1 กุมภาพันธ์ 2554

ยูเนสโกกับความขัดแย้งไทย-กัมพูชาและมาเลเซีย-อินโดนิเซีย

.




ในแผนที่ของภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีจุดสีแดงที่แสดงถึงความขัดแย้งอันร้อนแรงที่สุดใน
ปัจจุบันอยู่สองจุด นั่นคือความร้อนแรงในความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา และระหว่างมาเลเซียกับ
อินโดนิเซีย ที่ลุกลามเลวร้ายถึงขั้นนำไปสู่การเผชิญหน้าทางการทหารและความตึงเครียดทางการทูต

เป็นความบังเอิญอย่างยิ่ง ที่กรณีความขัดแย้งของคู่ประเทศดังกล่าวโดยเฉพาะในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา
มีลักษณะร่วมอย่างน้อยสามประการ คือ หนึ่ง เป็นความขัดแย้งในเรื่องการอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของ
สององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เข้ามามีบทบาทเกี่ยว
ข้อง และสามก่อให้เกิดกระแสชาตินิยมเกลียดชังอีกฝ่ายหนึ่งอย่างรุนแรง ส่งผลทำให้ความสัมพันธ์ทาง
การทูตระหว่างคู่ประเทศดังกล่าวเลวร้ายจนเรียกว่าถึงจุดต่ำสุดในรอบ(หลาย)ทศวรรษ


เดิมพันเขาพระวิหารกับความขัดแย้งระหว่างสองชาติ?



กรณีข้อพิพาทในเรื่องเขาพระวิหารระหว่างไทยและกัมพูชานั้น เป็นผลมาจากบาดแผลที่เรื้อรังตั้งแต่ปี
2505 ภายหลังจากที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก)ได้ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในเขต
อธิปไตยของกัมพูชา นั่นคือกัมพูชาเป็นเจ้าของปราสาทพระวิหารโดยนิตินัย นับเป็นชัยชนะเชิงสัญญ
ลักษณ์ (รวมทั้งชัยชนะทางการทูต) ครั้งแรกๆ ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ที่กัมพูชามีต่อประเทศไทย

เนื่องจากฝ่ายไทยไม่เคยยอมรับคำตัดสินดังกล่าวตั้งแต่ต้น บาดแผลที่เกิดขึ้นนี้จึงยากที่สมานให้สนิทได้
แม้ว่าเวลาจะผ่านล่วงมาแล้วกว่า 47 ปีก็ตาม และเป็นที่เข้าใจได้ว่า กรณีพิพาทเหนือปราสาทพระวิหาร
นั้นยุติเฉพาะที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ (ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของศาลโลก) เท่านั้น แต่หาได้นำมาซึ่ง
ความสมานฉันท์ระหว่างไทยและกัมพูชาอย่างยั่งยืนไม่

โดยข้อเท็จจริงแล้ว ภายหลังจากที่ภัยคอมมิวนิสต์ได้สูญสลายหายไปเมื่อสองทศวรรษก่อน  กรณีปราสาท
พระวิหารได้พัฒนากลายเป็นจุดที่อ่อนไหวที่สุดแทนที่ในความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกรุงเทพฯ และ
พนมเปญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ความขัดแย้งในกรณีพิพาทดัง
กล่าวนี้ ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้านนี้อย่างรุนแรง

มันเขี้ยวเพราะอยากรบ?
 
ถึงแม้จะได้มีความพยายามที่จะผลักดันให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกตั้งแต่ปี 2535 แต่จุดเริ่ม
ต้นของปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบันเกิดขึ้นในปี 2550 เมื่อฝ่ายกัมพูชาได้ยื่นขอจดทะเบียน(แต่ฝ่ายเดียว)
ต่อองค์การยูเนสโกให้ประกาศรับรองปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก(ของกัมพูชาแต่ผู้เดียว)  กระแส
คัดค้านจากหลายๆ ฝ่ายในประเทศไทยค่อยๆ ก่อตัว จนถึงจุดเดือดสุดในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฏาคม
2551 เพราะมีการต่อต้านและกล่าวหาทางการเมืองอย่างแข็งกร้าวต่อรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวชว่ากำลัง
ทำให้ประเทศไทยสูญเสียดินแดงบริเวณโดยรอบปราสาทพระวิหาร (หรือส่วนที่เรียกว่าเขาพระวิหาร)
กว่า 4.6 ตารางกิโลเมตร อันเนื่องมาจากนโยบาย(แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา) สนับสนุนให้กัมพูชา
จดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก

ยินดีต้อนรับสู่เขตชายแดนไทย-กัมพูชา

ในที่สุด ถึงแม้ว่า องค์การยูเนสโกจะได้ประกาศขึ้นทะเบียนรับรองตามคำขอของรัฐบาลกัมพูชาให้ปรา-
สาทพระวิหารเป็นมรดกโลก(ของกัมพูชาแต่ผู้เดียว) ตั้งแต่เดือนกรกฏาคมปีที่แล้ว แต่โชคร้ายที่ปัญหา
ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศกลับพัฒนารุนแรงยิ่งขึ้น จนนำไปสู่การเผชิญหน้าทั้งทางทหารและ
ทางการทูต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่าทีและคำพูดที่แข็งกร้าวอย่างยิ่งของผู้นำสูงสุดในกัมพูชานั้น ไม่ต่าง
จากการราดน้ำมันใส่กองไฟ เพราะยิ่งทำให้บรรยากาศการเผชิญหน้าตึงเครียดและเลวร้ายมากยิ่งขึ้น

เครื่องหมายแห่งมิตรภาพระหว่างไทย-กัมพูชา
                                   


ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า ไม่ว่าจะอยู่ในระบอบการเมืองการปกครองใด ผู้นำกัมพูชามักจะมีท่าทีแข็ง
กร้าวไม่แตกต่างกัน และไม่ยอมประนีประนอมกับรัฐบาลไทยในกรณีปราสาทพระวิหาร(และพื้นที่โดย
รอบ)เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่งในปี 2501 เมื่อรัฐบาลกัมพูชาโดยสมเด็จนโรดม สีหนุถึงขั้นตัด
ความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งอย่างรุนแรงในกรรมสิทธิ์เหนือ
ปราสาทพระวิหาร(และบริเวณโดยรอบ)  ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกสุดที่รับรองความเป็น
เอกราชของกัมพูชาในปี 2493 และนั่นคือจุดเริ่มต้นของปัญหาความขัดแย้งเหนือปราสาทเขาพระวิหาร
ในความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่ยืดเยื้อต่อเนื่องกันมากว่าห้าสิบปี

ความร้อนแรงและอ่อนไหวของกรณีพิพาทดังกล่าว ได้กลับมา หลอกหลอน ความสัมพันธ์ระหว่าง
ไทยและกัมพูชาอีกครั้งหนึ่งในปีพ.ศ.นี้ จนถึงขั้นทำให้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะต้องยกขึ้นมา
เป็นประเด็นหารือกับนายบัน คี มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติเกี่ยวกับบทบาทขององค์การ
ยูเนสโก เพราะเชื่อว่า องค์การยูเนสโกมีส่วนสร้างเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา
มากกว่าก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน

แต่ในอีกด้านหนึ่งที่ห่างจากจุดขัดแย้งนี้ไปทางใต้ประมาณสองพันกิโลเมตร ผู้นำอินโดนิเซียย่อมมีความ
คิดที่แตกต่างจากผู้นำไทยอย่างแน่นอน เพราะมีเหตุให้เชื่อว่า บทบาทขององค์การยูเนสโกมีส่วนสำคัญ
อย่างมากที่ทำให้ความร้อนแรงตึงเครียดล่าสุดระหว่างอินโดนิเซียกับมาเลเซียผ่อนคลายลง

ในช่วงสามสี่เดือนที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างจาร์กาต้าและกัวลาลัมเปอร์ได้ถึงจุดเดือดที่
เรียกว่าเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในรอบห้าทศวรรษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งอันเนื่องมาจากข้อพิพาท
เกี่ยวกับทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของทั้งสองชาติ ที่ทำให้เกิดการเผชิญหน้าของคนทั้งสองประเทศจนถึง
ขั้นประกาศสงคราม

โดยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แล้ว คงจะไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า มาเลเซียและอินโดนิเซียมีรากเหง้ามา
จากครอบครัวเดียวกัน ทั้งในเรื่องของภาษา วัฒนธรรมและศาสนา  แต่ไม่น่าเชื่อว่า ในความสัมพันธ์
ระหว่างสองประเทศนี้กลับอุดมไปด้วยปัญหาความขัดแย้งสารพัด โดยเฉพาะข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับ
การอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของเหนือดินแดนและวัฒนธรรม เรียกได้ว่า เป็นคู่กรณีที่มีข้อพิพาทขัดแย้ง
มากที่สุดในบรรดาสมาชิกอาเซียนทั้งหมด

ดูเหมือนเป็นความบังเอิญอย่างยิ่ง ที่รากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งระหว่างมาเลเซียและอินโดนิเซีย
ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่เริ่มต้นในช่วงใกล้เคียงกันกับกรณีของไทยและกัมพูชา โดยอินโดนิเซียเปิดฉาก
ทำสงครามสี่ปีกับมาเลเซียในสมรภูมิเกาะบอร์เนียวเมื่อปี 2505 เพื่อคัดค้านการจัดตั้งสหพันธรัฐมาเลเซีย
(ที่รวมเอาซาบาร์และซาราวัค)  บาดแผลจากความพ่ายแพ้ทางทหารต่อมาเลเซีย (ซึ่งได้รับความช่วยเหลือ
อย่างเต็มที่จากกองทัพอังกฤษ) ในครั้งนั้น ถูกตอกย้ำด้วยบาดแผลใหม่จากความพ่ายแพ้ต่อมาเลเซียเป็น
ครั้งที่สองในปี 2545 เมื่อศาลโลกได้ตัดสินให้เกาะ Sipadan และ Ligitan เป็นของมาเลเซีย 

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่อินโดนิเซียจะยอมรับความพ่ายแพ้อีกครั้งหนึ่ง ในกรณีพิพาทเหนือ
เกาะ Ambalat ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันที่อุดมสมบูรณ์   ความขัดแย้งล่าสุดจนเกือบจะเกิดยุทธนาวีระหว่าง
กองทัพเรือของทั้งสองประเทศเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานั้น  เป็นดัชนีชี้วัดความเป็นปฏิปักษ์ที่ร้าว
ลึกได้อย่างดี และตอกย้ำว่า นโยบายการเผชิญหน้าหรือ konfrontasi ที่เป็นมรดกตกทอดมาจากสมัย
ประธานาธิบดีซูการ์โนเมื่อห้าสิบปีก่อนยังดำรงอยู่ในปัจจุบันนี้

ความเกลียดชังอย่างร้าวลึกที่ถูกสะสมมานานระหว่างคนสองชาตินี้ได้กลายเป็น เชื้อ อย่างดีที่สามารถ
จุดปะทุให้เกิดความรุนแรงได้ทุกเมื่อ บวกกับความรู้สึกที่ถูกกดขี่ข่มเหงจากนายจ้างชาวมาเลเซียมาโดย
ตลอด ทำให้ทัศนคติเชิงลบของคนอินโดนิเซียที่มีต่อมาเลเซียยิ่งฝังรากลึกมากขึ้น (เช่นเดียวกับทัศนคติ
ของคนกัมพูชาที่มีต่อคนไทย)

และเมื่อปรากฏข่าวที่นางแบบสาวอินโดนิเซียออกมาเปิดเผยต่อสาธารณชนว่า ถูกปฏิบัติอย่างโหดร้าย
ทารุณจากสามีซึ่งเป็นเจ้าชายมาเลเซียพระองค์หนึ่งเสมือนเป็น ทาสทางเพศ  จนต้องหลบหนีกลับมา
อินโดนิเซียโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ จากทางการมาเลเซีย  ก็ยิ่งทำให้อารมณ์โกรธแค้นของคน
อินโดนิเซียร้อนแรงยิ่งขึ้น  ว่ากันว่า การจับตายนายนอร์ดิน ท๊อป ผู้นำกลุ่มก่อการร้ายที่อยู่เบื้องหลัง
การระเบิดที่บาหลีในปี2548 และล่าสุดที่โรงแรมมาร์ริออทกลางกรุงจาร์กาต้า คือปฏิกิริยา แก้เผ็ด
ต่อมาเลเซีย เพราะบุคคลที่สร้างความเสียหายและเป็นที่ต้องการตัวมากที่สุดของทางการอินโดนิเซีย
คนนี้เป็นชาวมาเลเซีย

ความขัดแย้งได้ขยายลุกลามไปสู่สงครามวัฒนธรรม เมื่ออินโดนิเซียกล่าวหามาเลเซียว่า ขโมย ทรัพย์
สินทางวัฒนธรรมของอินโดนิเซีย  ไล่เรียงตั้งแต่เพลงชาติ เพลงพื้นเมืองราซาซายัง เครื่องดนตรีอังกะลุง
หนังตะลุงวายัง รำบาหลีและผ้าบาติก จนเกิดกระแสความไม่พึงพอใจไปทั่วอินโดนิเซีย และเรียกขาน
ชื่อ Malaysia ให้เพี้ยนเป็น Malingsia ซึ่งแปลว่า หัวขโมยในภาษาอินโดนิเซีย    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การ
ประท้วงของกลุ่มหัวรุนแรงชาตินิยมเมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา ที่ได้รวมตัวกัน(พร้อมอาวุธ) ขว้างปาสถาน
ทูตมาเลเซียในจาร์กาต้า เผาธงชาติมาเลเซีย และตามล่าหวังทำร้ายและขับไล่คนมาเลเซียให้ออกไปจาก
อินโดนิเซีย (เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับคนไทยในพนมเปญเมื่อเดือนมกราคม 2546) พร้อมทั้งประกาศ
วันดีเดย์อย่างชัดเจนโจ่งแจ้งว่า จะบุกไปทำสงครามกับมาเลเซียในวันที่ 8 ตุลาคมนี้ 

การประกาศอย่างเป็นทางการให้ผ้าบาติกเป็นมรดกทางวัฒนธรรมโลกของอินโดนิเซียโดยองค์การ
ยูเนสโกเมื่อเร็วๆนี้  ถือเป็นชัยชนะที่มีความหมายมากสำหรับอินโดนิเซีย และส่งผลทำให้อารมณ์เกลียด
ชังโกรธแค้นของชาวอินโดนิเซียที่มีต่อคนมาเลเซียลดดีกรีความร้อนแรงลงอย่างมาก และหากไม่เกิด
โศกนาฏกรรมแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงเสียก่อนแล้ว เราก็คงจะเห็นชาวอินโดนิเซียร่วมฉลองกันทั้ง
ประเทศในวันที่ 2 ตุลาคมมากกว่านี้อย่างแน่นอน

แน่นอนที่สุดว่า ผู้นำอินโดนิเซียจะเดินหน้าต่อไป โดยอาศัยช่องทางขององค์การยูเนสโกเรียกคืนทรัพย์
สินทางวัฒนธรรมจากมาเลเซีย เพราะเชื่อมั่นว่าช่องทางนี้จะนำชัยชนะมาสู่อินโดนิเซียได้มากที่สุด หลัง
จากที่ประสบความสำเร็จในกรณีของฝ้าบาติก รวมถึงหนังตะลุง (2546) และกริช (2548) โดยแทบจะ
ไม่มีการคัดค้านไม่ยอมรับจากทางการมาเลเซีย  และอย่างน้อยที่สุด ชัยชนะทางสัญญลักษณ์ดังกล่าวนี้
มีผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงบวกไม่น้อย   ถึงแม้ว่า คำประกาศรับรองขององค์การยูเนสโกดังกล่าว
อาจจะไม่ได้สร้างเงื่อนไขให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างอินโดนิเซียและมาเลเซีย  แต่ก็ส่งผลทำให้ความ
ขัดแย้งระหว่างสองชาตินี้ลดระดับความตึงเครียดและความรุนแรงไปไม่น้อย แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจาก
กรณีพิพาทปราสาทพระวิหารที่บทบาทขององค์การยูเนสโกมีส่วนจุดชนวนทำให้เกิดความเกลียด
ชังและทัศนคติชาตินิยมระหว่างคนไทยและคนกัมพูชาร้าวลึกมากขึ้น


(ตีพิมพ์ในมติชน ฉบับวันที่ 14 ต.ค. 2552 หน้า 7)
.

2 ความคิดเห็น:

  1. เรื่องเขาพระวิหารไม่มีวันจบ ห่วงแต่เพื่อน ๆ ที่ทำงานและอาศัยอยู่ใกล้ชายแดน

    ตอบลบ
  2. จบยากนิยายเรื่องยาว เถียงกันว่าเขาพระวิหารเป็นของใคร คำถามคือ ถ้าชาติใดชาติหนึ่งได้มาแล้วจะเอาไปทำอะไรไหม นอกจากการมาอวดใส่กันว่า ข้านี้ชนะ ข้านี้ได้เขาพระวิหารแล้วนะ

    แทนที่จะมาทะเลาะกันว่าเป็นของใคร ทำไมไม่แบ่งกันไปคนละครึ่งเจรจากันดีๆ แล้วก็สร้างผลประโยชน์ร่วมกัน ได้ผลประโยชน์ทั้งสองชาติ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และ วัฒนธรรม ทำมาหากินกับสิ่งที่มีอยู่ร่วมกัน แทนที่จะมาแย่งกันแล้ว พอได้ไปก็ไม่ได้เอาไปทำอะไรจริงๆจัง

    ตอบลบ

มอเตอร์ หรือ สติกเกอร์

เมื่อตอนที่ Real Madrid ทีมดังในสเปนตัดสินใจขาย Claude Makelele ให้กับทีม Chelsea แล้วซื้อ David Beckham มาแทนที่ในช่วงกลางปี 2003 ปรา...