28 มกราคม 2559

คำสั่งฟีฟ่า: ปัญหาและจุดเปลี่ยนแห่งวงการฟุตบอลไทย

.
นับตั้งแต่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ(ฟีฟ่า)มีคำสั่งถอดถอนคณะกรรมการบริหารสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยและแต่งตั้งคณะกรรมการ Normalisation Committee (หรือ คณะกรรมการ NC) แทนที่ เมื่อวันที่  16 ตุลาคม 2558  ก็เริ่มส่อให้เห็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง

 
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังจากที่คณะกรรมการ NC กำหนดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ของสมาคมฟุตบอลฯในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ศกนี้ วงการฟุตบอลไทยก็เริ่มเข้าสู่ภาวะสับสนและขัดแย้งอย่างเห็นได้ชัด จนหวั่นวิตกว่าอาจจะสร้างความเสียหายให้แก่วงการฟุตบอลไทยจนถึงขั้นเกิดวิกฤติครั้งใหญ่


ทั้งนี้ทั้งนั้น มีประเด็นสำคัญหลายๆประเด็นที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากคำสั่งของฟีฟ่า ที่ควรจะต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้และชัดเจนเป็นที่สุด เพื่อเป็นหลักในการพิจารณาตัดสินความผิดถูก

       หนึ่ง   ชื่อ Normalisation Committeeสะท้อนให้เห็นว่า เกิดสถานการณ์ที่ไม่ปกติขึ้นในกรณีของสมาคมฟุตบอลไทยฯ ดังนั้น ฟีฟ่าจึงต้องแต่งตั้งคณะกรรมการ NC ขึ้นมา เพื่อหาทางแก้ไข ฟื้นฟู และ normalise ทำให้สถานการณ์กลับคืนสู่จุดปกติ
แล้วเหตุการณ์ใดที่เข้าข่าย ผิดปกติ จนนำมาสู่การแต่งตั้งคณะกรรมการ NC เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ฟุตบอลไทยครั้งนี้


แน่นอนที่สุดว่า การที่คณะกรรมการบริหารชุดเดิมพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากครบวาระนั้น ถือเป็นเรื่องปกติที่สุดแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติใดๆ แต่หากพิจารณาในหนังสือคำสั่งของฟีฟ่า การที่สมาคมฟุตบอลฯตัดสินใจเลื่อนการเลือกตั้งออกไปโดยไม่มีเหตุผลความจำเป็นอันควร (เช่นกรณีเกิดสงคราม มีการชุมนุมใหญ่ หรือมีข้อกังวลเรื่องความปลอดภัย  เป็นต้น) น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้ฟีฟ่าตัดสินใจแทรกแซงในครั้งนี้


สอง ในหนังสือคำสั่งของฟีฟ่าได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการ NC โดยระบุว่า will include  revising the FAT electoral code and conducting the election of a new FAT executive committee by 15 February 2016 at the latest ที่ดูเหมือนมีความชัดเจนในตัว แต่กลับมีการตีความคลาดเคลื่อนจากที่ควรจะเป็นจริง จนนำไปสู่ความยุ่งยากยุ่งเหยิงสารพัน
ปฐมบทของความยุ่งยากเกิดขึ้นเนื่องจากมีการตีความบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการ NC โดยละเลยหรือมองข้ามความหมายของคำว่า  will includeแล้วสรุป(แบบถูกเพียงครึ่งหนึ่ง)ว่า คณะกรรมการ NC มีบทบาทหน้าที่เฉพาการแก้ไขปรับเปลี่ยนกฏระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งและจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่เท่านั้น ไม่มีอำนาจหน้าที่อื่นๆ นอกเหนือจากนี้
  ในทางปฏิบัติแล้ว คำว่า will includeในที่นี้ควรจะหมายถึง รวมทั้ง  จึงจะถูกต้องที่สุด นั่นคือมีอำนาจหน้าที่อื่นๆด้วยแต่ฟีฟ่าละไว้ในฐานที่เข้าใจ (เพราะไม่คิดว่าจะเกิดเป็นปัญหา)  เหมือนเช่นกรณีของแกมเบียและมัลดีฟส์ ซึ่งฟีฟ่าไม่ได้ระบุในหนังสือคำสั่ง แต่คณะกรรมการ NC ในทั้งสองประเทศก็รับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่บริหารงานสมาคมฟุตบอลด้วย เพราะถือเป็นหน้าที่พื้นฐานที่สุด  โดยเฉพาะกรณีของมัลดีฟส์นั้น ปรากฏว่า คณะกรรมการ NC ก้าวล้ำจนถึงขั้นริเริ่มก่อตั้งฟุตบอลพรีเมียร์ลีกในประเทศเป็นครั้งแรกในปี 2558 ตลอดจนการเจรจาจัดหาสปอนเซอร์ด้วย เพื่อพัฒนาวงการลูกหนังในประเทศ จนกลายเป็นผลงานชิ้นเอก




ในทางตรงกันข้าม หากฟีฟ่าเข้าใจสังคมไทยมากกว่านี้และระบุเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจนที่สุดในหนังสือคำสั่งให้คณะกรรมการ NC มีหน้าที่ดูแลและบริหารงานสมาคมฟุตบอลตั้งแต่แรก เหมือนกรณีของอินโดนิเซีย, เซียร์ราลีโอน, คาเมรูน, กิยานา รวมทั้งล่าสุด คือกรณีของฮอนดูรัสและกัวเตมาลา บางที วงการฟุตบอลไทยอาจจะไม่เกิดภาวะความยุ่งยากและความขัดแย้งเหมือนที่ปรากฏให้เห็นก็เป็นได้
ความเข้าใจผิดในบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการ NC ดังกล่าวตั้งแต่ต้นเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือขาดความรู้ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งก็ตาม กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ชื่อของคณะกรรมการ NC ถูกบิดเบือนให้มีศักดิ์และฐานะจำกัดเป็นเพียงแค่ คณะกรรมการกลางการเลือกตั้ง (และอีกหลายๆชื่อที่ใกล้เคียงจนสังคมสับสน) ในระนาบเดียวกับบทบาทและฐานะของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (Electoral Committee)  เมื่อคราวเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคมฟุตบอลฯครั้งล่าสุดในปี 2556  จนเรียกชื่อย่อ กกต. เหมือนกัน จะแตกต่างกันตรงคำว่า กลาง และชื่อภาษาอังกฤษเท่านั้น


สาม ในเนื้อความของประกาศคำสั่ง ย่อหน้าที่ 2 ว่า “.... to remove the executive committee of the Football Association of Thailand (FAT) from office and to appoint a normalisation committee in its placeนั้น  ความสำคัญอยู่ที่คำว่า “remove from office” ตีความอย่างง่ายที่สุดก็คือ โยกย้ายหรือถอดถอน(คณะกรรมการบริหารชุดเดิม) ออกจากตำแหน่งหน้าที่(รักษาการ) เป็นการถาวร  เพราะในคำสั่งของฟีฟ่า ระบุให้ “appoint a normalisation committee in its place”  นั่นคือ แต่งตั้งคณะกรรมการ NC เข้าไปแทนที่ (in its place) ในตำแหน่งหน้าที่เดิมของคณะกรรมการบริหาร(ที่หมดวาระพอดี) ซึ่งเป็นไปตามกฎข้อบังคับของฟีฟ่ามาตรา 7 ย่อหน้า 2 ที่ว่า replaced by a normalisation committee
เพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้น ในย่อหน้าที่ 4 ประโยคที่ว่า The decision to appoint a normalisation committee follows the fact that the FAT executive committee’s mandate had come to an endคือบทสรุปที่ยืนยันได้ว่า วาระของคณะกรรมการบริหารชุดเดิมได้มาถึงจุดสิ้นสุดแล้วอย่างสมบูรณ์ (ทั้งโดยกฎหมายไทยและโดยคำสั่งฟีฟ่า) การที่คณะกรรมการบริหารหมดวาระในวันเดียวกับที่ฟีฟ่ามีคำสั่ง แสดงให้เห็นว่า ฟีฟ่าไม่ประสงค์จะให้คณะกรรมการ บริหารชุดเดิมทำหน้าที่ รักษาการ ทั้งในทางนิตินัยและพฤตินัย
เพราะฉะนั้นแล้ว ไม่ว่าจะตีความคำว่า removeหมายถึงปลดหรือถอดถอนหรือไม่ก็ตาม  แต่โดยนัยยะสำคัญของคำว่า  in its placeและ “replaced” นั้น บ่งบอกว่า คณะกรรมการบริหารชุดเดิมทั้งหมด (ที่กำลังจะทำหน้าที่รักษาการนับตั้งแต่หมดวาระลงในวันที่ 16 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไปนั้น) ถูกแทนที่ด้วยคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยฟีฟ่า หรือในอีกความหมายหนึ่ง คณะกรรมการ NC ได้เทคโอเวอร์สมาคมฟุตบอลฯตามคำสั่งของฟีฟ่าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
หลักฐานสำคัญสามประการที่สามารถยืนยัน ตอกย้ำและเป็นเกราะป้องกันความชอบธรรมที่สุดของคณะ กรรมการ NC ได้แก่

 
หลักฐานชิ้นแรก ก็คือคำประกาศของฟีฟ่าทางเวบไซต์ในเดือนกรกฏาคม 2556 ว่า  The normalisation committee will act as an electoral body, whose decisions will be final and binding  เพื่อเป็นการยืนยันรับรองความชอบธรรมของคณะกรรมการ NC ว่ามีอำนาจหน้าที่เสมือนองค์กรหรือคณะกรรมการบริหารที่มาจากการเลือกตั้ง การตัดสินใจใดๆของคณะกรรมการ NC จึงถือว่าเป็นเด็ดขาด (final) และมีผลผูกพัน(binding) บังคับใช้กับทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งถือว่าเป็นกฏข้อบังคับของฟีฟ่าที่ประเทศสมาชิกจะต้องปฏิบัติตามไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้


ในบางครั้งอย่างเช่นกรณีของคาเมรูนและโตโก ฟีฟ่าก็ระบุเป็นลายลักษณ์อักษรถึงข้อบังคับนี้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการบิดพลิ้ว   แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าความชอบธรรมนี้จะไม่มีผลในกรณีของประเทศอื่นๆที่ฟีฟ่าไม่ได้ระบุไว้ในหนังสือคำสั่งแต่งตั้ง (เหมือนเช่นกรณีบทบาทและอำนาจหน้าที่) แต่เป็นที่เข้าใจรับรู้ได้


หลักฐานชิ้นที่สอง ก็คือหนังสือจดหมายล่าสุดจากฟีฟ่าลงวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมาที่ตอกย้ำอย่างชัดเจนที่สุดอย่างชนิดที่ไม่สามารถตีความเป็นอื่นๆว่า คณะกรรมการ NC ซึ่งถูกแต่งตั้งขึ้นเพื่อแทนที่คณะกรรมการบริหาร(ชุดเดิม) นั้น มีอำนาจหน้าที่เต็มตามระเบียบข้อบังคับมาตรา 35 ของสมาคมฟุตบอลฯ (ว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร)
ดังนั้น คณะกรรมการ NC ชุดประวัติศาสตร์นี้ นอกจากจะมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการจัดการเลือกตั้งคณะผู้บริหารชุดใหม่(อย่างที่ไม่มีใครสามารถโต้แย้งได้)แล้ว  ยังมีฐานะเป็นคณะกรรมการบริหาร (Executive Committee) ของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯที่ชอบธรรมอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย


ด้วยเหตุนี้เอง การที่เวบไซต์ของฟีฟ่า ปัจจุบันนี้มีการอัพเดทประกาศชื่อ MAHAROM  Surawut เป็น President จึงกลายเป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่ยืนยันว่า ฟีฟ่าได้รับรองฐานะของ พล...สุรวุฒิ มหารมณ์ เป็นนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ไม่ใช่เพียงแค่ตำแหน่งประธานคณะกรรมการ NC และไม่ใช่ตำแหน่ง รักษาการ อย่างที่มีการเข้าใจผิดกันอย่างแน่นอน
เพราะฉะนั้นแล้ว กล่าวได้ว่า พล...สุรวุฒิ มหารมณ์สวมหมวกทั้งสองใบ ทั้งในฐานะประธานคณะกรรมการ NC และในฐานะนายกสมาคมฟุตบอลฯ ที่มีผลนับตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคมเป็นต้นมา   


ในทางนิตินัย (ซึ่งถือว่าคำสั่งหรือระเบียบข้อบังคับของฟีฟ่าเปรียบเสมือนกฎหมายรัฐธรรมนูญมีศักดิ์เหนือ กว่ากฎระเบียบภายในของประเทศสมาชิกที่มีฐานะเป็นเพียงกฏหมายลูก) จึงถือว่า พล...สุรวุฒิ มหารมณ์(และคณะ)คือผู้มีอำนาจเต็มที่ชอบธรรมที่สุดในการตัดสินใจและกระทำการใดๆในนามของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยได้เพียงผู้เดียวเท่านั้น (เว้นแต่ฟีฟ่าและ/หรือสหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเซียจะมีคำสั่งอื่นเป็นการเฉพาะ)  มีอำนาจและความชอบธรรมที่จะนั่งทำงานหรือจัดประชุม ที่ทำการของสมาคมฟุตบอลฯ ( สนามศุภชลาศัยไม่ใช่ที่สำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทย) รวมแม้กระทั่งสามารถแต่งตั้งเลขาธิการสมาคมฯคนใหม่ (แทนคนเก่าที่เพิ่งลาออก) เพื่อให้ทำหน้าที่หลักเป็น พ่อบ้าน ดูแลกิจการงานทั่วไปของสมาคมฯตามคำสั่งของนายกสมาคมฯ ตลอดจนช่วยบริหารจัดการการเลือกตั้ง จนกว่าจะได้คณะกรรมาการบริหารชุดใหม่ที่ได้รับการรับรองจากฟีฟ่า

สถานที่ทำงาน สถานที่ประชุม : กกทหรือสมาคมฯ
หากเปรียบเทียบแล้ว กรณีล่าสุดของคณะกรรมการควบคุมมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญที่แต่งตั้งโดยกระทรวง ศึกษาธิการเมื่อเร็วๆนี้ น่าจะเป็นตัวอย่างที่ใกล้ตัวและเป็นแนวทางให้เทียบเคียงทั้งในแง่ฐานะ อำนาจหน้าที่และความชอบธรรมได้เป็นอย่างดี

ฟีฟ่าขยายระยะเวลาคณะกรรมการ NC กายยานา  มัลดีฟส์และโตโก

แน่นอนว่า วงการฟุตบอลไทยคงจะไม่เกิดปัญหาความยุ่งยากยุ่งเหยิง จนถึงขั้นเกิดกระแสหวั่นวิตกกว่าทีมชาติไทยจะถูกแบนหรือการแข่งขันภายในประเทศจะถูกห้าม เหมือนที่ปรากฏในปัจจุบันนี้ หากว่า คณะกรรมการ NC ตระหนักในอำนาจหน้าที่และความชอบธรรมที่ฟีฟ่าสนับสนุนอย่างเต็มเปี่ยมตั้งแต่แรกและมีความประสงค์ที่จะใช้อำนาจหน้าที่และความชอบธรรมนี้อย่างเด็ดขาดเพื่อความถูกต้องและประโยชน์สูงสุดสำหรับเกมกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศ


เวลานี้ จึงขึ้นอยู่กับว่า คณะกรรมการ NC และหลายๆฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะมีความคิด ความกล้าหาญและร่วมมือร่วมใจที่จะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้แก่วงการลูกหนังไทยอย่างจริงๆจังๆ หรือไม่
เพื่อเป็นของขวัญล้ำค่าสำหรับวงการฟุตบอลไทยในโอกาสครบรอบหนึ่งศตวรรษพอดิบพอดี



.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มอเตอร์ หรือ สติกเกอร์

เมื่อตอนที่ Real Madrid ทีมดังในสเปนตัดสินใจขาย Claude Makelele ให้กับทีม Chelsea แล้วซื้อ David Beckham มาแทนที่ในช่วงกลางปี 2003 ปรา...