22 พฤษภาคม 2558

ปัญหามนุษย์เรือโรฮินจา

.

ในที่สุดปัญหามนุษย์เรือโรฮินจาก็บานปลายกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศเต็มตัวและกลายเป็นโศกนาฏกรรมของมนุษย์ยุคใหม่ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะยังคงหลงเหลืออยู่   ตอกย้ำให้เห็นว่า นอกจากจะเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ถูกกดขี่กีดกันมากที่สุดในโลก (the most persecuted people) ตามบทสรุปของสหประชาชาติแล้ว ชาวโรฮินจาก็คือกลุ่มคนที่ไม่มีใครต้องการมากที่สุดในโลก (the most unwanted people) เช่นกัน

 วิกฤติในครั้งนี้  นอกจากจะเป็นปัญหาที่กระทบต่อประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยตรงโดยเฉพาะประเทศไทย มาเลเซียและอินโดนิเซียแล้ว  ยังกลายเป็นปัญหาที่ท้าทายอาเซียน ณ ช่วงเวลาที่กำลังย่างเข้าสู่ความเป็นประชาคมเศรษฐกิจหนึ่งเดียวหรือเออีซีในสิ้นปีนี้



ทั้งสามประเทศซึ่งอาจเรียกว่า “กลุ่มประเทศทิม” (TIM – Thailand, Indonesia and Malaysia)   ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากคลื่นมนุษย์เรือโรฮินจาในครั้งนี้ เลือกที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับผู้อพยพเหล่านี้เสมือนว่าเป็น “เผือกร้อน” ที่ไม่มีใครอยากถือครองไว้   และต่างฝ่ายต่างโยนไปโยนมา จนถึงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายๆฝ่าย

จนกระทั่ง ฟิลิปปินส์สร้างเซอร์ไพรส์กลายเป็นประเทศแรกสุดในภูมิภาคที่ประกาศยินดีเปิดบ้านเปิดเกาะต้อนรับผู้อพยพเหล่านี้จำนวน 3 พันคน  ทั้งๆที่ฟิลิปปินส์ก็มีปัญหาประชากรแออัดล้นประเทศ(ร่วมร้อยล้านคน)และยากจนมากพอแล้ว   ยิ่งไปกว่านั้น ชาวฟิลิปปินส์มากกว่า 12 ล้านคนก็อาศัยทำงานอยู่ในต่างประเทศเพราะไม่มีงานทำในประเทศ

แล้วทำไม ฟิลิปปินส์จึงอาสาเป็น “พ่อพระ” ในวิกฤติมนุษย์เรือครั้งนี้?

ในด้านหนึ่ง ฟิลิปปินส์เคยมีประสบการณ์เป็นแหล่งรองรับบรรดาผู้อพยพหลายต่อหลายครั้ง นับตั้งแต่ชาวยิวที่หนีภัยนาซีในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2  ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่หนีภัยสงครามการเมืองภายหลังพรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดครองประเทศในปี1949  และชาวเวียดนามที่หนีภัยสงครามเวียดนามในช่วงทศวรรษที่ 1970 

แต่ในอีกด้านหนึ่ง  ฟิลิปปินส์มีภูมิศาสตร์ตั้งอยู่ห่างไกลออกไปอีกมาก และไม่ใช่เป้าหมายของผู้อพยพ  เรียกได้ว่า ฟิลิปปินส์แทบจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤติครั้งนี้เลยก็ว่าได้ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งสาม แม้กระทั่ง หากจะวางท่าทีเฉยเมย เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ก็คงจะไม่มีใครตำหนิติเตียนตรงๆได้

ยิ่งกว่านั้น ดูเหมือนว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้กำหนดเงื่อนไขว่าจะต้อนรับเฉพาะผู้อพยพที่มีหลักฐานเอกสารพิสูจน์ตัวตนว่าเป็นชาวโรฮินจาที่หนีภัย(การเมือง)มาจากพม่าจริงๆ ไม่ใช่อพยพมาจากบังคลาเทศ (เพราะเหตุผลความยากจน)   ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากในทางปฏิบัติสำหรับผู้อพยพเหล่านี้  เพราะชาวโรฮินจา ณ พ.ศ.นี้ ไม่ใช่ผู้อพยพที่หนีภัยการเมืองร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนชาวยิว ชาวจีนและชาวเวียดนามในอดีต

บางที อาจจะมีมนุษย์เรือโรฮินจาเข้าข่ายตามเงื่อนไขนี้หรือเต็มใจไปฟิลิปปินส์น้อยผิดคาดก็เป็นได้
ในเปอร์เซ็นต์ของความเป็นไปได้นั้น  นอกเหนือจากเครดิตที่ได้รับคำชื่นชมแบบเต็มๆจากนานาประเทศแล้ว    รัฐบาลมะนิลาอาจจะได้คำนวณผลทางการเมืองและวาดหวังว่า การประกาศท่าทีช่วยเหลือชาวโรฮินจาดังกล่าว จะส่งผลทางจิตวิทยาต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในหมู่เกาะมินดาเนาซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมและได้ทำสงครามสู้รบกับกองทัพเพื่อแยกตัวออกเป็นอิสระมานานร่วมทศวรรษ



อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าอะไรจะเป็นแรงจูงใจที่แท้จริงสำหรับฟิลิปปินส์ในครั้งนี้  แต่จุดสำคัญที่สุดก็คือ การประกาศท่าที “พ่อพระ” ของฟิลิปปินส์ดังกล่าวส่งผลทางจิตวิทยาให้เกิดแรงกระเพื่อมในทันที  กลายเป็นจุดเริ่มต้นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านเริ่มขยับและเปลี่ยนแปลงท่าทีตามไปด้วยในทันที

มอเตอร์ หรือ สติกเกอร์

เมื่อตอนที่ Real Madrid ทีมดังในสเปนตัดสินใจขาย Claude Makelele ให้กับทีม Chelsea แล้วซื้อ David Beckham มาแทนที่ในช่วงกลางปี 2003 ปรา...