12 ตุลาคม 2553

ชีวิตผู้นำเมื่อก้าวลงจากหลังเสือ





จิมมี่ คาร์เตอร์ใช้ฝีมือทางช่างไม้ เพื่อสร้างบ้านให้กับคนยากไร้ 


         น่าสนใจว่า ชีวิตของผู้นำแต่ละคนเมื่อก้าวลงจากหลังเสือแล้วเลือกจะดำเนินชีวิตแบบไหน อย่างไร ซึ่งดูเหมือนมีไม่กี่ทางเลือก



จิมมี่ คาร์เตอร์กับความพยายามสร้างสันติภาพในปาเลสไตน์

       ทางหนึ่ง อุทิศตัวเพื่อสังคมด้วยอุดมคติอุดมการณ์หรือคิดว่า "ชื่อ" ยังขายได้ ยังมี
บารมีที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคม กลายเป็นอดีตผู้นำที่ได้รับคำชื่นชมเป็นตัวอย่างที่ดี เรียกว่าอุทิศตัวทำงานรับใช้สังคมมากยิ่งกว่าช่วงที่ยังอยู่ในตำแหน่งเสียอีก  หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือกรณีของจิมมี่ คาร์เตอร์อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ
เมื่อร่วมสามสิบปีก่อน  ถึงแม้จะได้ชื่อว่าเป็นผู้นำสหรัฐฯที่เก่งน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ แต่ในอีกด้านหนึ่ง จิมมี่ คาร์เตอร์ก็ได้ชื่อว่าเป็นอดีตผู้นำสหรัฐฯที่มีบทบาทต่อสังคมน่าชื่นชมมากที่สุดคนหนึ่ง โดยเฉพาะบทบาทที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกในความพยายามที่จะนำสันติภาพมาสู่มวลมนุษยชาติ จนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ



จิมมี่ คาร์เตอร์กับรางวัลโนเบล

           จิมมี่ คาร์เตอร์มีอุดมการณ์ที่แรงกล้าจะสร้างชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ชาวโลกเรียกว่ายึดหลัก "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ให้แก่ชาวโลกโดยไม่แยกสีผิวและความเชื่อ เคยเดินทางมาประเทศไทยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิที่ภูเก็ตและสร้างบ้านให้แก่ผู้ยากไร้ที่เชียงใหม่ตามโครงการ Habitat for Humanity 
          ณ วันนี้ จิมมี คาร์เตอร์ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายที่สุด ได้รับยกย่องว่าเป็นอดีตผู้นำที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ



อัล กอร์กับบทบาทใหม่ที่ลงตัว
      เช่นเดียวกับบทบาทของอัล กอร์อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯในยุคบิล คลินตันที่นับตั้งแต่พลาดหวังพ่ายแพ้การเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีให้แก่จอร์จ บุชอย่างน่ากังขาเมื่อสิบปีก่อน ก็อุทิศตัวเพื่อสันติภาพและสิ่งแวดล้อมของโลก จนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2007



บิล คลินตันในเอธิโอเปีย
           ในขณะเดียวกันอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตันแห่งสหรัฐฯ และอดีตนายกรัฐมนตรีโทนี่ แบร์แห่งอังกฤษก็เลือกเจริญรอยตามเส้นทางของจิมมี่ คาร์เตอร์ ด้วยความหวังว่าสักวันหนึ่ง จะได้รับการยกย่องให้เป็น "ผู้นำโลก" ที่ไม่จำเป็นต้องอยู่บนหลังเสือ 

           ประเภทที่สอง คือผู้นำที่เลือกใช้ชีวิตที่ห่างจากอำนาจและการเมืองมากที่สุดเรียกว่า เลือกชีวิตตามที่หัวใจเรียกร้อง ที่โดดเด่นมากๆก็คือจูนิชิโร่ โคอิซูมิ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเพราะเลือกเส้นทางสายศิลปะวัฒนธรรมที่นักการเมืองญี่ปุ่นน้อยคนจะกล้าเลือก
        ใครจะนึกว่า อดีตผู้นำประเทศที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์หลังสงครามโลกครั้งที่2 จะหันเหชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอำนาจทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง นอกเหนือจากเป็นแฟนตัวยงของเอลวิส เพลสลีย์ราชาเพลงร็อคแล้ว อดีตผู้นำญี่ปุ่นก็เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อยเมื่อผันตัวเองไปรับบทบาทเป็นผู้ให้เสียงพากษ์ "เจ้าพ่อ" อุลตร้าแมน ในภาพยนต์ซีรีส์ยอดนิยมของเด็กญี่ปุ่น เสมือนหนึ่งอยากแสดงบทบาทเป็นอุลตราแมนผู้ปกป้องภัยของมนุษย์



อดีตผู้นำญี่ปุ่นกับบทบาทเจ้าพ่ออุลตร้าแมน

           เช่นเดียวกับบทบาทของอดีตประธานาธิบดีวาคลัฟ ฮาเวลผู้มีบทบาทสำคัญในการโค่นล้มระบอบคอมมิวนิสต์ในเชคโกสโลวาเกียเมื่อปี 1989 ก่อนจะกลายเป็นผู้นำคนแรกของสาธารณรัฐเชก เมื่อมีการแยกออกเป็นสองประเทศในเวลาต่อมา



วาคลัฟ ฮาเวลในบทบาทผู้กำกับ
            ชีวิตในวันนี้ของวาคลัฟ ฮาเวลนับตั้งแต่ก้าวลงจากตำแหน่งผู้นำประเทศเมื่อเจ็ดปีก่อนเต็มไปด้วยสีสันอบอวยด้วยกลิ่นอายของศิลปะ ชีวิตแทบจะไม่ห่างจากโรงละครและการแสดงเลย ในวันนี้ ฮาเวลกำลังจะกลายเป็นผู้กำกับภาพยนต์เรื่อง Leaving ซึ่งเกี่ยวกับชีวิตของผู้นำคนหนึ่งที่กำลังจะก้าวลงจากหลังเสือ และกำลังเตรียมตัวเตรียมใจสำหรับชีวิตใหม่หลังจากเกษียณจากอำนาจวาสนาศักดิ์


พอล มาร์ติน
         ผู้นำแบบที่สาม อาจจะอุทิศเวลาเขียนหนังสือ Memoirs บันทึกความทรงจำในช่วงดำรงตำแหน่งประเทศ เพื่อประโยชน์ต่อคนรุ่นหลัง เพื่อเป็นอนุสรณ์หรือเพื่อแก้ตัวแก้ต่างข้อกล่าวหาความเข้าใจผิดที่สังคมมีต่อผู้นำคนนั้นๆ หนึ่งในตัวอย่างเหล่านี้ก็คืองานเขียน "Hell or High Water: My Life In and Out of Politics"ของอดีตนายกรัฐ
มนตรีพอล มาร์ติน แห่งแคนาดาเมื่อปลายปี 2008 และล่าสุดก็คือหนังสือบันทึกความทรงจำเรื่อง "A Journey"  ของโทนี แบร์




โทนี่ แบร์

           
      

            ชีวิตของผู้นำแบบที่สี่ คือเลือกที่หันหลังให้กับวงการการเมืองและวงจรอำนาจโดยเด็ดขาด หรืออาจจะหายเข้ากลีบเมฆแทบจะไม่ปรากฏตัวไม่เป็นข่าวต่อสาธารณชนเลยด้วยเหตุผลต่างๆ นานา  ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนก็คือกรณีของอดีตประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิง ของจีนซึ่งอยู่ในตำแหน่งนานถึงสิบปีในช่วง1993-2003 และนับตั้งแต่(จำใจ)เกษียณจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการกองทัพจีนที่ทรงพลังในช่วงต้นปี 2005 ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสุดท้ายแล้ว    เจียง เจ๋อหมิงแทบจะไม่ปรากฏตัวในที่สาธารณะ เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะทางสัญญลักษณ์กับผู้นำจีนปัจจุบันยกเว้นในกรณีสำคัญๆ เท่านั้น เช่นการปรากฏตัวในพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกที่จีนเป็นเจ้าภาพในปี 2008และพิธีเฉลิมฉลองครบ 60 ปีของระบอบสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อปีที่แล้ว



เจียง เจ๋อหมิง


          ชีวิตแบบที่ห้าคือชีวิตแบบที่ Joshua E Keating เรียกว่า "Bad Exes" หรืออดีต
ผู้นำยอดแย่ ซึ่งหมายถึงอดีตผู้นำที่ไม่ได้อุทิศตนสร้างประโยชน์ใดๆ ให้แก่สังคม หรือไม่ยอมปลีกตัวถอยห่างไปจากวงจรอำนาจการเมืองโดยเด็ดขาด แต่กลับพยายามใช้อิทธิพลสร้างปัญหาต่างๆ ให้กับประเทศของตน  เข้าทำนองเมื่อมือไม่พายน้ำกลับยังเอาเท้าราน้ำอีก

          ห้าผู้นำยอดแย่ในความคิดของ Joshue E Keating ซึ่งตีพิมพ์ล่าสุดในเวบไซตของวารสาร Foreign Policy มีชื่อของพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรรวมอยู่ด้วย นอกเหนือจากอดีตนายกรัฐมนตรีแกร์ฮาร์ด ชโรเดอร์ แห่งเยอรมนี อดีตนายกรัฐมนตรีโฮเซ่ มาเรีย อัซนาร์ของสเปน อดีตประธานาธิบดีโอลูเซกัน โอบาซันโจแห่งไนจีเรียและอดีตประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราดาแห่งฟิลิปปินส์




      ใครว่า ชีวิตหลังก้าวลงจากหลังเสือจะอับจนสิ้นหนทางหรือน่าหดหู่เสมอไป?
      ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับอดีตผู้นำแต่ละคนว่าจะเลือกชีวิตแบบไหนมากกว่ากัน
      เพราะนี่คือชีวิตหนึ่งที่เลือกได้





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มอเตอร์ หรือ สติกเกอร์

เมื่อตอนที่ Real Madrid ทีมดังในสเปนตัดสินใจขาย Claude Makelele ให้กับทีม Chelsea แล้วซื้อ David Beckham มาแทนที่ในช่วงกลางปี 2003 ปรา...