3 ธันวาคม 2554

น้ำตาของท่านผู้นำ..

.



นับเป็นครั้งแรกๆในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่น้ำตาได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงทางการเมือง และถือเป็นครั้งแรกๆที่สังคมไทยได้เห็นนายกรัฐมนตรีของประเทศหลั่งน้ำตาร้องไห้ปรากฏต่อสาธารณชน

ถึงแม้ว่า จะเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน แต่การร้องไห้ก็ไม่ได้เป็นเรื่องปกติที่ผู้นำสามารถกระทำได้อย่างเปิดเผยเสมอไป




น้ำตาของผู้นำ : ธรรมชาติ พรสวรรค์หรือความสามารถ?




ว่ากันว่า  ผู้นำคนดังๆของโลกในอดีตที่มีบุคลิกภาพเข็มแข็ง มาดมั่นหรือเด็ดขาดอย่างวินส์ตัน เชอร์ชิล (อังกฤษ)  เลนิน (รัสเซีย) อด๊อฟ ฮิตเลอร์ (เยอรมัน)  ดไวท์ ไอเซนฮาวร์ (สหรัฐฯ) หรือริชาร์ด นิกสัน (สหรัฐฯ) โดยเนื้อแท้แล้วไม่ใช่พระสงฆ์หรือซามูไรที่ไม่รู้จักการร้องไห้ แต่ในชีวิตจริงแล้ว  ผู้นำเหล่านี้ล้วนแต่เคยผ่านการหลั่งน้ำตา ที่ต้องกระทำอยู่หลังฉากไม่อาจให้ใครพบเห็นได้

โลกมีโอกาสได้เห็นเป็นประจักษ์ถึง พิษของน้ำตาเป็นครั้งแรกๆในปี 2515 เมื่อเอ็ดมุนด์ มัสกีฝ่าฝืนกฎเหล็กนี้ เผลอตัวร่ำไห้สะอื้นต่อหน้าธารลำนัลในระหว่างการปราศรัยหาเสียงเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯในนามพรรคเดโมแครต





ไม่ว่าจะร่ำไห้ด้วยเหตุผลใด แต่น้ำตาหยดนั้นได้ทำลายความหวังทางการเมืองของมัสกีอย่างสิ้นเชิง จากผู้สมัครเต็งจ๋าที่มีโอกาสเป็นผู้นำประเทศคนต่อไปมากที่สุด มัสกีถูกสังคมอเมริกันมองว่า ไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้นำประเทศเพราะไม่มีความมั่นคงทางอารมณ์ ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่จำเป็นมากๆสำหรับผู้นำ สุดท้ายต้องถอนตัวออกไปอย่างน่าขมขื่นที่สุด

ว่ากันว่า จุดเปลี่ยนสำคัญที่มีผลทำให้ กฏมัสกี คลายความขลังลงไปในสังคมการเมืองของสหรัฐฯก็คือบทบาทและภาพพจน์ของแรมโบ้ในภาพยนต์เรื่อง First Blood ที่เริ่มออกฉายตั้งแต่ปี 2525


น้ำตาแรกของแรมโบ้ที่ทลาย "เขื่อนน้ำตา" ของคนอเมริกัน


ถึงแม้จะมีบุคลิกที่เข้มแข็งและหาญกล้า แต่แรมโบ้ก็มีด้านที่เป็นมนุษย์ที่สามารถร้องไห้เสียใจได้ ความนิยมในตัวแรมโบ้มีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงความคิดของสังคมไม่มากก็น้อย และสร้างความหมายใหม่ให้กับน้ำตาในวัฒนธรรมอเมริกัน ค่อยๆทำให้การร้องไห้ของผู้ชายไม่ใช่เป็นน่าอับอายขายหน้าอีกต่อไป

หลังจากนั้น น้ำตากับบุรุษเพศกลายเป็นของคู่กันอย่างไม่น่าเชื่อ และแพร่ขยายไปสู่โลกความเป็นจริงมากขึ้น จากวงการบันเทิงสู่วงการกีฬาและวงการการเมือง

ดูเหมือนว่าบิลล์ คลินตันคือผู้เข้าใจและประยุกต์น้ำตาเพื่อเป้าหมายทางการเมืองได้อย่างชาญฉลาดที่สุด พูดกันว่า คลินตันเป็นคน แพ้กล้อง และสามารถหลั่งหรือบีบน้ำตาได้ทุกเมื่อที่โอกาสเอื้ออำนวย โดยเฉพาะความสามารถในการเปลี่ยนแปลงอารมณ์จากหัวเราะเริงร่าให้กลายเป็นน้ำตาแห่งความเศร้าได้ในบัดดล



มีแต่จินตนาการที่จะเห็นเทพีสันติภาพร่ำไห้ได้


น้ำตาเทียมที่สื่อแต่งแต้มให้อาบแก้มโรนัลด์ เรแกน

บิลล์ คลินตัน ผู้บุกเบิกและเห็นคุณค่าของน้ำตา



อิริยาบทหนึ่งในการร่ำไห้ของคลินตันที่กลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัว

ความสำเร็จ(ทางการเมือง)ของ น้ำตาคลินตันกลายเป็นแบบอย่างให้ผู้นำสหรัฐฯในทุกระดับหันมาใช้น้ำตาเป็นเครื่องมือหรืออาวุธทางการเมืองที่จะขาดเสียมิได้  ภาพน้ำตาไหลอาบแก้มของจอร์จ บุช และบารัค โอบาม่า กลายเป็นภาพบวกที่มีพลัง(ทางการเมือง)มากๆ มีส่วนทำให้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นอย่างน่ามหัศจรรย์


อาการร่ำไห้สุดๆของจอร์จ บุชผู้พ่อ

น้ำตานองอาบสองแก้มของจอร์จ บุชผู้ลูก
น้ำตานองอาบสองแก้มของบารัก โอบาม่า


น้ำตานองอาบสองแก้มของบารัค โอบาม่าไม่ใช่เรื่องน่าอับอายสำหรับคนอเมริกัน



เช่นเดียวกันกับในสังคมญี่ปุ่นที่เคยยึดหลักซามูไรอย่างเหนียวแน่นมาโดยตลอดและถือว่าการร้องไห้ต่อหน้าผู้อื่นเป็นสิ่งที่น่าละอายเป็นที่สุด  แต่ด้วยภาวะทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำมากๆ ในช่วงสองทศวรรษก่อน กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่มีส่วนพังทลายกฎเหล็กทางวัฒนธรรมนี้  ภาพของผู้นำญี่ปุ่นแบบฮาร์ดแมนเดิมๆค่อยๆจางหายไป และภาพของผู้นำที่กำลังร้องไห้ฟูมฟายเข้ามาแทนที่จนชินตา

ในช่วงยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา  ปรากฏการณ์ผู้นำร้องไห้ด้วยเหตุผลและแรงจูงใจต่างๆเกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นเฮลมุท โคห์ล (เยอรมันตะวันตก), มิคาอิล กอร์บาเชฟ (รัสเซีย), เนลสัน แมนเดล่า ผู้นำผิวดำคนแรกในประวัติศาสตร์แอฟริกาใต้,   จูนิชิโร โคอิซูมิ (ญี่ปุ่น),  หลุยส์ ดาซิลวา (บราซิล),  กอร์ดอน บราวน์ และเดวิด คาเมรอน (อังกฤษ),  บ๊อบ โฮว์ค และเควิน รัดด์ (ออสเตรเลีย), นายพลนอร์แมน ชวาร์ซคอฟ ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯในศึกสงครามอิรัค, ยัดเซอร์ อาราฟัด(พีแอลโอ, ปาเลสไตน์), ฮามิด คาร์ไซ (อัฟกานิสถาน), ฏอยยิบ อัรดูฆอน(ตุรกี), เซบาสเตียน ปิเนรา (ชิลี), เวินเจียเป่า (จีน), สมเด็จพระสันตะปาปาหรือโป๊ปเบเนดิกก์, กษัตริย์ฮารัลด์แห่งนอร์เวย์ รวมทั้งฮุนเซน



 น้ำตาสุดท้ายของมิคาอิล เกอร์บาเชพ ผู้นำัรัสเซียในวันที่ต้องสูญเสียภรรยา


ในวันที่เนลสัน แมนเดล่าหลั่งน้ำตา(แห้ง)ด้วยความดีใจอย่างสุดคณาเมื่อแอฟริกาใต้ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก



น้ำตาซึมของยัดเซอร์ อาราฟัดในวันที่เฝ้ารอความเป็นอิสระของปาเลสไตน์

 
ในวันที่ผู้นำญี่ปุ่นหลั่งน้ำตาในที่สาธารณะเมื่อพูดถึงชะตากรรมอัน
แสนยากลำบากของชาวญี่ปุ่นโพ้นทะเลในช่วงสงคราม

 
                   




                               น้ำตาแห่งความอบอุ่นของผู้นำจีน

 ภาพของผู้นำหญิงที่ร้องไห้หลั่งน้ำตาก็มีปรากฏให้เห็นบ้าง อินทิรา คานธี (อินเดีย) หลั่งน้ำตาด้วยความดีใจที่ได้พบอับเดล นัสเซอร์ผู้นำอียิปต์ เพื่อนสนิทชิดเชื้อร่วมอุดมการณ์ของเยาวหะราล เนห์รูบิดาและอดีตผู้นำคนแรกของอินเดีย  เช่นเดียวกับเบนาซี บุตโตที่หลั่งน้ำตาออกมาทันทีที่ได้กลับคืนสู่ปากีสถานอีกครั้งหนึ่งนับตั้งแต่ต้องลี้ภัยในต่างแดนร่วม 8 ปี   รวมทั้งน้ำตาแห่งความดีใจของอองซานซูจีที่ได้มีโอกาสได้พบหน้าลูกชายเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษ




วินาทีที่เจอผู้นำอียิปต์จนอินทรา คานธีถึงกับร่ำไห้



วินาทีแห่งการร่ำไห้ของเบนาซีร์ บุตโตที่ได้กลับคืนสู่มาติภูมิ

น้ำตาแม่: น้ำตาแห่งความดีใจสุดๆ ของอองซานซูจี
ณ วินาทีที่ได้เห็นหน้าลูกชายเป็นครั้งแรกในรอบสิบปี




มาร์กาเรต แธตเชอร์ ผู้นำสตรีเหล็ก ของอังกฤษก็ยังมีวันที่ร้องไห้ถึงสองครั้งสองคราอย่างไม่น่าเชื่อ หลังจากต้องก้าวลงจากตำแหน่งผู้นำประเทศและวางมือปิดฉากความเป็นนักการเมืองอาชีพที่อยู่ในสายเลือด   เช่นเดียวกรณีของแพท ชโรเดอร์ที่ร่ำไห้ออกมาในระหว่างประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ในการชิงชัยเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครตสำหรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปี 2531


 
วินส์ตัน เชอร์ชิลหลั่งน้ำตาในวันที่ต้องปิดฉากบทบาทผู้นำของประเทศ

ในวันที่มาร์กาแร๊ต "สตรีเหล็ก" หลั่งน้ำตาสะอื้น


ความสูญเสียของชีวิตผู้คนยังคงเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้นำหญิงหลายๆคนหลั่งน้ำตาได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของกลอเรีย อาโรโย่แห่งฟิลิปปินส์,  สมเด็จพระราชินีแห่งนอร์เวย์,  จูเรีย กิลลาร์ดแห่งออสเตรเลีย หรือแม้กระทั่งสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธแห่งอังกฤษ

การร้องไห้หลั่งน้ำตาของผู้นำหญิงเหล่านี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบหรือเป็นพิษอะไรมากนัก ส่วนสำคัญหนึ่งก็เนื่องมาจากมูลเหตุจูงใจที่สมเหตุสมผลที่ไม่ได้หวังผลทางการเมือง แต่ประการสำคัญ หากหลั่งน้ำตาไม่ถูกกาลเทศะแล้ว ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า น้ำตาจะกลายเป็นพิษทันที

ในวันที่ต้องเสียน้ำตาเพราะเรื่องราวฉาวโฉ่ทางเพศของบิลล์ คลินตันผู้เป็นสามี  ดูเหมือนว่าสังคมอเมริกันจะเห็นใจและเข้าใจฮิลลารี่ คลินตันอย่างมาก แต่น้ำตาที่ฮิลลารีหลั่งออกมาในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งแข่งกับบารัค โอบาม่าเพื่อเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตเข้าชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก


 

ในวันที่น้ำตาร่วงหล่น ความหวังทางการเมืองก็หล่นร่วงตามไปด้วย
 

ฮิลลารี่อาจจะคาดการณ์ผิดพลาดว่า น้ำตาจะเป็นอาวุธเด็ดที่ทำให้ชนะการเลือกตั้งได้  แต่ปรากฏผลตรงกันข้าม  พิษของน้ำตาได้กัดกร่อนภาพพจน์ความเป็นสตรีเหล็ก และกลายเป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งที่ทำให้ความหวังของฮิลลารี่ในการเป็นผู้นำหญิงคนแรกของประเทศต้องพังทลายลงไปอย่างน่าเสียดาย  สะท้อนให้เห็นว่า น้ำตามีประโยชน์เฉพาะคนชื่อ บิลล์ คลินตันไม่ใช่ ฮิลลารี คลินตัน

เช่นเดียวกับกรณีของฮิลลารี่   ในวันที่มากิโกะ ทานะกะหลั่งน้ำตาเพราะความสะเทือนใจที่ได้เห็นภาพความทุกข์ยากลำบากของผู้อพยพชาวอัฟกานิสถานนั้น ยากที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น น้ำตาจระเข้  แต่ในวันที่หลั่งน้ำตาสะอื้นกลางสภาเมื่อถูกตราหน้าจากผู้อาวุโสทางการเมืองว่าเป็นคนโกหกมุสาเชื่อถือไม่ได้กลับปรากฏผลตรงกันข้าม


ในวันที่น้ำตาของมากิโกะ ทานากะเป็นพิษ


ว่ากันว่า น้ำตาหยดนั้นกลายเป็นพิษที่อาจจะเป็นฟางเส้นสุดท้าย จนทำให้ต้องถูกปลดออกจากตำแหน่งและหมดสิ้นอนาคตทางการเมืองไปเลย ทั้งๆที่ ณ เวลานั้น มะกิโกะคือรัฐมนตรีต่างประเทศหญิงคนแรกของญี่ปุ่น เป็นนักการเมืองหญิงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดและมีโอกาสสร้างประวัติศาสตร์ก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุดของประเทศ

เมื่อกลับมาพิจารณาในสังคมไทยแล้ว จะเห็นได้ว่า กฏมัสกี ยังดำรงอยู่อย่างไม่สั่นคลอนไม่ว่าจะเป็นผู้นำชายหรือผู้นำหญิง เหมือนคำพูดที่ว่า เป็นเสือต้องไม่ร้องไห้ ด้วยกฏเหล็กทางวัฒนธรรมนี้ จึงเข้าใจได้ว่า ทำไมคุณอภิสิทธิ เวชชาชีวะจึงแอบร้องไห้เงียบๆ ภายหลังเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองและการสูญเสียชีวิตเมื่อปี 2553

แม้กระทั่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเองก็เชื่อได้ว่าเคย(แอบ)หลั่งน้ำตา เป็นน้ำตาแห่งความเศร้าโศกเมื่อจำเป็นต้องหย่ากับคุณหญิงพจมานภรรยา  เป็นน้ำตาแห่งความตื้นตันใจที่ได้กลับคืนสู่มาตุภูมิ และเป็นน้ำตาแห่งความยินดีเมื่อกล่าวอวยพรในงานมงคลของลูกสาวเมื่อเร็วๆนี้

น้ำตาของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตรยิ่งสมควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ เพราะเป็นครั้งแรกๆที่คนไทยได้เห็นนายกรัฐมนตรี(หญิง) ร้องไห้ และนับตั้งแต่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศเพียงสามเดือน ก็ปรากฏภาพคุณยิ่งลักษณ์ร้องไห้ถึงสามครั้งสามครา จนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่า ดีแต่ร้องขาดความเป็นผู้นำและดูอ่อนแออ่อนไหวเกินไปสำหรับความเป็นผู้นำประเทศ


โดยข้อเท็จจริงที่ขมขื่นสำหรับผู้หญิงแล้ว  ไม่ว่าจะในสังคมการเมืองไหนวัฒนธรรมใด น้ำตายังคงความหมายเดิมไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือ สัญญลักษณ์แห่งความอ่อนแอ เป็นความอ่อนแอทั้งทางด้านสภาพจิตใจและด้านอารมณ์  

ในขณะที่น้ำตากลายเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของผู้นำชายที่จะขาดเสียมิได้ แต่สำหรับผู้นำหญิงแล้วกลับเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม เป็นสองมาตรฐานที่ดำรงอยู่จริงเกือบในทุกมุมโลกแม้ในทุกวันนี้  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้ำตาจะกลายเป็นพิษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากว่าร้องไห้โดยไม่ถูกกาลเทศะหรือพร่ำเพรื่อมากเกินไป

ด้วยเหตุนี้ ภาพของคุณยิ่งลักษณ์ขณะกำลังปราศรัยที่นครสวรรค์ด้วยเสียงสะอื้นน้ำตาคลอ โดยเฉพาะภาพใบหน้าที่ปราศจากการเมกอัพตกแต่งใดๆ ดวงตาที่แดงกร่ำน้ำตาซึมควรจะเป็นภาพที่มีพลังและน่าประทับใจ หากว่าเป็นภาพการร้องไห้ครั้งแรกและครั้งเดียวของนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 คนนี้  



ถ้า...น้ำตานี้ซึมเพียงครั้งแรกและครั้งเดียว จะทรงพลังมากกว่าที่ควรจะเป็น

  

แน่นอนที่สุด  การหลั่งน้ำตาด้วยความสะเทือนใจและสัมผัสความเดือดร้อนที่เห็นอยู่ตรงหน้าย่อมมีความหมายมีพลังมากกว่าการหลั่งน้ำตาบนเวทีปราศรัยอย่างเทียบกันไม่ได้ เพราะฉะนั้น ภาพหลั่งน้ำตาของคุณยิ่งลักษณ์จะมีความหมายมีพลังมากกว่านี้ หากเป็นการหลั่งน้ำตาในขณะที่สัมผัสกับผู้ประสบภัยโดยตรง เหมือนเช่นกรณีของนายกรัฐมนตรีเว่ยเจียเป่าของจีน ซึ่งหลั่งน้ำตาขณะเยี่ยมผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหว  เหมือนภาพของผู้นำชิลีที่หลั่งน้ำตาออกมาทันทีที่คนงานเหมืองคนสุดท้ายก้าวพ้นออกมาจากความตายใต้พื้นดิน  หรือภาพของมากิโกะ ทานะกะที่หลั่งน้ำตาเพราะความสะเทือนใจที่เห็นภาพความลำบากทุกข์เข็ญสาหัสของผู้อพยพชาวอัฟกานิสถาน 

น่าเสียดายว่า ภาพการร้องไห้ในครั้งแรกๆก่อนหน้านั้นได้หลอกหลอนและบดบังความขลังของน้ำตาที่นครสวรรค์ไปไม่น้อย และด้วยเหตุนี้เอง น้ำตาที่นครสวรรค์จึงถูกมองว่าเป็น น้ำตาจระเข้ที่ตั้งใจเพื่อลบล้างภาพ(อา)การร้องไห้ครั้งก่อนๆ โดยเฉพาะภาพขณะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนด้วยเสียงสั่นเครือเหมือนอาการของคนกำลังร้องไห้

คุณยิ่งลักษณ์อาจจะไม่ได้มีเจตนาที่จะใช้น้ำตาเป็นอาวุธ(ทางการเมือง)เพื่อสยบบุรุษเพศ เหมือนเช่นคำกล่าวของอดีตนายกรัฐมนตรีจูนิชิโร โคอิซูมิ  แต่ข้อคิดของเนลสัน แมนเดล่าก็เป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีไทยควรได้คิดพิจารณาว่า การบริหาร(ควบคุม)อารมณ์และใบหน้านั้นเป็นศิลปะและสิ่งที่จำเป็นมากๆสำหรับผู้นำ

เพราะพิษของน้ำตานั้นร้ายแรงเกินกว่าที่จะคาดคิดได้




.



มอเตอร์ หรือ สติกเกอร์

เมื่อตอนที่ Real Madrid ทีมดังในสเปนตัดสินใจขาย Claude Makelele ให้กับทีม Chelsea แล้วซื้อ David Beckham มาแทนที่ในช่วงกลางปี 2003 ปรา...