปอยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐต่างประเทศ หรือเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิตได้ ซึ่งผู้เขียนและคนไทยทั้งประเทศมีหน้าที่ป้องกันประเทศ รักษาผลประโยชน์ของชาติ และปฏิบัติตามกฏหมาย ก็คงไม่อาจนิ่งเฉยอย่างแน่นอน

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนและคนไทยทั้งประเทศยังมีความหวังและมีความเชื่อมั่นว่าไม่ว่าศาลโลกจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร แต่ด้วยศักยภาพของรัฐบาลในขณะนี้คงจะจัดการกับเรื่องดังกล่าวให้ลุล่วงไปได้ด้วยดีโดยไม่มีการสูญเสียอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน ในขณะเดียวกันเราก็สามารถที่จะปฏิสัมพันธ์กับกัมพูชา มิตรประเทศอื่นๆและองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรีต่อไป





อุดมศักดิ์ โหมดม่วง


อ่าน ""พระวิหารพิพาท : ฤาจะสู้เพื่อแพ้?

.

7 มีนาคม 2556

ฤกษ์งามยามบังเอิญ

.





คนไทยมีความเชื่อและยอมรับต่อพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ ที่สามารถส่งผลดีหรือผลร้ายต่อชีวิตของคนหนึ่งๆได้อย่างน่าอัศจรรย์
ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง แต่คนไทยก็ยอมรับการดำรงอยู่ของความเชื่อหนึ่งๆ และให้ความเคารพเกรงกลัว
 บางคนยอมรับในเรื่องอิทธิพลและการดำรงอยู่ของความเชื่ออย่างมากจนถูกมองว่างมงายเกินเหตุ แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นเรื่องยากที่ใครสักคนหนึ่งจะเป็นอิสระจากอิทธิพลของความเชื่อได้อย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะการปรามอยู่ในทีสำหรับใครก็ตามที่ปฏิเสธการดำรงอยู่ของความเชื่อด้วยคำเตือนว่า ไม่เชื่ออย่าลบหลู่
 ด้วยความเชื่อที่มีต่อสิ่งหนึ่งๆ อย่างไม่มีข้อสงสัย จนถึงขั้นเลื่อมใสและเห็นดีเห็นงาม จึงทำให้เกิดพฤติกรรมต่างๆตามมา เพื่อสนองตอบต่อความเชื่อนั้นๆ
ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นผู้นำในสังคมไทยแสดงออกซึ่งพฤติกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับการดำรงอยู่ของความเชื่อหนึ่งๆอย่างชัดเจน โดยเฉพาะความเชื่อที่เกี่ยวกับฤกษ์ยามและตัวเลข รวมถึงเรื่องเคล็ดต่างๆ
ผู้นำแต่ละคนจะมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมและจำเป็นเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง เพื่อสร้างเสริมกำลังใจ และขอพรให้ประสบความสำเร็จความสมหวังในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง 
การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนที่สะท้อนให้เห็นถึงข้อเท็จจริงนี้  พฤติกรรมหลายๆประการของทั้งม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตรและพล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญสะท้อนให้เห็นถึงข้อเท็จจริงนี้อย่างชัดเจนตลอดช่วงระยะเวลาของการเลือกตั้งครั้งนี้




          

        ถึงแม้ว่าจะร่ำเรียนศึกษาในต่างประเทศตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงปริญญาโทนานกว่า 15 ปี แต่หม่อมสุขุมพันธุ์ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำคนหนึ่งที่เชื่อถือในเรื่องของโชคลางและสิ่งศักดิ์สิทธิค่อนข้างมาก และมีพฤติกรรมที่สะท้อนถึงเรื่องความเชื่อที่โดดเด่นมาก (เมื่อเทียบกับผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย)
      


รอยยิ้มกับหมายเลข 16 ที่ไม่ได้ปรารถนา?


        จะเห็นได้ว่า ก่อนถึงเวลาจับสลากเลือกหมายเลขผู้สมัคร หม่อมสุขุมพันธุ์ไปสักการะพระพุทธรูปประจำศาลาว่าการ กทม. เพื่อเป็นการเอาฤกษ์เอาชัย  หลังจากนั้น เมื่อจับสลากได้หมายเลขแล้ว  ก็เดินทางต่อไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ศาลหลักเมืองและพระบรมรูปทรงม้า เพื่อทำการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อความเป็นสิริมงคล

       ถึง แม้ว่าจะผิดหวังที่จับฉลากได้หมายเลข 16 เพราะเชื่อและหวังจะได้หมายเลข 2 ซึ่งถือเป็นเลขนำโชคอีกครั้งมากกว่า เพราะเคยประสบประสบความสำเร็จได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าสมัยแรกเมื่อปี 2552




เดินสายสักกาะระไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์







แต่เมื่ออดวงชะตากำหนดให้ได้หมายเลข 16 ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ หม่อมสุขุมพันธุ์ก็ยังสามารถหาเหตุผลเพื่อสร้างเสริมกำลังใจ ด้วยการอ้างอิงว่า หมายเลข 16 เป็นหมายเลขที่ถูกโฉลกเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะมีฐานะเป็นผู้ว่ากทม.คนที่ 16 พอดิบพอดีหากชนะการเลือกตั้งครั้งนี้
ไม่เพียงแต่เท่านั้น หม่อมสุขุมพันธุ์ก็ยังถือฤกษ์เวลา 8.16 เดินทางไปถึงคูหาเลือกตั้งที่โรงเรียนศรีอยุธยาเพื่อเอาชัย  แต่เมื่อกำลังจะกาบัตร ก็ให้เกิดปัญหาบังเอิญปากกาภายในคูหาเขียนไม่ติด จนหม่อมสุขุมพันธุ์ต้องใช้ปากกาของตนเองมากาบัตรลงคะแนนแทน ด้วยสีหน้าไม่ค่อยสู้ดีเพราะหวั่นว่าจะเป็นลางไม่ดี   แน่นอนที่สุดว่า ณ วินาทีนั้น เชื่อได้ว่า หม่อมสุขุมพันธุ์เริ่มหวั่นวิตกกับความเชื่อบางประการที่อาจจะไม่ส่งผลดีต่อตัวเอง
ทั้งนี้ ก่อนจะเดินทางไปยังคูหาเลือกตั้งตามฤกษ์เวลาดังกล่าว หม่อมสุขุมพันธุ์ก็ได้พยายามใช้ทุกโอกาสเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลและแน่นอนที่สุดเพื่อความสมหวังสมปรารถนา  หม่อมสุขุมพันธุ์เดินทางไปสักการะเสาพ่อฟ้าแม่ดิน บริเวณด้านหน้าทางเข้าโบสถ์ณ วัดสุทัศน์เทพวรารามวรมหาราชวิหาร พร้อมทั้งเข้าไปกราบไหว้องค์พระศรีศากยมุนี พระประธานภายในพระวิหารวัดสุทัศน์ฯ ก่อนออกมาไหว้พระบรมราชาอนุสาวรีย์รัชการที่ 8 ที่อยู่ในวัด


ดินทางถึงคูหาเลือกตั้งเวลา 8.16 ในชุดเสื้อตัวเก่งนำโชค





ยิ่งไปกว่านั้น หม่อมสุขุมพันธุ์ก็ยังถือโอกาสวันเลือกตั้งนี้เอาฤกษ์เอาชัยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้และทำในเกือบทุกรูปแบบ   จะเห็นได้ว่า ในเช้าวันเลือกตั้งนี้ หม่อมสุขุมพันธุ์เลือกสวมเสื้อโปโลลายขวางสีกรมท่า แดง เขียวเป็นเคล็ด เพราะเชื่อว่าเป็นเสื้อตัวเก่งนำโชคนำชัย เพราะหม่อมสุขุมพันธุ์จะประสบชัยชนะในทุกการเลือกตั้งที่ใส่เสื้อตัวเก่งตัวนี้ นับตั้งแต่ปี 2539 ถึงแม้ว่าจะเป็นเสื้อที่เก่าเก็บกว่า 16 ปีจนสีดูซีดไประดับหนึ่งก็ตาม
ภายหลังหลังการเลือกตั้งสิ้นสุดลงและทราบผลอย่างไม่เป็นทางการ หม่อมสุขุมพันธุ์ก็ได้เดินทางไปยังที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์   และทันที่ที่ไปถึง หม่อมสุขุมพันธุ์ตรงเข้าไปคุกเข่า พนมมือและหลับตาเพื่อสักการะ(และขอบคุณ)พระแม่ธรณีบีบมวยผม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำพรรคที่(หม่อมสุขุมพันธุ์เชื่อว่า)เป็นกำลังใจทำให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในครั้งนี้
ในวันรุ่งขึ้น ก่อนที่จะเดินทางไปถวายพระพรและนำแจกันดอกไม้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ณ ศาลาศิริราชร้อยปี โรงพยาบาลศิริราช หม่อมสุขุมพันธุ์ก็ได้ไปสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
ทางด้านของผู้สมัครพรรคเพื่อไทยอย่างพล.ต.อ.พงศพัศก็มีพฤติกรรมที่ไม่แตกต่างจากผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์มากนัก 


ดีใจเป็นที่สุดกับโชคหมายเลข 9


การเริ่มต้นของพล.ต.อ.พงศพัศต้องถือว่าดวงดีและโชคดีกว่าหม่อมสุขุมพันธุ์มาก ทั้งๆที่เป็นผู้จับสลากคนสุดท้าย แต่ก็จับได้หมายเลข 9 ซึ่งถือเป็นหมายเลขที่สังคมไทยเชื่อว่าเป็นมงคลที่สุด  
โชคดีของพล.ต.อ.พงศพัศลำดับต่อมาที่อาจจะเรียกว่าชะตาลิขิตหรือความบังเอิญก็ได้  เพราะไม่เพียงแต่เกิดวันที่ 9 ธันวาคมเท่านั้น แต่ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยรายนี้พักอาศัยอยู่บ้านเลขที่  19 และอยู่ในลำดับที่ 19 ของบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งประจำหน่วยเลือกตั้งภายในกองบัญชาการศึกษาแขวงลาดยาว เขตจตุจักร
สำหรับผู้สนับสนุนพล.ต.อ.พงศพัศย่อมมีความเชื่อว่า ความบังเอิญดังกล่าวนี้เป็นเรื่องของชะตาลิขิต แต่ภายใต้ทฤษฏีสมคบคิด ผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ย่อมมีเหตุผลที่ยากจะเห็นคล้อยตามได้ และตั้งข้อสงสัยว่า เป็นเรื่องความบังเอิญหรือความตั้งใจที่ทำให้ได้ลำดับที่ 19 ในบัญชีรายชื่อเพื่อให้ถูกโฉลก(เพื่อผลในชัยชนะ?)  โดยลูกสาวและภรรยาอยู่ในลำดับที่ 17 และ 18 ตามลำดับ



งวดวันที่ 16 กพ. รวยอย่างเดียวกัยเลขท้าย 909 ถึง 16 ใบ


ความบังเอิญต่อมาก็คือผลการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดกลางเดือนกุมภาพันธ์   ซึ่งปรากฏผลเลขท้าย 2 ตัวหมายเลข 09 และเลขท้าย 3 ตัวหมายเลข 109  จนทำให้เกิดกระแสความเป็นไปได้ของทฤษฏีสมคบคิดไปทั่วแผ่นดิน เพราะเชื่อว่าเป็นเรื่องยากเกินกว่าที่จะเกิดความบังเอิญเช่นนี้ได้ เพียง 2 อาทิตย์ก่อนถึงวันเลือกตั้ง
แต่สิ่งอื่นๆที่อยู่นอกเหนือจากความบังเอิญหรือชะตาลิขิต ก็เป็นสิ่งที่พล.ต.อ.พงศพัศสามารถกำหนดและแสดงออกซึ่งพฤติกรรมที่สะท้อนให้เห็นว่ามีความเชื่อในเรื่องของโชคลางและสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างเหนียวแน่น  โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับหมายเลข 9 ในทุกโอกาสที่เอื้ออำนวยเพื่อตอกย้ำลัคกี้นัมเบอร์นี้
ครั้งหนึ่ง พล.ต.อ.พงศพัศตั้งใจลงมือทำขนมถ้วยจำนวน 9 ถ้วย รวมทั้ง ร่วมแต่งหน้าเค๊กเป็นหมายเลข 9
ครั้งหนึ่ง  ในช่วงเดินทางลงพื้นที่หาเสียงที่ ตลาดอมรพันธ์ 9  พล.ต.อ.พงศพัศก็ถือโอกาสนี้
ทอดปาท่องโก๋เป็นรูปหมายเลข 9 และหั่นซี่โครงหมู 9 ชิ้นอย่างตั้งใจ  

เตรียมปาท่องโก๋หมายเลข 9



ช่างหมูได้ 9 ขีด


ครั้งหนึ่ง ในระหว่างการเดินหาเสียงบริเวณตลาดกลางดินแดง ซอยประชาสงเคราะห์ 9  พล.ต.อ.พงศพัศได้เจตนาอย่างชัดเจน โดยได้นำหมูสดที่แผงขายหมูขึ้นชั่งกิโลได้ 9 ขีด (พอดิบพอดีอย่างบังเอิญ?)โชว์สื่อมวลชน ในขณะเดียวกัน บรรดาพ่อค้าแม่ค้าผู้สนับสนุนต่างก็ช่วยกันแสดงออกเพื่อเป็นการให้ฤกษ์ให้ชัยแก่ผู้สมัครหมายเลข 9 ท่านนี้ ไม่ว่าจะเป็นการ ลดราคาข้าวปลาอาหารเหลือเพียง 9 บาท แกงส้มถุงละ 9 บาท มะละกอใบละ 9 บาท และหมูปิ้ง 2 ไม้ 9 บาท
ในเช้าวันเลือกตั้ง พล.ต.อ.พงศพัศผู้มีดีกรีปริญญาทางด้านอาชญาวิทยาจากสหรัฐฯก็เดินทางไปทำบุญถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ที่วัดศรีมหาธาตุฯบางเขนเป็นศิริมงคลก่อนที่จะเดินทางไปถึงคูหาเลือกตั้ง ณ เวลา 9.39 ซึ่งถือเป็นเวลาฤกษ์งามยามดีตามความเชื่อ  


พล.ต.อ.พงศพัศและผู้สนับสนุนตระหนักดีว่า ด้วยคะแนนฐานกว่า 9 แสนเสียงที่หม่อมสุขุมพันธุ์ได้รับเลือกเมื่อสี่ปีที่แล้วนั้น ย่อมทำให้ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยเสียเปรียบค่อนข้างมากถึงมาก 
แต่ถึงที่สุดแล้ว ถึงแม้ว่าจะได้รับคะแนนเสียงกว่า 1,077,899 คะแนน และคะแนนเสียงก็ลงท้ายด้วยหมายเลข 9 ถึงสองตัว (ด้วยความบังเอิญจนทำให้เชื่อว่าถูกโฉลกกับหมายเลข 9 จริงๆ) ก็ยังไม่มีเพียงพอที่จะทำให้ได้รับเลือกเป็นผู้ว่ากทม.คนใหม่ได้ แบบเจ็บกระดองใจ
หากมองย้อนกลับไป  ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่า พล.ต.อ.พงศพัศจะโชคดีถึงที่สุดได้เป็นผู้ว่าฯกทม.หรือไม่ หากที่ประชุมพรรคเพื่อไทยมีมติเสนอชื่อพล.ต.อ.พงศพัศเป็นผู้สมัครในนามพรรคในวันที่ 9 มกราคม (แทนที่จะเป็นวันที่ 8 มกราคม)  เพื่อตอกย้ำความบังเอิญหรือโชคชะตาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น


"อดุยย์" ผบ.ตร.คนที่ 9 คนปัจจุบัน





และถึงจะไม่ได้โชคดีจนถึงที่สุด  แต่อย่างน้อย  เส้นทางในอาชีพตำรวจผู้พิทักษ์สันติราษฏร์ของพล.ต.อ.พงศพัศก็น่าจะแจ่มใสก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดได้ เพราะมีอายุราชการจนถึงปี 2559 แม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้บัญชาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนที่ 9 ก็ตาม




.

3 มีนาคม 2556

ทำไม "หม่อมสุขุมพันธุ์" จึงชนะเลือกตั้ง?

.


ที่สุดแล้ว, ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตรก็ชนะการเลือกตั้งได้เป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานครคนที่ 16 ด้วยเหตุปัจจัยหลายๆประการ


มีปัจจัยมูลเหตุมูลผล 4-5 ข้อที่อาจช่วยอธิบายว่า ทำไมม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตรจึงสามารถชนะเลือกตั้งเป็นผู้ว่ากทม. เป็นสมัยที่่สองอย่างชนิดหักคีย์บอร์ดของเจ้าสำนักโพลล์ต่างๆ 




สองผู้สมัครหลักสำหรับตำแหน่งผู้ว่าฯกรุงเทพฯ


หนึ่ง ต้องยอมรับว่าปัจจัยด้านสถิติมีผลในระดับหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้ ในสหรัฐฯ การเลือกตั้งประธานาธิบดีทุกๆครั้งมักจะนำเอาสถิติต่างๆมาเป็นองค์ประกอบเพื่อพิจารณาว่า ผู้สมัครคนไหนมีโอกาสชนะการเลือกตั้งมากกว่ากัน

คนอเมริกันเชื่อว่า ใครก็ตามที่ชนะการเลือกตั้งในรัฐโอไฮโอจะได้รับเลือกเป็นผู้นำประเทศ สถิตินี้ยืนยาวมากว่าเกือบ 6 ทศวรรษแล้ว 

คนอเมริกันเชื่อว่า  ไม่มีใครที่จะชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีได้ หากไม่สามารถชนะในรัฐที่เป็นฐานทางการเมืองของตัวเอง หรือเป็นรัฐที่ผู้สมัครคนนั้นๆเป็นวุฒิสมาชิกมาก่อน

เมื่อพิจารณาดูพฤติกรรมการเลือกตั้งของคนกรุงเทพฯจะพบเห็นสถิติที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง นั่นคือ คนกรุงเทพฯมีพฤติกรรมเลือกผู้สมัครที่ไม่ได้สังกัดพรรครัฐบาล หรืออีกนัยหนึ่ง คนกรุงเทพฯอยากได้ผู้ว่าฯที่ไม่ได้อยู่พรรคเดียวกับพรรครัฐบาล หรือเป็นผู้สมัครที่ไม่ได้ใกล้ชิดหรือผูกพันกับพรรครัฐบาล


สอง  โดยวัฒนธรรมของคนไทยแล้ว ไม่ค่อยยอมรับการดูถูกปรามาสถึงแม้จะเป็นความจริงก็ตาม จะเห็นได้ว่า การที่คุณพิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในขณะนั้นเรียกขานเปรียบเปรยพลตรีจำลอง ศรีเมืองว่าเป็น "สินค้าแบกะดิน" เมื่อเทียบกับ "สินค้าห้าง" ของพรรค ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้มหาจำลองสร้างประวัติศาสตร์ชนะการเลือกตั้งเป็นผู้ว่ากทม.ในปี 2528 อย่างพลิกความคาดหมาย



พลตรีจำลอง ศรีเมืองในวันที่เป็น "สินค้าแบกะดิน"
เพราะฉะนั้นแล้ว คำพูดที่ว่า "ส่งเสาไฟฟ้าลงก็ชนะ" ของคนฝั่งพรรคเพื่อไทยสำหรับการเลือกตั้งในปี 2556 จึงกลายเป็นมุมเมอแรงย้อนกลับมาเล่นงานแบบ "ยิงเข้าประตูตัวเอง" อย่างไรอย่างนั้น  เป็นคำพูดที่ปรามาสดูถูกคนในเมืองหลวงที่มีระดับการศึกษาสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ

สาม ช่วงตลอดการหาเสียงกว่า 2 เดือนก่อนถึงวันเลือกตั้งในวันที่ 3 มีนาคม   พรรรคปชป.พยายาม remind หรือตอกย้ำเตือนให้คนกรุงเทพฯหวนนึกถึงภาพเก่าๆเมื่อวันที่เมืองหลวงของประเทศถูกเผา มีการนำเสนอภาพ(ตัดต่อ)เพื่อเชื่อมโยงให้เห็น ย้ำเตือนอย่าให้อดีตตามมาหลอกหลอนคนกรุงได้อีก



ภาพ "เผาบ้านเผาเมือง" ที่ตัดต่อเพื่อผลทางการเมือง

ก่อนหน้านี้   กลยุทธ์ตอนหาเสียงเลือกตั้งส.ส.ของปชป.คือการพยายามนำเสนอให้คนกรุงต้องเลือกว่า (ถ้า) ไม่เลือกเรา เขามาแน่แต่ในการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.ครั้งนี้ การเผาบ้านเผากรุงยังเป็นภาพในอดีตแห่งความทรงจำที่ยากจะลืมเลือนได้ในทันที  การตอกย้ำเพื่อเชื่อมโยงเหตุการณ์การเผากรุงเมื่อสองสามปีก่อนไม่ได้ต้องการให้คนกรุงหวาดกลัวตามที่นักวิเคราะห์นักวิชาการรวมทั้งคุณพานทองแท้ ชินวัตรที่ระบุว่า คนกรุงจำเใจเลือกหม่อมสุขุมพันธุ์เพราะความกลัวเช่นว่านี้ แต่น่าจะมีเจตนาเพื่อปลุกต่อมอารมณ์เจ็บแค้นของคนกรุงเป็นสำคัญ  

การเลือกหม่อมสุขุมพันธุ์ ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า จะไม่มีการเผาเมืองหลวงอีกในวันหน้า และถ้าหากคนกรุงกลัวจริงแล้วตามที่มีการวิเคราะห์กล่าวอ้างถึง ทำไมจึงไม่ปรากฏวาทกรรมทางสื่อรณรงค์เพื่อผลชนะทางการเมืองในทำนองว่า "ถ้าเลือกเราไม่มีเผา ถ้าเลือกเขามีเผาแน่" อะไรทำนองนี้

เพระการตอกย้ำและเผยแพร่วาทกรรม "การเผาเมือง" ที่ทำให้คนกรุงยังรู้สึกเจ็บแค้นไม่ลืมเลือนจนได้ผล ซึ่งปรากฏว่ากลยุทธ์ได้ผลอย่างมหาศาล เพราะผลการเลือกตั้งสะท้อนให้เห็นว่า ในที่สุดคนกรุงก็ตัดสินใจ "เผาเสาไฟฟ้า"  เป็นการลงโทษ(?)

ถ้าหากจะมีความกลัวอยู่ในใจ เชื่อว่า คนกรุงเทพฯน่าจะกลัวอยู่ 2 อย่าง และมีความพยายามรณรงค์อย่างเด่นชัดจนประสบผล

หนึ่ง กลัวว่าพรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยจะครองประเทศอย่างเบ็ดเสร็จทั้งรัฐบาลและกรุงเทพฯ

สอง กลัวว่านายจตุพร พรหมพันธุ์จะร่วมทีมเป็นรองผู้ว่าฯหากผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง



ผู้อาวุโสแห่งปชป.ที่ยังมี "เสียง" เหลืออยู่


สี่ ท่าทีของผู้ใหญ่อาวุโสของพรรคปชป. อย่างคุณพิชัย รัตตกุลก็ต้องถือว่ามีส่วนสำคัญ(ทางอ้อม)ในการดึงคนรุ่นใหม่ให้เทคะแนนเสียงเลือกหม่อมสุขุมพันธุ์อย่างไม่น่าเชื่อ เรียกว่าเป็นกลยุทธที่ทางฝั่งพรรคเพื่อไทยคงคาดไม่ถึงเช่นกัน 

ทั้งนี้ การที่คนรุ่นใหม่ตัดสินใจเลือกหม่อมสุขุมพันธุ์  อาจจะไม่ใช่เพราะศรัทธาหม่อมสุขุมพันธุ์โดยตรง  แต่เพราะชื่นชอบคุณคุณอภิสิทธิ์มากกว่า เพราะคนรุ่นใหม่ในเมืองหลวงจำนวนมากชื่นชอบคุณอภิสิทธิ์เป็นทุนเดิม ความเห็นของคุณพิชัย(ที่โดยส่วนตัวแล้วก็ไม่ค่อยปลื้มกับบทบาทและภาวะผู้นำของคุณอภิสิทธิสักเท่าไหร่) และเรียกร้องให้คุณอภิสิทธิรับผิดชอบโดยการลาออกจากจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปชป. หากหม่อมสุขุมพันธุ์พ่ายแพ้  จึงเป็นเสมือนกุศโลบายหนึ่งที่ฝั่งพรรคเพื่อไทยมองข้ามไป  เพราะคนรุ่นใหม่เหล่านี้ ไม่ต้องการเห็นคุณอภิสิทธิต้องเจอสภาวะถูกกดดันให้ลาออก      เพราะฉะนั้นจึงอาจจะเป็นไปได้ว่า สำหรับแฟนคลับของคุณอภิสิทธิ์แล้ว การช่วยกันเลือกหม่อมสุขุมพันธุ์คือการช่วยชีวิต(ทางการเมือง)ของคุณอภิสิทธิ์นั่นเอง

ห้า ในบรรดาผู้สมัครทั้งหมดปฏิเสธไม่ได้ว่า หม่อมสุขุมพันธุ์แสดงออกซึ่งอารมณ์ความรู้สึกในฐานะมนุษย์ธรรมดาสามัญคนหนึ่งได้ชัดเจนมากกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ในช่วงเกือบสองเดือนกว่าที่ผ่านมา หม่อมสุขุมพันธ์สร้างสถิติเป็นผู้นำที่หลั่งน้ำตาบ่อยครั้งที่สุดก็ว่าได้  ถึงแม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์โจมตีจากฝ่ายคู่แข่งทางการเมืองว่า "เป็นผู้นำขี้งอแง"  แต่ใครจะเชื่อว่า การหลั่งน้ำตาแต่ละครั้งของหม่อมสุขุมพันธ์กลับได้รับผลดี ได้รับความเห็นใจและคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

ในวันที่จำใจต้องลาออกจากตำแหน่ง (9 มกราคม)และไปรับทราบข้อกล่าวหาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอในคดีการต่อสัญญาจ้างการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการขนส่งมวลชน น้ำตาหยดแรกของหม่อมสุขุมพันธ์ก็ปรากฏให้เห็นต่อสาธารณชน



น้ำตาหยดนี้เพื่อต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม(?)

หม่อมสุขุมพันธ์พยายามสื่อให้เห็นว่า น้ำตาหยดนี้คือเครื่องมือหรืออาวุธที่มีไว้ต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม(จากดีเอสไอ) พร้อมทั้งใช้น้ำตาเรียกร้องขอความเห็นใจและขอโอกาสกลับมารับใช้ชาวกรุงเทพฯอีกสมัย

ดูเหมือนว่า หม่อมสุขุมพันธ์จะรู้จักการเลือก "เล่น" กับน้ำตาได้อย่างน่าชื่นชมและเป็นประโยชน์ โดยไม่แยแสกับคำวิจารณ์กล่าวหาว่าเป็นผู้นำขี้งอแง ตราบเท่าทีน้ำตานั้นเรียกคะแนนเสียงโหวตได้ เหมือนเช่นผู้นำในต่างประเทศหลายๆคน โดยเฉพาะผู้นำสหรัฐฯอย่างบิลล์ คลินตัน จอร์จ บุชและบารัค โอบาม่า ที่รู้จัก "เล่น" กับน้ำตาและหลั่งน้ำตาได้อย่างถูกกาละเทศะ


ผู้ว่าฯงอแงที่คนกรุงเทพฯยังเลือก


ในช่วงสถานการณ์ที่โพลล์เกือบทุกสำนักออกมาเป็นแนวทางเดียวกันหมดแบบฟันธงว่า หม่อมสุขุมพันธ์มีคะแนนเป็นรองพลตำรวจเอกพงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยไม่น้อย ด้วยเหตุนี้ น้ำตาจึงถูกเลือกเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่นำมาใช้ในช่วงโค้งสุดท้าย 2-3 วันก่อนถึงวันเลือกตั้ง 


น้ำตาหยดนี้ชนะใจ "นก" ได้ทีเดียว 2 ตัว

ในการแถลงข่าว ณ ที่ทำการพรรคปชป. เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์  หม่อมสุขุมพันธ์ได้แถลงเปิดอกเปิดใจด้วยน้ำเสียงสั่นเครือและน้ำตาคลอเบ้าว่า  ถึงแม้ว่าจะมีข้อบกพร่องในระหว่างบริหารกทม. แต่สามารถตอบคำถามกับบรรพบุรุษว่าได้ทำงานเพื่อกทม.อย่างทุ่มเท เสียสละและสุจริต  หม่อมสุขุมพันธ์ได้ถือโอกาสนี้ พรั่งพรูความรู้สึกในใจออกมาอย่างชนิดเพื่อหวังผลหวังคะแนนเสียงอย่างชัดเจนว่า


           “ถ้าผมจะหยุดหายใจในวันนี้ชีวิตผมก็คุ้มค่าที่ได้ทำงานให้คนกทม. เพราะผมเป็นคน กทม.    
           บรรพบุรุษของผมก็เป็นคนกทม. ได้ร่วมสร้างกทม.มาแล้วกว่า 200 ปี และผมก็รักกทม.แม้จะไป
           เรียนที่ต่างประเทศ แต่วันที่ผมนั่งเครื่องบินมาถึงดอนเมืองเห็นกรุงเทพแล้วผมร้องไห้ ซึ่งวันนี้
           ผมก็ดีใจที่ได้ทำงานเพื่อคน กทม. 


ด้วยโทนของคำพูดเช่นนี้ที่พรั่งพรูออกมาพร้อมน้ำตาย่อมสร้างความประทับใจให้กับคนกรุงเทพฯอย่างแน่นอน และเป็นการตอกย้ำว่า หม่อมสุขุมพันธ์คือผู้ที่เหมาะสมที่สุดทั้งสายเลือดและจิตวิญญาณสำหรับตำแหน่งผู้ว่าเมืองหลวงของประเทศ

นอกจากนี้  การกล่าวขอบคุณทั้งน้ำตาต่อพรรคปชป.ที่ให้โอกาสลงสมัครในนามพรรคครั้งที่ 2 ทั้งๆที่มีเสียงต่อต้านมากพอสมควร  ก็น่าจะมีผลทำให้หม่อมสุขุมพันธ์ได้ใจสามารถหลอมใจคนในพรรคปชป.รณรงค์หาเสียงร่วมกันเป็นพลังหนึ่งเดียวจนได้รับชัยชนะ


เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวก็ว่าได้ 

วันต่อมา ในการปราศรัย "รวมพลังคนรักกรุงเทพฯ เลือกเบอร์ 16" ที่สวนเบญจสิริ หม่อมสุขุมพันธ์ไม่อายที่จะหลั่งน้ำตาอีก(สัก)ครั้งต่อหน้าสาธารณชน เป็นการหลั่งน้ำตาของผู้นำที่เราไม่ค่อยเห็นกันบ่อยนักในสังคมการเมืองไทย ที่ยังคงเชื่อว่า ผู้นำจะต้องไม่ร้องไห้หลั่งน้ำตาให้ใครเห็น


น้ำตาในวันปราศรัย

ไม่ว่าน้ำตาหลายๆหยดที่หลั่งออกมาจะเป็นกลกุบาย กลยุทธ์หรือเกิดจากความอัดอั้นตันใจที่หลั่งออกมาจากก้นบึ้งของหัวใจโดยธรรมชาติจริงๆ  แต่น้ำตาก็มีผลช่วยทำให้หม่อมสุขุมพันธ์มีเสน่ห์ที่แตกต่างจากพลตำรวจเอกพงศพัศ(ผู้ยืนยันว่าเป็นคนไม่มีน้ำตา) ไม่มากก็น้อย

ในต่างประเทศโดยเฉพาะในสหรัฐฯ  การพิจารณาผู้นำคนหนึ่งๆนั้น ไ่ม่ได้พิจารณาดูเฉพาะภาวะผู้นำหรือความเป็นผู้นำเพียงด้านเดียวเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญในมุมของความเป็นมนุษย์ ที่มีความรู้สึกเหมือนคนธรรมดาคนหนึ่งๆด้วย

ตัวอย่างล่าสุดของประธานาธิบดีบารัก โอบาม่าอาจจะสามารถเทียบเคียงได้กับกรณีของหม่อมสุขุมพันธ์ได้ใกล้เีคียงที่สุด จะเห็นได้ว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ  บารัก โอบาม่าได้ปราศรัยหาเสียงพร้อมกับหลั่งน้ำตาบนเวทีสุดท้ายต่อหน้าสาธารณชนกว่า 2 หมื่นคน ณ มลรัฐไอโอวาเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ก่อนที่จะคว้าชัยเป็นผู้นำประเทศอย่างขาดลอย

น้ำตาอาบแก้มของบารัก โอบาม่า


ว่ากันว่า "น้ำตา" สามารถเชื่อมโยงผู้นำกับประชาชนได้เป็นอย่างดี และน้ำตาเป็นเครื่องบ่งบอกว่า สุดท้ายแล้ว ไม่มีความแตกต่างระหว่างคนที่เป็นผู้นำกับคนธรรมดาทั่วไป

ภายหลังจากชนะเลือกตั้งได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำอีกหนึ่งสมัย  บารัก โอบาม่าก็กล่าวขอบคุณ(อย่างจริงใจ?)คนเมริกันผู้สนับสนุนทั้งน้ำตา เช่นเดียวกับผู้นำรัสเซียอย่างประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินที่หลั่งน้ำตากล่าวขอบคุณคนรัสเซียน อย่างชนิดที่ไม่มีใครคาดหวังมาก่อนว่าจะเห็นน้ำตาจากผู้นำที่มีบุคลิกเข้มแข็งเช่นนี้


น้ำตาอาบแก้มของวลาดิเมียร์ ปูติน

น่าเสียดายว่า หม่อมสุขุมพันธ์พลาดโอกาสทองที่จะหลั่งน้ำตาขอบคุณเสียงสวรรค์ที่ช่วยสนับสนุนให้ชนะเลือกตั้งเหมือนอย่างเช่นผู้นำสหรัฐฯและรัสเซีย กลายเป็นว่า ผู้ว่าฯคนใหม่ไม่มีน้ำตาในวันที่ขอบคุณคนกรุงเทพฯ

แต่กลับกลายเป็นว่า  นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรแถลงขอบคุณและยอมรับผลการเลือกตั้งร่วมกับพลตำรวจเอกพงศพัศด้วยน้ำเสียงสั่นเครือและมีน้ำตาซืม


เป็นการหลั่งน้ำตายอมรับความพ่ายแพ้โดยดุษฏี(?)



.

มอเตอร์ หรือ สติกเกอร์

เมื่อตอนที่ Real Madrid ทีมดังในสเปนตัดสินใจขาย Claude Makelele ให้กับทีม Chelsea แล้วซื้อ David Beckham มาแทนที่ในช่วงกลางปี 2003 ปรา...